วันนี้ 21 เมษายน คือ วันสถาปนากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ได้ชื่อว่าประกอบสร้างจากกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย เห็นได้จากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมแจ่มชัด แผ่ขยายมาจนปัจจุบันผ่านประเพณีสำคัญประจำชาติ ที่สืบทอด ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาช้านาน และด้วยความแตกต่างทางชาติพันธุ์นี้ สร้างประเพณีสงกรานต์ไทยให้มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
เช่นเดียวกับเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญ ณ วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน ที่เกิดขึ้นจากเครือญาติพี่น้อง ยกโขยงกันมาทั้งหมู่บ้านเพื่อจัดงานอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทยรามัญให้คงอยู่สืบไป ไม่ว่าจะลูกเล็กเด็กแดง ไปจนถึงผู้เฒ่าวัยเกษียณ ต่างพากันห่มสไบมอญ นุ่งผ้าถุงผ้าขาวม้า มาร่วมงานกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่เพียงแค่ 3 วันแบบสงกรานต์ไทย แต่จัดเต็มยาวนานกว่านั้น
“งานสงกรานต์ที่อื่นจะจัดกันสัก 3 วัน แต่ที่วัดบางกระดี่จัด 6 วัน ในช่วงวันที่ 13-15 เป็นการถือศีล ใช้ความสงบ เมื่อถึงวันที่ 16-18 จะเริ่มมีความสนุก ไล่เรียงไปตั้งแต่วันที่ 16 คนมอญจะมาจุดธูปไหว้กระดูกบรรพบุรุษปู่ย่าตายายที่ได้
นำมาบรรจุไว้ วันที่ 17 จะมีรำวงย้อนยุค และวันที่ 18 มีคอนเสิร์ตลอยชาย ให้วัยรุ่นได้มาสนุก มาเต้นกัน”
ปทุมมา น้อยเกตุ ชาวไทยเชื้อสายมอญ วัย 61 ปี เล่าไทม์ไลน์สงกรานต์ที่ชาวมอญปฏิบัติกันมาอย่างมีแบบแผน เรียกว่าครบทุกรสชาติ ทั้งสายพระ สายมันส์ ไม่ลืมบรรพบุรุษ แต่ก็ให้พื้นที่ลูกหลาน
“ไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม แต่ต้องมาถึงวัดให้ทันวันสงกรานต์ เพราะถือว่าเป็นวันครอบครัว และอยากให้คนไทยช่วยกันอนุรักษ์สิ่งนี้เอาไว้” เป็นคำกล่าวที่ปทุมมา อยากบอกกับทุกคน
กวนกาละแม-แห่พระโพธิสัตว์
กุศโลบาย เสริมรักเครือญาติ
เพราะเป็นงานใหญ่จึงต้องเตรียมการไว้ก่อน หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญ ทั้งยังสอดแทรกกุศโลบาย คืออาหารประจำประเพณีสงกรานต์
ข้อมูลจาก ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมอญ บางกระดี่ ระบุว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนมอญในเขตพื้นที่บางกระดี่และคนมอญในจังหวัดอื่นๆ จะต้องกวนขนมกาละแม หรือที่ภาษามอญเรียกว่า ‘ฟานฮะกอ’ ซึ่งเป็นขนมประจำประเพณีสงกรานต์ จะเริ่มกวนก่อนสงกรานต์ประมาณครึ่งเดือน ขนมกาละแมนี้สอนให้คนในชุมชนมีความรักใคร่และสามัคคีในหมู่คณะ เพราะการกวนกาละแมไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องใช้แรงคนจำนวนมาก
โดยกาละแมของคนมอญ 1 กระทะใบบัว ใช้เวลากวนประมาณ 8 ชั่วโมง และในช่วง 12 เมษายน ประมาณ 5 โมงเย็น หรือหลังเลิกงาน ลูกหลานจะนำกาละแมมาใส่ตะกร้าหรือพาน เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ไปส่งให้กับญาติผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเคารพนับถือ เพื่อสอนให้คนรุ่นหลังได้ไปมาหาสู่ ในภายภาคหน้าจะได้ไม่ทอดทิ้งและช่วยเหลือกัน เพราะถือว่าบ้านที่เอาขนมกาละแมไปส่งให้ นับเป็นญาติพี่น้องกัน
