เรือเอก โสภณ โกวิทอิสริยะ ผบ. ‘เรือของพ่อ’ เทิดพระเกียรติ ร.10 ‘ต้นแบบชายชาติทหาร’

“การได้มาเป็นผู้บังคับการเรือลำนี้ ไม่ใช่เพราะผู้บังคับบัญชาส่งมา ไม่ใช่เสมียนพิมพ์รายชื่อกำลังพลมาลำนี้ หรือไม่ใช่เพราะเพื่อนๆ เลือกเรือลำอื่นไปหมดแล้ว แต่ผมคิดว่าต้องมีอะไรมากกว่านั้นที่ทำให้ผมมาเป็นผู้บังคับการเรือ ต.91”

ผู้การบิ๊ก เผยความในใจถึงการได้เข้ามาเป็นผู้บังคับการเรือ ต.91

เรือ ต.91 เป็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่งลำแรกที่กรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือต่อขึ้นเอง และเป็นที่รู้จักในชื่อ “เรือของพ่อ”

เรือลำนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้กองทัพเรือต่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2510 ทั้งยังทรงเจิมกระดูกงูเรือ ออกแบบ ทดสอบ ด้วยพระองค์เอง และเป็นเรือเพียงลำเดียวในกองเรือ ที่พระองค์เรียกว่า “เรือของฉัน”

Advertisement

นอกจากแนวพระราชดำริที่ให้ไว้ พระองค์ยังพระราชทานคำแนะนำและเสด็จฯ ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ เมื่อกรมอู่ต่อเสร็จในปี พ.ศ.2511 พระองค์ยังเสด็จฯทอดพระเนตรและทดสอบเรือในทะเลด้วยพระองค์เอง จนทำให้มีการต่อเรือ ต.92-ต.99 และ ต.991-996 ที่มีขนาดใหญ่ และมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมมากขึ้นตามมา

ช่วงที่สำนักพระราชวังจัดพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร ในวันที่ 1-2 ธันวาคม เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 วันการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ประชาชนที่เดินทางมาแสดงความอาลัย ทางกองทัพเรือได้เผยแพร่สารคดีชุด “เรือของพ่อ” ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งประกอบด้วย 5 ตอนคือ ลมทะเลที่โอบกอด – ที่เห็นเช่นพอเพียง – ยุทธการงูเขียวหางไหม้ – ก้าวหนึ่งในทะเล – ลำนำจากฟ้า

โดยตอน “ก้าวหนึ่งในทะเล” บอกเล่าเรื่องราว “เรือของพ่อ”

Advertisement

สารคดีตอนนั้นมี เรือเอก โสภณ โกวิทอิสริยะ หรือ “ผู้การบิ๊ก” ผู้บังคับการเรือ ต.91 สวมบทนักแสดงนำ – นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต

เรือ ต.91 ได้ออกเดินทางจากท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อมาร่วมงาน “50 วัน แห่งความอาลัย รวมหัวใจ เรือของพ่อ” ในวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2559 ณ หอประชุมกองทัพเรือ ใช้เวลา 10 ชั่วโมงเศษก็มาถึงท่าหอประชุม ทร. เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้าชม ก่อนจะถอนสมอออกเดินทางช่วงเช้ามืดของวันพุธที่ 7 ธันวาคม เพื่อกลับไปประจำการที่สัตหีบอีกครั้ง

“เรือของพ่อ” ลำนี้ สะท้อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์พระราชทานแก่พสกนิกร เพราะทำให้กองทัพเรือประหยัดงบประมาณได้มาก ไม่ต้องนำเข้าเรือตรวจการณ์จากต่างประเทศ ทั้งยังได้พัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรจนสามารถต่อยอด สู่การต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

เกิดเมื่อ 28 มิถุนายน 2529 เป็นลูกชายคนโตของ จำนง โกวิทอิสริยะ และรัชดาภรณ์ ตั้งภัณฑรักษ์

ระหว่างช่วงปิดเทอม ม.4 ขณะเรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเศก เพื่อนๆ ก็ชวนไปเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งผู้การบิ๊กบอกว่า นั่งรถเมล์กลับบ้านผ่านกองทัพเรือทุกวันแต่ก็ไม่มีความคิดอยากเป็นทหาร เพราะต้องการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสืบทอดกิจการรับเหมาก่อสร้างที่พ่อได้สร้างไว้

