ผู้เขียน | นฤตย์ เสกธีระ |
---|
แท็งก์ความคิด : ส่งเสริมการอ่าน
มีโอกาสไปร่วมงาน “วันรักการอ่าน” ที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
งานวันนั้นจัดที่ห้องมหกรรม ชั้น 2 อาคาร 2 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเอกมัย กรุงเทพมหานคร
มี น.ส.ทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการ กศน. เป็นประธานในพิธี
น.ส.ทรงศรีเล่าที่มาของงานว่า เมื่อปี 2522 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันรักการอ่าน”
น.ส.ทรงศรีกล่าวว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง
กศน.ได้สนองพระราชดำริและพระปณิธานแห่งเจ้าฟ้านักอ่านของไทย โดยมีนโยบายส่งเสริมการอ่านแก่ประชาชนทุกช่วงวัยเพื่อพัฒนาให้คนไทยมีความสามารถในด้านการอ่านและมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น
และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงาน กศน.ได้จัดโครงการวันรักการอ่าน ประจำปี 2566 ขึ้นมา
สำหรับเครือมติชนที่มีโอกาสเข้าไปในงานวันนั้น เนื่องจากทาง กศน.เชิญไปรับมอบเกียรติบัตรเนื่องจากสนับสนุน “บ้านหนังสือชุมชน” ภายใต้โครงการชุมชนอุดมปัญญา
ไปงานครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบว่า กศน.ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการอ่านแม้ว่าจะถูกตัดงบเหี้ยน
ทราบว่าบ้านหนังสือชุมชนเกิดจากอาสาสมัครที่ต้องการขับเคลื่อนการอ่านโดยใช้พื้นที่ของตัวเองเป็นที่ตั้ง มีบรรณารักษ์ดูแลหนังสือ และมีครูเป็นผู้สอน
แต่ที่ขาดแคลนตลอดคือหนังสือและนิตยสาร
เครือมติชนได้จัดตั้งโครงการชุมชนอุดมปัญญาขึ้นเมื่อปลายปี 2565 โดยได้ระดมทุนจากผู้มีความเห็นสอดคล้องแล้วนำเงินไปซื้อพ็อคเก็ตบุ๊ก และสมาชิกนิตยสาร แล้วส่งไปให้
ความจริงโครงการนี้ไม่ได้จำกัดแค่บ้านหนังสือชุมชน หากแต่ต้องการส่งไปยังสถานที่ที่ยังต้องการหนังสือและนิตยสาร
และมั่นใจว่าบ้านหนังสือชุมชนคือสถานที่ที่ต้องการ
จากปลายปี 2565 จนถึงขณะนี้มีบ้านหนังสือชุมชนหลายแห่งได้รับหนังสือไปแล้ว
เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา มีบ้านหนังสือชุมชนที่ได้รับหนังสือจากมติชนไปทำประโยชน์มาจัดนิทรรศการด้วย
ได้เห็นได้ฟังแล้วปลื้ม
คำถามแรกที่สอบถามเพราะอยากรู้คือ ในพื้นที่ต่างๆ นั้นยังมีคนอ่านหนังสืออยู่หรือไม่
คำตอบยืนยันว่ายังมีความต้องการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะผู้สูงวัยยังนิยม เหตุเพราะคุ้นเคย ไม่ปวดตา และยังมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับคนอื่นๆ ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้อ่าน
ส่วนหนังสือและนิตยสารนั้นทางครูและบรรณารักษ์ได้กระจายไปนอกสถานที่
เมื่อมีการประชุมประชาคมหมู่บ้านก็เอาหนังสือและนิตยสารไปวางไว้ ระหว่างรอประชุมชาวบ้านก็มาอ่านกัน
นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นที่นิยม
นอกจากหนังสือและนิตยสารแล้ว กศน.ยังต้องการอุปกรณ์พัฒนาทักษะของเด็กช่วยเสริมความพร้อมให้น้องๆ ในชุมชน
สอบถามถึงหนังสือพิมพ์ว่ายังเป็นที่ต้องการหรือเปล่า คำตอบคือหาซื้อได้ยากขึ้น เพราะแผงหนังสือที่เคยมี ได้ยุบเลิกไปเยอะ นึกอยู่ในใจว่าใครนะที่ตัดงบหนังสือหมู่บ้านในตอนนั้น วันนี้ส่งผลกระทบไปถึงชุมชนทั่วประเทศแล้ว
ก่อนจากอำลากลับไปปฏิบัติภารกิจต่อที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักการอ่าน
สิ่งที่อยากบอกคือ การอ่านยังมีความสำคัญต่อชีวิต และหนังสือยังมีความสำคัญต่อการอ่าน
แม้ปัจจุบันความนิยมเสพสื่ออาจจะมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น
จากเดิมที่มีแต่สื่อกระดาษ ขณะนี้มีสื่อออนไลน์เพิ่มเติมเข้ามา
การส่งเสริมการอ่าน คงไม่ใช่การทิ้งสื่อแบบหนึ่งแล้วไปสนับสนุนสื่ออีกแบบหนึ่ง
การส่งเสริมการอ่านควรจะเพิ่มการสนับสนุนสื่อทุกสื่อที่ทำให้คนรักการอ่าน
ทั้งนี้ เพราะหลากพื้นที่ในเมืองไทยนั้นมีความพร้อมแตกต่างกัน
คนในเมืองอาจมีพร้อมทั้งสื่อกระดาษและสื่อกระจก แต่คนนอกเมืองเริ่มขาดแคลนสื่อกระดาษ เพราะการลำเลียงสื่อกระดาษไปถึงชุมชนมีน้อยลง
สวนทางกับความต้องการอ่านที่คนในชุมชนยังนิยมสื่อกระดาษ
การส่งเสริมการอ่านจึงควรสนับสนุนทุกสื่อทุกช่องทางที่ทำให้คนอยากอ่าน
ควรสนับสนุนให้ทุกชุมชนมีหนังสือ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ เหมือนเดิม
แล้วเพิ่มเติมหนังสือ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์แบบดิจิทัลเข้าไปเสริม
สนับสนุนทั้งประเทศ หรือจะเจาะจงเฉพาะชุมชนก็ได้
เริ่มจากชุมชนที่อยากอ่าน ต้องได้อ่าน
ส่วนชุมชนไหนที่เมินหนังสือ แทนที่จะละทิ้งพวกเขา หากเห็นว่าการอ่านทำให้ชีวิตได้ประโยชน์ ก็ควรแสวงหาวิธีการที่จะส่งเสริมให้ชุมชนมีโอกาสได้อ่านหนังสือ