1 ทศวรรษ 1 แถบ 1 เส้นทาง จากพิมพ์เขียวสู่ความจริง คนรุ่นใหม่จีน-ไทยกับพรุ่งนี้ของชัยชนะร่วมกัน

1 ทศวรรษ 1 แถบ 1 เส้นทาง จากพิมพ์เขียวสู่ความจริง คนรุ่นใหม่จีน-ไทยกับพรุ่งนี้ของชัยชนะร่วมกัน
หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ ‘ร่วมสร้างสายแถบและเส้นทาง ร่วมกันชนะกับอนาคตที่งดงาม’

1 ทศวรรษ 1 แถบ 1 เส้นทาง จากพิมพ์เขียวสู่ความจริง คนรุ่นใหม่จีน-ไทยกับพรุ่งนี้ของชัยชนะร่วมกัน

คึกคัก อบอุ่น และเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพชิดใกล้ ‘มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’

สำหรับ สภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ณ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเปิดประตูต้อนรับ เกา อันหมิง รองประธานสำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน (ซีไอซีจี) และคณะ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย โดยร่วมงานสัมมนา ‘จีนร่วมสมัยกับโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน’ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อวันที่ 24 เมษายน

พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯ ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ พร้อมชื่นชม ‘ซีไอซีจี’ ว่าเป็นหน่วยงานประสิทธิภาพสูง ช่วยให้ผู้คนเกิดความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยการเยี่ยมเยือนไทยในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเชื่อมความร่วมมือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคนรุ่นใหม่ของไทย-จีน เพื่อหาความร่วมมือในยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม และ 1 แถบ 1 เส้นทาง ซึ่งปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 10 ปีของนโยบายดังกล่าวที่ริเริ่มโดยท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมคนรุ่นใหม่ไทย-จีนเข้าด้วยกัน โดยหลังจากนี้จะมีความร่วมมือในลักษณะนี้ต่อเนื่องอย่างแน่นอน

Advertisement

ด้าน เฉิน เวินเกอ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน เผยว่า ประทับใจที่ ท่านพินิจ ทุ่มเทชีวิตให้กับงานด้านความสัมพันธ์ไทย-จีนตลอดมา ในอนาคตอยากผสานความร่วมมือกับสภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯ ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนงานที่เกี่ยวข้องกับ ‘เยาวชน-คนรุ่นใหม่’ อันเป็นอนาคตของทั้งสองประเทศ แม้ 3 ปีที่ผ่านมาเกิดอุปสรรคจากโควิด ทว่าหลังมรสุมโรคระบาดผ่านพ้น นับแต่นี้เป็นต้นไป จีนและไทยจะมีความร่วมมือมากยิ่งขึ้น

3 ข้อเสนอแนะจาก ‘ซีไอซีจี’ หนุนคนรุ่นใหม่จีน-ไทย
ยกระดับร่วมสร้างโอกาส

ตัดภาพกลับไปยังห้องประชุมจันทร์จรัส อาคารอธิการบดี ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ในงานสัมมนา ‘จีนร่วมสมัยกับโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน’ เมื่อวันที่ 24 เมษายน จัดโดยศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน สถาบันวิจัยประเทศจีนและโลกร่วมสมัย และศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน ร่วมกับ มรภ.จันทรเกษม, สภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ และศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ซึ่งมี พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

Advertisement

รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดี มรภ.จันทรเกษม กล่าวชื่นชมรัฐบาลจีนและหนุ่มสาวชาวจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเผชิญความท้าทายในโลกยุคใหม่ โดย มรภ.จันทรเกษมมีการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับปริญญาตรี มีการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในหนานหนิง รวมถึงหลักสูตรต่างๆ ตามนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง

เกา อันหมิง รองประธานสำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน (ซีไอซีจี) เยี่ยมเยือน สภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯ โดยมีพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ เมื่อ 25 เมษายน

ขณะที่ เกา อันหมิง รองประธานซีไอซีจี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘การส่งเสริมความร่วมมือคนรุ่นใหม่ไทย-จีน รวมพลังสร้าง 1 แถบ 1 เส้นทาง’ มีเนื้อหาน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยย้อนถึงความร่วมมือระหว่าง 2 ชาติในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งทั้งสองฝ่ายประสบความสำเร็จ โดยมีคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญ เป็นความหวังในการพัฒนาสังคม