ทว่า เมื่อมีการประกาศผลสอบ เขากลับเป็นเพียงคนเดียวที่สอบติด ได้เข้าเป็นหนึ่งใน “ตท.45”

เมื่อจบหลักสูตรจากโรงเรียนเตรียมทหาร ก็เข้าเรียนที่โรงเรียนนายเรือ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จบแล้วประจำการบน เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบัญชาการหรือที่เหล่าลูกประดู่เรียกกันว่า “เรือธง” และเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทย นาน 6 ปี ในตำแหน่ง นายทหารส่งกำลังบำรุงอากาศยาน และนายทหารสงครามอิเล็กทรอนิกส์

แล้วศึกษาต่อที่โรงเรียนนายทหารเรือชั้นต้น จบหลักสูตรแล้วจึงย้ายมาสังกัดกองเรือยามฝั่ง ได้อยู่เรือลำเล็ก ความยาวเรือประมาณ 20 เมตร หน้าที่หลักคือการดูแลชายฝั่ง ถึงน่านน้ำชั้นใน ตามร่องน้ำ ปากแม่น้ำต่างๆ หรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมายทางทะเลบริเวณชายฝั่ง

“ทหารเรือทุกคนก็อยากเป็นผู้บังคับการเรือเพราะว่ามีเครื่องหมายตรงนี้ (ชี้ที่เครื่องหมายบนหน้าอกซ้าย) เรือเอกปีสุดท้ายของทุกคนก็อยากเป็นผู้บังคับการเรือ ผมก็ได้รับการเสนอเป็นผู้บังคับการเรือ ต.91”

ผู้การบิ๊ก ร.อ.โสภณ โกวิทอิสริยะ เล่าย้อนถึงเส้นทางการเป็นผู้บังคับการ “เรือของพ่อ” อย่างภูมิใจ

พร้อมกล่าวย้ำว่า “จะเป็นทหารเรือที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ และรับใช้ประชาชนให้สมเป็นข้าหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน”

เรือเอก โสภณ โกวิทอิสริยะ

“พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อกองทัพเรือ คือ ท่านทรงเป็นผู้ริเริ่มให้กองทัพเรือมีกิจการต่อเรือขึ้นใช้เอง และอยู่อย่างพอเพียง มีเรือใช้จนถึงปัจจุบันนี้”

– รับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ได้รับพระราชทานกระบี่จากรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2552 ความรู้สึกตอนอยู่หน้าพระพักตร์คือตื่นเต้นมาก รู้สึกได้เลยว่าที่เหนื่อยมาตลอด 6 ปีกับการเป็นนักเรียนทหาร ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ปฏิญาณกับตัวเองว่าจะเป็นทหารเรือที่ดี ซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การงาน ปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ และรับใช้ประชาชนให้สมเป็นข้าหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน

ทุกวันนี้น้องๆ ในเรือ ต.91 กว่า 20 ชีวิต ภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติราชการบนเรือลำนี้ ทุกๆ คนรักและหวงแหนเรือลำนี้มากเป็นพิเศษ เพราะพระองค์ท่านตรัสถึงเรือลำนี้ประจำ เหมือนเป็นก้าวแรกในทะเลของกองทัพเรือในการต่อเรือขึ้นใช้เอง

– หลักที่เรายึดถือของทหารเรือคืออะไร

ทุกเช้าทหารเรือจะต้องท่องคำปฏิญาณว่าพวกเราต้องระลึกถึงและยึดมั่นเสมอคือ “ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ” โดยทั้งสี่คำนี้ หากขยายความตามความรู้สึก คือ ทหารนั้นจะต้องเป็นผู้พิทักษ์เพื่อให้ดำรงความเป็นชาติอยู่ต่อไป คือ ชาติไทยจะให้ใครมารุกล้ำ หรือล่วงล้ำเอกราช อธิปไตยไม่ได้

ส่วนเกียรติของทหารเรือนั้น ทหารเรือมีเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใดก็แล้วแต่ อย่างเวลาที่เรือรบไปจอดที่เมืองท่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องมาเยี่ยมคำนับผู้การเรือ แม้ว่าจะเป็นยศเรือเอก อันนี้เป็นธรรมเนียมตั้งแต่สมัยก่อน เพราะหน่วยเรือเป็นหน่วยที่สามารถเคลื่อนกำลังได้เป็นจำนวนมาก มีปืนใหญ่ มีอำนาจสูง ดังนั้น คำว่าเกียรติของทหารเรือจะยิ่งใหญ่ แต่ในอีกมุมทหารเรือเองจะต้องให้เกียรติผู้อื่นด้วยเช่นกัน

วินัย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทหารทุกคนต้องยึดมั่น ทั้งระเบียบข้อบังคับของทหาร การตรงต่อเวลา การประพฤติให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรม ศีลธรรมต่างๆ และกล้าหาญ ต้องกล้าหาญในการกระทำดี กระทำเพื่อประเทศชาติ

– พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีต่อกองทัพเรืออย่างไรบ้าง?

