ก้าวข้ามขีดจำกัดของ’วัย’ …ด้วย ‘การวิ่ง’

เจน ทรีเลเวล นักวิ่งวัย 67 ปี เครดิตภาพ runnersworld

การวิ่งเป็นยาที่ราคาถูกที่สุด ใช้ได้ผลกับทุกเพศทุกวัย แม้กระทั่งผู้สูงวัย

จริงเท็จแค่ไหน? อย่างไร?

ผู้ที่ให้คำตอบนี้ได้ดีที่สุดคือ “นพ.อี๊ด ลอประยูร” ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย กรุงเทพฯ เพราะที่นี่นอกจากจะหนุ่มๆ สาวๆ มาปรึกษาเกี่ยวกับด้านการกีฬาแล้ว ยังมีลูกค้าสูงวัยเข้ามารักษาเรื่องของไหล่ติด รวมทั้งในกรณีที่มีเส้นเลือดในสมองแตกจะมาฝึกเพื่อการออกกำลังกาย

“คนสูงอายุก็เป็นนักวิ่งได้ครับ” อาจารย์หมออี๊ดตอบในทันที “โดยอาจจะเริ่มด้วยการเดินช้าๆ ก่อน สัก 2-3 สัปดาห์แล้วค่อยเพิ่มระยะทาง” และยืนยันว่า

Advertisement

“การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด เพราะทำให้เลือดสูบฉีดไปทั่วร่างกาย”

…ถ้าเป็นในวัยเด็ก เราต้องการออกกำลังกายเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวที่ดี ร่างกายจะทำงานได้ ในคนหนุ่มสาวการออกกำลังกายเพื่อจะให้อายุยืน สำหรับคนสูงวัย การออกกำลังกายนอกจากเพื่อให้อายุยืนแล้ว ส่วนหนึ่งคือ คนสูงอายุมักจะก้มไม่ค่อยไหว เดินไม่สะดวก การออกกำลังกายจะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ถ้าเป็นคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ การออกกำลังกายจะทำให้กินยาน้อยลง มีอาการของโรคน้อยลง เช่น ความดันลดลงได้ คนเป็นเบาหวานก็กินยาน้อยลง โรคปอดจะดีขึ้น ฉะนั้นในคนสูงอายุที่มีโรคอยู่ก็จำเป็นต้องได้รับการออกกำลังกาย ส่วนคนสูงอายุที่ไม่มีโรคก็ต้องออกกำลังกายเพื่อให้ไม่ป่วย มีอายุยืนมากขึ้น ซึ่งทุกอย่างมีข้อมูลยืนยันชัดเจน”

Advertisement
นพ.อี๊ด ลอประยูร
นพ.อี๊ด ลอประยูร

ถามว่า การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมหรือไม่สำหรับผู้สูงวัย?

ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย กรุงเทพ บอกว่า คำว่า “สูงวัย” เราต้องดูก่อนว่าสูงขนาดไหน 50 ปี 60 ปี 70 ปี หรือ 80 ปี แต่โดยรวมแล้วถ้าคนไม่เคยออกกำลังกาย เดินไปเดินมาอยู่ในบ้าน การวิ่งอาจจะมากเกินไป ควรเริ่มจากคนที่เคยนั่งดูแต่ทีวี หรือนั่งอยู่กับบ้าน อาจจะด้วยการลุกจากเก้าอี้ให้มากขึ้น อย่าอยู่ติดโต๊ะติดเตียง อาจจะเดินไปหยิบของในตู้เย็น เดินไปหยิบรีโมตทีวี ลุกไปทำกับข้าว ทำกิจกรรมให้มากขึ้น

แต่ถ้าคนที่เดินอยู่ประจำบ้าง ก็เดินให้มากขึ้น คือเดินติดต่อกันประจำระยะหนึ่ง ไม่ใช่เดินไปแค่นี้แล้วหยุด คือเริ่มเดินให้มากขึ้น อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ในระดับที่ทำให้เหนื่อยพอสมควร หัวใจเต้นแรงขึ้น เช่น เดินไปคุยไปได้ แต่ร้องเพลงไม่ได้ เพราะถ้าเราเดินในระดับที่ยังไม่เหนื่อยพอนั่นยังไม่ถือว่าเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งความถี่ในการออกกำลังกายนี้ควรทำอาทิตย์ละ 5 วัน ก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย

เมื่อเดินได้ดีแล้ว หลังจากนั้นให้เริ่มเดินสลับวิ่ง ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเข่า เรื่องโรคหัวใจ ก็ควรจะเริ่มเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ถ้าไปได้ก็อาจจะวิ่งเลย

