รุ้ง ปนัสยา ชวนราษฎรคัมแบ๊ก ตอกฝาโลงเผด็จการ โละโครงสร้างหลังเลือกตั้ง 66

รุ้ง ปนัสยา ชวนราษฎรคัมแบ๊ก ตอกฝาโลงเผด็จการ โละโครงสร้างหลังเลือกตั้ง 66

ไม่ได้ปรากฏตัวนาน ก่อนคัมแบ๊กผ่านข้อความที่เด้งเข้ามาในไลน์กรุ๊ป

ในฐานะโฆษกกลุ่มราษฎร ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อาศัยจังหวะหลังยุบสภา ชักชวนสื่อมาเป็นสักขีพยาน กระจายเสียงไปยังประชาชน ตะโกนบอกรัฐบาลเก่า เล่าเป้าหมายใหม่ให้ถึงหูผู้แทนพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

เสมือนบัตรเชิญที่ย้ำเตือน ว่าการเปลี่ยนผ่านกำลังจะมาเยือนในเร็ววัน

ADVERTISMENT

ไม่ใช่เสื้อสีแดงตัวเก่ง ที่มักเห็นรุ้งหยิบมาสวมใส่เสมอเมื่อขึ้นเวทีสำคัญ แต่วันนี้ขอเลือกเสื้อ “เสรีภาพ เสรีภาพ เสรีภาพ” เดินฝ่าดงแดด มุ่งหน้าไปยังใจกลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ลากสายยางมาฉีดน้ำล้างทำความสะอาดฐานอนุสาวรีย์ ชำระสิ่งสกปรก เคลียร์คราบฝุ่นที่เกาะอยู่

ป้ายผ้าที่เขียนข้อความเบิ้ม “โหวตเพื่อเปลี่ยน” ถูกชูด้วยมือของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะกลุ่มทะลุแก๊ซ ทะลุวัง ลุงๆ ป้าๆ ที่สู้มาตั้งแต่ยุคคนเสื้อแดง หรือแม้แต่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ก็ใส่เสื้อ Hope Hope Hope มาเช็กอินถนนราชดำเนิน เตรียมเดินหน้าดันจุดมุ่งหมายใหม่ บนเจตจำนงเดิม หวังการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสะพานสานข้อเรียกร้องที่ยังไม่บรรลุ

ADVERTISMENT

แม้จะยังไม่เข้าคิมหันตฤดูแบบเต็มขั้น แต่บทใหม่ของการเมืองไทย เปิดฉากได้ร้อนแรงไม่แพ้แดดเดือนเมษาฯแน่!

ส่งสัญญาณล้างคราบโสมม
ปักหมุดยึดกุม จบยุคเลวร้าย

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็สลัดเก้าอี้ หลังนั่งนายกฯมา 8 ปี

ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ก่อนครบวาระของรัฐบาลเพียง 3 วัน แต่ยังคงตำแหน่งนายกฯต่อไปในระหว่างนี้ นำมาสู่การประกาศวันเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วงปฏิทินไว้ ให้คนไทยเตรียมเข้าคูหา 14 พฤษภาคมนี้

“ไม่มียุคสมัยอันเลวร้ายใดจะสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป สืบเนื่องจากการยุบสภา ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2566 บัดนี้สัญญาณสำคัญในการสิ้นสุดยุคสมัยอันเลวร้ายได้ปรากฏขึ้นแล้ว อำนาจในการเลือกตั้งซึ่งเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงได้หวนกลับมาสู่มือของประชาชนอีกครั้ง”

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำตั้งแต่ยุคเยาวชนปลดแอก ผู้พลิกผันมารับบทสื่อภาคสนาม จับตาการเลือกตั้ง 66 เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ร่วมของราษฎรและเครือข่าย ในช่วงบ่ายของ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เนื้อความย้ำชัด…

“ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ประชาชนต้องเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงจากปกครองอันโสมม โดยรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจผ่านกลไกเผด็จการตามรัฐธรรมนูญ 2560 และรัฐสภาที่พรรคฝ่ายรัฐบาลมีที่มาจากการรวมตัวของ บรรดาพวกสับปลับปลิ้นปล้อน ไร้สัจจะที่หักหาญเจตจำนงของประชาชน จนนำมาซึ่งความเลวร้ายในการบริหารประเทศนานัปการ ดังที่ประชาชนทั้งหลายต่างทราบแล้วโดยทั่วกัน