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อกองทัพเรือนั้นมีอย่างมากมาย โดยเฉพาะถ้าพูดถึงเรื่องของเรือรบ ซึ่งผมเองก็สังกัดอยู่กองเรือยุทธการ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่สำคัญก็คือ พระราชทานเรือ ต.91 ให้เป็นของขวัญแก่กองทัพเรือ เพราะว่าเรือ ต.91 เหมือนเป็นเรือต้นแบบให้มีเรือลำอื่นๆ ตามมา จากชุดเรือ ต.91 ก็เป็นเรือ

ต.92 ถึง 99 เรือ ต.991 ถึง ต.996 รวมเพียงเท่านี้ก็เป็น 15 ลำแล้ว และก็ยังมีเรืออีกหลายลำที่กองทัพพัฒนาแบบและต่อขึ้นมาเอง จนกระทั่งถึงเรือหลวงกระบี่ ซึ่งถ้าไม่มีเรือ ต.91 ผมคิดว่าจะไม่มีเรือเหล่านี้ตามมาได้เลย

ดังนั้น พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อกองทัพเรือ คือ ท่านทรงเป็นผู้ริเริ่มให้กองทัพเรือมีกิจการต่อเรือขึ้นใช้เอง และอยู่อย่างพอเพียง มีเรือใช้จนถึงปัจจุบันนี้

– ทุกวันนี้เรือส่วนใหญ่ลำใหม่ๆ นั้นต่อขึ้นเองทั้งหมด?

ก็จะมีเรือที่ต่อขึ้นเองและซื้อมาจากต่างประเทศ ที่บางส่วนต้องซื้อก็เพราะเมืองไทยยังไม่สามารถที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการต่อเรือลำใหญ่ หรืออาวุธที่ทันสมัยได้

แต่อีกด้านหนึ่งกรมอู่ทหารเรือของเราก็สามารถพัฒนาการต่อเรือตรวจการณ์จนอยู่ในระดับที่สามารถต่อเรือตรวจการณ์ได้ทุกรูปแบบ และเรือเหล่านั้นก็มีศักยภาพมากพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาชายฝั่งเอาไว้ได้ โดยพัฒนาแบบมาเรื่อยๆ โดยมีจุดเริ่มต้นจากเรือ ต.91 ที่ถือเป็นเรือขนาดเล็กมาจนถึงเรือหลวงกระบี่ที่เป็นเรือขนาดใหญ่

– ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักการทหาร

พระองค์ท่านถือเป็นต้นแบบของชายชาติทหารที่ทหารทุกคนควรนำมาปฏิบัติตามเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะพระองค์ท่านทรงเคยมีวีรกรรมในการออกรบ ไม่ทรงถือตัวเวลาปฏิบัติหน้าที่ ทรงดำรงชีวิตในป่าเวลาปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น เราจึงเห็นภาพของพระองค์ท่านที่นอนกลางดิน กินกลางทราย กอดปืน อยู่กับผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งนับว่าเป็นต้นแบบของผู้บังคับบัญชาที่ดีเป็นอย่างยิ่งในการนำพาผู้ใต้บังคับบัญชาไปสู้ในสนามรบ

ดังนั้น ความรู้สึกของผมในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาของนายทหารบนเรือก็จะน้อมนำเอาตัวอย่างที่พระองค์ท่านได้ทรงกระทำให้เห็น มาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับพระองค์ท่านครับ

– รัชกาลที่ 10 ทรงเคยปฏิบัติภารกิจบนเรือ ต.91 ด้วย

เคยครับ (ยิ้ม) ตั้งแต่ช่วงที่เรือ ต.91 ปฏิบัติหน้าที่ในตอนแรกๆ ช่วงนั้นเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จฯมาตรวจเยี่ยมการฝึก หรือทรงร่วมการฝึกด้วย ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะเสด็จฯมาด้วยตลอด มาดูการฝึกของทหารเรือว่าเป็นอย่างไร มาเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นทหารเรือว่าการฝึกทหารเรือเป็นอย่างไร

