เปลือยกายหยาบ ปอกเปลือกชีวิต สบตาความตาย กับ ฉัตรมงคล อินสว่าง ใน Transcendence : Body as Landscape

เปลือยกายหยาบ ปอกเปลือกชีวิต สบตาความตาย กับ ฉัตรมงคล อินสว่าง ใน Transcendence : Body as Landscape
ฉัตรมงคล อินสว่าง

เปลือยกายหยาบ ปอกเปลือกชีวิต สบตาความตาย กับ ฉัตรมงคล อินสว่าง
ใน Transcendence : Body as Landscape

หลากหลายอารมณ์ และความรู้สึกถูกละเลงลงบนพื้นที่ว่างของแผ่นอะคริลิค งานประติมากรรมถูกหล่อหลอมขึ้นอย่างมีชั้นเชิงสื่อด้วยความหมายลึกซึ้ง สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ตาเห็น หยิบยกความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ความเจ็บปวด หวาดกลัว และเฉียดกรายเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า ‘ความตาย’ ออกมาเป็นงานศิลปะ ภายใต้นิทรรศการ ‘Transcendence : Body as Landscape’ ผลงานของ ฉัตรมงคล อินสว่าง โดยมี นิ่ม นิยมศิลป์ รับหน้าที่ภัณฑารักษ์

นี่คือนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของศิลปินท่านนี้ที่จัดแสดงใน ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต (RKFA) พื้นที่แกลเลอรี่สำหรับคลื่นลูกใหม่ ฉายสปอตไลต์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลดเปลื้องความหวาดกลัวต่อ ‘ความตาย’ ผ่านร่างกายมนุษย์ เพื่อสื่อให้เห็นถึงความหมายของการมีชีวิต

นิ่ม นิยมศิลป์ ภัณฑารักษ์ และฉัตรมงคล อินสว่าง

กายหยาบ เปลือกธรรมชาติ หุ้มจิตวิญญาณอันซับซ้อน

Advertisement

อันดับแรก มาทำความรู้จักกับศิลปินท่านนี้ก่อน ฉัตรมงคล สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 จากนั้น ต่อโทและเอกที่สถาบันเดียวกัน จนจบปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ กระทั่งได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลอิตาลีเพื่อศึกษาต่อ โดยได้รับประกาศนียบัตรด้านประติมากรรม (Hons) จาก Accademia di Belle Arti di Firenze

หลังจบการศึกษา ได้เข้าสอนที่วิทยาลัยเพาะช่าง สาขาวิจิตรศิลป์ พร้อมควบตำแหน่งหัวหน้าโครงการประติมากรรมตั้งแต่ปี 2557-2560 โดยระหว่างนั้นมีการจัดแสดงผลงานควบคู่กันไปด้วย และด้วยความสามารถที่โดดเด่น จึงกวาดรางวัลมามากมาย เช่น เหรียญเงิน ประติมากรรม จากงานนิทรรศการศิลปะแห่งชาติครั้งที่ 49 (2549) เป็นต้น เรียกได้ว่าโปรไฟล์สมบูรณ์แบบ พ่วงด้วยความสามารถพร้อมสรรพ คล้ายกับวาดชีวิตของตนเองไว้อย่างไรอย่างนั้น

แต่มนุษย์มักมีเรื่องราวหลากหลายด้านเสมอ เขาเริ่มค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ เรียนรู้ และปะติดปะต่อเรื่องราวมาจากประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยใกล้ชิดกับ ‘ความตาย’ เริ่มต้นจากมารดาได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็ง และตัวเขาเองก็สุขภาพย่ำแย่ ต้องพบแพทย์เพื่อรักษาอาการตับอักเสบ เป็นช่วงชีวิตที่ต้องอยู่กับความหวาดกังวล และหวาดกลัวไปพร้อมๆ กัน

Advertisement

“ผมรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในอนาคต การที่เราพยายามทำความเข้าใจในเรื่องการมีอยู่ของเราในปัจจุบัน และการค้นหาความจริงในแง่มุมอื่น นอกเหนือจากการที่จะต้องไปหาหมอ มันเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเยียวยาความรู้สึกวิตกกังวล หรือหวาดกลัวได้

ตัวผมค่อยๆ ปล่อยวางเรื่องของตัวเองลงไป และเข้าใกล้ชิดกับความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากขึ้น ผมจึงอยากจะแสดงออกถึงการรับรู้ความหมายเหล่านี้ออกมาผ่านผลงาน เพราะมันทำให้ผมรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย เป็นการทำงานที่เกิดจากการตระหนักรู้และเข้าใจ”

