“ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ส่องเพลงโนเบลวรรณกรรม ของ “บ็อบ ดีแลน”

ถ้าพูดถึงศิลปินอเมริกันที่โด่งดังค้างฟ้าจากยุค “60s คงจะขาดชื่อของ บ็อบ ดีแลน หรือชื่อจริงคือ โรเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน นักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกันไปไม่ได้

ในวัย 75 ปี ดีแลนยังคงเดินสายเเสดงและออกผลงานเพลงอย่างต่อเนื่อง

ดีแลนเป็นเจ้าของเพลงแนวเรียกร้องเสรีภาพและเพลงประท้วงมากมายหลายเพลงโดยเฉพาะ Blowin’ In The Wind ที่รู้จักกันทั่วโลก

เพลงของดีแลน กระหึ่มอยู่ตามที่ชุมนุมเรียกร้องทั่วโลก หลายเพลงถูกดัดแปลงให้สอดคล้องกับภาษา วัฒนธรรมของประเทศที่นำไปใช้ อย่าง คนกับควาย ก็มาจาก Master Of War ของดีแลนนี่เอง

Advertisement

กระทั่งเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก หลังคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมได้ประกาศให้บ็อบ ดีแลน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี 2016

หลังประกาศผลรางวัล เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนเเละโต้เเย้ง เพราะเป็นครั้งเเรกของประวัติศาสตร์รางวัลโนเบลที่นักร้องนักแต่งเพลงคว้ารางวัลด้านวรรณกรรม

ท่ามกลางกระแสร้อนแรง บ็อบ ดีแลน ไม่ได้ออกมาให้ข่าวเเต่อย่างใด พร้อมกันนี้ยังไม่ได้มารับรางวัลด้วยตัวเอง ส่งเพียงข้อความแสดงความรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้

Advertisement

สำหรับประเทศไทยประเด็นการมอบรางวัลครั้งนี้ก็ถูกพูดถึงอยู่ไม่น้อย “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักวิชาการผู้มีความชำนาญทั้งด้านรัฐศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ เป็นผู้รักและศึกษาเรื่องราวของเพลง ได้เปิดมุมมองที่น่าสนใจ ของนักดนตรีเเละนักเเต่งเพลงคนเเรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

มุมมองต่อ บ็อบ ดีแลน?

บ็อบ ดีแลน เป็นสัญลักษณ์ของโลกในช่วงปี 1960 เป็นช่วงที่โลกเริ่มมีการต่อต้านสงครามเวียดนาม เริ่มเกิดขบวนการเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องสิทธิพลเมือง เรียกร้องว่าคนทุกคนมีความเป็นคนเท่ากัน ทั้งคนผิวขาวคนผิวดำ รวมถึงผู้หญิงผู้ชาย คือโลกที่เกิดคตินิยมสิทธิสตรี (feminism) ผู้หญิงและผู้ชายควรจะมีโอกาสในการทำงานเท่ากัน

นี่คือโลกที่ให้กำเนิด บ็อบ ดีแลน และเขาเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ ซึ่งผมคิดว่าในแง่การเมืองมันเป็นช่วงที่คนเริ่มรู้สึกว่า สิทธิของพลเมืองมีความสำคัญ ไม่ใช่แค่สิทธิในการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ยังเป็นสิทธิพลเมืองในความหมายว่าคนทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกัน ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเรื่องสีผิว เชื้อชาติ หรือศาสนา และยังเป็นโลกที่ปัญญาชนเชื่อว่าการทำให้คนทุกคนเท่าเทียมกันจะต้องได้มาด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้มาด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมการประท้วงด้วย

เมื่อ บ็อบ ดีแลน เกิดมาภายใต้บรรยากาศแบบนี้ คือต้องการเสรีภาพ ขณะเดียวกันเสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่นั่งพูดแล้วมันจะมีเลย ต้องมีการแสดงออกมีการเคลื่อนไหวให้มันเกิดขึ้นมา

บริบทสังคมขณะนั้น?

