‘แอกเนส คาลามาร์ด’ เลขาฯแอมเนสตี้ ท้าทุกพรรค ‘กล้าหาญ’ เลือกตั้งครั้งนี้ โอกาสพลิกประวัติศาสตร์

‘แอกเนส คาลามาร์ด’ เลขาฯแอมเนสตี้ ท้าทุกพรรค ‘กล้าหาญ’ เลือกตั้งครั้งนี้ โอกาสพลิกประวัติศาสตร์
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล

“การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเดือนหน้านี้ เราเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”

ถ้อยแถลงของ แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ตอกหมุด จุดประเด็นสำคัญที่พรรคการเมืองต้องเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ

หลังเสร็จสิ้นภารกิจพบปะ ประชุม ล้อมวงถามไถ่ความรู้สึกของผู้รอดชีวิต ฟังเสียงพรรคการเมือง เลขาฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หอบเอาสารพัดประเด็นปัญหาไปถกถึงออสเตรเลีย ประกาศให้ชาวโลกรับรู้บนเวทีสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา

“ดิฉันมาเยือนประเทศไทยเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว ได้พูดคุยกับองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงเหยื่อและผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ที่เลือกมาช่วงเวลานี้เพราะรู้สึกว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทย หลังจากหลายปีที่ผ่านมาต้องเผชิญความยากลำบากในการแก้ไขประเด็นที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ”

Advertisement

โฟกัสเฉพาะภาพสยามเมืองยิ้มที่เต็มไปด้วยการคุกคามเลขาฯแอมเนสตี้ ถึงกับเอ่ยปากว่า “เหลือเชื่อ” เธอได้เห็นความกล้าหาญของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ ได้รับแรงบันดาลใจจากการยืนหยัด มุมานะทำงานอย่างแข็งขันเพื่อพิทักษ์สิทธิและต่อกรกับความอยุติธรรม

เป็นพลังที่เปี่ยมด้วยความหวัง อยากเห็นความเท่าเทียมปรากฏในบ้านเกิดเมืองนอน จนพูด “เวลคัมทูไทยแลนด์” ได้อย่างเต็มปาก

เพราะการมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกวันที่ 18 เมษายน เหมาะเจาะพอดีกับช่วงเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย ในฐานะองค์กร NGO ที่ยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ จึงมองเห็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่จะลบปมด่างพร้อย

Advertisement

“ดิฉันประทับใจที่มีผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองหลักๆ หลายพรรค เข้าร่วมในเวทีวาระสิทธิมนุษยชนกับการเลือกตั้ง ร่วมดีเบตในหัวข้อ ‘วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน’ ซึ่งจัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับผู้นำทางการเมือง”

เลขาฯองค์กรด้านสิทธิระดับโลกฝากความหวังให้เกิดการ “ทบทวน” พันธกิจร่วมกัน ในการคุ้มครองคนไทยให้มีพื้นที่คิด วิพากษ์ และเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีกว่าที่เป็นอยู่

กังวลแทนรัฐไทยเยาวชนรู้สึก ‘ไร้อนาคต’

สิ่งสำคัญในการเดินทางมาครั้งนี้ คือการได้พบกับเด็กและเยาวชนที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วง พวกเขาเชื่อมั่นในประเทศไทย และดิฉันอยากจะแชร์วิสัยทัศน์บางประการขององค์กรเรา ประการแรก “ปัญหาด้านสิทธิของเยาวชนในประเทศไทย” เยาวชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการชุมนุม เขาอยากจะสร้างประเทศ สร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งและเป็นธรรม แต่พอดิฉันถามว่า “คุณมองเห็นอนาคตของตัวเองอย่างไรบ้าง?” สิ่งที่เด็กไทยบอกกับดิฉันคือ “พวกเราไม่มีอนาคตในประเทศนี้” ข้อนี้ทำให้ดิฉันกังวลอย่างมาก ซึ่งควรจะเป็นความกังวลของผู้นำในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะในแง่การเมือง หรือในด้านสังคม วัฒนธรรมก็ตาม เพราะเยาวชนคืออนาคตของประเทศชาติ หากเยาวชนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าถูกปราบปราม ถูกกดขี่ ละเมิดสิทธิ เห็นความเหลื่อมล้ำต่างๆ เห็นการทุจริตคอร์รัปชั่น เห็นความอยุติธรรม จะทำให้พวกเขารู้สึกไร้อนาคตในประเทศนี้ เด็กและเยาวชนหลายร้อยคน รวมทั้งนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีอาญาในไทย เพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เสรีภาพของหลายคนถูกพรากไป และอาจมีประวัติอาชญากรรมติดตัว รวมถึงเด็กวัย 15 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวในสถานพินิจเด็กและเยาวชนเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว ดังนั้น สถานการณ์เช่นนี้จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง

ดิฉันรู้สึกกังวลแทน และหวังว่าเมื่อกลับมาเยือนไทยในปีหน้า เยาวชนในไทยที่ดิฉันได้เจอครั้งนี้จะมีความหวัง และลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกเขา

เด็กและเยาวชนมีบทบาทสำคัญต่อสังคม เราได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการยุติการข่มขู่ผู้ชุมนุมประท้วง และยุติการสอดแนมข้อมูลของพวกเขา รวมถึงต้องยุติการดำเนินคดีต่อเด็กผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและนโยบาย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบได้อย่างเต็มที่ และเรายังได้แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการระหว่างการเดินทางมาครั้งนี้ รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุระหว่างการชุมนุมประท้วง และการควบคุมตัวผู้ชุมนุมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยพลการ

ภาพลักษณ์เชิงลบ ‘ลี้ภัย’ ซบรัฐไทย แต่ถูกส่งกลับ?

อีกมิติที่เด่นในไทย คือเป็นประเทศที่มีการโจมตีพลเมืองของตนเองมากมาย แต่มีประเพณีในการอ้าแขนรับบุคคลต่างๆ ไทยมีค่ายผู้ลี้ภัย มีคนมาพึ่งพิงในฐานะพื้นที่หลบภัย

แต่เป็นที่น่าเสียใจ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นความยากลำบากมากยิ่งขึ้น สำหรับคนที่ต้องการหลบหนีมายังประเทศไทยเพื่อหาความปลอดภัยโดยไม่มีการประหารทางกฎหมาย หรือต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงภัย หลายคนถูกบังคับส่งกลับไปยังประเทศของตัวเอง รวมทั้งบางคนก็อาจจะถูกอุ้มและลักพาตัวด้วย อย่างบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่ถูกลักพาตัวในไทย ตอนนี้ก็พบตัวอยู่ที่ประเทศเวียดนามแล้ว เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในฐานะเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้ และสำหรับคนที่ต้องการหาที่ปลอดภัยในประเทศนี้

เราจึงมีการพัฒนาข้อเสนอบางประการเพื่อให้รัฐบาลใหม่ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้ดำเนินการแก้ไข เรายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย โดยเฉพาะพลเมืองชาวเมียนมาที่หลบหนีข้ามพรมแดน ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกส่งกลับหรือลักพาตัว หลายคนหลบหนีจากบ้านเกิดหลังการทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากการถูกปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยกองทัพเมียนมา ทางการไทยต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ และต้องไม่ส่งกลับพลเมืองชาวเมียนมาไปยังประเทศใด หากมีความเสี่ยงว่าพวกเขาอาจถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกทรมาน หรืออาจได้รับโทษประหารชีวิตตามคำสั่งของกองทัพเมียนมา

ประเทศไทยมีประวัติมายาวนานในการรองรับและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยในภูมิภาค และต้องทำเช่นนั้นต่อไป เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยประกาศพันธกิจที่จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อบุคคลที่หลบหนีจากการปราบปรามทั่วทั้งภูมิภาค รวมทั้งที่มาจากเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และลาว ประเทศไทยสามารถและควรเป็นต้นแบบของผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น

‘พ.ร.บ.อุ้มหาย’ ก้าวหน้า แต่ยังน่าห่วง

ดิฉันได้เห็นถึงกระบวนการที่ก้าวหน้าของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นการรับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ เพราะการซ้อมทรมานเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในทุกกรณี เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยประกาศใช้ แต่ก็น่าเสียใจที่มีมติให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคม พวกเรามีความกังวลเรื่องความล่าช้า ในการนำกฎหมายไปบังคับใช้

เราเห็นสัญญาณปัญหา จึงมองว่าควรจะได้รับการแก้ไขเรื่องความล่าช้าอย่างรวดเร็ว ทั้งจากรัฐบาล หน่วยงานรัฐ และฝ่ายตุลาการ เพราะหาก พ.ร.บ.อุ้มหายไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างทันท่วงที จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง เพราะถือเป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงขั้นสุด ดังนั้น จึงไม่มีข้ออ้างทางเทคนิคในการนำกฎหมายดังกล่าวมาปฏิบัติใช้ตามพันธกิจ เพราะถ้าเกิดมีปัญหาประการใด ก็สามารถแก้ไขในขณะที่กฎหมายปฏิบัติใช้ได้ ไม่ใช่ล่าช้าเพราะทำให้กฎหมายล่าช้า

