ผู้เขียน | สุกรี เจริญสุข |
---|
อาศรมมิวสิก : อนิจจาความตายของดนตรีไทย
วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2566 ได้ข่าวการเสียชีวิตของ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี (พ.ศ. 2486-2566) ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้ช่วยเหลือให้ความอนุเคราะห์เกื้อกูลวงการดนตรีไทยและดนตรีสากลมาตลอด โดยเฉพาะวงดนตรีไทย ท่านได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมดนตรีไทยมายาวนาน ข่าวการเสียชีวิตของคุณหญิงก็ต้องใคร่ครวญคิดอยู่นานว่าจะตอบแทนท่านอย่างไรดี จึงได้ประสานงานขออนุญาตนำวงปี่พาทย์มอญจากเมืองพระประแดงไปบรรเลง เพื่อคำนับศพและเพื่อส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์ตามความเชื่อของนักดนตรี
ย้อนอดีตไป 30 ปีมาแล้ว เมื่อวันที่ 2-4 ธันวาคม พ.ศ.2537 ผมได้จัดงาน “แสงทิพย์ประลองปี่พาทย์” ที่หอประชุมสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งเป็นการประลองปี่พาทย์ชิงเงินรางวัลชนะเลิศ (300,000 บาท) โดยมีถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศได้จัดให้ไปประลองกันที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2537 ซึ่งมีเพลงเอกในครั้งนั้นชื่อเพลง “กบเต้น” ผลงานของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2540)
งาน “แสงทิพย์ประลองปี่พาทย์” ได้จัดการประลองขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2539 เป็นครั้งที่ 2 แล้วก็ต้องเลิกรากันไป เนื่องจากเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 กิจกรรมการประลองปี่พาทย์ก็ตายไปพร้อมกับเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจด้วย
ในงาน “แสงทิพย์ประลองปี่พาทย์” คราวนั้น ได้สร้างความตื่นตัวให้วงการดนตรีไทยอย่างมาก ซึ่งในเวลานั้นนักดนตรีในวงปี่พาทย์ยังมีฝีมือสูงมาก เพราะยังมีวงปี่พาทย์ทำมาหากินในงานศพ ในงานมงคล ทั้งในกรุงเทพฯ และในพื้นที่ต่างจังหวัด อาทิ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีวงปี่พาทย์ส่งเข้ามาประลองกันอย่างคึกคักมาก
วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ.2540 นอกจากธุรกิจหลายชนิดต้องล้มหายตายจากแล้ว วงการดนตรีไทย วงปี่พาทย์งานศพก็จบลงด้วยวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน แม้ว่าธุรกิจและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ จะฟื้นตัวแล้ว แต่วิกฤตกิจการของวงปี่พาทย์ไทยตายไปเลย ไม่หวนกลับคืนมาอีกเลย วงปี่พาทย์ที่เคยอยู่ประโคมงานศพประจำวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็หายสาบสูญไปหมดสิ้น
มาถึงวันนี้ ไม่มีวงปี่พาทย์ประโคมงานศพอีกต่อไป ทุกวัดไม่มีวงปี่พาทย์ประจำวัด ทุกงานศพไม่มีเสียงปี่พาทย์บรรเลง แถมการมีวงปี่พาทย์มาบรรเลงในงานศพก็กลายเป็นเรื่องแปลกไปเสียแล้ว