เพื่อต่อกรกับการปกครองอันชั่วร้าย ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหว เรียกร้อง และต่อสู้ โดยประกาศเจตจำนงอันเป็นฉันทามติร่วมกันของฝ่ายประชาชน ได้แก่ 1.ทรราชประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ปฏิรูปสถาบันฯ

บัดนี้ แม้วาระของรัฐสภาและรัฐบาลทรราชจะได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ขอเราประชาชนจงอย่างได้วางใจ แม้จะปราศจากตัวทรราช แต่ระบอบประยุทธ์นี้ยังคงดำรงอยู่ บรรดาทรราชเผด็จการชนชั้นนำนี้ ได้จงใจออกแบบกลไกในการรักษาและสืบทอดอำนาจให้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ผ่านสถาบันต่างๆ เป็นต้นว่า ส.ว.ที่มีอำนาจในการเลือกนายกฯใน 5 ปีแรก, การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, กกต.ที่ปราศจากความยึดโยงกับประชาชน และมีแนวโน้มจะเป็นเครื่องมือของเผด็จการ รวมถึงเครื่องมืออีกนานัปการ ที่ทรราชเผด็จการชนชั้นนำจะสามารถควบคุมได้

“เพื่อการมีชัยเหนือระบอบทรราชชนชั้นนำ การต่อสู้ของเราฝ่ายประชาธิปไตยยังคงต้องดำเนินต่อไป การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นหมุดหมายสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องยึดกุม และประกาศชัยชนะอย่างท้วมท้นเหนือฝ่ายเผด็จการ เพื่อให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงข้างมาก และร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างในทุกองคาพยพได้อย่างแท้จริง”

มายด์ประกาศก้อง เบื้องหน้าอนุสาวรีย์ที่มีพานรัฐธรรมนูญอยู่เหนือหัว

‘โหวตเพื่อเปลี่ยน’
ปฏิบัติการ 3 จุดยืน

แถลงการณ์ของราษฎรครั้งนี้ ชี้ว่า “การเลือกตั้ง 66” อยู่ในฐานะปฏิบัติการร่วมทางการเมือง จึงเปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ “โหวตเพื่อเปลี่ยน” (Vote for Change) ประสานมือนักเคลื่อนไหว ผู้มีเจตจำนงเดียวกัน ร่วมกันผลักดันหลักการสำคัญ 3 ข้อ อันเป็นทั้งจุดยืนและข้อเรียกร้องแห่งศักราช 2566

1.การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

2.การเลือกตั้งที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะไปด้วยกัน

3.การเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างแท้จริง

มายด์เอ่ยทิ้งท้ายในนามราษฎรและเครือข่าย ยืนยันด้วยใจอันเห็นประโยชน์แห่งมหาชนเป็นที่ตั้ง ว่าการมีชัยเหนือบรรดาองคาพยพทรราชชนชั้นนำนั้น เป็น ‘ภารกิจ’

“และจะบังเกิดผลได้จริงก็เพียงด้วยการร่วมมือผนึกกำลังกันของพี่น้องประชาชนในฝ่ายประชาธิปไตย จากทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกพรรคการเมือง เดินหน้าปฏิบัติการร่วมนี้ด้วยแรงใจ แรงกาย เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตย และเดินหน้าสู่การปฏิรูปโครงสร้างในทุกระดับได้อย่างแท้จริง” ภัสราวลีชี้

ทวงคืนประเทศไทย
ฝากพันธะ ‘ฝ่าย ปชต.’ เปลี่ยนแปลงให้ถึงราก

ขณะที่อีกหนึ่งแกนนำ อย่าง อานนท์ นำภา ซึ่งล่าสุดรับบททนายความเดินหน้าสู้ทางคดี ลั่นวาจา จะนับ 1 บทใหม่ ฝากพันธะพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เปลี่ยนแปลงให้ถึงราก ชูตั้งเป้าหมายพาผู้ลี้ภัยและผู้ต้องหาการเมืองกลับบ้าน ทั้งยังเตรียมยื่นกฎหมายใหม่เข้าสภา หลังได้รัฐบาลชุดใหม่

