เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน เป็นต่อ เจาะโจทย์คิดหนัก กับดัก ‘โค้งสุดท้าย’

เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน เป็นต่อ เจาะโจทย์คิดหนัก กับดัก ‘โค้งสุดท้าย’
(จากซ้าย) รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์, อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง (ผ่าน Zoom), ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ, รศ.ตระกูล มีชัย และ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา “การเลือกตั้งทั่วไป 2566 : เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน หรือเป็นต่อ?” เมื่อ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา

เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน เป็นต่อ
เจาะโจทย์คิดหนัก กับดัก ‘โค้งสุดท้าย’

“บอกตรงๆ ว่าจากปี 2511 ที่ผมไปติดตามการเลือกตั้งในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร จนกว่ากึ่งศตวรรษ คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าสนใจมาก”

รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีแห่งรั้วสิงห์ดำ จุฬาฯ เปิดฉากเวทีที่เต็มไปด้วยเรื่องต้องจด เพราะการเลือกตั้ง 66 มีสารพัดประเด็นที่ต้องจ้อง กูรูแห่งภาควิชาการปกครองจึงมาล้อมวงเกือบยกคณะ เพื่อซูมภาพ “การเลือกตั้งทั่วไป 2566 : เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน หรือเป็นต่อ?”

เพราะแค่บทวิเคราะห์วิชาการ ไม่เพียงพอในการกระตุ้นสังคมให้ตื่นรู้ บางข้อมูลสำคัญยังถูกปิดไม่ให้นักวิชาการนำมาคิดต่อ เพื่อช่วยกำหนดทิศทางฉากใหม่ของบ้านเมือง

Advertisement

‘นโยบายยังผูกขาด’ ‘ระบบราชการ’ คือกับดัก

เริ่มที่ รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ ไม่ขอลงดีเทลนโยบายเพราะคล้ายกัน แต่แสดงความกังวลว่า ไม่ใช่นโยบายทุกอย่างที่จะทำได้จริง อาจติดข้อจำกัด ถูกผูกขาดด้วยเงื่อนไขของรัฐ อาจต้องพับเมื่อกระทรวงบอก ‘ไม่ไหว’

“ตอนนี้การกำหนดนโยบายของรัฐไทยยังถูกผูกขาดด้วยระบบ ‘คณะกรรมการ’ ที่ไม่พ้นข้าราชการ ตัวแทนจากสมาคมที่เกี่ยวข้อง ไม่เห็นตัวแทนจากภาคเกษตร ภาคสังคม หรือประชาชน”

Advertisement

ธนพันธ์ ขยายจุดบอดบนหนทางพัฒนาประชาธิปไตย ฝาก ‘เปิดช่องให้กว้าง’ ให้ดึงหลายภาคส่วนเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะได้ พร้อมวอนเพิ่มเรื่อง ‘นวัตกรรมการเกษตร’ ใหม่ๆ อยากก้าวข้ามเรื่องประกันราคา รับจำนำ ห่วงว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป สินค้าเกษตรในตลาดไทยจะสู้เขาไม่ได้

อีกเรื่องที่ฝาก คืออยากให้มีการ ‘เปิดเผยข้อมูลในระดับหน่วย’ ซึ่งจะดีกับทุกฝ่ายในระยะยาว นักวิชาการได้หยิบมาใช้วิเคราะห์และเข้าใจพฤติกรรมทางการเมือง

เลิกเล่นแมวจับหนู ถึงเวลา ‘ปฏิรูป’ ดีไซน์ กกต.ให้คนยอมรับองค์กร

ตัดภาพมาที่ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ลิสต์ 2-3 ประเด็นมาแลกเปลี่ยน คิดว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงเวลา ปฏิรูปกระบวนการกำกับดูแลการเลือกตั้ง กกต.ควรโละโจทย์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

