เริงโลกด้วยจิตรื่น : แค่กลับมาที่ ‘จิตเดิม’

เริงโลกด้วยจิตรื่น : แค่กลับมาที่ ‘จิตเดิม’

เมื่อผ่านประสบการณ์ชีวิตมาระยะหนึ่ง ทุกคนจะตระหนักรู้ว่า “จิตสงบ” จัดการเรื่องราวต่างๆ ทำหน้าที่การงานได้ดีกว่า

“จิตสงบ” ทำให้ผู้บริหารมองเห็นปัญหาจากสาเหตุที่แท้จริง และรู้วิธีแก้ไขพัฒนา ผู้ปฏิบัติงานมีความละเอียดรอบคอบในการจะทำงานให้ลุล่วงด้วยดี ศิลปินทำงานศิลปะได้งดงามตามความเชี่ยวชาญของตัวเอง

“จิตสงบ” ทำให้เกิดสมาธิใจจะเบิกบานมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ

ADVERTISMENT

แต่ที่ยากก็คือจะทำให้ “จิตสงบ” ได้อย่างไร

ผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่ง จะรู้ว่าในสถานะของ “ปุถุชน” จะมีธรรมชาติของจิตที่ไม่หยุดนิ่ง

ADVERTISMENT

“จิต” ในความหมายของการเข้าไปรู้ของ “ปุถุชน” จะกระโดดไปกระโดดมา ไปเรื่องโน้นกลับมาเรื่องนี้ แล้วไปเรื่องนั้นตามแต่ความรู้สึก นึก คิดจะพาไป

เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้รู้สึกในใจ ก็จะแวบไปแวบมาตามสิ่งที่เข้ามาเร้า เลยเถิดๆ ไปสู่ความคิด จินตนาการเลื่อนเปื้อนไปเรื่อย

สภาพจิตที่ฟุ้ง ที่ซ่านไปกับสิ่งเร้า และความรู้สึก นึก คิดอย่างนี้ เป็นจิตขาดสมาธิ ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีสำหรับการทำงาน

หากจะทำงานได้ต้องทำจิตให้นิ่งในระดับหนึ่งก่อน

อย่างที่บอกจะทำอย่างไรนี่แหละที่เป็นปัญหา ยิ่งหากต้องการจิตที่นิ่งได้ตามเวลาที่ต้องการยิ่งไม่ง่ายเลย

บ่อยครั้งเราจะพบว่า “ยิ่งอยากนิ่ง ยิ่งฟุ้งซ่าน” ฟุ้งซ่านเพราะความอยากนั่นแหละ

มันง่ายที่จะค้นหาวิธีทำให้จิตนิ่ง ทำให้มีสมาธิ

แต่หากยังอยู่แค่รู้ว่า “จิตนิ่ง” เป็นอย่างไร หรือรู้ว่า “วิธีการทำให้จิตนิ่ง” เป็นอย่างไร และเอาแต่ท่องบ่นความรู้นั้น ด้วยคิดว่าจะทำให้จิตนิ่ง จะพบว่าไม่ได้ผลสักเท่าไร ความรู้นั้นไม่ได้ช่วยอะไร จิตยังกระโดดไปเรื่องโน้น เรื่องนี้ สลับไปสลับมากับความรู้ที่ท่องจำไว้นั้นเหมือนเดิม

หรืออาจจะคิดว่า เอาความรู้นั้นมาไตร่ตรอง จิตนิ่งประกอบด้วยอะไร แต่จะส่งผลต่อกันและกันอย่างไร วิธีการที่ทำให้จิตนิ่งนั้นมีกระบวนการขั้นตอนที่จะไปจัดการกับจิตอย่างไร อะไรทำให้จิตนิ่งส่งผลดีต่อการงาน เกิดขึ้น และจะรักษาไว้ด้วยอย่างไร

เป็น “จิตนิ่ง” ที่เกิดจากการคิดเอา ยังอยู่ในการบงการจัดการของความคิด

และความคิดนี่เองที่มีธรรมชาติของความไม่นิ่ง คิดเรื่องนั้นที เรื่องนี้ทีอยู่ตลอดเวลา

ยังไม่ใช่ “จิตสมาธิ” ที่เหมาะแก่การงาน

“จิตนิ่ง” ที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การงานคือ “จิตที่ไม่ได้สร้างขึ้นจากความรู้ หรือจากความคิด” แต่เป็น “จิตเดิมที่มีอยู่แล้ว”

เพียงแต่ความรับรู้ของเราถูกเบี่ยงเบนไปกับเรื่องความรู้ ความคิด ความรู้สึก จนเหมือนกับสัมผัส “จิตเดิม” ไม่ได้ ทั้งที่ “จิตเดิม” อยู่กับเราตลอดเวลา เพราะมีอยู่แล้ว เพียงแต่ความรับรู้ หรือ “สติ” ของเราไปอยู่กับสิ่งอื่นเท่านั้น

แค่เราเอาความรับรู้มาอยู่กับ “จิตเดิม” แค่นั้นก็จบ

“จิตเดิม” เป็นความสงบ เป็นความว่าง จึงไม่ฟุ้งซ่านไปกับความคิดที่เกิดจากการปรุงแต่ง

เป็น “จิตสงบ” ที่เหมาะแก่การงาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image