“นับจากช่วงต้นปี 2563 เป็นเวลา 3 ปีของการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ จุดเริ่มต้นที่เรามาเรียกร้องให้กับคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ วันนี้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ ก็ได้ประกาศใช้ แม้ว่าจะถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไป แต่ต้องยอมรับว่านี่คือผลผลิตของพวกเราที่ออกมาเรียกร้อง ต่อสู้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม 3 ปีที่พวกเราออกมานั้น บาดเจ็บทั้งเสรีภาพ และบาดเจ็บในแง่ของร่างกาย เป็นสิ่งที่พวกเราสูญเสียไป เพื่อนเราหลายคนถูกทำร้ายร่างกายสูญเสียอวัยวะ ดวงตา หลายคนตอนนี้ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อีกนับ 100 คนที่ต้องคดีทั้งที่เป็นการแสดงออกอย่างสันติ และเป็นการแสดงออกทางการเมือง เหล่านี้เป็นต้นทุนที่พวกเรายอมรับและสูญเสียไป แต่มันจะถูกทวงคืนอย่างแน่นอน”

“3 ปีนี้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องมานั้น จะขับเคลื่อนสังคมให้ไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ข้อเรียกร้องทุกข้อนับจากเวทีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้ง 10 ข้อยังคงเดินหน้าต่อไป บัดนี้พวกเราได้เตรียมขั้นตอนการเรียกร้องนำเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา หลังเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง” อานนท์เปิดฉากดุเดือด ประเมินการต่อสู้ที่ผ่านมา

เป้าหมายฉากต่อไป ราษฎรหวังให้การเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งนี้ เกิดขึ้นอย่าง ‘สันติวิธี’ ไม่ใช่มีรัฐประหาร ประชาชนพร้อมที่จะก้าวไปสู่จุดนั้น แต่ยังขาดความร่วมมือจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

“ขอให้พวกท่านระลึกถึงอยู่เสมอว่า พวกท่านเกิดขึ้นและเติบโตมาจากหยาดเหงื่อและชีวิตของพี่น้องประชาชน นับตั้งแต่การต่อสู้ทางการเมืองของพี่น้องปี 2553 ของคนเสื้อแดง ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ จนวันนี้ความยุติธรรมของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองกลับคืนมา

เป็นพันธะของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ประกาศตนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งพวกท่านมีหน้าที่ทำเรื่องพวกนี้ให้สำเร็จ” อานนท์ย้ำ

ก่อนประกาศในนามราษฎรคนรุ่นใหม่ ในนามอนาคตประเทศไทย จะจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ยุติธรรม ไม่มีอะไรเร้นลับ

“แม้ว่า 3 ปีนี้บ้านเมืองเราจะเปลี่ยนไปในหลายด้าน เราได้เห็นการปรับตัวของสถาบันฯ ได้เห็นการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรที่ขยับเพดานขึ้นสูงกว่าที่เคยเป็นมา เราได้เห็นพรรคการเมืองที่ชูนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องถือว่านับ 1 จะต้องหยั่งถึงรากปัญหาสังคม เราจะพาพี่น้องที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองกลับบ้านให้ครบทุกคน พาพี่น้องที่ติดคุกด้วยข้อหาการเมืองออกมาทุกคน และเราจะเปลี่ยนประเทศนี้ให้เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน” อานนท์พูดด้วยน้ำเสียงดุดัน

ขอร้อง จับมือ ‘อย่าตีกัน’
หวั่นเสียงดังกลบจุดหมาย

ซูมภาพพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ก็ดูจะขัดแย้ง เชือดเฉือนกันอย่างจริงจัง เพราะต่างก็หวังเป็นนัมเบอร์วัน แลนด์สไลด์ จัดตั้งรัฐบาลเดี่ยว

แต่สำหรับอานนท์ ขอออกโรงเตือนทุกพรรค แฟนคลับทุกคนที่กำลังมีปากเสียง ฟาดฟันกัน อย่าให้เสียงดังจนไปกลบนโยบายที่จะหาเสียงกับประชาชน กลบอุดมการณ์ที่มีร่วมกัน

“พรรคฝ่ายประชาธิปไตยของเรา ถ้าไม่ร่วมมือกัน ในที่สุดจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้อย่างแท้จริง เป็นเรื่องที่ต้องวิงวอน ขอร้อง

การวิพากษ์วิจารณ์กันในระบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ปกติก็จริง แต่อย่าให้มันดังจนไปกลบแนวนโยบาย หรือสิ่งที่พวกเรามุ่งหมายที่จะทำร่วมกัน” ทนายน้อยขอร้อง

ต้องชนะถล่มทลาย
ทวงนับคะแนนเรียลไทม์ จี้ กกต.ตอบ

รุ้ง ปนัสยา ไม่รีรอจับไมค์ต่อจากอานนท์ ประกาศเปิดตัว “โหวตเพื่อเปลี่ยน” แคมเปญใหม่ที่ยืนอยู่บนหลักการ 3 อย่างคือ