“มันเป็นไปได้ไง ภาษีเจริญถูกซอยเป็น 5 เขต ต่างจังหวัดเห็นชัด อำเภอนี้ยกเว้นตำบลนั้น เอาเสี้ยวมารวมกัน ไม่เข้าใจความเป็นจริง ว่า ส.ส.รีพรีเซ็นต์พื้นที่ด้วย ไม่ได้ทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างเดียว พูดง่ายๆ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ผู้ว่าฯกทม.) เรียกราชการส่วนกลางมาทำอะไรไม่ได้นะ แต่ ส.ส.เขต เรียกข้าราชการมาตั้งกระทู้ ตอบคำถามในสภาได้

กรอบคิดแบบใหม่ของ กกต. อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างต่างประเทศ ต้องดีไซน์องค์กรให้เป็นที่ยอมรับ ต้องมีฉันทามติที่จะช่วยกันกำกับดูแล ไม่ใช่เล่นเกม ‘แมวจับหนู หนูจับแมว’ อยู่นั่น เลยไม่มีใครเชื่อมั่น

‘เคสเลือกตั้ง’ ผมอยากจะทำวิจัย ก็ไม่มีข้อมูลว่าคราวที่แล้วตกลงคดีไหนหลุดบ้าง คดีไหนไปต่อได้ กทม.ไม่มีสักคดี บางเรื่องก็ต้องเปลี่ยน เช่น การติดป้าย ต้องบังคับให้ติดอยู่ 2 ที่ ให้คนในเขตตัดสินใจไม่ใช่ไปติดกันเละเทะ และได้เปรียบเสียเปรียบกันแบบนี้” หัวหน้าภาควิชาการปกครองจัดชุดใหญ่

ลุ้นหน้าตาประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ล้มล้าง ต้องสร้างพันธมิตร

ต่อเนื่องกับเงื่อนที่ 2 ‘พิชญ์’ มองเห็นบ้านใหญ่ใน กทม.ว่ามีจริง คือ ‘ตัวตึงที่ทำคะแนนอยู่ในพื้นที่’ ซึ่งรอบนี้จะเป็นปรากฏการณ์อีกครั้งหลังเลือกตั้ง อ.ชัชชาติ ได้เป็นซุปเปอร์แคนดิเดต เพราะทำให้ 2 ฝ่ายทำงานร่วมกันได้

“จะเห็นว่ามีฮาร์ดคอร์ก้าวไกลตั้งแต่คราวที่แล้วเท่าไหร่ ไม่นับ ส.ก.ก้าวไกล มี 14 เขต เพื่อไทยมี 20 แต่ต้องทอน 50 เขตเลือกตั้ง กทม. มาเป็น 33 เขตด้วย ฉะนั้นจะมาบอกว่าก้าวไกลไม่เล่นตลาดล่าง ไม่ได้ ในต่างจังหวัดเขาเสียบไปใน ‘การปฏิรูปท้องถิ่น’ มาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ใช่พรรคกระแสแบบสมัยก่อน”

ส่วนตัว อ.พิชญ์คิดว่าจุดสำคัญรอบนี้คือ ‘ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย’ ที่ไม่ใช่แค่การจัดตั้งรัฐบาลธรรมดา แต่ต้องลุ้นหน้าตาประชาธิปไตย

“เราจะคิดแบบกระบวนการปฏิวัติอย่างเดียวหรือเปล่า ถ้าไปอ่านบทหนึ่งของ ‘เหมา เจ๋อตง’ ยังมีพันธมิตร ถ้าเปลี่ยนแปลงสังคมจับกับใครได้บ้าง ในระดับไหน ต้องเรียนรู้จากคอมมิวนิสต์ด้วย ซึ่งไม่ใช่มีแค่การล้มล้าง มีพันธมิตรได้ โจทย์รอบนี้คือการเปลี่ยนผ่านที่ตกลงประชาธิปไตยด้วยกันพอไหม ถ้าไม่พอ ใครคือพันธมิตรที่ใกล้ที่สุด นี่คือโจทย์แบบเหมา ‘ใครคือมิตรและศัตรู’” นักรัฐศาสตร์ชวนคิด