ข่าวการเสียชีวิตของ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ทำให้คิดถึงงานแสงทิพย์ประลองปี่พาทย์ขึ้นมา จึงได้ขอโอกาสให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพื่อส่งดวงวิญญาณคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ตามคติของไทย วิญญาณกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์ด้วยเสียงดนตรี วงปี่พาทย์มีเสียงปี่ เสียงกลอง และเสียงฆ้อง ซึ่งบรรเลงอยู่คู่กับงานศพของสังคมชาวสยามตลอดมา
แต่ก่อนในสังคมไม่มีเครื่องผลิตไฟฟ้าให้แสงสว่าง วงปี่พาทย์ก็ทำหน้าที่ประโคมศพ เป็นเพื่อนศพและเฝ้าศพไปด้วย เพราะเวลากลางคืนนั้นมีความมืดทำให้ทุกคนกลัวผี เมื่อมีเสียงของวงปี่พาทย์ ก็ทำให้คนเฝ้าผีมีความอบอุ่นและอุ่นใจ แต่ในปัจจุบันนั้นวิถีชีวิตและสังคมได้เปลี่ยนไป ในวัดมีไฟฟ้าแสงสว่างทั้งคืน พิธีกรรม วิธีการ กิจกรรมของงานศพก็เปลี่ยนไป มีความบันเทิงและมีญาติเฝ้าศพจำนวนมาก ในงานศพก็ได้ตัดพิธีการต่างๆ ของอดีตออกไปหมด รวมทั้งการตัดวงปี่พาทย์บรรเลงในพิธีงานศพออกไปด้วย
ผมได้รับอนุญาตให้นำวงปี่พาทย์มอญจากเมืองพระประแดง ซึ่งยังเหลือนักดนตรีคนเก่าๆ รุ่นที่จัดงานแสงทิพย์ประลองปี่พาทย์อยู่บ้าง รวมกับนักดนตรีรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ เพื่อนำวงปี่พาทย์มอญไปประโคมในงานศพคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ในวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม เวลา 09.00-11.00 น. ที่ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งก็ได้สร้างความตื่นเต้นให้ทุกฝ่าย นักดนตรีวงปี่พาทย์มอญนั้นตื่นเต้นมากเพราะเป็นโอกาสได้แสดงในงานศพที่ยิ่งใหญ่ ในวัดมีศาลาสวดศพอยู่ 13 ศาลา ทุกศาลาได้ถูกแขวนด้วยพวงหรีดของคุณหญิงทั้งหมด มีแขกผู้มาเคารพศพจำนวนมาก (วันละ 1,500-2,000 คน) คนที่ไปเคารพศพก็ตื่นเต้นมากเช่นกัน เพราะไม่คุ้นกับวงปี่พาทย์มอญเล่นในพิธีงานศพ ที่ตื่นเต้นมากที่สุดก็คือเจ้าภาพ (คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี) ได้ออกมามอบซองขอบคุณให้แก่นักดนตรีในวงปี่พาทย์ทุกคน
วงปี่พาทย์มอญวันนั้น นำฆ้องมอญไป 4 โค้ง เพราะว่ามีพื้นที่อยู่แค่นั้น ซึ่งการนับเป็นโค้งเพราะวงฆ้องมอญมีรูปโค้งสวยงาม จำนวนโค้งจะบอกถึงความยิ่งใหญ่ของผู้ตาย เมื่อเริ่มบรรเลง ได้ยินเสียงวงปี่พาทย์มอญแล้วก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก หัวหน้าวง (ครูสุเชาว์ หริมพานิช) ถามว่าจะให้เล่นอย่างไร ก็ได้ตอบครูสุเชาว์ไปว่า เล่นให้สนุก เล่นเพลงตามพิธีกรรมงานศพให้เต็มยศ ต้องเล่นทำเสียงดนตรีให้มีชีวิตชีวา ตั้งแต่เพลงรับแขก รับพระ ประโคมงานศพ เพลงพระฉัน จนกระทั่งเพลงส่งพระและส่งแขกจนครบตามพิธีกรรม
เมื่องานศพครั้งนี้ผ่านไปแล้วก็รู้สึกใจหาย อนิจจาความตายของดนตรีไทย นักดนตรีไทยที่มีฝีมือเริ่มหาตัวยากมากขึ้น นักดนตรีจำนวนหนึ่งไปทำอาชีพอื่นเพราะดนตรีไทยไม่มีงาน เล่นดนตรีไทยแล้วไม่มีเงิน กิจกรรมดนตรีไทยมีแค่พิธีกรรม แต่ไม่มีอาชีพดนตรีไทย เด็กที่เรียนดนตรีไทยแล้วก็ตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะเรียนดนตรีไทยไปทำไม แถมตอบพ่อแม่ไม่ได้อีกเหมือนกันว่าจะทำมาหากินกับดนตรีไทยอย่างไร