สังคมให้ความรู้สึกว่าคนเราเหมือนกัน ทำให้คนคิดว่าเราต้องอยู่ในรูปแบบที่คล้ายกับคนอื่นตลอดเวลา ต่อมาการพบว่าเราไม่เหมือนคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ในช่วงนั้นค่านิยมต่างๆ ของสังคมที่ต้องเหมือนกันถูกสั่นคลอน ทั้งความรู้สึกว่าอเมริกาเป็นมหาอำนาจของโลก เป็นดินแดนเสรีภาพ เป็นดินแดนประชาธิปไตย ในเวลานั้นคนรุ่นนั้นไม่เชื่อ ก็เกิดสงครามวัฒนธรรมขึ้นมา มีความรู้สึกว่าสังคมกระแสหลักมันเละเทะ เกิดการเผชิญหน้าทางวัฒนธรรม คนรู้สึกว่าการตั้งคำถามกับสังคม ความไม่พอใจและประกาศความไม่พอใจไม่ใช่เรื่องผิดอีกต่อไป เพราะมองไปรอบตัวก็มีคนแบบนี้เยอะไปหมด ขณะที่การยอมรับค่านิยมของสังคม กลายเป็นเรื่องหัวโบราณไป

งานเพลงในยุคนั้นมีลักษณะอย่างไร?

ความรู้สึกของขบวนการบุปผาชนยุคนั้น เริ่มมีความคิดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเพลงไม่ใช่เรื่องเชิงพาณิชย์เท่านั้น เพราะอเมริกันยุคก่อนคือ ยุคซิกส์ตี้ เป็นช่วงที่เพลงมีความเป็นธุรกิจมาก เซนส์ทางสังคมของเพลงยังมีไม่เยอะ มีศิลปินอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ ในแง่วัฒนธรรมก็เป็นยุคที่ อเมริกัน ดรีม (Save the American dream) ยังมีอิทธิพลกับความคิดของคนอยู่ เกิดความเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จ

แต่พอเกิดสงครามเวียดนาม เกิดการเคลื่อนไหวของคนผิวดำ คนก็เริ่มเห็นว่าสังคมมันมีปัญหา ผมมองเพลงของบ็อบ ดีแลน รวมถึงศิลปินอีกหลายคนอย่าง พอล ไซมอน (Paul Simon) เกิดขึ้นมาในบริบทเดียวกัน โดยความโดดเด่นของเพลงคือมีลักษณะความเป็นบทกวีสูง มีคนเปรียบเทียบด้วยซ้ำว่าถ้าไม่มี บ็อบ ดีแลน แล้วพอล ไซมอน จะไม่มีโอกาสทำเพลงแบบที่ทำในช่วงหลังได้เลย ซึ่งพอล ไซมอน ก็เป็นนักร้องนักดนตรีผู้เอาเพลงแนวเวิลด์มิวสิเคิลมาผสมกับแนวเพลงป๊อบอเมริกัน แล้วอัลบั้ม Graceland (1986) ก็ถือเป็นอัลบั้มที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์ดนตรีโฟล์ก อเมริกันในช่วงประมาณ 20 ปีที่แล้ว

2

ก่อนหน้า บ็อบ ดีเเลน มีศิลปินเพลงแนวนี้อีกหรือเปล่า?

ก่อนหน้ายังมีศิลปินสายโฟล์ก อย่าง ปีเตอร์ พีท ซีเกอร์ (Peter “Pete” Seeger) หรือ วู้ดดี้ กูธรี (Woody Guthrie) ซึ่งเป็นศิลปินที่สำคัญและในวงการโฟล์กของอเมริกัน 2 ท่านนี้มีความรุนแรงลึกซึ้ง (radical) กว่าบ็อบ ดีแลน ด้วยซ้ำไป อย่างเพลงของซีเกอร์ในยุคหนึ่ง ขบวนการของกรรมกรจะใช้ในการประท้วง เพื่อบอกว่าดินแดนของอเมริกันเป็นของชนชั้นผู้ใช้แรงงานทุกคน

เริ่มสนใจเพลงของ บ็อบ ดีแลน ตั้งแต่เมื่อไหร่?

ตอนที่ผมเริ่มฟังเพลง เป็นช่วงที่เพลงไทยเพื่อชีวิตกำลังบูม เช่น เพลงของคาราวาน หรือพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ได้รับความนิยมมาก บางคนบอกว่า หงา คาราวาน เป็น บ็อบ ดีแลน เมืองไทย

แต่ผมฟังเพลงพวกนี้แล้วหงุดหงิดมาก เพราะผมรู้สึกว่าเป็นเพลงที่ในแง่ดนตรีไม่มีอะไรเลย แล้วพอฟังเพลงของบ็อบ ดีแลน ในยุคต้นๆ ของเขาช่วง 1960-1970 ซาวด์จะเป็นแบบที่เรียกว่า กรีนิชวิลเลจ อะไรพวกนี้ ดนตรีของบ็อบ ดีแลน มันมีความซับซ้อนมาก คือเวลาเราพูดถึงดนตรีโฟล์กในประเทศไทยเรานึกถึงในยุคหนึ่งที่โครงสร้างเพลงมันเป็นแบบ เอ-เอ-บี-เอ คือในเพลงหนึ่งมีท่อนซ้ำ 2 ท่อนแล้วท่อนฮุกแล้วก็ท่อนซ้ำ แล้วโครงสร้างคอร์ดก็จะเป็น C คอร์ด วนไปเรื่อยๆ ซึ่งในแง่พัฒนาการทางดนตรีโฟล์กเมืองไทยในยุคนั้นค่อนข้างต่ำ แล้วถ้าคุณฟังเพลงของ บ็อบ ดีแลน ซึ่งคนมองว่าเป็น