โฟกัสผิดจุด ไม่ดันจุดแข็ง? ‘มันมีบางอย่าง’ หวังทำนายพลาด

การเลือกตั้งรอบนี้ ไม่ใช่แค่การตลาด ในมุม อ.พิชญ์ เห็นเป็นเรื่อง ‘ยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง’ ที่กลายเป็นกลบจุดเด่นในด้านนโยบาย

“กลับกัน แทนที่จะเอานโยบายเป็นตัวตั้ง ดันไปเอายุทธศาสตร์แคมเปญเป็นตัวตั้ง ทั้งๆ ที่นโยบายของตัวเองแข็งพอควร ‘แลนด์สไลด์’ เป็นแคมเปญที่กำกวม พอใช้คำตอบว่า ‘เลือกพรรคเดียวไปก่อน’ สุดท้ายไม่ได้มีผลทำให้คนไปเลือกพรรคคุณ กลายเป็นต่างฝ่ายต่างยืนยันพรรคตัวเองในโค้งสุดท้ายที่จะไปเอาเสียงสะวิงโหวต รอบนี้ต้องดูว่าการรณรงค์มีความสำคัญไหม

ไม่ใช่แค่การตลาดแล้ว แต่มียุทธศาสตร์การเมืองใส่อยู่ด้วย ‘มันมีบางอย่าง’ หวังว่าสิ่งที่ผมทำนายจะผิด” พิชญ์ทิ้งท้าย

ขบวนการเคลื่อนไหว ไม่ได้จบ ตบเท้าเข้าสู่ระบบ

‘เห็นความเปลี่ยนแปลงในแง่รัฐศาสตร์’

คือมุมที่ปรากฏในสายตา รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

‘การเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 2557’ เป็นจุดเปลี่ยน แผ่ขยายไปถึงคนรุ่นใหม่ จนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เครือข่ายทรัพยากรและประชาชนคนชายขอบ จุดประเด็นเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ ปมจัดสรรทรัพยากร

โฟกัสปรากฏการณ์ ‘กระแสนิยมพรรคฝ่ายค้าน’ อย่างก้าวไกล ชี้ชัดว่าขบวนการเคลื่อนไหวผันแปรมาสู่ ‘การเมืองในระบบ’

“ถ้าดูตั้งแต่โครงสร้างผู้สมัคร พี่น้องชนเผ่า 4-5 คน ลง ส.ส.เขต หรือตัวแทนภาคประชาสังคม ผันแปรเข้ามาเป็นผู้สมัคร หัวคะแนนธรรมชาติ จะเห็นว่านี่คือผู้ร่วมชุมนุม ฉะนั้นขบวนการเคลื่อนไหวไม่ได้จบ แต่ผันตัวเองเข้ามาในพื้นที่ที่น่าสนใจ”

ประภาส เชื่อว่าพรรคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม จะเปลี่ยนการเมืองผ่านการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ด้วยการเชื่อมต่อกับ ‘ภาคประชาสังคม’

บ้านใหญ่ หัวคะแนน สู้โซเชียลไหวไหม?

ประภาส หันเลนส์ไปส่องเครือข่ายอุปถัมภ์และการซื้อเสียงในอดีต

“สมัยผมเด็กๆ เถ้าแก่โรงสีเอาเรือขนพ่อแม่ผมไปลงคะแนนตามที่เขาสั่ง เครือข่ายแบบใหม่คงมีมิติแบบนั้นด้วย แต่มันเปลี่ยนไปเยอะ หรือที่เราพูดถึงชมรมแพทย์ชนบทไปช่วยซื้อเสียง เป็นตัวอย่างเครือข่ายการจัดตั้งในระดับพื้นที่ ย้อนดู 8-9 ปี พรรคโดยเฉพาะในฝ่ายรัฐบาล ทำอะไรมากมาย ขึ้นเงินเดือน อสม. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน กลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งมีงบประมาณลงไป”