แต่ถ้าไม่ไหว แค่เดินเร็วๆ ก็เพียงพอแล้วครับ ไม่จำเป็นต้องวิ่ง

“อายุเป็นเพียงตัวเลข”

สำหรับหลายคนการเกษียณอายุถือเป็นจุดเริ่มต้น ด้วยพลังที่ยังมีเหลือเฟือทั้งกำลังกายและกำลังใจ การนั่งจับเจ่าอยู่กับบ้านเลี้ยงหลานกลับเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจ การกำหนดตารางชีวิตใหม่ จะทำให้ความสุขกลับคืนมาอีกครั้ง

ในความเป็นจริง ความหมายของ “ผู้สูงวัย” ส่วนหนึ่งขึ้นกับคุณภาพและประสิทธิภาพในการใช้ชีวิต อาจารย์หมออี๊ดให้ทรรศนะว่า ปัจจุบันถ้าเป็นสังคมอเมริกัน อายุ 65 ปีขึ้นไปถือว่าสูงวัยแล้ว แต่ถ้าอายุยังไม่ถึง 65 ปี เช่นแค่ 59-64 ปี แต่มีโรคประจำตัว อย่าง เบาหวาน ความดัน ก็ถือเป็นผู้สูงอายุได้

ในทางตรงกันข้าม ถ้าอายุ 65 ปี แต่มีการออกกำลังกายเป็นประจำก็สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเลข อย่างที่เรียกกันว่า Young at Heart สามารถเป็นนักวิ่งมาราธอนได้-ถ้าได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่อง

“เราจะเห็นว่าปัจจุบันคนสูงอายุ 70-80 ปี ก็ลงวิ่งแข่ง และไม่มีผลเสียหายมากมาย ทั้งนี้ขึ้นกับการฝึก เพราะการวิ่งมาราธอนระยะทาง 42 กิโลเมตร เป็นการออกกำลังกายที่หนักและนาน ต้องได้รับการฝึกพอสมควร ไม่ใช่ว่าอยากวิ่งแล้วรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงดี ก็ลงวิ่งมาราธอนเลย การวิ่งมาราธอนมีตั้งแต่ มินิมาราธอน 5 กม. ไป 10 กม. หรือ 42 กม. แต่ก่อนจะไป 5 กม. ต้องเริ่มต้นวิ่งก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้ววิ่งเลย มันไม่จำเป็น และไม่มีประโยชน์ด้วย”

กรณีที่เกษียณแล้วแต่อยากเป็นนักวิ่งมาราธอน อาจารย์หมออี๊ดว่า ก่อนอื่นต้องแน่ใจก่อนว่าร่างกายออกกำลังกายได้ เพราะวัยเกษียณส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว

ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าโรคนั้นมีข้อห้ามในการออกกำลังกายไหม ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีข้อห้าม นอกจากเป็นมากจริงๆ เช่น เป็นโรคหัวใจหลังผ่าตัด อาจมีอาการไปวิ่งแล้วเป็นลม หรือเป็นโรคลมชัก ต้องไปหาแพทย์ตรวจก่อนว่าสามารถออกกำลังกายได้

“วัยไหนๆ ก็ต้องออกกำลังกาย”

ในกรณีคนที่อายุเกิน 35 ปี การที่หัวใจล้มเหลวมักมาจากเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งคนสูงวัยก็เป็นได้

“โรคที่เสี่ยง คือ โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และอีกหลายๆ โรค เพราะเมื่อเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจมีไขมันมาอุดตัน เส้นเลือดตีบลง เล็กลง ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่ดี หัวใจก็เต้นผิดปกติ นี่เป็นลักษณะธรรมดา ซึ่งในคนสูงอายุ ถ้ามีอาการก็ต้องไปเช็กก่อน

แต่ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวที่เล่นกีฬาหนักๆ ถ้าอยากจะรู้ก็ต้องไปตรวจ เพราะโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มีแค่ 1 ใน 200,000 คน แต่ที่เห็นชัดมีการถ่ายทอดทีวี”

คุณหมออี๊ดบอกและแนะวิธีการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยว่า ไม่ต่างจากคนทั่วไป รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ นอนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะสูงอายุหรือไม่ ขอแนะนำให้ออกกำลังกาย คือแค่เดิน ตัดหญ้า หรือกวาดบ้านก็ถือว่าออกกำลังกายแล้ว

อย่านอนดูแต่ทีวี ให้พยายามเคลื่อนไหวร่างกาย แกว่งแขน ดูทีวีแล้วลุกขึ้นมาย่ำเท้าอยู่กับที่ก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image