ไอดอลของวงการเพลงเพื่อชีวิตไทย จะเห็นว่าความซับซ้อนทางดนตรีสูงกว่ามาก พอผมได้ฟังทำให้ผมรู้สึกว่าไม่ชอบเพลงเพื่อชีวิตคนไทยเลย

เอกลักษณ์และความพิเศษในบทเพลงของ บ็อบ ดีแลน?

มีความเป็นบทกวีในเพลงสูง ผมว่า บ็อบ ดีแลน ในวัยหนุ่มเขามองตัวเองเป็นกวีมากกว่านักดนตรีด้วยซ้ำ อย่างชื่อของเขาก็มาจาก ดีแลน โทมัส (Dylan Thomas) ซึ่งเป็นกวี แล้วการที่คนคนหนึ่งเอาชื่อของกวีมาเป็นชื่อของตัวเองในการทำเพลงมันก็สะท้อนอยู่แล้วว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการทำเพลงมาจากกวี ดังนั้นผมมองว่า บ็อบ ดีแลน เริ่มต้นแต่งเพลงด้วยเซนส์ของกวีมากๆ

ถึงแม้ บ็อบ ดีแลน จะไม่ใช่คนแรกแต่เขาก็เป็นผู้ทำให้การแต่งเพลงที่มีลักษณะการใช้คำแบบบทกวี แพร่หลายมากขึ้น รวมมาถึงในประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจาก บ็อบ ดีแลน สูงมาก

ชอบเพลงไหนของบ็อบ ดีแลน?

หลายเพลงครับ เช่น Working Mans Blues, Walls of Red Wing, Paths of Victory, I Shall Be Released เพราะเป็นเพลงที่มีการใช้คำเปรียบเทียบ

อย่างเพลง Paths of Victory เป็นเพลงที่มีเซนส์ทางการเมืองสูง คิดว่าเป็นเพลงที่แต่งขึ้นในช่วงที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นช่วงที่คนเชื่อว่าเมื่อเรารวมตัวกันแล้วจะทำให้โลกดีขึ้นได้ และสักวันหนึ่งเราจะได้รับชัยชนะ แต่ในยุคนี้มันไม่มีความเชื่อแบบนี้อยู่ในโลกแล้ว คือคนไม่เชื่ออีกต่อไปแล้วว่า หากแต่ละคนรวมตัวกันแล้วสามารถเปลี่ยนโลกได้ ซึ่งเพลงของ บ็อบ ดีแลน ทำให้เราได้เห็นความคิดของคนยุคหนึ่ง

เพลง I Shall Be Released เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ผมเข้าใจว่าเป็นเพลงที่แต่งโดยได้รับแรงบันดาลใจจากนักโทษผิวดำคนหนึ่งที่ถูกจับอย่างไม่เป็นธรรม แล้วในช่วงนั้นมีขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำ ในเพลงของ บ็อบ ดีแลน พูดถึงนักโทษคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนผิวดำที่ถูกจับเข้าคุกเพราะเป็นคนดำ แล้วถูกยัดข้อหา บ็อบพยายามบอกว่าความรู้สึกของคนที่ถูกกักขังโดยไม่ได้กระทำความผิดว่าจะอยู่อย่างไร การสูญเสียเสรีภาพเป็นเรื่องเลวร้ายเเละมนุษย์ไม่อยากสูญเสียมัน ยิ่งสูญเสียเสรีภาพโดยอำนาจข้างนอกมาบังคับโดยเราไม่ได้ทำผิดยิ่งเป็นเรื่องเลวร้าย ซึ่งนักโทษเหล่านี้อยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นว่าสักวันคุกเหล่านี้จะพังทลายลงไป

เมื่อฟังแล้วจะจับความรู้สึกได้ว่า คุกที่จะพังทลายลง ไม่ได้หมายถึงกำแพงที่เป็นห้องขัง แต่มันหมายถึงโซ่ตรวนหรือพันธนาการในสังคม เช่น อคติทางสีผิว หรือกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมกับคนผิวสีดำ

สังคมโลกทุกวันนี้จะมีโอกาสเกิดศิลปินยิ่งใหญ่แบบ บ็อบ ดีเเลน ได้อีกไหม?

