ผู้เขียน | สุกรี เจริญสุข |
---|
อาศรมมิวสิก : เสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง
วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราจะไปแสดงที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ในวันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2566 เวลา 19.00-21.00 น. โดยมีศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ่านบทกวี มีบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับลำปาง อาทิ ลาวลำปาง สร้อยลำปาง ลาวคลึง ลาวจ้อยหรือสร้อยแสงแดง ลาวเจริญศรี ลาวเสี่ยงเทียน ขับร้องโดย อาจารย์กมลพร หุ่นเจริญ
มีเพลงลาวเดินดง ลาวครวญ เดี่ยวซึงโดย ผศ.ศรชัย เต็งรัตน์ล้อม ลาวดวงดอกไม้ ลาวสวยรวย ลาวคำหอม ขับไม้บัณเฑาะว์ ลาวกระทบไม้ ผีมดผีเม็ง เสียงใหม่ (ฤาษีหลงถ้ำ ล่องน่าน ล่องแม่ปิง ปราสาทไหว) ซึ่งเดี่ยวรีคอร์เดอร์โดย เอก โอตรวรรณะ เดี่ยวสะล้อล้านนา มีเพลงปั่นฝ้าย กล่อมนางนอน แม่หม้ายเครือ และลาวเสด็จ โดยช่างปี่จุม พิษณุการณ์ ทรายแก้ว และคณะศิลปินพื้นบ้านล้านนา มีคณะขับร้องวงปล่อยแก่ของลำปางและเชียงใหม่ ร้องเพลงร่ำเปิงลำปาง ล่องแม่ปิง หมู่เฮาจาวเหนือ

โครงการวิจัยวัฒนธรรมดนตรีเพื่อสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่ ได้เลือกพื้นที่วัดพระธาตุลำปางหลวงเพื่อจะนำกลิ่นเสียงและวิญญาณของประวัติศาสตร์ที่ยังเหลือร่องรอยอยู่ในเพลงที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะดนตรีเป็นส่วนประกอบพิธีกรรมของศาสนา ความเชื่อ อาชีพ และการทำมาหากินในชุมชน
ลำปาง ประกอบด้วย ชาวลัวะ ลาว ไทลื้อ มาจากเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง และลาวตอนเหนือ มีชาวไทใหญ่ มอญ พม่า ยวน เงี้ยวที่มาจากรัฐฉาน ไทเขินซึ่งมีสายสัมพันธ์กับสุโขทัยและเมืองทางเหนือในสมัยพระร่วง พญางำเมือง พญาเม็งราย ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองน่านเคยเข้ามาร่วมสร้างวัดในสุโขทัย ได้พระธาตุพระพิมพ์กลับไปก่อสร้างพระธาตุแช่แห้ง คาราวานสุโขทัยค้าขายไปถึงหลวงพระบางและสิบสองปันนา
ลำปางมีหลักฐานสร้างเมื่อ พ.ศ.1223 พระสุพรหมฤาษีสร้างเมือง ให้โอรสของพระนางจามเทวีครองคู่กับเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ลำปางชื่อว่านครเขลางค์ เปลี่ยนมาเป็นนครลำปาง มีอายุ 1,300 กว่าปี มีชื่อเรียกต่างๆ อาทิ กุกกุฏนคร (เมืองไก่) มีถ้วยตราไก่เป็นสินค้าของเมืองลำปาง ลัมภกับปะนคร ศรีนครชัย นครเวียงคอกวัว เวียงดิน เขลางค์นคร เมืองลคร ลำปางได้ใช้ไก่สีขาวเป็นสัญลักษณ์

สมัยเชียงแสน ลำปางตกอยู่ในอำนาจของขอม เคยเป็นเมืองประเทศราชของพม่า เคยตกอยู่ในการปกครองของเชียงใหม่ กระทั่งถึงสมัยเจ้าทิพย์ช้าง (พระยาสุวะลือไชยสงคราม) สามารถจะขับไล่พม่าออกจากเมืองลำปางได้และขึ้นครองนครลำปางเมื่อ พ.ศ.2279 ต่อมา พ.ศ.2307 เจ้าแก้วฟ้าโอรสของเจ้าทิพย์ช้าง ได้ครองนครลำปาง เป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (พ.ศ. 2400-2465) ซึ่งเป็นผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย สมัยรัชกาลที่ 5 ลำปางได้ประกาศเป็นเขตปกครองของสยาม พ.ศ.2435