เมื่อครั้งที่ยังมีกำลังอยู่ ได้พยายามที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่มีชีวิตของภูมิภาคขึ้น เพื่อจะใช้เป็นพื้นที่แสดงของวงดนตรีนานาชาติ ดนตรีประจำชาติ ดนตรีประจำเผ่าพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลาย รวมถึงดนตรีในภูมิภาคอาเซียนด้วย เพื่อสร้างคน สร้างพื้นที่ สร้างงาน และสร้างอาชีพ ซึ่งดนตรีประจำชาติเหล่านี้ถือเป็นมรดกและเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมดนตรีที่ยังแข็งแรงอยู่ ได้สร้างไปแล้วเกือบเสร็จ ก็คือไม่เสร็จ
คนที่เขามารับทำงานต่อก็มองไม่เห็นอนาคตของพิพิธภัณฑ์ดนตรีของภูมิภาค ด้วยตัวนั้นไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีความรู้ ไม่มีใจ และไม่รู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่น “มืดบอดดุจนกที่มองไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนไม่เห็นดิน” (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีชนเผ่า รวมไปถึงดนตรีของภูมิภาคต้องหมดอนาคต หมดโอกาส รวมทั้งหมดพื้นที่สร้างงานไปด้วย
หากจะไปเรียกร้องเรื่องอาชีพดนตรีไทยดนตรีพื้นบ้านจากกระทรวงวัฒนธรรม ก็ยังมองไม่เห็นอนาคต เพราะราชการก็จะมีดนตรีไทยเอาไว้ใช้งานในพิธีกรรมเท่านั้น สถาบันที่จัดการศึกษาดนตรี ก็ไม่ได้สนใจดนตรีประจำชาติ เพราะมืดบอดเรื่องวิสัยทัศน์ ซึ่งจัดเป็นพวก “ตามเขาว่าเก่ง ทำของตัวเองว่าโง่” เมื่ออาจารย์ดนตรีหันไป “ชื่นชมความเป็นอื่น” ดูถูกดูแคลนดูหมิ่นดนตรีของตัว ดูถูกความเป็นไทยและดูถูกความเป็นท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เป็นกำพืดของตัวด้วยซ้ำ จึงได้แต่ปลงอนิจจังถึงความตายของดนตรีไทย ความตายของดนตรีพื้นบ้าน รวมทั้งความตายของดนตรีในอาเซียน
โอกาสการแสดงฝีมือของวงปี่พาทย์มอญจากเมืองพระประแดงบรรเลงในงานศพของ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ครั้งนี้ อาจจะเป็นงานสุดท้ายที่ได้เห็นและได้ชื่นชม นักดนตรีวงปี่พาทย์มอญที่มีฝีมือเล่นกันอย่างสนุกสนาน เล่นเพลงยากๆ ทั้งเพลงไทย เพลงเขมร เพลงลาว เพลงพม่า เพลงมอญ อาทิ เพลงชเวดากองของครูบุญยงค์ เกตุคง ฟังแล้วรู้สึกเนื้อเต้น
จากนี้ไปดนตรีไทยก็จะเหลือไว้อยู่แต่ชื่อ มีรูปภาพประกอบนิทรรศการ แต่ไม่สามารถจะสัมผัสกับเสียงจริง เสียงที่มีวิญญาณและเป็นเสียงที่มีชีวิต มีความไพเราะประณีต ต่อไปนี้จะไม่มีโอกาสสัมผัสกับเสียงที่ทำให้รู้สึกว่าเนื้อเต้นอีกต่อไป ที่สำคัญไปมากกว่าก็คือ ในวงปี่พาทย์มอญนั้นได้เล่นเพลงไทย เพลงเขมร เพลงลาว เพลงพม่า เพลงมอญ เพลงญวน และเพลงจีน ซึ่งบอกให้คนปัจจุบันรับรู้ได้ว่า เพลงที่เล่นอยู่ในวงปี่พาทย์นั้นอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข