‘ดุลยภาพแห่งอำนาจ’ เลือกตั้ง เปลี่ยนผ่าน บทใหม่หลัง 14 พฤษภา

‘ดุลยภาพแห่งอำนาจ’ เลือกตั้ง เปลี่ยนผ่าน บทใหม่หลัง 14 พฤษภา

‘ดุลยภาพแห่งอำนาจ’ เลือกตั้ง เปลี่ยนผ่าน บทใหม่หลัง 14 พฤษภา

วันนี้ 14 พฤษภาคม พุทธศักราช 2566

อีกวันของการชี้ชะตาประเทศไทยผ่านการเข้าคูหา หยิบปากกา กากบาทเลือกอนาคตที่ตัวเองปรารถนา

08.00-17.00 น. 9 ชั่วโมงเต็มที่มี ‘บทใหม่’ ของประเทศเป็นเดิมพัน

Advertisement

ย้อนไปเมื่อ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในวาระ 123 ปีชาตกาล รัฐบุรุษนาม ปรีดี พนมยงค์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเวทีเสวนา ‘ดุลยภาพแห่งอำนาจ เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง’

ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช สถาบันไทยคดีศึกษา รั้วแม่โดมที่ตระหง่านยืนหยัดจากสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่าน แน่นขนัดด้วยผู้คนที่ร่วมรับฟังปากคำเข้มข้นของเหล่าวิทยากร

Advertisement

บรรทัดถัดจากนี้ คือส่วนหนึ่งของความคิดความเห็นในประเด็น ‘(ดุลยภาพแห่ง) อำนาจ’ ในห้วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

อำนาจเทคโนโลยี เปลี่ยนวิธีคิด ‘คนตัวเล็ก’

ขอ ‘เลิกหยวน เลิกยอม เลิกทน’

เจเนอเรชั่นเป็นสิ่งที่สะท้อนสถานะปัจจุบันของสังคมไทยได้อย่างเด่นชัดว่าเราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายสูงมาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของเจเนอเรชั่น แต่มีความหลากหลายในมิติอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ เพศ เชื้อชาติ จุดยืน วัฒนธรรม สังคม หรือการเมือง โดยแต่ละกลุ่มต่างมีอำนาจในมือของตนเอง

ดุลยภาพแห่งอำนาจเกิดขึ้นได้ เมื่อแต่ละกลุ่มที่มีประโยชน์ร่วมกันมีที่มีทางของตัวเองในสังคม เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นความปั่นป่วนวุ่นวาย ย่อมสะท้อนว่าอำนาจกำลังไม่ได้ดุล อำนาจจึงต้องพยายามหาที่หาทางสำหรับตัวเอง แต่เมื่อเห็นสังคมสงบราบเรียบ มันมี 2 อย่าง คือ 1.เกิดดุลยภาพแห่งอำนาจจริงๆ กับ 2.มีบางอำนาจใหญ่จนครอบอำนาจอื่นๆ จึงเป็นความสงบเฉพาะเบื้องบนของผิวน้ำ แต่ยังคงเกิดคลื่นใต้น้ำอยู่

ปรากฏการณ์ที่คนก่นด่า กกต.จากการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า สิ่งที่ต้องมองให้ลึกแปลว่าในรอบนี้คนตระหนักเรื่องการเลือกตั้งมากกว่าสมัยก่อนที่แค่คิดว่าเข้าคูหา กาบัตร 5 วินาที แล้วหมดหน้าที่ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกคนคิดว่าเสียงที่กาลงไป มันจะไปไหนต่อ มันจะต้องถูกปกป้อง และมันจะต้องเดินไปตามเจตนารมณ์ของฉัน

สาเหตุที่ประชาชนเกิดความรู้สึกแบบนี้มากขึ้น เพราะเกิดอำนาจที่นอกเหนือจากอำนาจทางด้านวัฒนธรรมประเพณี อำนาจทหาร อำนาจการปกครอง แต่มันเกิดอำนาจที่ตัดระหว่างอำนาจทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า อำนาจของเทคโนโลยี

อำนาจของเทคโนโลยี ที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้เกิด Democracy of Information เดิมทุกคนมีหน้าที่รับข้อมูลข่าวสาร แต่ปัจจุบันทุกคนเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารได้ ทุกคนสามารถสื่อสาร ส่งข้อความ แสดงตัวตน และชักชวนผู้คนได้โดยใช้ต้นทุนน้อยมาก อำนาจเหล่านี้เองที่ทำให้คนตระหนักว่า เราไม่ใช่คนตัวเล็กตัวน้อย และเราทุกคนมีสิทธิมีเสียงพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองของประเทศ

เทคโนโลยีเปลี่ยนวิธีคิดของคนตัวเล็กให้ลุกขึ้นมาตระหนักในพลังและอำนาจที่เขามี และเมื่อเทคโนโลยีให้อำนาจกับประชาชน ได้ตระหนักเรื่องสิทธิของตนเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากจะขอให้เลิกโดยเด็ดขาดเมื่อตัวเองตระหนักในอำนาจที่มีแล้ว คือ เลิกหยวนๆ เอาน่ายอมๆ ไป ใครอยากจะทำอะไรก็เอาน่า ผู้มีอำนาจจะทำอะไรก็เอาเหอะ จะได้เดินหน้ากันต่อไป ผมว่าเราต้องหยุด ใครจะเกี้ยเซี้ยกับใคร เราอย่าไปหยวนๆ อย่ารับว่าคนมีอำนาจทำอะไรก็ได้

คนส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมว่า เอาน่า หยวนๆ ให้เขาทำไปเดี๋ยวเขาก็ต้องรับผิดชอบ แต่วันนี้ด้วยอำนาจของเทคโนโลยีมันทำให้เราสามารถจะบอกได้ว่า เราไม่หยวน เราไม่ยอม เราไม่ทน ต่อความไม่ชอบธรรม

ความรู้สึกแบบนี้ มันสร้างความปั่นป่วนนิดหน่อย แต่ความเปลี่ยนแปลงมันต้องเกิดความรู้สึกแบบนั้น และเราจะก้าวไปข้างหน้าได้ หากทุกคนร่วมกันแล้วยืนหยัดว่าเราเป็นเจ้าของสิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่ใช่แค่กาแล้วปล่อยให้ใครตัดสินใจอะไรกับเสียงของเราก็ได้ แต่ต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นของเราอย่างแท้จริง

รศ.ดร.พิภพ อุดร
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รัฐประหาร ‘ยากขึ้นทุกวัน’ ครั้งต่อไปก็คงไม่ง่าย

ขอปณิธานคณะราษฎร ช่วยฝ่ายประชาธิปไตย

อำนาจนิติบัญญัติจากการเลือกตั้ง เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง อำนาจของฝ่ายบริหารก็เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเช่นกัน หลายองค์กรของรัฐไม่ขึ้นอยู่กับ 2 อำนาจนี้ เพราะอำนาจรัฐมีหลายองค์กรมาก ทั้งกว้างและลึกและยังเป็นอำนาจภูเขาที่อยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะอำนาจที่ครอบครองอาวุธ คือ ทหาร และอำนาจตามประเพณีที่ตกค้างมา

ถ้ามองการเมืองไทยปัจจุบันจากความเข้าใจของการเมืองไทยในสมัยคณะราษฎร จะพบว่าอำนาจที่ครอบครองอาวุธ และอำนาจตามประเพณีที่ตกค้างมาเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นกันมากขึ้น หลังจากการสิ้นสุดของคณะราษฎร ปี 2490 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2500 เป็นต้นมา สำหรับผลพวงจากรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ยิ่งมีกลไกทำให้ 2 อำนาจนี้แน่นแฟ้นมากขึ้น เช่น พระราชบัญญัติกระทรวงกลาโหม ปี 2551 การแต่งตั้งวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว. ที่ลดทอนเสียงของราษฎร องค์กรอิสระต่างๆ การรุกเงียบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทั้งหมดนี้ไม่ขึ้นทั้งกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

ดีไหมที่มีองค์กรอิสระ ดี แต่เงื่อนไขต้องมาจากประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เราพบว่าอำนาจขององค์กรอิสระเป็นผลพวงจากรัฐประหาร โผการเลือกตั้งใน 2-3 วันนี้ แม้ว่าขั้วประชาธิปไตยได้อำนาจรัฐสภา ซึ่งเป็นไปได้ และรัฐบาลก็แต่งตั้งได้ แต่คงจะถูกบั่นทอนด้วยองค์กรพันธมิตรระหว่างอำนาจทหารและอำนาจประเพณีอย่างหนัก ถ้าพูดสำนวนการเมืองไทยคือ มันมีหลายยก ยกหนึ่งฝ่ายประชาธิปไตยชนะแต่ถูกโต้กลับเหมือนคณะราษฎร และทำให้แพ้ได้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นความหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่น่าจะถูกทำลายง่ายๆ เฉกเช่นคณะราษฎร เพราะพลังของประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้แข็งแรงมากกว่า 70 ปีที่แล้ว และแข็งแรงกว่าปี 2490

คณะราษฎรคือฐานให้เรายืน เป็นอิฐก้อนแรกให้เราได้ก่อประชาธิปไตย ต่อไปคือประสบการณ์และบทเรียนทั้งพ่ายแพ้และชนะ ถ้าประชาธิปไตยชนะ ยังต้องระวังอย่างยิ่งที่จะถูกอำนาจโต้กลับโดยเฉพาะอำนาจตามประเพณีที่ค้างจากระบอบเก่า

สำหรับการรัฐประหาร ยิ่งยากขึ้นทุกวัน ย้อนไปดูประวัติศาสตร์รัฐประหาร ประกาศทางวิทยุก็สำเร็จแล้ว แต่ในปัจจุบันการทำรัฐประหารต้องใช้พลังมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะกำลังทหารไม่เพียงพอ ต้องใช้กำลังมวลชนถึงจะทำรัฐประหารสำเร็จ และรัฐประหารครั้งต่อๆ ไปคงไม่ง่ายแล้ว

ขอวิญญาณและปณิธานของคณะราษฎรช่วยให้เราได้ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ระย่อต่อฝ่ายที่ฉุดรั้งความเจริญของราษฎร ขอเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในปฐมรัฐธรรมนูญ มาตราหนึ่งที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นคือของราษฎรทั้งหลายได้เป็นจริงขึ้นเทอญ

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 

เจนใหม่เชียร์ด้วยนโยบาย ไม่ใช่ตัวบุคคล

ดักคอ ‘ยุบพรรค’ คุ้มไหม?

อย่าลืมชั่งใจอารมณ์ประชาชน

การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี’63 เป็นต้นมา ตอนแรกออกมาด้วยความอึดอัดจากการถูกกดขี่ ต่อมาเกิดการตั้งคำถามต่อโครงสร้างมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยและการแย่งชิงขั้วอำนาจคืออะไรจึงเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น และวิพากษ์ไปถึงต้นตอให้ได้มากที่สุด ให้สิ่งที่เป็นปัญหาได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อแก้ไขและหาทางออก

สิ่งที่ต้องหาจุดตรงกลางให้ได้คือดุลยภาพของจุดยืนทางความคิด

เราจะมีส่วนแบ่งกันอย่างไรในพื้นที่ตรงกลางที่จะให้ทุกจุดยืน ทุกความคิดได้ออกมายืนวิพากษ์ร่วมกันได้อย่างเสมอหน้า ไม่ได้ถูกตัดสินว่าใครด้อยกว่าใคร สิ่งที่จะทำให้สังคมประชาธิปไตยอยู่รอดต่อไปได้ คือเราทุกคนไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ เพียงแค่เคารพในจุดต่าง และหาทางตกลงกันให้ได้บนฐานคือประชาชนมีอำนาจสูงสุด

ในยุคนี้การวิพากษ์พรรคการเมืองของคนยุคใหม่ทำอย่างตรงไปตรงมา *การที่จะเชียร์ใคร มันเกิดจากการวิเคราะห์นโยบาย ไม่ได้เกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจของตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว*

ถ้าเป็นนโยบายเอาประชาชนเป็นหลัก เช่น รัฐสวัสดิการ ปฏิรูปกองทัพ คนที่ได้ฟังจะรู้สึกว่าเพิ่งมีโอกาสได้ใช้อำนาจของเรา กำหนดชีวิตของตัวเองได้บ้าง มันสะท้อนว่าประชาชนเริ่มเข้าใจว่าเขาไม่จำเป็นต้องฝากความหวังไว้ที่กลุ่มบุคคลใดที่ดูเหมือนกับว่าจะมีความสามารถมากกว่า แต่เราสามารถที่จะฝัน ที่จะหวัง และอยากที่จะกำหนดชีวิตของตัวเองด้วยก็ได้

ถ้าครั้งนี้พรรคการเมืองยังเสนอนโยบายไม่ถูกใจ ภาคประชาชนเสนอหรือเป็นคนพูดเองก็ได้ เคยคิดไหมว่าคำถามเรื่องมาตรา 112 จะถูกพูดถึงในโทรทัศน์ กลายเป็นจุดที่ทุกพรรคการเมืองต้องให้จุดยืน มันเกิดจากการส่งเสียงบอกว่าเราในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา

วันนี้เราถามว่าจะทำอะไรได้บ้างให้มีโอกาสในการเข้าไปบริหารจัดการประเทศ เข้าไปกำหนดว่าประเทศไทยหลังจากนี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร มันเกิดการย้ำเตือนกันว่าเรามีสิทธิตั้งแต่วันแรกเมื่อปี 2475 แต่เหมือนถูกทำให้ลืมไป ณ วันนี้เราตื่นตัวแล้ว เราจำได้แล้วว่าเราคือใคร บทบาทของเราคือใครในประเทศนี้ เรารู้และเข้าใจว่าทุกองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่รับเงินภาษีจากประชาชน ประชาชนอย่างพวกเรามีสิทธิและมีอำนาจมากพอในการวิพากษ์

สำหรับประเด็นการยุบพรรค มีความเป็นไปได้สูง และอาจไม่ใช่แค่พรรคเดียว หากจะเกิดขึ้น ต้องชั่งใจกับอารมณ์ของประชาชนด้วยว่ามีอารมณ์ความรู้สึกต่อการเลือกตั้งครั้งนี้แรงกล้าแค่ไหน คุ้มไหมที่จะยุบพรรคการเมืองแล้วเกิดการแตกฮือบนท้องถนนอีกครั้ง

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์)
นักกิจกรรมทางการเมือง

 

ชวนจ้อง ‘นับคะแนน’ ทุกแต้มด้วยตา

ย้อนขยี้เลือกตั้งล่วงหน้า โกลาหล-จ่าซองผิด-ท้วงไม่ฟัง

ปัญหาที่พบในเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 7 พฤษภาคม มี 3 ประเด็น 1.รู้อยู่แล้วว่ามีคนลงทะเบียน 2.3 ล้านคน คนจำนวนขนาดนี้ มันต้องโกลาหล รถติด แดดร้อน คนเป็นลม ใช้สิทธิไม่ได้ กลับบ้าน เสียไปเท่าไหร่ไม่รู้ แต่มันเป็นสิ่งที่เตรียมตัวป้องกันล่วงหน้าได้

ประเด็นที่ 2 คือ จ่าหน้าซองจดหมายผิด ผิดไม่พอ ประชาชนฉลาดกว่าเจ้าหน้าที่ หลายเขตประชาชนทักท้วง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม ยังคิดว่าตัวเองทำถูกอยู่

ประเด็นที่ 3 การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม กกต.ออกแบบการรายงานผลคะแนนใหม่ที่กำลังจะใช้เป็นครั้งแรก ปี’62 พบการรายงานคะแนนผิดพลาด ล่าช้า มีปัญหาและไม่มีคำอธิบายมาจนถึงทุกวันนี้ ปีนี้ กกต.จึงคิดว่า ถ้ารายงานคะแนนด้วยเทคโนโลยี เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติซึ่งอาจเป็นข้าราชการอายุ 60 ที่กราบขอร้องให้มาทำหน้าที่กัน จะใช้ไม่เป็น กรอกผิด ล่าช้า มีปัญหาอีก จึงไม่ใช้เทคโนโลยี

ระบบรายงานคะแนนของปีนี้ คือ ทุกหน่วยนับคะแนนจนเสร็จ แล้วจะมีเอกสารที่เรียกว่าใบ ส.ส.5/18 เป็น A4 1 แผ่น สรุปทุกอย่าง ใบนั้นจะทำเป็น 3 ชุด ติดหน้าหน่วย ใส่ไว้ในหีบ และใบสุดท้ายจะถูกส่งจากหน่วยไปที่สำนักงานของ กกต.เขต ในห้องสำนักงาน กกต.เขตจะมีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งไม่รู้ว่ากี่คนหรือชื่ออะไร รับใบเหล่านี้มา นั่งพิมพ์ลงไปในกูเกิลไดรฟ์ แล้วส่งให้สื่อมวลชน

ระบบนี้มีข้อดี-ข้อเสียอย่างละ 3 ประการ

ข้อดีข้อที่ 1.คนกรอกน้อยลง แปลว่าคนจะทำผิดได้น้อยลง

2.ใช้กูเกิลไดรฟ์คงจะไม่ล่ม ผมเชื่อมั่นในกูเกิลไดรฟ์มากกว่าแอพพ์ที่ กกต.เขียน

และข้อดีที่ 3 ตามระเบียบบอกว่าภายใน 5 วันหลังเลือกตั้งเสร็จ เขาจะเอาภาพถ่ายของใบ ส.ส.5/18 ทุกใบขึ้นเว็บไซต์ของ กกต.จังหวัด แต่ผมขอทักท้วงว่า พอเข้าไปดูมันไม่อัพเดตตั้งแต่ปี’62 คนมีรหัสคงเกษียณไปแล้ว แต่ 5 วันหลังจากเลือกตั้งจะให้โอกาส เขาอาจจะทำก็ได้เพราะระเบียบเขียนไว้

ส่วนข้อเสีย คือ 1.การที่คนกรอกน้อยลง มันดีที่ผิดพลาดน้อยถ้ากระบวนการโปร่งใส แต่พอมือมันน้อยลงแทนที่จะจับมือใครดมได้ พอไม่บอกว่าเป็นใครจากที่ดีกลายเป็นไม่รู้ว่าใคร และไม่รู้จะกรอกตรงหรือไม่

2.กกต.ประกาศว่าจะรายงานผลตั้งแต่ 18.30-23.00 น. 1 ชั่วโมงครึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีคะแนน 5 ทุ่มจะต้องเสร็จ ไม่เสร็จคือผิดคำมั่นสัญญา คะแนนที่จะเห็นวันที่ 14 ไม่รวมบัตรเสียและไม่ประสงค์ลงคะแนน

เขาไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมอีก 2 ช่องเขาไม่ใส่ลงไป เขาจะเอา ส.ส.5/18 มายื่นให้ สำนักงาน กกต.เขตรับมากรอก พอกรอกถึงช่องบัตรเสียกับไม่ประสงค์ลงคะแนนเขาจะเว้นไว้ แล้วอีกกี่วันไม่รู้ เขาจะไปรื้อใบขึ้นมากรอกอีก 2 ช่อง คำถามคือทำไมไม่กรอกทีเดียว

ในคืนวันเลือกตั้งเรารับประกันได้ว่า กกต.จะรายงานผลที่ 94% แล้วหยุด แต่นับเสร็จแล้ว กระดาษเดินทางมาถึง กกต.เขตเรียบร้อย แต่จะรายงานให้เราทราบที่ 94% อีก 6% หรือ 2 ล้านคะแนน พอเขาเรียบร้อยหรือสบายใจแล้ว จะแจ้งให้ทราบทีหลัง

ถ้าทุกอย่างราบเรียบ นับเสร็จ รายงาน ทุกคนรู้คะแนน 100% จบ มันโกงยาก แต่ถ้ามีความไม่เรียบร้อย กระบวนการช้า ผิดพลาด มีสิ่งที่อธิบายไม่ได้ คนไม่สุจริตเขาจะกระทำการโดยแอบหลังม่านของสิ่งที่อธิบายไม่ได้เหล่านั้น

