อาศรมมิวสิก : เสียงเป็นพลังมีอำนาจ สร้างความเคลื่อนไหว สร้างความเปลี่ยนแปลง เกิดการพัฒนา และสร้างความเจริญ

อาศรมมิวสิก : เสียงเป็นพลังมีอำนาจ สร้างความเคลื่อนไหว สร้างความเปลี่ยนแปลง เกิดการพัฒนา และสร้างความเจริญ

วงดนตรี ฤ-ไทย มีสมาชิกของวง 3 คน ประกอบด้วย อาจารย์กมลพร หุ่นเจริญ ขับร้อง อาจารย์ตปาลิน เจริญสุข เล่นเชลโล และ ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เล่นเปียโน นักดนตรีทั้ง 3 คน ผ่านการเรียนดนตรีและเล่นดนตรีมาอย่างช่ำชอง ความเก่งนั้นมาจากการฝึก ที่สำคัญก็คือเรียนดนตรีสากลฝึกฝนพื้นฐานแบบยุโรป หมายถึงการฝึกซ้อมดนตรี ฝึกร้องเพลง และเล่นดนตรีโดยใช้วิธีของสากลที่เล่นเพลงคลาสสิก ต่อมาก็ได้ค้นพบว่า บทเพลงที่ควรจะเล่นเป็นเพลงที่อยู่ในสังคมไทยและเป็นเพลงไทยด้วย เพื่อช่วยพัฒนาให้เสียงของคนไทยและอาชีพดนตรีของไทยมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ดนตรีต้องเล่นด้วยคนที่มีฝีมือ

นักดนตรีทั้ง 3 คน มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีของตัวสูง เพราะได้ศึกษาดนตรีอย่างจริงจังตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เป็นนักดนตรีอาชีพ ได้รวมวงกันแล้วสร้างผลงานใหม่ๆ โดยการทดลองเล่นเพลงเก่าๆ เสียก่อน ซึ่งก็ต้องนำเพลงมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ เพื่อผสมผสานให้ลงตัว สามารถเล่นเป็นวงขนาดเล็กได้ อาศัยฝีมือทางดนตรีเป็นพื้นฐาน แล้วนำบทเพลงมาเสนอในมิติใหม่ เพื่อมอบความไพเราะให้แก่ผู้ฟัง

วง ฤ-ไทย ได้นำเพลงสมัยนิยมของไทยมาเล่นเพื่อฝึกซ้อมให้รู้จักกับวิญญาณเพลงไทย โดยนำเสนอที่ห้องแสดงดนตรีเอื้อมอารีย์ เลขที่ 178/18 ซอย 33 พุทธมณฑลสาย 2 ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลา 17.00 น. ห้องแสดงดนตรีเอื้อมอารีย์ เป็นห้องแสดงขนาดเล็ก 60-80 ที่นั่ง ส่วนใหญ่เป็นการแสดงของเด็กที่เรียนดนตรี มีผู้ชมที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ปู่ย่า ตายาย อากง อาม่า เมื่อมีเด็กแสดงดนตรี 1 คน ก็จะมีญาติ 5-6 คนอยู่แล้ว เมื่อห้องแสดงว่างก็จะจัดรายการแสดงพิเศษ อย่างวง ฤ-ไทย ซึ่งเป็นความไพเราะอยู่ในวงแคบๆ

Advertisement

วง ฤ-ไทย นำเพลงสมัยนิยมมาร้องและบรรเลง อาทิ เพลงคิดถึง (จันทร์กระจ่างฟ้า) ทำนองเดิมจากเพลงคลาสสิกสำหรับเดี่ยวไวโอลิน (Gypsy Airs หรือ Zigeunerweisen) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือครูเทพ) ได้นำทำนองเพลงคลาสสิกมาใส่เนื้อร้องภาษาไทย บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2494 ซึ่งขับร้องโดย เฉลา ประสพศาสตร์ ต่อมาก็มีนักร้องอย่าง ชรินทร์ นันทนาคร นำมาร้อง เป็นต้น