แหลม คุณมอญ ชายชราวัย 68 ปี อธิบายพิธีในวันแรกของการจัดงานว่า การสรงน้ำพระในวันที่ 16 จะมีการนำองค์พระโพธิสัตว์ออกมาตั้งขบวน เพื่อแห่รอบท้องที่บางกระดี่ ตั้งแต่นอกสุดไล่เข้ามาจนถึงหน้าศาลา 4 หลัง เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันทำบุญ เสริมสิริมงคลชีวิต
“พระโพธิสัตว์จะถูกนำออกมาให้ประชาชนได้กราบไหว้ขอพรแค่ปีละครั้งในช่วงสงกรานต์เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีวงดนตรีที่จะร้องเพลงมอญ และพูดภาษามอญโดยเฉพาะตามไปกับขบวนรถแห่ด้วย” แหลมบอก
ไฮไลต์บางกระดี่ ‘พิธีทรงเจ้าพ่อ’
ไม่อยากติดทหาร บนบานได้หมด
แหลม เล่าต่อไปถึงกิจกรรมในวันสุดท้ายของงานสงกรานต์ ทุกวันที่ 18 เมษายน จะมีการเข้าทรงของ เจ้าพ่อบางกระดี่ วันนั้นคนหลากหลายจะพากันมาบน ใครอยากขอเรื่องอะไรก็จะมาที่นี่ ซึ่งก็แล้วแต่บุคคลว่าจะได้หรือไม่ได้
“เขามีเข้าทรงกันทุกปีตั้งแต่ผมเกิดมา บางทีคนเขาต้องไปเกณฑ์ทหารแต่ไม่อยากเป็น ก็มีเจ้าพ่อบางกระดี่นี่แหละที่คนมาบนกัน ที่นี่ใครจะขออะไรก็ได้ทั้งนั้น” ชาวมอญในท้องถิ่น เล่าให้ฟัง
จากข้อมูลที่ปรากฏในวารสารวิชาการ ‘ประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญบางกระดี่: พื้นที่การแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญในกรุงเทพมหานคร’ โดย วริศรา อนันตโท ให้รายละเอียดพิธีทรงเจ้าพ่อบางกระดี่ไว้ว่า
ชาวบ้านเชื่อว่า ‘เจ้าพ่อบางกระดี่’ คือวิญญาณของทหารมอญ หากชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือ หรือประสบปัญหาที่แก้ไม่ได้จะมาสักการะขอพร โดยพิธีทรงเจ้าจัดขึ้นบริเวณลานหน้าวัด มีดนตรีมอญบวงสรวงเจ้าพ่อ ชาวบ้านจะสวมใส่ชุดมอญมานั่งรอเจ้าพ่อประทับร่างทรงซึ่งเป็นผู้หญิง พร้อมเตรียมของถวายเพื่อความเป็นสิริมงคล ได้แก่ กล้วย เหล้า ขนมบัวลอยขาว-แดง ไข่ต้ม ขนมต้มขาว-แดง มะพร้าว น้ำอบ ดอกไม้ ข้าวสารผสมเกลือ ซึ่งเมื่อไหว้เสร็จจะนำไปโรยรอบบ้านเพื่อความเป็นมงคล
นอกจากนี้ ยังมี ‘ก้านไม้’ เป็นสัญลักษณ์แทนคนในครอบครัว โดยเจ้าพ่อจะทำพิธีเสกคาถาปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยที่ก้านไม้เหล่านี้ เมื่อสิ้นพิธีจะมีเจ้าหน้าที่นำไปลอยน้ำคล้ายกับการปล่อยทุกข์โศกให้ลอยไปกับสายน้ำ ครั้นเจ้าพ่อประทับร่างแล้ว คณะลูกศิษย์จะนำธงตะขาบและธงสีแดง ที่มีข้อความ ‘เจ้าพ่อบางกระดี่’ ขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อให้สัญญาณว่าเริ่มพิธีทรงเจ้าพ่อบางกระดี่แล้ว
หลังจากนั้น เจ้าพ่อบางกระดี่จะเดินไปยังลานวัด ชาวบ้านต่างเข้ามาพูดคุย ขอพร และรับของไหว้จากมือเจ้าพ่อ ไม่ว่าจะ กล้วย ขนมต้ม เหล้า มะพร้าว ฯลฯ ในขณะที่เจ้าพ่อ จะรอจนกว่าไม่มีชาวมอญมา
กราบไหว้แล้วจึงออกจากร่างทรง ส่วนใหญ่เป็นเวลาค่ำ หรือประมาณ 2 ทุ่ม ก็เป็นอันเสร็จพิธี
สรงน้ำสร้างบุญ
รุมฟ้อนรำวง ‘ทะแยมอญ’