วิถีชีวิตผู้คนและดนตรีของชาวลำปางดั้งเดิม เหลืออยู่กับชาวบ้าน ชาวดอยและผู้เฒ่า ชาวลำปางดั้งเดิมมีเผ่าพันธุ์หลากหลาย อาทิ เผ่าม้ง เผ่าอาข่า เผ่าลาฮู เผ่าลีซู เผ่าลัวะ เผ่าขมุ เผ่ากะเหรี่ยง เผ่าเมี่ยน เป็นต้น
ชาวลำปางใหม่โยกย้ายมากับหน้าที่และอาชีพ ข้าราชการ พ่อค้า เมื่อการเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น จึงมีคนจากพื้นที่อื่นเข้าไปอยู่ในลำปางมากขึ้น คนเมืองในท้องถิ่นที่อยู่เดิม คนจีน พม่า อินเดีย คนไทยกลาง ชาวใต้ คนลาว คนเขมร ชาวตะวันตก ซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่เพื่อประกอบธุรกิจ ทำค้าขาย ทำป่าไม้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาลำปางเฉพาะเวลาสั้นๆ มีอยู่จำนวนมาก เพราะลำปางเป็นเมืองเล็ก มีความสงบไม่วุ่นวายเหมือนเมืองใหญ่ คนจร หรือยูทูบเบอร์ (YouTuber) จึงชอบอยู่ที่ลำปาง ส่วนพวกชนเผ่านั้นยังคงอาศัยอยู่ตามชุมชนในพื้นที่ภูเขาและชายขอบ
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ พ.ศ.2448 มีวิศวกรชาวเยอรมัน 250 คน เข้ามาสำรวจเพื่อสร้างรางรถไฟสายเหนือ ต้องเจาะอุโมงค์ผ่านภูเขาขุนตาน เริ่มเจาะภูเขาปี พ.ศ.2450 อุโมงค์ขุนตานแล้วเสร็จสมบูรณ์ พ.ศ.2461 ลำปางเคยเป็นจุดสิ้นสุดของรถไฟ เมื่ออุโมงค์ขุนตานทะลุไปถึงเชียงใหม่ ลำปางก็กลายเป็นเมืองทางผ่าน
พระเจนดุริยางค์ทำงานอยู่กับกรมรถไฟหลวง (พ.ศ.2444-2460) เป็นขุนเจนรถรัฐ ลาพักร้อนนั่งรถไฟไปลำปางและได้พบภรรยา (คนที่ 2) ชาวลำปางชื่อแม่บัวคำ มีลูกด้วยกัน 3 คน เป็นหญิงล้วน คือ ประทุม ประไพ และประดับ พระเจนดุริยางค์ได้นำเพลงจากลำปางมาทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก พ.ศ.2484

ความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ปี พ.ศ.2460 มีการสำรวจแหล่งเชื้อเพลิงพบว่าที่ อ.แม่เมาะ ลำปาง มีแร่ลิกไนต์ (Lignite) พ.ศ.2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินของชาติเอาไว้ พ.ศ.2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าขึ้นโดยใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ได้เปิดทำเหมืองผลิตพลังงานให้โรงงานบ่มยาสูบ รถไฟ โรงงานปูนซีเมนต์ เป็นการพัฒนาพลังงานกับเศรษฐกิจหลักของชาติ
พ.ศ.2512 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เหมืองแม่เมาะอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2515 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าแม่เมาะเพิ่ม พ.ศ.2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จไปทรงเปิดโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะอย่างเป็นทางการ
โรงงานผลิตไฟฟ้าแม่เมาะได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชุมชน ผู้คน ทรัพยากรมนุษย์ สังคม โรคที่เกิดจากถ่านลิกไนต์กระทบต่อชีวิตผู้คน ทำให้เศรษฐกิจของลำปางเปลี่ยนแปลงอย่างมากด้วย