สัญญาณดี กสม.ได้ A ลิสต์

อีกแนวโน้มในเชิงบวกที่คุณอาจจะเหลือเชื่อคือการที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ของไทย ได้รับการจัดอันดับสถานะ A ในเวทีโลก (โดยฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการ (SCA) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR ซึ่งนับเป็นสัญญาณอันดีที่ในปัจจุบัน กสม.ของไทยผ่านมาตรฐานระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเราทุกคน เพราะการมีมาตรฐานดังกล่าว เป็นการรับประกันว่า กสม.จะทำงานตามมาตรฐานนั้น จากการถูกจัดอันดับเป็นแนวหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในระดับโลก

มันเป็นสัญญาณอันดีที่ได้เป็นแนวหน้า และเราสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างแรงกดดันในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้

เลือกตั้ง ความหวังเปลี่ยนผ่าน

การเลือกตั้ง คือช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ในการเปลี่ยนผ่าน ประการที่ 2 มีบางประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งควรจะได้รับการแก้ไขโดยรัฐบาลใหม่ที่ได้รับเลือกตั้ง ควรจะกำหนดเรื่องการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เป็นประเด็นสูงสุด โดยเริ่มจากดูถึงเรื่องภัยคุกคามต่อสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางพลเมือง รวมถึงวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจด้วย โดยโฟกัสไปที่การแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิทางการเมืองและพลเมืองเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสิทธิด้านอื่นๆ จะไม่มีความสำคัญ แต่สำหรับการพูดคุยในครั้งนี้ โฟกัสไปที่สิทธิด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม รวมถึงสิทธิของผู้ลี้ภัยและชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไทยต้องทำ เพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธะกรณีด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะไทยยังมีกฎหมายบางฉบับที่ไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือถูกใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่เราอยากให้มีพื้นที่พูดคุย โต้เถียงกันในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณชน

ดังนั้น เรื่องกฎหมายควรเป็นประเด็นสำคัญในการทำงานของรัฐบาลใหม่ เพื่อให้สิทธิในการพูดคุย เข้าถึงข้อมูล หรือสิทธิในการชุมนุมได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราอยากจะเห็นการยุติการสอดแนมและการคุกคามผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน เพราะตราบใดที่คนมีความหวาดกลัวที่จะถูกคุกคาม นั่นจะเป็นการจำกัดขีดความสามารถของพลเมืองไทยในการเข้าถึงข้อมูลที่มีความหลากหลาย เพื่อที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคมและพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันในทุกแง่ การอภิปรายสาธารณะจึงมีความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งของสังคม

⦁ หลายพรรคแสดงจุดยืนเรื่องของการแก้ไข ม.112 แต่บางพรรคหลักในฝ่ายประชาธิปไตย ก็ยังไม่พูดชัดเจนว่าจะแก้ไข แค่จะเอาเข้าสภา ในขณะที่บางพรรคยืนยันว่าแก้ไขแน่นอนและมีกระบวนการชัดเจน มีความกังวลต่อจุดยืนของพรรคการเมืองเหล่านี้ ที่อาจเป็นรัฐบาลในอนาคตอย่างไรบ้าง?

เป็นคำถามที่น่าสนใจ สำหรับแอมเนสตี้ในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ต้องการสนับสนุนให้ทุกคนมีเสรีภาพในการพูดและอภิปรายในที่สาธารณะ มีพื้นที่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ด้านการเมือง เช่นเดียวกับนานาชาติที่ทำได้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) หากมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐ ก็สามารถมีกฎหมายจำกัดสิทธิบางประการได้ แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นต้องมีคำจำกัดความที่ค่อนข้างแคบ ชัด เคร่งครัด ได้สัดส่วน และจำเป็นต้องระบุจุดประสงค์ความจำเป็นของการมีกฎหมายนั้น สอดคล้องกับพันธะกรณีระหว่างประเทศ

