อาศรมมิวสิก : ค่ายดนตรีเด็กผู้มีความสามารถพิเศษ ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่

ครูผู้ควบคุมวงแชมเบอร์ออร์เคสตรา (Prof. Joan Pages Valls)

อาศรมมิวสิก : ค่ายดนตรีเด็กผู้มีความสามารถพิเศษ ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่

สถานการณ์บังคับให้ย้อนกลับไปเริ่มต้นทำงานใหม่อีก ทำเลียนแบบเดิมที่เคยทำไว้ “พรสวรรค์สร้างได้ไม่ต้องคอยเทวดา” แม้เวลาจะล่วงเลยมา 30 ปีแล้ว แต่ก็ตระหนักดีว่า อาชีพดนตรีของไทยไม่ได้แข็งแรง ซึ่งมีวิธีเดียวที่จะพัฒนาให้อาชีพดนตรีแข็งแรงขึ้นมา คือ ต้องพัฒนาคุณภาพและฝีมือนักดนตรี จึงลงมือสร้างเด็กเรียนดนตรีตั้งแต่อายุน้อยๆ อาศัยโครงการวิจัย “พรสวรรค์ศึกษา” ซึ่งได้เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ.2538 กระทั่งพิสูจน์ได้ว่า “พรสวรรค์สร้างได้” ได้ทำงานวิจัยถึงปี พ.ศ.2548 ใช้เวลาศึกษาอยู่ 10 ปี ก็มีความเชื่อมั่น ใช้วิธีการสร้างเด็กเล่นเป็นวงแชมเบอร์ออร์เคสตราอย่างจริงจัง นำวงแชมเบอร์ไปแข่งในเวทีนานาชาติ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศที่เมืองอินเตอร์ลาเกน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (พ.ศ.2548)

ความสำเร็จครั้งนั้น ได้ต่อยอดโดยจัดตั้งวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิกออร์เคสตรา (ทีพีโอ) เป้าหมายเพื่อสร้างให้เป็นวงดนตรีอาชีพที่มีรายได้ โดยคัดเลือกนักดนตรีที่มีฝีมือ สร้างงานและกิจกรรมดนตรี เปิดพื้นที่ดนตรี ล้วนเป็นการสร้างอาชีพดนตรี ทำดนตรีให้เป็นวิชาของนักปราชญ์ พัฒนาค่าตัวและพัฒนาบุคลิกของนักดนตรีใหม่ “เสียงดังตังมา” สนับสนุนการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” ทำให้พ่อแม่และเด็กๆ ศรัทธา หันมาเลือกเรียนดนตรีอย่างจริงจังมากขึ้น

ปี พ.ศ.2562 หมดเวลาที่ทำมา 33 ปี ส่วนใหญ่ได้ลงทุนสร้างคน สร้างพื้นที่ สร้างงาน และสร้างอาชีพดนตรี เพื่อให้สามารถพัฒนาอาชีพดนตรีได้ กระทั่งดนตรีกลายเป็นวิชาที่มีราคาความน่าเชื่อถือสูง นักดนตรีมีบุคลิกภาพดี เด็กที่เรียนดนตรีมีฝีมือ มีความรู้มีความสามารถสูง ดูดีมีรสนิยม ไปศึกษาต่อต่างประเทศได้

ADVERTISMENT

เมื่อนั่งดูอยู่ข้างๆ เวที พบว่า สิ่งที่เคยสร้างไว้ก็ค่อยๆ ต่ำลง แผ่วลง ทรุดโทรมลง บางคนเปลี่ยนอาชีพไม่เล่นดนตรีอีก อาชีพดนตรีถูกทำลาย ไม่มีราคา ต่ำต้อยด้อยค่า หาเลี้ยงชีพไม่ได้ ส่วนคนที่เก่งดนตรีก็ไม่มีที่อยู่ ต้องออกไปทำงานต่างประเทศ เมืองไทยมองไม่เห็นอนาคตในอาชีพดนตรี คนที่เหลืออยู่ก็ไปไหนลำบากและทำงานไม่ได้ ก็ต้องทนอยู่ต่อไป

สถาบันดนตรีมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาหลายร้อยคนพูดภาษาไทยไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ มาเรียนดนตรีก็เล่นดนตรีไม่ได้มีเงิน ใช้เงินเป็นใบเบิกทางเข้าเรียน แบบ “จ่ายครบจบแน่” ทำให้ผู้บริหารการศึกษากลายเป็นผู้ต้องสงสัย “บุคลากรสีเทา”