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะ 3 ประการ อันได้แก่

1.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน โดยสร้างแพลตฟอร์ม มีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล และวัฒนธรรม อย่างโครงการประกวดเรียงความ ‘แพนด้า สันถวไมตรี’ ถือว่าเป็นโครงการที่ดีเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมกระชับความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นับเป็นการปูพื้นฐานในการผลักดันหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

2.ส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และสตาร์ตอัพ ผลักดันการพัฒนาธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนโครงการต่างๆ ให้เกิดการยกระดับสร้างโอกาสให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ

3.สร้างกลไกเอื้อความร่วมมือทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน

พินิจ ชี้ ‘นิวเจน’ โซ่คล้องสัมพันธภาพ
‘รับไม้ต่อ’ เพิ่มพูนการค้า-ลงทุน

 

พินิจ จารุสมบัติ ต้อนรับ เกา อันหมิง รองประธานซีไอซีจี ณ สภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯ

ด้าน พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ ผู้มากประสบการณ์บนเวทีการเมือง เศรษฐกิจสังคมไทย จีน และสากล ขึ้นกล่าวปาฐกถา ‘ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและการร่วมสร้างประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันของเอเชียแปซิฟิก’ โดยย้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ภาคประชาชนบนเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามนานัปการ จากความยากจน สู่ 1 ในประเทศมหาอำนาจของโลกในวันนี้

พินิจย้ำว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีคุณูปการต่อทั้ง 2 ประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนระหว่าง ‘คนรุ่นใหม่ไทย-จีน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนรุ่นใหม่คือผู้สืบทอดและรับไม้ต่อจากคนรุ่นเก่า คนรุ่นต่อไปต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน จีนเข้าใจไทยและไทยเข้าใจจีน เราจะเป็นมิตรต่อกัน รักกัน และเข้าใจกันอย่างถ่องแท้ จริงใจ ซื่อสัตย์ มีน้ำใจเอื้ออาทร สุข-ทุกข์ด้วยกัน

จีนเป็นประเทศใหญ่ 1 ใน 2 มหาอำนาจของโลก ปัจจุบันโลกเปลี่ยน ไม่ได้มีขั้วเดียวอีกต่อไป แต่มีหลายขั้ว จีนผงาดขึ้นมาและพัฒนาไปไกล มีรถไฟความเร็วสูงมากที่สุดในโลก ภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน คนรุ่นใหม่ต้องมีพื้นฐานความเข้าใจในโลกยุคใหม่ที่ข่าวสารทั่วถึง

“วันนี้คนทั่วโลกรอฟังว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะพูดอะไร คำกล่าวของท่านสั่นสะเทือนทั่วโลก เพราะพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา ครั้งหนึ่งนักข่าวที่กรุงมอสโก ถามว่า จีนอยู่ข้างไหน? ท่านตอบว่า อยู่ข้างความถูกต้อง เลือกข้างความเป็นธรรมทางประวัติศาสตร์” พินิจกล่าวหนักแน่น พร้อมทิ้งท้ายโดยขับเน้นถึงสัมพันธ์พิเศษที่ไม่มีประเทศอื่นใดในโลกเสมอเหมือน

“จีน-ไทย ไม่ใช่อื่นไกล พี่น้อง เป็นคำกล่าวของผู้นำทั้งไทยและจีน ซึ่งจีนไม่เคยพูดกับประเทศอื่นใด นี่คือความสัมพันธ์ที่พิเศษสุดยอด วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ครบรอบ 48 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ขออวยพรให้ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนเพิ่มพูนมากขึ้น ยุทธศาสตร์และเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เป็นคุณูปการที่คนทั่วโลกยกย่องปรบมือ โครงการรถไฟจีน-ลาวก็ยอดเยี่ยมมาก ผู้โดยสารเต็มหมด คนจีนมาด้วยเงินหยวน มาด้วยความแสวงหา คนรุ่นใหม่จะเป็นหัวใจและห่วงโซ่คล้องสัมพันธภาพต่อไป อนาคตจะเพิ่มพูนด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุนอีกมากมาย” พินิจกล่าว