คือหลักฐานที่มีโอกาสรีรันเหมือนเทปม้วนเก่า นักรัฐศาสตร์ท่านนี้เดาว่า แบงก์ม่วงแบงก์เทามีผลแน่ แต่จะเหนียวแน่นแค่ไหนในปัจจุบัน เพราะต้องแข่งกันระหว่างคนรุ่นใหม่ที่สร้างเครือข่ายผ่านโซเชียล

‘กระแส ชนะกระสุน’? โจทย์คิดหนัก ถ้าสะดุดทางตัน

ถึงคิว รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล จัดให้ 4 ประเด็นเน้นๆ แทนข้อกังวลจากประชาชน

เรื่องแรก เงินอุดหนุนภาครัฐ ที่ทุกพรรคพูดเหมือนกันหมดว่า ใช้งบจากรัฐ แต่คำถามคือ เราจะรอดไปถึงแค่ไหน กู้หนี้อีกกี่ล้าน?

รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล

ประเด็นที่ 2 กระแสกับกระสุน ซึ่งในอดีต เลือกแบบกระแส คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนกระสุนก็คือ ส.ส.เขต

“คำถามคือการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะเป็นกระแส กระสุน หรือจะเป็นแบบผสม ก็ต้องรอดู”

ประเด็นที่ 3 ผู้สูงอายุ เบบี้บูมเมอร์ กับเจนอัลฟ่า มีการเชื่อว่าผู้สูงอายุจะเลือกแบบนึง แล้วเด็กยุคใหม่ ที่จะเลือกอีกแบบ แต่อย่าลืมสะวิงโหวต คือเจน X ชนชั้นกลาง ที่อาจจะมาใช้สิทธิ หรือไม่ใช้

“บ้านเราที่ผ่านมาคนที่ไม่มาใช้สิทธิคือ ‘เจนอัลฟ่า’ ซึ่งก็คือ เจน Z ดังนั้น ‘เบบี้บูมเมอร์’ เป็นพวกที่จะไปใช้สิทธิอยู่แล้ว โดยสัดส่วนประชากรจะชนะ ‘เจนอัลฟ่า’ ไหม เป็นโจทย์ที่คิดหนัก ในอดีตที่เราเคยคิดเรื่องสะวิงโหวต อย่าลืมปัจจัยเรื่อง นกที่ตื่นเช้า กับนกที่ค่อยๆ มา” อาจารย์นฤมลทิ้งข้อคิด

ประเด็นสุดท้ายคือ ภาวะทางตัน จะทำอย่างไร ให้ฝ่ายกองทัพก้าวออกจากการเมือง

“คุณจะสร้างกลยุทธ์การถอนตัวอย่างไร เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนผ่านไปได้” อ.รัฐศาสตร์ ห่วงหลังเลือกตั้งไทยเปลี่ยน แต่ยังไม่ผ่าน

สถาปนาตัวเอง ‘ผู้ชี้ขาด’ ตัดเกรด กกต.อ่อนซ้อม

ด้าน อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เจาะไปที่องค์กรอิสระเหนือการเมืองอย่าง กกต. ที่กลายเป็นแบกความเป็น-ตาย ในการเลือกตั้ง แต่งานที่ต้องทำ กลับไม่รับบทให้แข็งขัน อย่าง 1.การบริการ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไปใช้สิทธิได้เยอะที่สุด ง่าย ใช้ต้นทุนน้อยที่สุดได้อย่างไร 2.การเป็นหน่วยตรวจสอบความสุจริต โปร่งใส

“แต่เราไม่เห็นวิธีคิดเรื่องการบริการ เห็นแต่ กกต.เป็นผู้คุมกฎ เน้นความสุจริต โปร่งใส กกต.สถาปนาตนเองให้เป็นผู้ชี้ขาดทางศีลธรรม ห้ามใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์พรรคไปลงคะแนน คนส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจมาก่อนวันเลือกตั้ง ไม่ใช่วันนี้เจอโบส้ม แล้วโดนสะกดจิตต้องกาเบอร์ 31 ในด้านวิชาการเราเข้าใจพฤติกรรมของผู้เลือกไปไกลแล้ว ขณะที่ กกต.ยังมองประชาชนเป็นปะการัง ไม่ค่อยมีสมอง การเลือกตั้งจึงถูกมองว่าเป็นพิธีกรรม”