– การนำเรือ ต.91 มาจอดให้ประชาชนเข้าชม

เป็นแนวความคิดของกองทัพเรือว่าจะจัดงาน ก่อนหน้านี้ผมเคยถ่ายทำสารคดีกองทัพเรือ ช่วงแรกกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ จะเขียนบทเทิดพระเกียรติ เรือ ต.91 ให้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ในการนำหลักการพึ่งพาตนเอง หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับกองทัพเรือ ทำให้เรือ ต.91 เป็นปฐมบทแรกของการต่อเรือขึ้นใช้เอง กระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต บทจึงเปลี่ยนเป็นการแสดงความอาลัย แล้วผมเป็นผู้บังคับการเรือพอดี จากบทที่เป็นการเทิดพระเกียรติก็กลายเป็นแสดงความอาลัย

ทั้ง 5 ตอน มีตอนที่เกี่ยวกับเรือ ต.91 คือตอน “ก้าวหนึ่งในทะเล” ตอนเดียว แต่ตอนอื่นจะเล่าเรื่องการทำงานของทหารเรือในหน่วยอื่นๆ เช่น นาวิกโยธิน พลาธิการ มนุษย์กบ

– การที่เราได้มาเป็นนักแสดงนำของเรื่องมาได้อย่างไร

โดยตำแหน่ง (ยิ้ม) ตอนแรกทางทีมงานก็ติดต่อน้องคนหนึ่งที่หน้าตาดี รูปร่างดี หล่อเลย เป็นรุ่นน้อง แต่พอดีเขาต้องไปเรียนหลักสูตรพอดี ส่วนผมตามตำแหน่งเป็นผู้การเรือ ต.91 ตอนนั้นผมก็ทำงานอยู่ที่พังงา ทางกิจการพลเรือนที่มีหน้าที่ถ่ายทำสารคดีท่านก็ติดต่อมา บอกว่า น้องไหวมั้ย มาเป็นนักแสดงแทนเลยสิ ผมก็ได้ๆ ครับพี่

ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะได้เป็นนักแสดงนำ แต่ว่าด้วยความที่ในฐานะที่เป็นผู้การเรือ ต.91 ตามตำแหน่งอยู่ด้วยแล้ว ดังนั้น เมื่อได้บทตามตำแหน่งทั้งที ผมก็คิดว่าผมน่าจะทำได้

– เข้ามาเป็นผู้การเรือ ต.91 ตอนตุลาคม

ในกองเรือยามฝั่งมีเรือทั้งหมด 22 ลำ สภาพเรือแต่ละลำก็ไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่ก็อยากเลือกเรือลำใหญ่ที่มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย อุปกรณ์บนเรือ

ทันสมัย มีเครื่องมือสื่อสารทันสมัย แต่พอเห็นเรือ

ต.91 ตอนแรกที่ผมไม่รู้ประวัติละเอียดมาก่อน ความคิดแรกตอนเห็นเรือคือ เรือเก่ามาก เนื่องจากเป็นเรือชุดแรกที่กองทัพเรือต่อขึ้นเอง แน่นอนว่ามีอะไรที่ยังไม่สมบูรณ์ และไม่เน้นเรื่องความเป็นอยู่ของลูกเรือมากนัก

พอรู้ประวัติแล้วรู้สึกว่า ที่ได้มาเป็นผู้บังคับการเรือลำนี้ ไม่ใช่เพราะผู้บังคับบัญชาส่งมา ไม่ใช่เสมียนพิมพ์รายชื่อกำลังพลมาลำนี้ หรือไม่ใช่เพราะเพื่อนๆ เลือกเรือลำอื่นไปหมดแล้ว แต่ผมคิดว่าต้องมีอะไรมากกว่านั้นที่ทำให้ผมมาเป็นผู้บังคับการเรือ ต.91

พอเริ่มรู้ประวัติลึกๆ แล้วภูมิใจว่า แม้เรือจะมีอายุการใช้งานมากที่สุด แต่เป็นเรือของพ่อหลวง ที่พระองค์ท่านออกแบบ ทดลองด้วยพระองค์เอง แล้วที่สำคัญกว่านั้นคือ พระองค์ท่านเรียกเรือลำนี้ว่า “เรือของฉัน” ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่า ที่คิดมาก่อนหน้านั้นหายไปหมดเลย ผมมีหน้าที่ปรับปรุงเรือให้น่าอยู่ ให้อยู่ได้