เพลงเงาไม้ คำร้องประพันธ์โดย พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) ทำนองเพลงโดย ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องลูกทุ่ง พ.ศ.2482 ขับร้องโดย นภา หวังในธรรม เพลงเสน่หา คำร้องทำนองโดย มนัส ปิติสานต์ ขับร้องบันทึกเสียงครั้งแรกโดย สุเทพ วงศ์คำแหง เพลงความรัก เนื้อร้องจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องเวนิสวานิช ซึ่งมาจากบทละครของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ทำนองโดย สง่า อารัมภีร เพลงเดิมขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร และ สวลี ผกาพันธุ์

Advertisement

เพลงน้ำตาแสงใต้ เป็นเพลงประกอบละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ จัดแสดงที่ศาลาเฉลิมไทย พ.ศ.2487 คำร้องโดย มารุต-เนรมิตร ทำนองโดย สง่า อารัมภีร ขับร้องครั้งแรกโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ สำหรับเพลงน้ำตาแสงใต้ มีพงศาวดารกระซิบอยู่มาก เพลงล่องแม่ปิง ทำนองเพลงพื้นบ้านภาคเหนือ ประพันธ์เนื้อร้องโดย จรัล มโนเพ็ชร

เพลงนกขมิ้น เป็นเพลงทำนองเก่า นำมาจากเพลงไทยเดิม โดยเริ่มจากครูเพ็งนำเพลงนกขมิ้นมาจากเพลงไทยโบราณ ประพันธ์เนื้อร้องโดย พยงค์ มุกดา เพลงมนต์รักลูกทุ่ง เนื้อร้องทำนองโดย ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลงขวัญเรียม เนื้อร้องทำนองโดย พรานบูรพ์ เพลงจำเลยรัก เนื้อร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน เป็นต้น ซึ่งบทเพลงเหล่านี้เป็นมรดกเพลงที่ล้ำค่าของชาติ

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่ควรใส่ใจกับเสียงดนตรีและการศึกษาดนตรีด้วย เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสียงดนตรีเป็นหน้าตาและเครื่องหมายของความเจริญ ดนตรีเป็นเรื่องของความงามและความไพเราะ ความดี ความจริง และความถูกต้อง ดนตรีเป็นคุณสมบัติของทุกคนในสังคม และดนตรีเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มจิตใจคนในสังคมให้ดีงาม การพัฒนาประเทศไม่ใช่พัฒนาเฉพาะด้านวัตถุเท่านั้น แต่จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องจิตใจคน เรื่องรสนิยม บรรยากาศ และความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญของความเป็นคน

ดนตรีนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ เพราะดนตรีเป็นผลงานความไพเราะของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำดนตรีไปใช้เพื่อประโยชน์ได้อย่างไร โดยภาพรวมอำนาจของเสียงดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชนได้ ผู้แทนทั้งหลายจึงต้องใช้เพลงเพื่อช่วยหาเสียง แม้ว่าจะเป็นเพลงเน่าๆ ก็ตาม เพราะคนที่เน่าๆ ก็จะใช้เพลงเน่าๆ

ดนตรีไม่ได้เป็นแค่ความไพเราะของปวงชนเท่านั้น แต่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วดนตรีกลายเป็นสมบัติของผู้มีอำนาจ ดังนั้น เด็กๆ ทุกคน ควรมีโอกาสได้เรียนดนตรี ได้เล่นดนตรี เพราะพลังงานของเสียงดนตรีจะช่วยกระตุ้นเส้นประสาทสมองของเด็กให้พัฒนา เสียงดนตรีจะทำให้เส้นสมองแตกกิ่งก้านสาขา สร้างความเจริญทางสติปัญญาและการเติบโตของเด็กได้เร็วขึ้น สมองเด็กจะไม่ทึบ