1.เลือกตั้ง ต้องฟรีและแฟร์ ในทุกระดับ

“ในส่วนของ กกต.ต้องมีมาตรฐานในการตรวจสอบการหาเสียงของทุกพรรคอย่างเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ออกมาแล้ว กกต.ต้องมีคำตอบให้เราให้ได้ว่าการแบ่งเขตแบบนี้เพื่ออะไร เพื่อใคร ถึงซอยย่อยขนาดนั้น มันไม่ปกติ เอื้อประโยชน์ให้บางพรรค บางกลุ่ม” ปนัสยากล่าว

พร้อมเรียกร้องให้ กกต. ‘นับคะแนนแบบเรียลไทม์’ ไม่มีการดองคะแนน นับกล่องโน้น ไม่นับกล่องนี้ ทุกเขตเลือกตั้งต้องนับพร้อมๆ กัน และออกผลโดยทันที ส่วน ‘พรรคการเมือง’ ต้องมีความโปร่งใสในการหาเสียง ประชาชนต้องช่วยกันจ้องคูหา

“เราขอร้องให้ไม่โจมตีกัน สู้ด้วยนโยบาย สู้ด้วยความเป็นธรรม ความโปร่งใส การโจมตีกันรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่จะไม่ได้ประโยชน์กับประชาชนสักเท่าไหร่นัก เอานโยบายมาสู้กันดีกว่า เอาเรื่องจริง เอาความคิดมาสู้กันดีกว่า

ส่วนประชาชน เราขอร้องให้ร่วมกันจับตาการเลือกตั้งในทุกเขตทุกหน่วย ร่วมกันตรวจสอบการหาเสียงของทุกพรรค เช่น มีการซื้อสิทธิ-ขายเสียงเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วขอให้ทุกคนอยู่ที่คูหาก่อน เพื่อจับตาการนับคะแนนว่ามีความโปร่งใสจริง มีการทุจริตเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ อย่าให้เป็นเหมือนตอนปี’62 เราไม่อยากเห็นภาพนั้น และคิดว่าคนในประเทศก็ไม่อยากเห็นภาพนั้นเช่นเดียวกัน รวมไปถึงตัวละครทางโครงสร้าง เช่น กองทัพ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คนเหล่านี้ต้องไม่ใช้อิทธิพล หรืออำนาจของตัวเองเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งเด็ดขาด ด้วยการไปโน้มน้าว ชักจูงให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือลูกบ้านของตัวเองให้ไปเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะเลือก”
รุ้งดักคอล่วงหน้า

ก่อนไปต่อที่ หลักการที่ 2 การเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อที่จะมีชัยชนะร่วมกันของฝ่ายประชาธิปไตย โดยขอให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยร่วมมือกัน และต้องชนะอย่างถล่มทลายเพื่อรวมกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน

“ประชาชนจะใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อการล้มเผด็จการให้ได้” โฆษกราษฎรยืนยันหนักแน่น

ส่วนหลักการที่ 3 ราษฎรหวังให้การเลือกตั้งนี้ มีเพื่อการ เปลี่ยนแปลงและปฏิรูปทุกองคาพยพ อย่างแท้จริง

“นำปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 เข้าสู่สภา แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ แน่นอนการปฏิรูปสถาบันฯจะต้องเกิดขึ้น โดยวันที่ 28 มีนาคมนี้ เราจะมีการนำเสนอลงรายละเอียดแคมเปญไทม์ไลน์ของกิจกรรมทั้งหมด รวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนและพี่น้องให้ช่วยเหลือบางอย่างเพื่อทำให้แคมเปญนี้เกิดขึ้นและได้ผลจริง ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรม เราจะมีการเสนอข้อเรียกร้องต่อการจัดตั้งรัฐบาล เสนอนโยบายขั้นต่ำของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย” รุ้งคลี่แผนการ

เย้ย ‘ไร้น้ำยา’
รอลงโทษไม่ให้กลับเข้าสภา

ในสายตาของแกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ธนพร วิจันทร์ หรือไหม มอง 8 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเลวร้าย คนไทยต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ถูกปิดกั้นเสรีภาพอย่างมาก กระทั่งองค์กรระดับโลก จัดอันดับประเทศไทยด้านประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ถดถอย หรือ ‘ไม่มีเสรีภาพ’