นักวิชาการผู้ท็อปฟอร์ม ยังชำแหละข้อผิดพลาด กกต. ที่แม้จะยังไม่ถึงวันเลือกตั้งใหญ่ แต่พบเยอะมาก ซึ่งบางปัญหาเกิดจากระดับเจ้าหน้าที่ บ้างก็ผู้บริหารคือต้นตอ อย่างการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. ซึ่งเป็นวันหยุดยาว คนไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ทำให้แห่มาเลือกตั้งล่วงหน้าเยอะ แต่ปัญหาเกิดจากการไม่ฝึกจนกลายเป็นความผิดพลาด เรื่องการกรอกคะแนน โดยรวมคือเรื่อง ‘การอ่อนซ้อม’

“ราชการเวลาทำงานคือ สะดวกของผู้ทำ ไม่ได้เพื่อการบริการประชาชน ช่วงที่เว็บไซต์ล่ม คนถามว่าจะให้ลงทะเบียนใหม่หรือเสียสิทธิ กกต.ไม่อยู่ เพราะไปดูงานต่างประเทศ ทำงานไปวันๆ มันผิดวัตถุประสงค์” อ.เข็มทอง ตัดเกรด กกต.

ชนะอำนาจยากมาก ส.ส.เอื้ออาทร จะโผล่อีกไหม?

อีกเรื่องที่น่าห่วง จาก ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ คือโอกาสที่จะเกิด ส.ส.เอื้ออาทร (ส.ส.ปัดเศษ) มีอยู่หรือไม่

“ข่าวดีก็คือน่าจะมีน้อยลง เพราะว่าคะแนนตัวหารเปลี่ยนจาก 500 เป็น 100 ก็เท่ากับว่ารอบนี้จะต้องมีคะแนนอย่างน้อย 350,000 คน ถึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน แต่นั่นก็ยังอยู่ภายใต้กติกา ส.ส.พึงมีเช่นเดียวกัน

“มันคือเผด็จการอำนาจนิยมแบบแข่งขัน คือ ให้มีการแข่งขัน แต่ฝ่ายค้านหัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ชนะฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐเอาไว้ยากถึงยากที่สุด หรือไม่มีโอกาสเลย ส่วนในเรื่องของ กกต. ซึ่ง 4 ปีทำงานครั้งเดียวแต่ยังสร้างความน่าสนใจตื่นเต้นได้ขนาดนี้” อ.บัณฑิตทิ้งวลีเด็ด

พร้อมชวนออกไปใช้สิทธิให้มาก กาอย่างมั่นใจ แบบใช้วิจารณญาณ

คำนวณแล้วไม่มา ก.ก.-พท.เพดานขี่คอ แต่ยังต้องพึ่ง ส.ว.

สำหรับ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี เห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ เฉดสีทางการเมือง ไม่ว่าจะ 1.ความคาดหวังของสังคมเปลี่ยน มองพรรคเป็นตัวแทนของประชาชนมากขึ้น 2.เห็นพรรคที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเครือข่ายนักวิจัยตามจุดต่างๆ

ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

อีกการเปลี่ยนแปลง คือ ประชาชนขยับบออกจากตะกร้าของขั้วอนุรักษนิยม หลังผ่านการเลือกตั้งปี 2562 สังคมขยับซ้ายมากขึ้น มีพรรคที่ซ้ายเยอะขึ้น

อ.สิริพรรณ กดเครื่องคิดเลขคำนวณชัดๆ เริ่มจาก ‘เพื่อไทย’ ว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส.เขต 54% เหมือนการเลือกตั้งปี 2554 และ 2562 หรือไม่