ยากครับ เพราะอุตสาหกรรมดนตรีตอนนี้มันกระจายตัว ทุกคนสามารถทำเพลงได้ ช่องทางในการกระจายผลงานก็หลากหลายขึ้น ไม่มีการผูกขาดเเบบยุคก่อนเล้วเพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดคนคนหนึ่งเป็นไอคอนของวงการเพลงมันยากมาก โอกาสที่จะเทียบเท่าในอดีตยากแต่ก็ยังมีโอกาสที่จะโดดเด่นในรุ่นเดียวกันได้

มองการมอบรางวัลโนเบลให้ บ็อบ ดีเเลน อย่างไร?

คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แง่หนึ่งทำให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นกวี ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของหนังสือ กวี มันคือข้อความที่ใช้ความรู้ทางภาษาสร้างความรู้สึกกับคน เพราะฉะนั้นมันจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ได้

ส่วนการวิจารณ์ว่าบ็อบ ดีแลน ไม่ควรได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม คิดว่าน่าจะเป็นการเอาเรื่องรูปแบบมาปนกับความเป็นกวี ซึ่งผมคิดว่างานศิลปะสมัยใหม่ มีการผสมผสานกันข้ามรูปแบบที่เห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นในเมืองไทยมีงานของพิเชษฐ์ กลั่นชื่น ที่ปนกันหมดตั้งแต่การเต้น รำไทย และละคร จนไม่รู้จะแยกยังไง ดังนั้น ผมคิดว่าในความเป็นจริงธรรมชาติของโลกศิลปะมันรวมเข้าหากันหมดแล้ว การโจมตีว่างานแบบไหนคืออะไรจึงไม่ค่อยเป็นประเด็นสักเท่าไหร่

การโต้แย้งว่าเพลงของบ็อบไม่ใช่วรรณกรรมหรือกวี น่าจะเป็นการนำภาพของ บ็อบ ดีแลน ในช่วงหลังซึ่งอายุมากแล้ว เพลงก็ซอฟต์ลงไปทางป๊อป แต่ถ้าไปดูเพลงในช่วงแรกแม้กระทั่งแรงบันดาลใจของเขา ผมคิดว่ามีเซนส์ของความเป็นกวีสูงมาก และอิทธิพลของการเขียนเพลงแบบบทกวีจะพบในคนรุ่นเขา อย่าง พอล ไซมอน ซึ่งมีลักษณะความเป็นบทกวีในเพลงสูงเช่นกัน

คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ บ็อบ ดีแลน ได้รางวัล?

ในประวัติศาสตร์ดนตรีและวัฒนธรรมร่วมสมัย เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า บ็อบ ดีแลน เป็นคนที่สำคัญมากในการเอาบทกวีมาผสมกับดนตรีจนเกิดเป็นเพลง เพราะฉะนั้นถ้าความตั้งใจหนึ่งของรางวัลโนเบลต้องการให้คนเข้าใจว่าวรรณกรรมอยู่ในรูปแบบไหนก็ได้ ต้องการขยายนิยามว่าวรรณกรรรมคืออะไร ให้ไม่จำกัดแค่หนังสือเล่ม บ็อบ ดีแลน เป็นคนหนึ่งที่ควรจะได้รับรางวัลนี้ เพราะเขาทำเรื่องนี้มากว่า 40 ปีแล้ว ทำให้คนมองว่าเพลงกับบทกวีเป็นเรื่องเดียวกัน และทำให้วงการเพลงเกิดคนแบบบ็อบ ดีแลน ขึ้นมาอีกมากมาย

คิดว่า บ็อบ ดีแลน ไม่ขึ้นรับรางวัลเพราะอะไร?

เขาอายุมากแล้ว และคนวัยนี้ก็เป็นวัยที่รู้สึกว่าทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องแคร์โลกเพราะอยู่ได้อีกไม่นาน อยากทำอะไรก็ทำ คิดว่าน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า น่าจะเป็นนิสัยส่วนตัว

ถ้าเมืองไทยให้รางวัลสาขาวรรณกรรมกับนักแต่งเพลงหรือนักดนตรีบ้างจะเป็นอย่างไร?

