ภัณฑารักษ์ปกติศิลป์ ‘ศุภกานต์ วงษ์แก้ว’ ปั้น’ราชบุรี’ให้มีชีวิตผ่านพื้นที่ศิลปะชุมชน

กราฟฟิตี้ "โปรดระวังแมว"

กราฟิตี้ “โปรดระวังแมว”

กลับมาอีกครั้งกับโครงการ “ปกติศิลป์ ครั้งที่ 2”

คราวนี้มาในแนวคิด “ทอยบุรี (toyburi)” โดยจัดขึ้นแล้ววันนี้ถึง 24 กรกฎาคม 2559 โดยหอศิลป์ร่วมสมัย เถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น ถนนวรเดช อ.เมือง จ.ราชบุรี ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

ช่วงเวลาการจัดงานยาวถึง 6 เดือน งานศิลปะจะถูกจัดแสดงไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองราชบุรี รวม 29 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ร้านทำผม ต้นไม้ เรือข้ามฟาก ลานกลางตลาด พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ

Advertisement

พื้นที่แสดงงานทั้งหมดแบ่งออกเป็นพื้นที่ศิลปะชุมชนแบบถาวร 18 แห่ง ออกแบบโดยสถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำ อย่างดวงฤทธิ์ บุนนาค, อรรถพร คบคงสันติ และนิธิศ สถาปิตานนท์ เป็นต้น พื้นที่ศิลปะชุมชนแบบถาวร 18 แห่ง จะคงอยู่และสามารถใช้งานได้ตลอดไป แม้งานปกติศิลป์ 2 จะผ่านไปแล้ว และทีมงานจะทำ Art Map ไว้ เพื่อบอกว่าในช่วงเวลานั้นๆ มีจัดแสดงงานศิลปะที่จุดไหนบ้าง

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จ.ราชบุรี มีโครงการจัดแสดงงานศิลปะในชุมชน โดยเน้นให้กลมกลืนกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จริง ชื่อโครงการ “ปกติศิลป์” ในแนวคิด “ทุกบ้านคือแกลเลอรี่ ทุกที่คือหอศิลป์” โดยมีวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินเซรามิก ทายาทโรงงานโอ่งมังกร “เถ้า ฮง ไถ่” เจ้าของความคิดปั้นราชบุรีเป็นเมืองแห่งศิลปะร่วมสมัย เป็นผู้ริเริ่มและเป็นแกนนำดำเนินการให้เกิดเป็นรูปร่าง

และเพิ่มหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ สำหรับงานครั้งนี้ที่วศินบุรียกให้เธอเป็นแม่งาน เจ้าของโครงการคือ สาวฟรีแลนซ์ “เกรซ”-ศุภกานต์ วงษ์แก้ว บัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ถามไถ่ที่มาที่ไปแล้วได้ยินมาว่าเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก่อนตัดสินใจลาออกจากงานเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

ปัจจุบันผันตัวเองมาทำงานฟรีแลนซ์เต็มตัว รับงานด้านการออกแบบ พร้อมทั้งยังคงช่วยสานต่อลมหายใจของงานศิลป์ที่รักเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเกรซเริ่มต้นจากการเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่เข้ามาช่วยวศินบุรีกับงานปกติศิลป์ในครั้งแรก และครั้งนี้เธอเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในฐานะภัณฑารักษ์นิทรรศการ (Curator) ที่จะคอยไขคำตอบให้กับผู้ที่มาชมงานศิลปะที่ถูกจัดแสดงไว้ยังสถานที่ต่างๆ

ไม่นานมานี้ มีนัดสำคัญกับภัณฑารักษ์คนเก่ง ที่จะนำนักท่องเที่ยวและผู้สนใจออกเดินตามแผนที่สำรวจงานศิลป์ตามลายแทงที่มีแกลเลอรี่เป็นบ้านเรือน ร้านค้า สถานที่ต่างๆ โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นฉากของการออกเดินทาง บ่ายคล้อยวันนั้น จุดสตาร์ตจึงเริ่มต้นขึ้นที่หอศิลป์ร่วมสมัย เถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น

แนวคิด ‘ทอยบุรี’
ชวนเดินสำรวจงานศิลป์

ปกติศิลป์ในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวความคิดที่ว่า “ทอยบุรี (toyburi)”

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองราชบุรีกำลังอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน บางพื้นที่เคยปล่อยว่าง บางพื้นที่เคยเป็นตลาดที่คึกคัก บางพื้นที่เคยมีอาคารไม้เก่า บางพื้นที่เคยมีต้นไม้ บางพื้นที่เคยเป็นจุดศูนย์กลางในกิจกรรมการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ บางพื้นที่เคยเป็นบางอย่างที่สำคัญ แต่บางอย่างนั้นกำลังหายไปหรือกำลังเปลี่ยนรูปไป

ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นสิ่งที่ร่วมสังเกตหรือสะท้อนมิติต่างๆ ในประเด็นร่วมของเมือง เพื่อบอกเล่าถึงรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้นคล้ายกับการ “ทอย” ของลูกเต๋า เปรียบเหมือนการร่วมกันบันทึกช่วงเวลาที่มันกำลังพลิกด้านใดด้านหนึ่งออกมา ซึ่งลูกเต๋าชิ้นนี้ก็เป็น “ของเล่น (toy)” ชิ้นหนึ่งที่เป็นสื่อกลางให้เกิดการเชื่อมโยงของศิลปะ ชุมชน ผู้ชม สถานที่ เป็นบทสนทนาของการปฏิสัมพันธ์กันในอีกรูปแบบหนึ่งของเมือง

ศุภกานต์เล่าว่า เริ่มต้นมาทำงานนี้กับวศินบุรีเพราะเคยร่วมงานกันหลายครั้ง ตั้งแต่ปกติศิลป์ครั้งที่ 1 มาในครั้งนี้จึงได้รับความไว้วางใจให้ลองมาเป็นภัณฑารักษ์

“มันเป็นเหมือนงานชุมชนมากกว่าที่จะเป็นงานนิทรรศการในการแสดงผลงานศิลปะ อีกอย่างตัวเราเองก็เป็นคนที่นี่ เป็นคนราชบุรี อยากทำอะไรเพื่อบ้านเมืองของตัวเอง และดีใจมากหลังจากที่ได้มีเวลามาทำเรื่องนี้ มันทำให้เราได้เห็นมุมมองต่างๆ ที่มากขึ้น มากกว่าสิ่งที่เราสัมผัสจากสายตา แต่นี่ผ่านการเข้าไปพุดคุย ร่วมกันคิด”

 ทรงผมให้กับหัวหุ่นจำลองร้านเสริมสวย
ทรงผมให้กับหัวหุ่นจำลองร้านเสริมสวย

เริ่มต้นเดินสำรวจ…

ร้านเสริมสวย “ร้านหม่อง” ที่อยู่ริมถนน ติดกับหอศิลป์ร่วมสมัยดีคุ้น ที่นี่เราพบกับงานศิลปะ ซึ่งเป็นการออกแบบทรงผมให้กับหัวหุ่นจำลอง ในสไตล์ของเจ้าของร้านที่ถ่ายทอดงานศิลป์ลงบนเส้นผมและใบหน้าของหุ่นได้อย่างน่าทึ่ง งานชุดนี้เกิดจากความร่วมมือของศิลปิน ศรินยา จิตติชัย ร่วมกับหม่อง บัวพุ่มไทย, มณฑา พวงสุข และเมย์ ลมเมฆ

ถัดมาคือ “ตรอกผนังอิฐ” อยู่ที่ท่ารถริมเเม่น้ำเเม่กลอง

ศุภกานต์เล่าว่า ในอดีตตรอกนี้เป็นที่ทิ้งขยะ ผุพัง สกปรก มีคนเข้าไปปัสสาวะเหม็นไปทั้งถนน วิภาวี คุณนาวิชยนนท์ นักออกเเบบ ได้เลือกสถานที่แห่งนี้ออกแบบงาน โดยเป็นศิลปะจัดวาง ในชื่อ “ราชบุรีรอรถ” โดยนำเอาเก้าอี้หลายตัวมาสร้างสรรค์ผลงานภายในตรอก โดยมีน้องๆ เเละอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคราชบุรีมาเป็นผู้ซ่อมเเซมเเละปรับปรุงจนสามารถเป็นพื้นที่เเสดงงานถาวรที่น่าสนใจ เเละอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายที่มารอรถโดยสาร

ที่อาจเป็นไฮไลต์ของงานครั้งนี้อีกอย่างหนึ่งคือ “โบกี้รถไฟ” ที่มีการดัดแปลงนำเอาโบกี้รถไฟเก่ามาสร้างสรรค์งานศิลปะกราฟิตี้ ซึ่งเป็นการพาเราย้อนอดีต ย้อนเวลากลับไป ภายใต้ชื่อผลงาน “ไขลานแล้วรถไฟพาเราย้อนเวลา” โดย วิทยา จันมา ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าจะย้อนเวลากลับไปไหน ต้องลองไปสัมผัส กระโดดขึ้นบนโบกี้รถไฟ แล้วย้อนเวลาไปพร้อมกันๆ

นี่เป็นแค่น้ำจิ้ม ตัวอย่างของงานปกติศิลป์ ครั้งที่ 2 ซึ่งภัณฑารักษ์ได้นำเราไปสัมผัส

ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจ เช่น ที่ ถ.สฤษดิ์เดช ชมเมือง Cat town ในแนวคิด เมื่อถนนเต็มไปด้วยแมว จึงเกิดกราฟิตี้ ให้รู้ว่า “โปรดระวังแมว”, ร้านทวีผล กับงานของ อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง, บ้านน้าอ๊อด การทำงานร่วมกันของเจ้าบ้านกับเฉลิมวุฒิ เจริญวงศากิ และฐิตารีย์ บวรชีวะปัญญา, ตรอกทางเข้าตลาดสด งานของ กฤษณา หัตถอัจฉรากุล, ศาลาไม้ริมน้ำ งานของ มาฆะ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, ร้านอาภรภัณฑ์ งานของ นิรัญชา ปูรณโชติ และโรงแรมกวงฮั้ว งานของ วิทิต จันทรมฤทธิ์ เป็นต้น

 ไขลานแล้วรถไฟพาเราย้อนเวลา
ไขลานแล้วรถไฟพาเราย้อนเวลา

ผ่านมุม ‘เด็กราชบุรี’
งานศิลปะและนักท่องเที่ยวไทย-เทศ

 ศุภกานต์ วงษ์แก้ว
ศุภกานต์ วงษ์แก้ว

ศุภกานต์เล่าว่า กระแสตอบรับสำหรับงานปกติศิลป์จากคนนอกพื้นที่ถือว่าดีทีเดียว แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งคือ คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

“เราพยายามทำให้เขารู้สึกร่วมมากขึ้น เพราะว่านี่คือพื้นที่ชีวิตของเขา เป็นงานศิลปะที่เกิดจากพวกเขาเอง งานศิลปะที่เขาสร้างขึ้นมา ล้วนถ่ายทอดมาจากความรู้สึก ความทรงจำที่มีมาในอดีต และสิ่งที่เขาคาดหวังอยากเปลี่ยนแปลงหรือสร้างมันขึ้นมาใหม่”

ศุภกานต์บอกอีกว่า อยากให้ผู้คนเห็นความงามที่อยู่รอบตัวมากขึ้น โดยเฉพาะคนในพื้นที่ คนในชุมชน และถ่ายทอดความงามเหล่านั้นสู่สายตาคนนอกหรือคนในด้วยกันเอง และผลดีอีกอย่างของงานครั้งนี้จากเสียงสะท้อนกลับมาคือ ช่วยให้มองเห็นภาพบวกในแง่เศรษฐกิจ เพราะบางร้านถูกบอกต่อ ผ่านพลังของโลกโซเชียล ทำให้มีลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนมากขึ้น เพราะจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเขาได้ในทางหนึ่ง โดยไม่ละทิ้งตัวตนไป

ในส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภัณฑารักษ์สาวบอกว่า ก็ให้ความสนใจค่อนข้างมาก เข้ามาสอบถามและชมนิทรรศการ คนในพื้นที่ก็ได้สื่อสารในมุมกว้างมากขึ้น เราเองก็ได้ทำงาน ใช้ภาษาในการสื่อสาร แต่ที่สำคัญคือ ได้อวดความงามของราชบุรีให้เขาเห็น

“เสียงสะท้อนที่สำคัญก็คือ มันเกิดการพูดคุยกัน ทำให้คนในท้องถิ่นได้มาร่วมคิด ร่วมทำ ช่วยทำให้วิถีชีวิตของผู้คนได้ปฏิสัมพันธ์กัน เพราะบางทีเราเห็นแต่อาจไม่กล้าพูดหรือแนะนำ ไม่กล้าดึงเอาศักยภาพของตัวเอง ของชุมชนที่มีออกมา มันจึงทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้น” ผู้กล่าวยืดอกยิ้มอย่างภูมิใจ

งานปกติศิลป์ ถิ่นโอ่งมังกร จ.ราชบุรี ไม่ใช่การจัดแสดงนิทรรศการในแกลเลอรี่ที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง หากแต่จัดทั้งทีเขาก็จัดแสดงกันทั่วเมืองให้แขกไปใครมาได้เห็นกันชัดๆ

คนรักศิลปะ ชอบการท่องเที่ยว ต้องมาสัมผัสวิถีชุมชนนี้ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!

 วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ร่วมทำงานและปรับปรุงพื้นที่
วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ร่วมทำงานและปรับปรุงพื้นที่

12736023_10205942701153710_2066503675_n

2

12705760_10205917229636938_4751607806970139280_n

12688216_10205917200196202_1792754308036749545_n

12666527_10205942705873828_814510342_n

6

5

12647523_10205917205796342_591054394542882841_n

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image