“ถ้า 54% ของเพื่อไทยครั้งนี้คือ 216 ที่นั่ง ยังไม่รวมบัญชีรายชื่อ สมมุติได้ 35 ที่นั่ง 216+35 = 251 แต่ก็คิดว่าพรรคเดียวไม่น่าเกิดขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง ‘เพื่อไทยทะลุเพดาน’”

ส่วนก้าวไกล โจทย์เดียวกันกับเพื่อไทย ถ้าหากเพอร์ฟอร์มทะลุเพดานเหมือนกัน ประเมินว่าได้ 76 ที่นั่ง ไม่นับ กทม.ซึ่งให้เต็มที่ 20-25 ที่นั่งหากเพอร์ฟอร์มดีมาก

“กรุงเทพฯ คิดว่าเพื่อไทย-ก้าวไกลขี่กันมา 33 ที่นั่ง ให้ไว้ 14 และปริมณฑลอีก 6 = 45 เสียง สมมุติบวกบัญชีรายชื่ออีก 35 คิดว่าเพดานของก้าวไกลคือ 80 เพื่อไทย-ก้าวไกล รวมกันคือ 331 บวกพรรคประชาชาติ เสรีรวมไทย พรรคพันธมิตรที่เข้าร่วมแน่ๆ ได้ 343 และอาจจะไปดึงชาติไทยพัฒนา หรือไทยสร้างไทย จะได้ตัวเลข 345 นั่นคือเพดาน แสดงว่าต้องการ ส.ว. 31 คน นี่คือโจทย์ใหญ่ว่า ส.ว. 31 คนไม่มา ยากมาก มากสุดที่ ส.ว.จะเป็นอิสระคือ 5 คน” อ.สิริพรรณ วิเคราะห์โอกาสของการชนะ

ถ้าไม่เปลี่ยนไทยพัง

ศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา มองอนาคต ผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์การเมือง ที่เห็นชัดคือความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับการเมืองเติบใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่ง 3 ฉากที่อาจเกิด ‘เป็นต่อ’ คือ พรรครัฐบาลเป็นต่อไม่เปลี่ยน ‘เปลี่ยนผ่าน’ คือ เปลี่ยนพรรคแต่โครงสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการเมืองแบบเดิม ส่วน ‘เปลี่ยนแปลง’ คือ เปลี่ยนทั้งผู้บริหารประเทศและแนวโน้มโครงสร้างทางสังคม

“จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงปี 2475 จนปัจจุบัน และโดยเฉพาะ 8-9 ปีหลัง ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนไม่ใช่แค่กลุ่มทุน เราต้องเหล่ตาข้างหนึ่งไปมองดูรัฐวิสาหกิจด้วย เพราะเป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ที่รัฐเป็นผู้ลงทุน สามารถสร้างประโยชน์ให้กับพวกพ้องได้

ศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา

‘เปลี่ยนแปลง’ เป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะเหมือนกับเรากำลังจะมีความหวัง เมื่อ 4 ปีที่แล้วการหาเสียงของอนาคตใหม่ ‘รวยกระจุกจนกระจาย’ ถ้าดูนโยบายการหาเสียงจะเห็นว่ามันมีดีเอ็นเอจากอนาคตใหม่ มาสู่ก้าวไกล ที่เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยและต้องการที่จะแก้”

แต่จะเอาอย่างไรกับทุนกลุ่มใหญ่ที่ผูกขาด เพราะยังพูดถึงแค่ลอยๆ ซึ่ง อ.เอกเชื่อว่าเป็นต่อและเปลี่ยนผ่าน ไม่น่าจะนำไปสู่การปรับในเชิงโครงสร้าง

“เวลาที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว ผมมีคำถามไปสู่คนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คือ เราจะกล้าเลือกการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตหรือเปล่า?”

คือหลากประเด็น ที่คณาจารย์รัฐศาสตร์รั้วสิงห์ดำฝากประชาชนย้ำคิด ใคร่ครวญให้ชัวร์ก่อนตัดสินใจกาอนาคต

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image