ประสบการณ์ส่วนตัวของเขากลายเป็นแรงผลักดันให้เริ่มต้นแสวงหาสัจธรรมผ่านปรัชญาชีวิตและธรรมชาติ ทั้งหมดถูกสะท้อนออกมาผ่านผลงานทั้งในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ เพื่อสื่อถึงการเสื่อมสภาพของร่างกายผ่านสิ่งที่คนมองเห็น ก็คือ ร่างกายมนุษย์ ฐานะที่เป็นแหล่งของความทุกข์ทรมาน เป็นเปลือกธรรมชาติที่ห่อหุ้มตัวไว้ เขาเค้นอารมณ์และความรู้สึกทั้งหลาย ละเลงผลงานบนผืนผ้าใบ แผ่นอะคริลิค และงานประติมากรรม ซึ่งทั้งถูกดัดและบิด โดยมีจุดมุ่งหมายในการเน้นย้ำความเป็นร่างกายทั่วๆ ไป ที่ทั้งไร้ตัวตนและไม่มีลักษณะเฉพาะ แต่ประกอบไปด้วยความหมายอันซับซ้อนที่มีมากกว่าเนื้อหนังและเลือด

แต่เดิมนั้นเขามีความสนใจในธรรมชาติของมนุษย์ จึงนำไปสู่การตั้งหัวข้อภาพ รูปแบบและเทคนิค ที่ส่งผลให้งานประติมากรรมของเขาแสดงลักษณะเฉพาะ และตัวตนน้อยลง ภายหลังเขาเริ่มทำงานบนพื้นผิว 2 มิติเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันเขาถูกขนานนาม และเป็นที่รู้จักในฐานะประติมากรที่สร้างประติมากรรมและภาพวาดเส้นที่แสดงความหมายของชีวิต พื้นที่ภายในและภายนอก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

“ช่วงที่เราทำงานศิลปะมันเป็นช่วงหนึ่งที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกตรงนี้ได้ เหตุการณ์รับรู้เรื่องการมีอยู่ของร่างกายอีกแง่มุมหนึ่ง มันค่อนข้างเป็นแรงผลักดันในการทำงานได้ดี” ฉัตรมงคลเล่าในท่าทีสงบ สุขุม ผ่อนคลาย

เติบโต เดินทาง ก้าวย่างบนถนนแห่งความกลัว

นิทรรศการ ‘transcendence : Body as Landscape’ เป็นผลงานต่อยอดมาจากผลงานล่าสุดของฉัตรมงคล ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดแสดงที่ประเทศสิงคโปร์ โดยร่วมงานกับเจ้าเก่า ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต (RKFA) เช่นเดิม ที่ครั้งนี้ยังคงผลักดันและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่วแน่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้สึกของศิลปินท่านนี้ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ และงดงามมากยิ่งขึ้น

“ช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นแง่มุมในเรื่องความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น เราล้วนเป็นเงื่อนไขในการมีชีวิตอยู่ต่อกัน ผมที่เป็นเจ้าของชีวิตนั้นถูกแบ่งปันไปให้ผู้อื่น เพราะฉะนั้นมนุษย์เรามีอิทธิพลต่อกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความคิดเหล่านี้จึงถูกต่อยอด พัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนเป็นงานที่ไปจัดการแสดงที่สิงคโปร์ จนถึงผลงานล่าสุด” ฉัตรมงคลเล่า ก่อนเริ่มบรรยายให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผลงานที่จัดขึ้นก่อนหน้ากับผลงานล่าสุด โดยค่อยๆ อธิบายทีละภาพตามลำดับ ขณะที่บรรยากาศก็เป็นไปอย่างเงียบสงบ เพราะต่างคนต่างตั้งใจฟังถึงสิ่งที่ศิลปินท่านนี้กำลังจะเอ่ยออกมา

“งานชุดแรกจะเป็นลักษณะของความรู้สึกต่อชีวิตของเราที่มีความเชื่อมโยงกับผู้อื่น ความรู้สึกกดดัน ถูกบีบรัดเป็นก้อน และจะค่อยๆ คลี่คลายไป ตามความเข้าใจของผม ซึ่งความเข้าใจต่อการมีอยู่ของร่างกายนั้นมันค่อยๆ พัฒนาความคิด จึงส่งผลต่อรูปแบบที่ค่อยๆ คลี่คลายไปสู่ความเรียบง่าย”