ด้าน เจ้าของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมอญบางกระดี่ อย่าง ถวิล มอญดะ วัย 68 ปี ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างที่ซ่อนอยู่ในวันสงกรานต์ของพื้นที่อื่นๆ เมื่อเทียบกับสงกรานต์ ณ วัดบางกระดี่แห่งนี้ กระทั่งในเขตพระประแดงบางแห่งยังจัดถึงแค่วันที่ 16 ที่นี่จัดกันถึงวันที่ 18 แต่นั่นเป็นเพียงข้อแตกต่างเล็กน้อย ที่ชัดเจนคือ วัดบางกระดี่ไม่อนุญาตให้เล่นน้ำในวัด
“ชุมชนเราไม่ให้เล่นน้ำในวัด แต่ยังสามารถเล่นที่ด้านนอกได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ น้ำมันสะอาด แต่เมื่อถูกตัวเรา ร่างกายของเราสกปรก เวลาน้ำไหลไปถูกพื้น คนก็เชื่อกันว่าเป็นบาป ไม่ได้บุญ จึงต้องให้ไปเล่นข้างนอกแทน”
คำตอบของ ถวิล สะท้อนความเชื่อและความเคารพต่อสถานที่ของชาวมอญอย่างแรงกล้า
ทันใดนั้น เสียงระฆังก็ลั่นขึ้น พร้อมกับฝูงชนที่กรูกันเข้าไปเทน้ำผสมดอกไม้ลงบนราง ในฐานะผู้มีความรู้ด้านพิธีกรรม ถวิลจึงช่วยขยายความประเพณีดังกล่าว
“พระท่านจะลงจากวัด แล้วเข้าไปอาบน้ำในที่ๆ จัดเอาไว้ ด้านหนึ่งจะมีรางสรงน้ำพระเชื่อมต่อออกมา พอเสียงเคาะระฆังดังขึ้น เราก็ต้องเอาน้ำไปเทใส่ราง พระจะอาบน้ำอยู่ด้านใน พอออกมาอีกฝั่งก็จะมีคนตั้งแถวรอให้น้ำอบพระอยู่ ซึ่งเราจะต้องประพรมลงไปบนผ้าในมือของท่าน”
ถวิล เล่าด้วยว่า มาร่วมงานที่วัดเป็นประจำทุกปี หากอยากมาเข้าร่วมที่งานนี้จะต้องแต่งตัวด้วยชุดมอญ ชุดโดยปกติของคนมอญเวลาอยู่บ้านก็จะใส่เสื้อคอกระเช้า แต่ถ้ามาวัดจะสวมเสื้อลูกไม้ คาดผ้าสไบมอญที่ปักลายเองนุ่งคู่กับผ้าถุง แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็จะนุ่งลอยชาย โสร่ง คู่กับเสื้อลายดอก
ทันทีที่จบพิธีสรงน้ำพระ ชาวมอญบางกระดี่ไม่รีรอพากันขึ้นไปนั่งพักบนศาลา วงดนตรีพื้นบ้าน ‘ทะแยมอญ’ เริ่ม ขับลำนำ บรรเลงเพลงปฏิพากย์ชั้นสูงของชาวไทยรามัญ ท่วงท่าร่ายรำของชาวบ้านผสานการขับขาน เป็นการละเล่นที่เสริมบรรยากาศสันทนาการ เพราะต่างลุกขึ้นมาล้อมวง ร่วมกันรำวงกันอย่างครื้นเครง
สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเล่นทะแยมอญนั้น ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีหลัก 5 ชิ้น ได้แก่ ‘โกร่เจิกป๊อย’ (ซอสามสายมอญ) ‘จยาม’ (จะเข้) ‘ปงตาง’ (กลองลักษณะคล้ายเปิงมาง) ‘หะเด’ หรือ คะเด (ฉิ่ง) ‘กะลด’ หรือละโลด (ขลุ่ย) แต่ปัจจุบันนี้มีการนำซอด้วง ฉาบ และกรับมาร่วมบรรเลงด้วย
หันไปสอบถาม ลูกจ้าง กทม. วัย 44 ปี อรทัย บุญรอด เล่าให้ฟังหลังเสร็จสิ้นพิธีถึงความสำคัญที่มาร่วมงานวันนี้ว่า จำเป็นต้องบอก ต้องสอนลูกหลานให้เรียนรู้ถึงประเพณีของเรา ว่าต้องทำอย่างไร ไปที่ไหนบ้าง อย่างช่วงเช้าก็จะทำบุญใส่บาตร ตกเย็นสรงน้ำพระทุกวัน เพื่อช่วยกันสืบสาน อนุรักษ์ประเพณีเอาไว้ รวมไปถึงการแต่งตัวและภาษามอญ
ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่น่าสนใจ แต่คือ ‘อัตลักษณ์’ ที่คนมอญรุ่นใหม่เห็นความสำคัญจึงร่วมกันสานต่อให้คนรุ่นหลังได้สัมผัส นับเป็นสงกรานต์ที่ชาร์จแบตเติมพลัง สร้างความอบอุ่นหัวใจอยู่ไม่น้อย
ขวัญพรทัศ ธนูสิงห์