– ครั้งหนึ่ง เรือ ต.91 เคยถูกพิจารณาให้ปลดประจำการ

ก่อนหน้านี้กองทัพเรือเคยทำเรื่องพิจารณาปลดประจำการลำนี้ไปรอบหนึ่งแล้ว เพราะว่ามีอายุการใช้งานนาน ซ่อมแล้วไม่คุ้ม ปรากฏว่าเมื่อประมาณปี 2534 ในหลวงมีพระราชดำรัสถามผู้บัญชาการทหารเรือ ว่าเรือของฉันเป็นอย่างไรบ้าง ยังแล่นได้อยู่ไหม ซึ่งทหารเรือทุกคนจะรู้อยู่แล้วว่า “เรือของฉัน” คือเรือ ต.91

ตอนนั้นเรือเตรียมปลด เอาขึ้นกรมอู่แล้ว ผู้บัญชาการท่านจึงต้องเปลี่ยนแผน บูรณะใหม่หมดเลย ทั้งนี้ เหล็กกระดูกงูที่พระองค์ท่านทรงเจิม ยังคงเดิมอยู่ แต่ว่าตัวเรือ ถ้าดูในรูปแล้วจะรู้ว่าเปลี่ยนไป ในรูปเก่าๆ จะเห็นว่าตัวเก๋งมี 2 ชั้น ทหารเรือหลายท่านที่เกษียณไปแล้วถ้าเห็นเรือ ต.91 จะบอกว่าลำนี้ไม่ใช่ ต.91 เพราะมีการเปลี่ยนภายนอกให้กลับมาใช้ราชการได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ทุกอย่างที่เป็นกระดูกงูหรือส่วนที่พระองค์ท่านเคยเจิมไว้ยังเป็น ต.91 เหมือนเดิม

– หน้าที่บนเรือของผู้การบิ๊กคืออะไร

หน้าที่หลักๆ คือ ดูแลปกครองการบังคับบัญชาบนเรือให้สำเร็จตามภารกิจ ที่ทางกองทัพเรือมอบหมาย หน้าที่หลักๆ เวลาออกเรือ มีหน้าที่ในการเดินเรือให้ไปตามเส้นทาง โดยมีน้องคนหนึ่งที่มีหน้าที่ในการเดินเรืออยู่แล้ว ส่วนผมเองต้องดูแลความปลอดภัยโดยเฉพาะเวลาเดินทางในเส้นทางคับแคบ หรือการเทียบเรือ แต่เวลาเรือจอดก็ต้องดูแลให้ทุกอย่างเรียบร้อย

ส่วนเวลาขึ้นฝั่งก็เป็นเวลาพักผ่อน เฮฮากันบ้างพอสมควรครับ (ยิ้ม)

– จากคนที่ไม่รู้จักทหารเรือเลย ได้สัมผัสชีวิตทหารเรือแล้วเป็นอย่างไร

พออยู่ไปได้สักพัก ก็รู้สึกชื่นชอบขึ้นมาในระบบของทหารเรือ ที่มีความเป็นพี่เป็นน้อง มีประเพณีที่รักกันเหมือน “ดอกประดู่” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทหารเรือ ว่าวันไหนรุ่งเรืองก็จะโตไปด้วยกัน ทหารเรือเวลาติดยศ ทั้งรุ่นก็จะขึ้นพร้อมกันเกือบทั้งรุ่น เวลาออกรบ หากเรือโดนยิงก็ต้องไปพร้อมกันทั้งลำเรือ สละเรือใหญ่พร้อมกัน หรือเป็นอะไรไปขึ้นมา ทั้งลำก็เหนื่อยยากพร้อมกัน

เป็นสโลแกนของทหารเรือ ว่าลูกประดู่ ตามเพลงของเสด็จเตี่ยคือ “วันไหนวันดีบานคลี่พร้อมอยู่ วันไหนร่วงโรยดอกโปรยตกพรู ทหารเรือเราจงดูตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย” ขึ้นด้วยกัน แล้วก็ลงพร้อมกัน

– มีเป้าหมายชีวิตในวิชาชีพทหารอย่างไรบ้าง

เป้าหมายของผม จะทำหน้าที่ของทหารเรือให้ดีที่สุด ในตลอดการปฏิบัติหน้าที่ ในเส้นทางชีวิตข้าราชการ ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเป็นอะไร แต่คาดหวังว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image