แอมเนสตี้จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับประกันว่าการบังคับใช้กฎหมาย ม.112 จะเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และขอเชิญทุกพรรคนำหลักการดังกล่าวไปเป็นฐานในการแก้ไข ซึ่งดิฉันได้ศึกษาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกที่นำหลักการนี้ไปใช้ไม่ใช่แค่ตะวันตก คือต้องใช้เกณฑ์ ‘ความจำเป็นและได้สัดส่วน’ ‘ยกเลิกโทษทางอาญา’ ไม่ให้คนถูกจำคุกนานจากการแสดงความเห็น แล้วเปลี่ยนมาใช้ ‘กฎหมายแพ่ง’ ในการพิจารณาคดีแทน ซึ่งไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกหรือถอดถอนกฎหมาย แต่จะต้องเปลี่ยนช้าๆ อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้สังคมยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ แล้วจึงผลักดันในขั้นตอนต่อไป นี่คือทางแก้ของประเทศที่มีปัญหา ดำเนินการทีละขั้นดีกว่าเพราะมีทางเลือก แต่ในท้ายที่สุดกฎหมายนี้ก็ต้องถูกถอน เพราะไม่เอื้อต่อการแสดงออก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและการแลกเปลี่ยนของคนในสังคม

การเลือกตั้งเป็นโอกาสเสมอ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ใช้ ก็จะเสียโอกาส 2-3 เดือนข้างหน้าคือโอกาสในเปิดกว้างให้เกิดการดีเบตอย่างเสรี และเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง ในมุมมองของแอมเนสตี้ต้อง ‘แก้ไขกฎหมาย’ โดยใช้มาตรฐานระหว่างประเทศ

⦁ จากที่ได้สังเกตการณ์แคมเปญเลือกตั้งของพรรคการเมือง แอมเนสตี้มองเห็นความหวังในการผลักดันให้เป็นไปตามนโยบายหาเสียง มากน้อยแค่ไหน?

เรามีความหวัง แต่เป็นความหวังด้านความกล้าหาญมากกว่า เราอยากเห็นแกนนำพรรคมีความกล้าหาญในการตอบสนองข้อเรียกร้องของเด็กและเยาวชน ผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน เพราะนี่เป็นสิ่งที่เยาวชนไทยต้องการและอยากเห็น ฉะนั้น สำหรับดิฉันจึงอยากเรียกร้องความกล้าหาญจากแกนนำพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะเยาวชนก็ได้แสดงความกล้าหาญให้เห็นแล้วด้วยการต่อสู้เพื่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อและอยากเห็น เขารู้และตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง

นี่ปี 2023 แล้ว เยาวชนรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง คุณไม่สามารถจัดการกับเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้เหมือนเมื่อ 40-50 ปีก่อน มันเป็นไปไม่ได้แล้ว ความกล้าหาญจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ในการตอบสนองข้อเรียกร้องของเด็ก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะคนกลาง ก็ลุกขึ้นมาแสดงความกล้าหาญด้วยการทำให้สิทธิมนุษยชนมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา เหมือนอย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราจะแก้ปัญหาการระบาดได้อย่างไร ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน จัดการโควิดได้แย่มากๆ ถ้าหากไม่มีการอภิปรายสาธารณะ ไม่มีการพูดคุย ไม่มีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล ประชาชนไม่สามารถแชร์ข้อเท็จจริงได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราก็จะมีเพียงไม่กี่คนที่ทำการตัดสินใจที่แย่และส่งผลกระทบกับทุกคน เราต้องเรียนรู้จากกรณีเหล่านี้ ดังนั้น การอภิปรายสาธารณะ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมมีความเข้มแข็งและดีขึ้นในการแก้ไขความท้าทายต่างๆ ในศตวรรษที่ 21 นี้

จึงอยากเสนอแนะให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง หรือไม่ได้รับเลือกตั้งก็ตาม มีบทบาทในการแสดงความกล้าหาญผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนข้อเรียกร้องของเยาวชน ซึ่งดิฉันมีความประทับใจเช่นกันที่ได้เห็นตัวแทน 12 คนจากพรรคการเมืองต่างๆ เตรียมพร้อมมาดีเบตบนเวทีในประเด็นสิทธิมนุษยชน มีการแชร์นโยบายด้านสิทธิของพรรค ซึ่งสื่อมีบทบาทสำคัญในการย้ำเตือนพรรคการเมืองและนักการเมืองว่าเขาได้พูดอะไรออกไปบ้าง