เสียงดนตรีเป็นพลังงานที่มีอำนาจสูง พลังงานของเสียงทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา และการพัฒนาทำให้เกิดความเจริญ หากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ประเทศชาติก็ยิ่งพัฒนาและสร้างความเจริญได้เร็ว เสียงดนตรีที่ไพเราะจะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้า มีสังคมที่สร้างสรรค์ และมีความเจริญก้าวไกลออกไป

ขณะเดียวกัน ดนตรีเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกทางกายและกระตุ้นความรู้สึกทางใจ ดนตรีที่เสียงหยาบกระด้างหรือดนตรีที่ต่ำกว่าสะดือ ก็จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางกาย ส่วนดนตรีที่ละเอียดประณีตก็จะสูงกว่าสะดือ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางด้านจิตใจ สมอง และสติปัญญา ดนตรีทั้งสองประเภทต่างก็มีประโยชน์เกื้อกูลกัน ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบและวัตถุประสงค์ของการใช้ดนตรี

ดนตรีเป็นสัจนิยม เพราะเสียงดนตรีออกมาจากจิตใจผ่านเครื่องดนตรีหรือเสียงร้องไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งผู้ฟังก็มีเครื่องรับรู้และสามารถสัมผัสกับความรู้สึกของเสียงดนตรีที่มากระทบได้ ดังนั้นเสียงที่ไพเราะจึงมีความสดใสเพราะออกมาจากใจที่สะอาด ดนตรีที่ออกมาเป็นเสียงเทคโนโลยีหรือการตัดต่อพันธุกรรมดนตรีด้วยนวัตกรรม เสียง แม้จะออกมาเป็นเพลง แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงจิตใจคน เพราะเป็นเสียงที่ออกมาจากประจุไฟฟ้า ไม่ได้ออกมาจากใจที่ผลิตเสียงโดยนักดนตรี

ดนตรีเป็นศิลปะของหัวใจและเป็นหัวใจของศิลปะทั้งมวล ปัจจุบันนี้ “ดนตรีไทย” ซึ่งเป็นมรดกของชาติกำลังจะหมดลม “ดนตรีพื้นบ้าน” ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นก็กำลังจะตายจากไป รัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายสร้างความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม โดยการนำวัฒนธรรมดนตรีที่เป็นมรดกชาติมาสร้างสรรค์ให้เป็นสินค้ารับใช้ปวงชน และเพื่อให้คนในสังคมไทยมีรสนิยม เอาดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านมาใช้ในระบบการศึกษา ทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านการศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อพัฒนาชีวิตนำไปสู่ความเจริญ เป็นหัวใจของความเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่ออนาคต เสียงดนตรีจึงเป็นหัวใจของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

มนุษย์มั่นคงได้ด้วยศีลธรรม มนุษย์งอกงามได้ด้วยบทกวี มนุษย์สามารถจะเติมเต็มได้ด้วยเสียงดนตรี นักปราชญ์หลายท่านได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่ก็ดูเหมือนว่า “ศีลธรรม คุณงามความดี และความเจริญงอกงาม” ยังอยู่ห่างไกลจากชีวิตและสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงสังคมโดยอาศัยความไพเราะ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากและช้า แต่ก็ทำให้เกิดขึ้นได้จริง เมื่อได้ฟังวง ฤ-ไทย ที่ห้องแสดงดนตรีเอื้อมอารีย์ ก็จะเห็นประจักษ์

มิตรรักแฟนเพลงที่ชื่นชอบฟังเพลงอย่างสงบๆ ฟังเสียงร้องที่ไพเราะเพื่อจะเพิ่มสติปัญญา ได้ฟังเสียงเชลโลที่มีความประณีตงดงาม รวมกับเสียงเปียโน ผสมกันแล้วกลายเป็นวง ฤ-ไทย ฟังแล้วมีความสุข ฟังแล้วเกิดความสงบ ซึ่งความสุขสงบเป็นเป้าหมายของทุกชีวิต

และนักดนตรีที่เป็นคนเก่งเท่านั้นที่จะบันดาลให้เกิดความสุขสงบได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image