ADVERTISMENT

เฝ้าดูทำให้รู้สึกฮึกเหิม เมื่อยังมีแรงอยู่จึงได้ตัดสินใจลงมือทำงานอีกครั้ง เริ่มต้นจากจุดที่เคยทำเมื่อ 30 ปีก่อน คราวนี้เริ่มที่เด็กอายุ 0-3 ขวบ โดยให้การศึกษาดนตรีแก่พ่อแม่ผู้ปกครองด้วย ซึ่งก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าร่วมโครงการพรสวรรค์ศึกษา 700 กว่าครอบครัว เพราะเชื่อว่าสามารถทำได้จริง ลงมือทำและตั้งใจจริง ทำงานด้วยมีเป้าหมายที่ชัดเจน มุ่งมั่นเรื่องคุณภาพ ทำงานด้วยใจ ทำด้วยความศรัทธา ตั้งใจที่จะสร้างให้ดนตรีเป็นอาชีพของคนรุ่นใหม่ เป็นอาชีพที่มีเกียรติเชื่อถือได้ ใช้นโยบายเดิม คือ สร้างคนดนตรีให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง

ระหว่าง พ.ศ.2562-2566 ผ่านไป 5 ปี พบว่าคนรุ่นใหม่มีฝีมือสูงขึ้น มีความเชื่อถือและศรัทธาในอาชีพดนตรี เชื่อว่าดนตรีสามารถจะสร้างอาชีพให้สำเร็จได้และมีอนาคต คนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือได้รวมตัวกัน 30 กว่าคน ทุกคนทำงานหนัก เอาจริงเอาจัง ร่วมกันสร้างพลังบวกแล้วเอาพลังบวกมาร่วมกันทำงาน ทำให้มีพลังและมีกำลังใจทำงาน จึงได้เชื่อมกับเพื่อนเก่าที่เคยเป็นผู้บริหารสถาบันดนตรีในเยอรมนี ให้ช่วยพัฒนาอีกแรงหนึ่ง

ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายน พ.ศ.2566 ได้เชิญครูดนตรีเยอรมัน 5 คน จากสถาบันดนตรีเมืองวายมาร์ (Weimar) มี Prof. Joan Pages Valls ครูผู้ควบคุมวงแชมเบอร์ออร์เคสตรา, Prof. Ursula Dehler ครูสอนไวโอลิน, Johanna Ruppert ครูสอนไวโอลิน, Prof. Maria-Luise Leihenseder-Ewald ครูสอนเชลโล และ Hauke Siewertsen ครูสอนจิตวิทยาดนตรี มีวิชาการฝึกควบคุมวงออร์เคสตรา มีวงออร์เคสตราของเด็ก 2 วง (อายุ 7-14 ปี) มีการเรียนเดี่ยวไวโอลิน เดี่ยวเชลโล และมีวิชาจิตวิทยาดนตรี

ครูสอนไวโอลิน (Prof. Ursula Dehler)

วงออร์เคสตราเด็กวงละ 20 คน ได้ผู้เชี่ยวชาญคุมวงดนตรี (Prof. Joan Pages Valls) ในบรรยากาศที่เรียนดนตรีสนุกและเอาจริงเอาจัง โดยเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้นั่งชมอยู่ด้วย เพราะเป้าหมายเพื่อจะนำวงเด็กๆ ไปเข้าค่ายที่เมืองวายมาร์ ประเทศเยอรมนี ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2566 นี้ ทำแล้วทุกคนเห็นว่าดี

เด็กเยาวชนดนตรีรุ่นใหม่พัฒนาได้เร็ว เพราะมีคุณระเบียบ มีคุณวินัย และคุณฝีมืออยู่ในตัวเด็กทุกคน ทำให้เพิ่มทุนราคาความน่าเชื่อถือ เพราะว่าเด็กมีความพร้อมสูง เข้าใจภาษาอังกฤษ รู้ภาษาเทคโนโลยี รู้จักภาษาดนตรีดี มีฝีมือและมีความรับผิดชอบ สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ ฝึกซ้อมเตรียมตัวมาดี ทุกคนมีเครื่องดนตรีเป็นของตนเอง พ่อแม่เอาใจใส่โดยขจัดอุปสรรคและปัญหาส่วนตัวออกไป หัวใจอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรี จึงทำให้อาชีพดนตรีเปิดออกมาอีกครั้ง