เมื่อลำปางขึ้นกับสยาม พ.ศ.2435 สยามได้ส่งออกไม้สักเป็นสินค้าไปยังยุโรปเป็นลำดับต้นๆ ของโลก การส่งไม้สักออกต่อเนื่องหลายปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2426 เป็นต้นมา มีบริษัทข้ามชาติ อาทิ บริษัทหลุยส์ โทมัส เลียวโนเวนส์ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิง คอร์เปอร์เรชัน บริษัทสยาม ฟอเรสต์ บริษัทอีสต์ เอเชียติก เป็นต้น จนป่าไม้สักในภาคเหนือหมดไป เป็นเหตุให้แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน น้ำแห้งตื้นเขิน หน้าร้อนแล้ง ร้อนจัด (40-44 องศาเซลเซียส) มีฝุ่นพิษมากในปัจจุบัน หน้าฝนน้ำท่วมไหลเชี่ยวและไม่มีที่เก็บน้ำ เดิมนั้นต้นไม้ใหญ่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำเอาไว้ตามธรรมชาติ
วัดพระธาตุลำปางหลวงอยู่ในเวียงหรือเมืองโบราณเป็นรูปสี่เหลี่ยมประมาณ 150 ไร่ มีกำแพงดินล้อมรอบสามชั้น คูน้ำสองชั้น ใจกลางเวียงเป็นเนินสูงที่ตั้งพระธาตุเจดีย์ มองเห็นเด่นชัด เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน
วัดพระธาตุลำปางหลวง (เขาพระสุเมรุ) สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ.1952-2030 ร่วมสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นยุคทองของล้านนา พ.ศ.1992 มีหมื่นหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปางได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้น รูปทรงเจดีย์และลวดลายบนซุ้มประตูโขงมีอิทธิพลสุโขทัย ต่อมาได้สร้างวิหารพระพุทธทางทิศใต้ ซุ้มประตูโขงทางเข้าวัดทางทิศตะวันออก สร้างกำแพงและคูน้ำรอบเวียงเป็นขอบเขต ใช้กั้นน้ำหลากและเป็นป้อมค่าย ซึ่งในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้ทำสงครามกับอยุธยา 20 กว่าปี ลำปางจึงเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเหนือ
วัดพระธาตุลำปางหลวงมีตู้ใส่ใบลาน (อย่างน้อย 3 ตู้) เป็นคลังความรู้และคลังปัญญาเก็บสะสมไว้ รอคอยการศึกษาและการเปิดออกมาว่ามีอะไรอยู่ในใบลาน สมบัติชิ้นนี้เป็นมรดกที่ล้ำค่าสำคัญมาก องค์กรที่เกี่ยวข้องควรได้ศึกษาและรักษาไว้ให้ความรู้อยู่คู่บ้านเมือง โดยทำสำเนาแล้วศึกษาแปลออกมาให้เป็นความรู้ต่อไป
ล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ากว่า 200 ปี พ.ศ.2101-2317 ยุคแรกพม่ายังให้ล้านนากึ่งปกครองตัวเอง ยกวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นศูนย์กลางศาสนจักร สร้างวิหารหลวงและมณฑปพระเจ้าล้านทอง วิหารน้ำแต้ม ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังแบบศิลปะพุกาม ลานด้านหน้าเป็นทางขึ้นบันไดโขง ทางทิศตะวันออกเป็นทางเข้าวัดหลัก ปัจจุบันมีถนนหลวงตัดผ่านและเป็นลานจอดรถ “ข่วงวัด” เป็นการจัดพื้นที่ว่างตามคติของพม่า ซึ่งพม่าใช้ข่วงวัดเป็นค่ายตั้งทัพ ครั้งหนึ่งๆ อยู่นานหลายเดือน เพื่อป้องกันการโจมตีจากอยุธยา
ยุครัตนโกสินทร์เมื่อล้านนาตกเป็นประเทศราชและเป็นส่วนหนึ่งของสยาม การสร้างพระอุโบสถพระวิหาร ประตูโขง ซุ้มประตู รวมทั้งการบูรณะ ได้อิทธิพลลวดลายและรูปแบบรัตนโกสินทร์ งานช่างเชียงแสนซึ่งถูกเทครัวมาอยู่ที่ลำปาง ใช้วิธีการงานช่างของจีนในเวลาต่อมา
เสียงใหม่โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราเป็นความโหยหาอดีต สร้างเสียงใหม่เพื่อนำอดีตมาประดับบริบทที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เล่าวิถีชีวิตอดีตด้วยเสียงดนตรี เพราะลำปางเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่