‘สายแถบและเส้นทาง’ จากพิมพ์เขียวสู่ความจริง

เกา อันหมิง รองประธานซีไอซีจี พร้อมคณะ พบปะสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ เมื่อ 25 เมษายน

ในวันดังกล่าว ยังได้รับเกียรติจาก หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘ร่วมสร้างสายแถบและเส้นทาง ร่วมกันชนะกับอนาคตที่งดงาม’ มีใจความสำคัญว่า ‘สายแถบและเส้นทาง’ เป็นข้อริเริ่มสำคัญที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2556 โดยมีจุดมุ่งหมายคือ อาศัย ‘เส้นทางสายไหม’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาร่วมกัน และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง โดยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จีนและหุ้นส่วนระหว่างประเทศได้ยึดมั่นในหลักการร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมรับประโยชน์ และยึดมั่นในมาตรฐานระดับสูง ความยั่งยืน เปลี่ยนสายแถบและเส้นทาง จาก ‘พิมพ์เขียวให้เป็นความจริง’ นำไปสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนาประเทศต่างๆ ดึงดูด 151 ประเทศ และ 32 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือ ขับเคลื่อนการลงทุนเกือบหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อเกิดโครงการความร่วมมือมากกว่า 3,000 โครงการ สร้างงาน 420,000 ตำแหน่ง และช่วยให้ผู้คนเกือบ 40 ล้านคนพ้นจากความยากจน

“จีนและไทยมีภูมิประเทศเชื่อมต่อกัน มีสายเลือดที่ใกล้ชิดกัน และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีประวัติศาสตร์การไปมาหาสู่กันยาวนานกว่าพันปี และเป็นพี่น้องที่ดี เพื่อนบ้านที่ดี และหุ้นส่วนที่ดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การร่วมสร้าง สายแถบและเส้นทาง ระหว่างจีนและไทยได้ประสบผลสำเร็จมากมาย” ท่านทูต หาน จื้อเฉียง กล่าว

จากนั้น ลงลึกในรายละเอียดด้าน โครงสร้างพื้นฐานซึ่งช่วยอัดฉีดแรงผลักดันที่แข็งแกร่ง ดังเช่น โครงการรถไฟจีน-ไทย อันเป็นโครงการสัญลักษณ์สำหรับการร่วมสร้างสายแถบและเส้นทางระหว่างสองประเทศ ปัจจุบัน การก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยระยะแรกเข้าสู่ขั้นเดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนการเตรียมการก่อสร้างของระยะที่สองก็อยู่ระหว่างผลักดันอย่างเต็มที่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 และแล้วเสร็จในปี 2571 การเปิดทางรถไฟจีน-ลาวและการเชื่อมต่อกับทางรถไฟมีเตอร์เกจในไทยช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างจีน ลาว และไทยได้ 30-50% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อรถไฟความเร็วสูงของคาบสมุทรอินโดจีนก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้การเชื่อมต่อของภูมิภาคก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ในประวัติศาสตร์

การค้าไร้ข้อจำกัด เศรษฐกิจโตสวนกระแส
จีนคู่ค้าใหญ่สุดของไทยต่อเนื่อง 1 ทศวรรษ

ท่านทูต หาน จื้อเฉียง ยังระบุถึงการค้าไร้ข้อจำกัดที่ช่วยให้การร่วมสร้างสายแถบและเส้นทางเกิดประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ เอาชนะผลกระทบจากโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ โดยยังคงรักษาการเติบโตอย่างสวนกระแส จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกัน 10 ปี ปริมาณการค้าทวิภาคีในปี 2565 สูงถึง 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเกษตรของไทย และ 96% ของการส่งออกทุเรียนของไทยขายให้กับจีน จีนและไทยยังคงกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นับตั้งแต่ RCEP มีผลบังคับใช้ สินค้าไทย 39,000 รายการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ในจำนวนนี้ มี 29,000 รายการได้รับการยกเว้นภาษี โดยจีนเป็นประเทศที่ไทยใช้ RCEP ในการส่งออกสินค้ามากที่สุด จีนกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเวอร์ชั่น 3.0 กับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยมีไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานในอาเซียน เชื่อว่าชุดการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในระดับสูงจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงจีนและไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของแต่ละประเทศ

งานสัมมนา ‘จีนร่วมสมัยกับโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน’ ที่ มรภ.จันทรเกษม เมื่อ 24 เมษายน