เรื่องที่ประณีตก็คือ เด็กกลุ่มนี้ (7-14 ปี) มีศักยภาพสูงกว่านักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เด็กมีความตั้งใจสูง มีความเอาใจใส่ เอาจริงเอาจังในการเรียน ทำให้เด็กพัฒนาฝีมือก้าวไปเร็ว เด็กบางคนสามารถไปเล่นในวงอาชีพ (วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา) ได้ แม้ตัวจะเล็ก อายุยังน้อย แต่ก็มีฝีมือสูง สิ่งที่ต้องประคับประคองคืออนาคตการศึกษาดนตรีของเด็กๆ จึงต้องเดินทางไปศึกษาวิชาดนตรีในต่างประเทศสถานเดียว ทั้งนี้ ไม่มีสถาบันดนตรีในประเทศที่จะรองรับฝีมือของเด็กได้ แม้เด็กจะสอบเข้าเรียนได้ แต่ก็ไม่มีครูที่มีฝีมือจะพัฒนาเด็กต่อได้

ครูสอนเชลโล (Prof. Maria-Luise Leihenseder-Ewald)

เด็กที่มีฝีมือสูงแล้วไม่มีทุนเรียน จำใจต้องอยู่ในประเทศไทย เด็กเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนอาชีพไปศึกษาวิชาอื่น เพราะเด็กและผู้ปกครองเชื่อว่า เด็กมีฝีมือสูงกว่าอาจารย์ที่สอนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา หากเรียนต่อวิชาดนตรีให้จบในสถาบันอุดมศึกษาไทย ก็ตกอยู่ในฐานะไม่มีงานทำ ไม่ได้พัฒนาฝีมือ ไม่มีอาชีพดนตรี และไม่มีรายได้ที่จะเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นความสูญเสียอนาคตที่สำคัญยิ่ง ดังนั้นเด็กที่มีฝีมือทางดนตรีสูงจึงต้องไปเรียนดนตรีในสถาบันในต่างประเทศและต้องเก่งสถานเดียว

จุดจบของอาชีพดนตรีในประเทศ สถาบันสอนดนตรี บางแห่ง ผู้นำไม่มีฝีมือ ขาดวิสัยทัศน์ ทำให้งานดนตรีขาดคุณภาพ ทำให้อาชีพดนตรีตกต่ำ เพราะบุคลากรที่อยู่ในอำนาจดูแลอุปกรณ์ดนตรีและองค์ประกอบอาชีพดนตรีใช้อำนาจใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เป็น “ใช้อำนาจเป็นยาจกนั่งทับถุงทอง” ทำให้ประเทศเสียโอกาส เพราะทรัพย์สินดนตรีที่มีอยู่ก็ไม่ได้ใช้ เมื่อมีงานจะต้องใช้ฝีมือด้านดนตรี ก็ต้องจ้างและนำเข้ารสนิยมจากต่างประเทศ ซึ่งดูดีมีราคา รัฐไทยต้องจ้างศิลปินจากต่างประเทศในราคาที่แพง เพื่อจะบอกแก่นักท่องเที่ยวให้รู้ว่า “มีรสนิยม”

ครูสอนไวโอลิน (Johanna Ruppert)

วันนี้เด็กที่เก่งดนตรีและนักดนตรีที่เก่งของไทยสร้างได้แล้ว มีสถาบันการศึกษาดนตรีมากแล้ว มีเครื่องดนตรีพร้อมแล้ว มีเวทีและหอแสดงดนตรีที่สมบูรณ์ รวมทั้งมีมิตรรักแฟนเพลงผู้ชื่นชอบดนตรีอยู่ทั่วไป เพียงแต่ไม่มีผู้จัดการดนตรีที่มีฝีมือ นำอุปกรณ์ บุคลากร และทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าเท่านั้นเอง

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็อยากดูศักยภาพความเป็นเลิศด้านดนตรีจากฝีมือนักดนตรีไทย อยากดูวงดนตรีของไทย ซึ่งเป็นรายได้ที่ขึ้นอยู่กับความไพเราะและความพอใจ คนเก่งทำอะไรก็ดูดี คนมีฝีมือเล่นดนตรีก็ไพเราะ ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่สิ้นเปลือง ดนตรีนั้น ยิ่งเล่นยิ่งเก่ง ยิ่งเล่นยิ่งไพเราะ เมื่อไพเราะแล้วก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นอาชีพและสร้างรายได้ ต้นทุนก็คือศักยภาพความเป็นเลิศ ที่มีฝีมือในการเล่นดนตรี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image