ภาพรวมของผลงานนั้นเห็นการเดินทางจากผลงานชุดแรก จนถึงผลงานล่าสุดอย่างชัดเจน โดยที่ไม่ต้องมีความรู้ หรือเชี่ยวชาญด้านงานศิลป์ก็สามารถมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ สายตาไล่มองดูตั้งแต่ภาพแรกจนถึงภาพปัจจุบัน ความเข้มข้นของชิ้นงานและความคิดของเขาสอดประสานกันเป็นอย่างดี เห็นได้จากการเริ่มปลดปล่อยน้ำหนัก และความเข้มข้นออกมาผ่านชิ้นงานในคอนเซ็ปต์ร่างกายมนุษย์ จนมาถึงผลงานปัจจุบันที่คล้ายกับว่าตัวเขาจะปล่อยวางตัวตนและกายหยาบ ให้ร่างกายกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เช่น บางชิ้นงาน ร่างกายก็ดูคล้ายกับก้อนหินที่วางพาดไปมาอยู่เฉยๆ ในบางชิ้นงานก็ทำให้ภาพของร่างกายหลอมรวมไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เป็นภาพภูมิทัศน์ไร้ซึ่งขอบเขต

ระหว่างที่หูทั้งสองข้างกำลังรับสาร สายตาก็จดจ้อง สำรวจไปยังรูปภาพบนฝาผนังตรงหน้าที่ใช้วัสดุธรรมชาติ อย่างถ่านชาร์โคลกับพู่กันแห้งๆ มาสร้างสรรค์งานศิลป์ เกิดเป็นลวดลายที่แสดงให้เห็นถึงทรวดทรงของร่างกายมนุษย์ ซึ่งหากมองด้วยตาเปล่าไม่ยักรู้ว่าเป็นเพียงถ่านผงละเอียด ที่มีน้ำหนักเบาหวิว ควบคุมยาก แต่ความหมายกลับหนักแน่น เป็นการนำ ‘ธรรมชาติ’ มาสร้างสรรค์ความเป็น ‘ธรรมชาติ’ ให้เข้าใจใน ‘ธรรมชาติ’ ของชีวิต

“การใช้ผงถ่านสีดำ มาจากการที่เราเห็นความมืดดำ แล้วค่อยๆ สร้างให้รูปทรงค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาทีละรูป คล้ายกับการค้นหาความหมายในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ให้ปรากฏขึ้น ซึ่งผลงานชิ้นนี้มันได้โต้ตอบกับจิตใจค่อนข้างเยอะ คือการที่เรามองไม่เห็นอะไรแล้วตรวจสอบ จนสิ่งนั้นมันปรากฏ”

“ความรู้สึกที่มันละเอียดอ่อนแบบนี้ การเขียนภาพจะสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกได้ดีกว่างานประติมากรรม เวลาผมเขียนภาพมันโต้ตอบกับความรู้สึกได้ค่อนข้างชัด” ระหว่างที่ฟังแล้วมองรูปภาพนั้นไปพร้อมกัน อาจจะเผลอเปล่งเสียงแหบๆ ออกมาเล็กน้อยว่า ‘จริงด้วยแฮะ’ งานปั้นมีวิธีการที่ซับซ้อน ประกอบไปด้วยลำดับขั้นตอนที่เป็นระบบ อาจจะส่งผลให้อารมณ์ ความรู้สึกในขณะนั้นเปลี่ยนเป็นอื่น หรือถ่ายทอดออกมาได้อย่างไม่เต็มที่

งานอาร์ต ศาสนา ปาฏิหาริย์ที่หมดข้อสงสัย

เวลาบ่ายแก่ๆ มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นฟ้าครึ้ม และเมฆดำทมิฬ เป็นสัญญาณว่าฟ้าฝนกำลังจะตกในไม่ช้า กลับกันบรรยากาศภายในแกลเลอรี่ยังคงดูเงียบสงบ เหมือนถูกตัดขาดกับภายนอกอย่างสิ้นเชิง เพราะข้างในนี้ ศิลปินคนเก่งยังคงบรรยายแข่งกับเสียงฟ้าร้องสลับกับเสียงรถยนต์ที่กำลังแล่นอยู่บนถนนใจกลางเมือง แต่ก็แค่นั้น เพราะประเด็นที่กำลังพูดคุยกันอยู่ต่างหากที่น่าโฟกัส

เกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาที่เข้ามาเชื่อมโยงกับศิลปะ ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ขออนุญาตยกมือถามเดี๋ยวนั้นเลย เพราะต่อมความสงสัยทำงานหนักมาก คุณฉัตรมงคลอธิบายว่า ในความคิดของเขานั้น ศิลปะกับศาสนาเป็นสองสิ่งเกี่ยวข้องกันแบบ ‘ไม่รู้ตัว’ ก่อนที่จะเล่าสู่กันฟังถึงที่มาที่ไป ที่ทำให้คิดเห็นเช่นนั้น

“พี่ชายของผมเสียชีวิตตอนยังเด็ก และแม่ไม่อยากให้เราตายไปเหมือนกับพี่ชาย เลยนำผมไปฝากไว้ให้เป็นลูกของพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่สุพรรณบุรี และผมก็รู้สึกว่าผมมีพระพุทธรูปเป็นพ่อ เป็นญาติ และทุกครั้งที่มีเวลาก็จะไปพบ ไปไหว้ เหมือนได้กลับไปสู่ความสงบ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมรูปปั้นถึงทำให้เรารู้สึกมีสมาธิ สงบ และปลอดภัยได้ขนาดนี้ เราจึงสนใจในเรื่องการแสดงออกในงานศิลปะ รูปแบบ รูปทรง” เป็นคำตอบที่คลายข้อสงสัย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคำตอบที่เหนือจินตนาการ ยากที่จะนึกถึง ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่น่าสนใจมากทีเดียวสำหรับมุมมองของศิลปินท่านนี้ ซึ่งแตกต่างจากมุมมองของคนทั่วไปที่มักมองศาสนาและพระพุทธรูปในแง่มุมของปาฏิหาริย์ หรือความเชื่อ แต่กับฉัตรมงคล เขามองเป็น ‘มนุษย์’

“ผมว่าพระพุทธรูปก็คือตัวแทนการมีอยู่ของพระพุทธเจ้าในความหมายของความเป็นมนุษย์ มองให้ทะลุเปลือกเข้าไปจะเห็นกล้ามเนื้อ กระดูก ตัววัสดุที่ใช้ในงานจริงมีความเชื่อมโยงกับตัววัสดุที่ใช้ในการสร้างพระพุทธรูป เป็นตัวเทคนิคที่ใช้จากวัสดุธรรมชาติเช่นเดียวกัน ขณะนี้หมดข้อสงสัยแล้ว เพราะฉะนั้นมันจะเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ” ฉัตรมงคล

มอบความหมาย ต่อเติมความคิด ศิลปะแยกจากชีวิตไม่ได้

ฟังบรรยายถึงที่มาของรูปภาพแต่ละภาพอย่างเต็มอิ่มแล้ว เมื่อถามในแง่ความรู้สึกส่วนตัวหลังจากที่ได้ละเลงอารมณ์ผ่านผลงานต่างๆ อย่างเข้มข้น ฉัตรมงคลกล่าวในท่าทางผ่อนคลายว่า ความรู้สึกที่เคยผ่านมา ทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับชีวิต และความตาย ค่อยๆ หายไปพอสมควร กระบวนการต่างๆ ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานไปพร้อมๆ กัน

“การได้อยู่กับผลงานศิลปะทุกวัน ตลอดเวลา ทำให้เราค่อยๆ ซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ แต่ก่อนยังรู้สึกว่าพาร์ตศิลปะก็คือศิลปะ ชีวิตก็คือชีวิต แต่หลังจากทำงานชุดนี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของมัน และศิลปะคงจะแยกออกจากชีวิตผมไม่ได้ นอกจากประโยชน์ด้านความงามแล้ว ยังจะมีด้านความคิด ทัศนคติ ซึ่งนำไปสู่การมองโลกได้เข้าใจมากขึ้น ผมว่าศิลปะจะมีสาระ และมอบความหมายบางอย่างให้ผู้ชมได้เกิดการตระหนักรู้ หรือถ้ามันจะต่อเติมความคิดให้ผู้คนได้ ผมว่ามันก็เป็นอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกว่างานนี้มันมีคุณค่ามากพอที่ผมจะทำ”

ทั้งนี้ สามารถเสพงานศิลป์ที่อบอวลไปด้วยความหมายเหล่านี้ พร้อมสำรวจให้หมดจดตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก ไปจนถึงความหมายแฝงทางวัฒนธรรมได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม ณ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต (RKFA) แกลเลอรี่กรุงเทพฯ อาคารปีเตอร์สัน กดลิฟต์ ชั้น 9

ไพลิน อินต๊ะสืบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image