เราเห็นพัฒนาการของการทำการเลือกตั้งให้โปร่งใสและเชื่อถือได้มาหลายสมัย เราเห็นการเลือกตั้งดีขึ้นบ้าง ถอยหลังบ้าง เมื่อก่อนมีกระบวนการยกหีบหนี ก็เปลี่ยนกติกาเป็นห้ามยกหีบ กาตรงไหน หย่อนตรงนั้น นับตรงนั้น มันก็พัฒนา

ปรากฏว่า ปี’62 ส่วนที่อธิบายไม่ได้คือมันไปรวมคะแนนตรงไหน ถึงมีส่วนที่เพี้ยนไป ปี’66 เราก็ต้องพัฒนา ถ้าเขาจะเอาไปรวมในห้องที่คนเห็นไม่ได้ เราก็ต้องไปเก็บหลักฐานหน้างานมา รวมกันเอง เพื่อให้ระบบเลือกตั้งพัฒนา ให้ความโปร่งใส

ดังนั้น เชิญชวนทุกท่านไปปกป้องคะแนนเสียงของทุกคน เรารู้ว่าในสภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ ถ้าเราจะแค่เข้าคูหา กากบาท แล้วคาดหมายว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เรามองโลกในแง่ดีเกินไป ถ้าเรารู้ว่าบ้านเมืองไม่ปกติ กกต.ไม่เป็นอิสระ ไม่ได้ตั้งใจทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยอย่างเต็มที่

เราต้องออกไปปกป้องคะแนนเสียง 5 โมงเย็น 14 พฤษภาคม ไม่ใช่แค่กากบาท แต่ต้องไปดูการนับคะแนนทุกแต้มด้วยตาของท่าน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

 

สิ่งที่ต้องทำคือ ‘ยอมรับ’ การตัดสิน (ใจ)

เคารพกติกา-การเลือกของ ‘คนส่วนใหญ่’

การเลือกตั้งครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ มีพรรคการเมืองเสนอว่าจะรื้อถอนอำนาจของฝ่ายอำนาจแบบจารีต และอำนาจของกองทัพอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นสิ่งที่จะมาท้าทายอำนาจระบอบเก่า โดยปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่แค่เรื่องเกณฑ์ทหาร แต่รื้อถอน กอ.รมน. ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในด้วย

นอกจากนี้ ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถที่จะแยกการเมืองออกจากเรื่องของเศรษฐกิจได้ เราไม่มีทางที่จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ ถ้าการเมืองไม่มั่นคง ดังนั้นเป็นความน่าตื่นเต้นของประชาชนในครั้งนี้ที่มีพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องโครงสร้างอำนาจทางการเมืองมากขึ้น

สำหรับคำว่าเสียงส่วนน้อย หรือคนส่วนน้อยในสังคมไทยถูกใช้แบบผิดเพี้ยนมาตลอด โดยใช้ให้ตัวเองดูน่าสงสาร ทั้งที่แท้จริงแล้วคำว่า เสียงส่วนน้อย คือที่มีอำนาจในการต่อรองในสังคมน้อย เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้พิการ ซึ่งถูกละเลยโดยรัฐ ไม่มีนโยบายที่จะทำให้ชีวิตเขามีความเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ได้ แต่ไม่ใช่คนกลุ่มน้อย ที่เป็นชนชั้นกลางกรุงเทพฯที่ไม่ยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่ ทำเหมือนกับว่าตัวเองถูกรังแกโดยคนส่วนใหญ่

ปัญหาคือคนส่วนน้อยในประเทศนี้ไปดึงเอาทหารมาละเมิดสิทธิคนส่วนใหญ่ และที่ผ่านมาในสังคมนี้ คนส่วนใหญ่ คือ ฝ่ายที่จะต้องประนีประนอมให้กับคนส่วนน้อยที่มีอำนาจตลอดมา

เราประนีประนอม เราอดทนกันมาก กับการถูกละเมิดสิทธิโดยคนส่วนน้อยที่มีกำลังทหาร มีอาวุธ มีอำนาจที่อยู่ในโครงสร้างทั้งหลาย ฉะนั้นเลิกเรียกตัวเองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย สิ่งที่คุณต้องทำก็คือยอมรับการตัดสิน การเลือกของคนส่วนใหญ่ และเคารพกติกา

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image