“การไหลเวียนของเงินทุนเป็นแรงสนับสนุนที่แข็งแกร่งสำหรับการร่วมสร้างสายแถบและเส้นทาง จีนเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนหลักของไทยมาโดยตลอด ในปี 2565 จีนมีการลงทุนในโครงการ 158 โครงการในประเทศไทย มูลค่าการลงทุน 77,381 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของไทย นิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน ดึงดูดผู้ผลิตของจีน 180 บริษัท และบริษัทสนับสนุนอีกกว่า 30 บริษัทให้เข้ามาลงทุนในไทย ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานในท้องถิ่นกว่า 45,000 ตำแหน่ง ธนาคารกลางของสองประเทศได้ร่วมกันลงนามต่ออายุสัญญาแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่นในระดับทวิภาคีหลายครั้ง ฝ่ายจีนได้จัดตั้งธนาคารหักบัญชีเงินหยวนในกรุงเทพฯ (RMB Clearing Bank) ธนาคาร Bank of China และ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) มีสาขาในหลายจังหวัดทั่วไทย สัดส่วนของการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในการค้าและการลงทุนทวิภาคขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

พลวัตสร้างสรรค์ สู่โอกาสใหม่ที่สองฝ่าย ‘วิน-วิน’

ปิดท้ายด้วยสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2566 ซึ่งการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้ฟื้นฟูความคึกคักอย่างรวดเร็ว โดยจีนจัดให้ไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศนำร่องแรกที่ให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวได้หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ในไตรมาสแรกนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยแล้วมากกว่า 500,000 คน เทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้น มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากร่วมเล่นน้ำกับชาวไทยอย่างชุ่มฉ่ำ
ขนาดเศรษฐกิจของจีนแตะ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และเติบโต 4.5% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่แข็งแกร่งในระยะยาว

ท่านทูต หาน จื้อเฉียง ย้ำว่า ต้องมีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ในระดับทวิภาคี ทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตามฉันทามติสำคัญที่ผู้นำของสองประเทศบรรลุร่วมกัน เร่งความร่วมมือรถไฟไตรภาคี จีน-ลาว-ไทย และส่งเสริมแนวคิดการสร้างระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีของจีน ในระดับภูมิภาค เพิ่มการหารือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ระหว่างข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” กับกลไกความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง กลไกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ “แผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียนปี 2025” เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้อง ร่วมกันสร้างจุดเติบโตใหม่ ส่งเสริมการสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล ความร่วมมือด้านอินเตอร์เน็ต คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ 5G อีคอมเมิร์ซ และอื่นๆ และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการเป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน” ทำงานร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ สาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีน แลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนโบราณ อีกทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ในขณะเดียวกัน ก็ต้อง ขจัดการแทรกแซงจากภายนอกอย่างเด็ดเดี่ยว ไม่คล้อยตามความผันผวนของสถานการณ์ ยึดมั่นในความร่วมมือที่เป็นมิตรและการได้ประโยชน์ร่วมกัน (win-win) เขียน มหากาพย์มิตรภาพจีน-ไทย ให้ดี เพื่อให้สายแถบและเส้นทางเป็น ‘ถนนแห่งความสุข’

“ในหนึ่งปีที่ผ่านมา ชุดกิจกรรม แพนด้าคัพ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับจีนสำหรับเยาวชนไทยประสบความสำเร็จในประเทศไทย ฟอรั่มผู้นำไทยรุ่นใหม่ก็ประสบความสำเร็จในกรุงเทพฯ มีตัวแทนเยาวชนไทยจำนวนมากเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม

คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่มีพลวัตและมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด และเป็นความหวังสำหรับการพัฒนาในอนาคตของทุกประเทศ คนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศมีภาระหน้าที่อย่างไม่อาจทดแทนได้ในการส่งเสริมอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนของสายแถบและเส้นทาง” ท่านทูต หาน จื้อเฉียง กล่าว พร้อมทิ้งท้ายถึงความคาดหวังต่อคนหนุ่มสาวจีน-ไทยที่จะยังคงเติมความมีชีวิตชีวาให้กับมิตรภาพที่มีมายาวนาน

มุ่งสู่ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนกับไทย บนโอกาสใหม่ๆ ในความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image