⦁ คิดเห็นอย่างไรที่แอมเนสตี้เองก็เคยถูกกลุ่มปกป้องสถาบัน ยื่นหนังสือขับไล่ และจะตอบโต้การต่อต้านนี้อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องบอกว่า เราไม่ได้มองว่าเป็นการโจมตี เพราะแอมเนสตี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วทุกภูมิภาค ในหลากหลายจุดประสงค์ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย เราเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และหลากหลายพื้นที่ จึงไม่ได้มองว่าการวิจารณ์จะเป็นปัญหาอะไร แม้จะถูกโจมตีว่าเป็นองค์กรเบื้องหลัง ให้ทุนเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ตาม แต่เรามีจุดประสงค์เช่นเดียวกับการที่เยาวชนไทยออกมาเคลื่อนไหว คือต้องการให้พลเมืองมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการให้ประเทศไทยมีเสรีภาพในการแสดงออกในการรวมตัวชุมนุมมากขึ้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าภาคประชาสังคมของไทยกำลังเผชิญกับการทำงานที่ยากลำบากยิ่งขึ้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่าองค์กรอย่างแอมเนสตี้ที่ทำงานเพื่อให้พื้นที่พลเมืองเปิดตัวออกมา เพื่อให้ไทยมีเสรีภาพมากขึ้น จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะมีองค์กรอย่างเราอยู่และทำงานในประเทศนี้ต่อไป

และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แอมเนสตี้จะสามารถทำงานกับภาครัฐเพื่อให้เห็นสังคมที่ดีขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการที่แอมเนสตี้เป็นส่วนหนึ่ง

⦁ ด้วยคำจำกัดความที่ว่า เรามี ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่เหมือนที่ใดในโลก ถึงแม้แอมเนสตี้พยายามยกสแตนดาร์ดด้านสิทธิ แต่ยังมีคนมากมายที่มีความคิดอนุรักษนิยม คอยขัดขวางไม่ให้เยาวชนได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ ยังไม่นับสิ่งที่สื่อไทยต้องเผชิญ คือการเซ็นเซอร์ตัวเอง คุณคิดเห็นอย่างไร?

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ และการใช้วาทกรรมขัดขวาง คืออุปสรรค สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังถูกคุกคามในหลายประเทศทั่วโลก นักข่าวเสี่ยงพอๆ กับนักสิทธิมนุษยชน หากคุณทำงานเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมคุณจะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่นเดียวกันกับคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ในประเทศที่มองว่าตอนนี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งมีนักข่าวเยาวชนหลายประเทศที่กำลังร่วมมือกัน ไม่ว่าจะทำโครงการวิจัยระดับโลก ตรวจสอบในประเด็นนี้เพื่อคุ้มครองตัวเอง เรียนรู้ และเพื่อใช้เป็นเครื่องมือยืนยันให้เสรีภาพของสื่อยังคงอยู่

มันไม่ใช่เรื่องของการที่เรามีความหวังหรือไม่มีความหวัง แต่เป็นเรื่องของ ‘ความกล้าหาญ’ ที่เราจำเป็นต้องมี เพื่อป้องกันตนเองทั้งออนไลน์และออฟไลน์ บางคนอาจจะถูกโจมตีทางกายภาพ บางคนถูกติดตาม ก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อสิทธิของเราด้วย ดิฉันเชื่อว่ามีความกล้าหาญอยู่ใน DNA ของพวกเรา

⦁ สังคมไทยมีการพูดคุยกันเรื่องการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เฉพาะกรณี ปราบปรามการชุมนุมในปี 2553 คุณคิดว่าพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล จะมีแรงจูงใจอะไรการให้สัตยาบันยอมรับเขตอำนาจ ICC หากพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องในความรุนแรงนั้นด้วย?

ก็แค่ทำสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือแรงจูงใจที่ดีที่สุด คุณจะเห็นว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ สามารถทำอะไรให้กับชาวยูเครนได้บ้าง ช่วยประชาชนชาวเมียนมา หรือแม้แต่ชาวไนจีเรีย มันคือการมีวุฒิภาวะทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะผลักดันให้เกิดการให้สัตยาบัน ปฏิบัติตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศ

จึงขอรณรงค์ให้ไทยให้สัตยาบัน มันเป็นเรื่องของการทำสิ่งที่ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย มันเป็นสิ่งที่จะดีสำหรับประเทศ และดีสำหรับประชาชน จึงไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าการนำเรื่องขึ้น ศาล ICC

“แม้ดิฉันได้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว แต่พันธกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของเรายังอยู่ในประเทศนี้ และอยู่ในภูมิภาคนี้อย่างเข้มแข็ง เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโลกซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเป็นลำดับแรก ไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นรองอีกต่อไป”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image