“ความเลวร้ายของรัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ คือความไม่มีน้ำยา ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้กับประชาชนได้ มิหนำซ้ำยังบริหารประเทศด้วยการกู้เงินกว่า 10 ล้านล้านบาท สร้างภาระให้กับประชาชนมาใช้หนี้แทนรัฐบาล ทั้งที่ไม่ได้ก่อ

ความเลวร้ายต่อมา รัฐบาลเผด็จการไม่มีน้ำยาในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นทุนจีนสีเทา การคอร์รัปชั่นในวงการตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่ ส.ว. 250 ซึ่งเป็นองคาพยพ” ไหมร่ายถึงความอดสู

ย้อนดูช่วงเวลาที่ผ่านมาของการเคลื่อนไหวที่ราษฎรและประชาชนได้ออกมาเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก รวมทั้งองคาพยพเผด็จการต้องหมดไป 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และ 3.ปฏิรูปสถาบันฯ และแม้ว่าทั้ง 3 ข้อเรียกร้องยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ แต่ในระหว่างการต่อสู้ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

“จากผลสำรวจโพลต่างๆ นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในลำดับท้ายๆ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจะลงโทษประยุทธ์ ไม่ให้กลับเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรอีก” แกนนำแรงงานขู่

ไม่ลืมพูดถึงใจกลางสำคัญอย่าง รัฐธรรมนูญ ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมา กระแสของประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับ ไหมมองว่า ถึงแม้จะไม่ได้เป็นไปตามที่เรียกร้องไว้แต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้า ทั้งแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่น่าเซอร์ไพรส์คือ ส.ส.หยิบประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้ามาพูดกลางสภาผู้แทนราษฎร สังคมได้รับรู้กว้างขวางขึ้น มีหลายพรรคการเมืองนำข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรไปบรรจุเป็นนโยบายหาเสียง รวมถึงการเรียกร้องถึงกระบวนการยุติธรรมเรื่องสิทธิการประกันตัว ก็เกิดความตระหนักมากขึ้นในสังคม

“ครั้งนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทุกระดับของประเทศ พวกเราราษฎรและเครือข่ายประชาชน ก็ยังยืนยันไปสู่เป้าหมาย 3 ข้อเรียกร้อง” ธนพรจี้ให้สานต่อเป้าหมายเดิม

ใช้ปากกางัดเผด็จการ
ปิดสวิตช์ คสช. วางรากฐาน ปชต.

ในตอนหนึ่ง กิฟต์ ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชำแหละการยุบสภาที่เกิดขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชน เปิดทางไปสู่การเลือกตั้ง แต่ความจริง ถึงแม้ไม่ยุบสภา การเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี

ยุบสภา 20 มีนาคม จึงเป็นเพียงแค่ฉากหนึ่งในเกมการเมืองของรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น ไม่ใช่ฉากสุดท้ายของรัฐบาลเผด็จการทหารแต่อย่างใด

“การเลือกตั้งในครั้งนี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญมาก เพราะไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนตัวแสดง ไม่ใช่การเลือกตัวละครใหม่ แต่คือหนทาง และความหวังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในครั้งนี้ คือการนำอำนาจสูงสุดกลับมาอยู่ที่ปลายปากกาของประชาชนอีกครั้ง ปลายปากกาของทุกท่านในวันเลือกตั้งจะกลายเป็นอาวุธสำคัญที่สุดที่จะสามารถปิดสวิตช์เผด็จการได้สักที” กิฟต์ตอกย้ำ ฝากฝังประชาชนผู้มีสิทธิขีดกาอนาคต

กิฟต์บอกด้วยว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ คือปฏิบัติการสำคัญที่จะสามารถนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกเลือกมาโดยเสียงข้างมากของประชาชน ให้เข้าไปเป็นตัวแทน แก้ไขปัญหาปากท้อง ปฏิรูปโครงสร้างสถาบันหลักของสังคม เพื่อให้สถาบันเหล่านั้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

“ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นจุดจบของเผด็จการ อาจเป็นวันที่เราได้ตอกตะปูปิดฝาโลงคณะรัฐประหาร แต่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในการสร้างรากฐานสังคมแห่งประชาธิปไตยที่แข็งแรง ที่ทุกคนจะมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคในสังคม” แนวร่วมราษฎรทิ้งท้าย

ก่อนการเริ่มต้นของก้าวต่อไป ที่เพียงกะพริบตา ก็อาจพลาดช็อตสำคัญ

อธิษฐาน จันทร์กลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image