ตอนนี้ยังนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าทำจริงคงมีการดีเบตแบบนี้เหมือนกัน เช่น สมมุติรางวัลซีไรต์สาขากวี ให้รางวัลกับ ตูน บอดี้สแลม คงมีการวิพากษ์วิจารณ์เยอะเหมือนกันซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการข้ามรูปแบบศิลปะ ข้ามความเคยชินของคน

อาจจะเกิดความรู้สึกรับไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา

 

“ดนตรี” เป็นกิจกรรมทางปัญญา

อีกบทบาทของ “ศิโรตม์”

นอกจากจะเป็นนักวิชาการที่วิเคราะห์ข้อมูลเเละให้ความรู้แบบเจาะลึกในมุมมองการเมือง สังคมเเละวัฒนธรรมแล้ว หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ยังเล่นดนตรีเเละยังเป็น “มือเบส” ในวงดนตรีมาก่อนด้วย

“สมัยก่อนเคยมีวงดนตรีกับเพื่อนครับ เป็นวงดนตรีเด็กมัธยมปลาย วงดนตรีเด็กมหาวิทยาลัยธรรมดาไม่ได้โดดเด่นอะไร ตอนนี้มือผมเริ่มเเข็งเพราะไม่ได้เล่นนานเเล้ว” เป็นอีกประสบการณ์ชีวิตของนักวิชาการที่มีความรู้ความสนใจเรื่อง “ดนตรี”

“ผมเชื่อว่าดนตรีมีความเป็นกิจกรรมทางปัญญา ผมชอบดนตรีที่ฟังเเล้วผมฉลาดขึ้น เช่นดนตรีที่เราเห็นความสามารถของนักดนตรีในการเขียนเพลง ไม่ว่าจะเป็นดนตรีเเจ๊ซ ดนตรีคลาสสิก หรือดนตรีป๊อปก็ตาม ปัญหาคือการทำเพลงของคุณทำให้คนฉลาดมาขึ้นเเค่ไหน”

ศิโรตม์ยังให้ความเห็นอีกว่า ในส่วนคนทำเพลง คนทำงานศิลปะทุกคนน่านับถือ ถ้าเขาตั้งโจทย์ให้ตัวเองยากขึ้นเรื่อยๆ ดูงานเหล่านี้เเล้วทำให้เรารู้สึกท้าทาย เห็นความขยันของศิลปิน ขณะเดียวกันดูงานเหล่านี้ทำให้เราฉลาดขึ้น

เพราะดนตรีเป็นมากกว่าความบันเทิง สำหรับ ศิโรตม์ ดนตรียังนับเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาอย่างหนึ่งด้วย

การหยิบยืม”ไทย-ดีแลน”

การตั้งคำถามกับสังคมในลักษณะเดียวกันนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทยไหม?

ตอนนี้ยังนึกไม่ออกเพราะเราเป็นประเทศเผด็จการ การเป็นประเทศเผด็จการเกิดเรื่องนี้ไม่ได้อยู่แล้ว นอกจากความเป็นประเทศเผด็จการเรายังมีการครอบงำทางวัฒนธรรมสูงมาเป็นเวลานาน เราไม่มีพื้นที่ของเสรีภาพแทบทุกส่วน ในแง่งานวิชาการ การจัดเสวนาก็ถูกมหาวิทยาลัยควบคุมมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่อินเตอร์เน็ตก็มี พ.ร.บ.คอมพ์ ในแง่งานศิลปะก็ไม่มีพื้นที่ที่ส่งเสริมให้งานศิลปะร่วมสมัยแสดงอย่างอิสระ เพราะฉะนั้นโอกาสที่สังคมเกิดการตั้งคำถามทางวัฒนธรรมจึงยาก

การมีเพลงแนวนี้ในประเทศไทยสะท้อนอะไรในสังคม?

ถ้าเรามองว่าศิลปินหรือคนทำเพลงเป็นปัญญาชน จะพบว่าการถ่ายทอดหรือการลื่นไหลทางวัฒนธรรมหรือความคิดของปัญญาชน ระหว่างสังคมหนึ่งไปอีกสังคมหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในเมืองไทยพอมีความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในช่วง 14 ตุลา 2516 ในยุคหนึ่งมีการมองหาต้นแบบจากตะวันตก รวมถึง บ็อบ ดีเเลน

แล้วถ้าทักษะของคุณมาจากสายวิชาการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การหยิบยืมความรู้หรือความคิดของนักวิชาการ หรือนักคิดภายนอกเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมไทย ในส่วนของปัญญาชนที่แม้จะไม่ใช่นักวิชาการ แต่มีกระบวนการคล้ายๆ กัน อย่างคาราวาน ก็ถือเป็นปัญญาชนในยุคนั้น ที่มีทักษะเรื่องการทำเพลง เขาก็หยิบยืมวิธีของ บ็อบ ดีแลน มาใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image