ถึงเวลา ‘ปฏิรูปกฎหมาย’ พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อนWe Watch จ้องอุปสรรคหลังคูหา จดกติกาไม่เป็นประชาธิปไตย

ถึงเวลา ‘ปฏิรูปกฎหมาย’ พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อนWe Watch จ้องอุปสรรคหลังคูหา จดกติกาไม่เป็นประชาธิปไตย

ถึงเวลา ‘ปฏิรูปกฎหมาย’
พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อนWe Watch
จ้องอุปสรรคหลังคูหา
จดกติกาไม่เป็นประชาธิปไตย

‘หุ้นตก’ คือคำเตือนจากนักวิชาการ ว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้สถานการณ์การเมืองไทยที่ไม่แน่นอน
หลัง 8 พรรค นำทัพโดย ก้าวไกล เพื่อไทย โกยฉันทามติจากประชาชน คล้องแขนประกาศแล้วว่า รวมกันได้ 313 เสียง เพียงพอมากที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน

แม้ฝั่งเจ้าสาวไม่เรียกร้องตั้งเงื่อนไข ให้เกียรติเจ้าบ่าว รับขันหมากที่ ‘ก้าวไกล’ ส่งไปสู่ขอ อยู่ระหว่างดูและปรับแก้ให้เข้ากันได้ ก่อนควงแขนจดทะเบียนสมรส “MOU” อย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ทันที ถือเอา 22 พฤษภาคม วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อการรัฐประหาร (2557) เป็นฤกษ์งามยามดี ในการทวงอำนาจกลับคืนสู่เงื้อมมือประชาชน

ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่คนกังวลตอนนี้คือยังขาดอีก 63 เสียง จาก ส.ส.หรือ ส.ว. มาขานชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯคนที่ 30 เสียงเรียกร้องไปยัง ส.ว. ส.ส.และ กกต. จึงยังดังไม่แผ่ว ทั้งในออนไลน์ ออฟไลน์ ให้รีบประกาศผลอย่างเป็นทางการเพื่อกู้ภาพลักษณ์ของ กกต. แฮชแท็ก #จัดตั้งรัฐบาล ที่ทะยานในทวิตเตอร์ คล้ายเสียงตะโกนบอกองค์กรอิสระและนักการเมืองว่า “เราจ้องคุณอยู่นะ”

Advertisement

We Watch คือหนึ่งในเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ออกแอ๊กชั่นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนกระทั่งปิดหีบ เพื่อให้กระบวนการสะท้อนเสียงของประชาชน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย บรรลุเป้าหมาย

“We Watch พบว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ยังมีข้อกังขาหลายประการ ที่ชี้ให้เห็นทั้งปัญหาและข้อจำกัดในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และระบบเลือกตั้งของไทยในปัจจุบัน”

พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน นำทีม We Watch ประกาศชัด เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังปิดหีบนับบัตรได้ 2 วัน ว่าจะไม่เลิกจับตาจนกว่าคนไทยจะมี ‘รัฐบาลใหม่’ พร้อมเรียกร้องว่าถึงเวลา ‘ปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้ง’

Advertisement

เพราะหลังส่งอาสาสมัครกว่า 9,000 คน กระจายไปยัง 5 ภูมิภาค ตั้งแต่ภาคกลาง ตะวันออก อีสาน เหนือ ใต้ ไปเฝ้าคูหา ทั้งนักศึกษา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย ผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับการฝึกอบรมจากต่างประเทศ ตลอดจนประชาชนที่ร่วมแคมเปญใน 11,622 หน่วย จากทั้งหมด 95,000 หน่วย 350 เขตเลือกตั้ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วไทย ยังพบความไม่ปกติ เห็นจุดบกพร่องหลายประการ กำลังรวบรวมสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนออกเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์

ต่อจากนี้คือถ้อยคำแถลง อันเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน ที่ฉายให้เห็นภาพรวม ข้อสังเกต ไปจนถึงข้อกังวลในฐานะภาคประชาสังคม ที่เฝ้ามองการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างมีความหวัง จากหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ มีข้อค้นพบดังนี้

ยังไม่เป็นประชาธิปไตย
เลือกตั้งใต้ ‘กติกาเดิม’

ในแง่ “บริบททางการเมือง” เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากลงรับสมัครรับเลือกตั้ง ถึง 70 พรรค มีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 6,679 คน แบ่งเป็นสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 70 พรรค จำนวน 4,781 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มี 67 พรรค ส่งผู้สมัครรวม 1,898 คน และการเสนอรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 43 พรรค จำนวน 63 คน

ข้อมูลนี้บ่งชี้ให้เห็นความสนใจของพรรคการเมือง ในการมีส่วนร่วมและนำเสนอเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรคตัวเอง ให้ประชาชนตัดสินใจเลือก และปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในการออกมาใช้สิทธิของประชาชน โดย กกต.ได้แถลงถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 แบบไม่เป็นทางการ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 75.22

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เฉพาะในส่วนของระบบเลือกตั้ง เป็นการแก้ไขโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภา ซึ่งต่างจากการแก้ไขโดยการเข้าชื่อเพื่อการเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาโดยประชาชน ทำให้ผลของการแก้ไขมีลักษณะเช่นเดียวกับ การแก้ไขระบบเลือกตั้งในปี 2554 นั่นคือแก้ไขเป็นเพียงแค่ ‘การแก้ไขระบบเลือกตั้ง’

ฉะนั้น การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2566 จึงเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมที่เคยเกิดขึ้นเท่านั้น แต่โครงสร้างสถาบันทางการเมืองยังเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารในปี 2557 ดังจะเห็นได้ว่า ยังคงมีหลายองค์กรทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเชื่อมโยงกับประชาชน อาทิ วุฒิสมาชิก (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา เป็นต้น ดังนั้นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 จึงยังมิอาจเรียกได้ว่าเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเป็นประชาธิปไตยอย่างเสรี และเปิดกว้างอย่างแท้จริง

ประชาชนวางเดิมพัน
‘ใช้สิทธิ’ มากสุดในประวัติศาสตร์

ในแง่ “บรรยากาศการเลือกตั้ง” พบว่า คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นอย่างดี จนลุล่วง

เป็นการเลือกตั้งที่มีประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงมากครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2476 ซึ่งในวันที่ 14 พฤษภาคม มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด เป็นอันดับ 2 จากจำนวน 28 ครั้งที่จัดเลือกตั้งทั่วไป และมีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 39,284,752 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์การเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ต้นปี 2566 และเข้มข้นยิ่งขึ้น 2 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง ผ่านหลากหลายช่องทาง

7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ประชาชนออกมาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 2.2 ล้านคน แต่ยังพบข้อกังวลถึงขั้นตอนการส่งบัตรเลือกตั้งไปยังเขตเลือกตั้งภูมิลำเนาเพื่อนับคะแนน และมีปัญหาของการที่ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขต ไม่สามารถใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม ได้ในกรณีที่ลงทะเบียนไว้แล้ว 200,000 คน

ภาพรวม ไม่พบรายงานความรุนแรงถึงขั้นวิกฤตระหว่างการใช้สิทธิ โดยหลายเขตพบว่าประชาชนออกมารอใช้สิทธิตั้งแต่ก่อนเปิดคูหา 08.00-17.00 น. แต่ในระหว่างกระบวนการลงคะแนน มีรายงานสิ่งผิดปกติเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 9 ชั่วโมง ของขั้นตอนการลงคะแนน

อาสาสมัครยังติดตามกระบวนการนับคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในหลายหน่วยเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ขณะที่มีอีกหลายหน่วยเลือกตั้งมีประชาชนร้องเรียน โต้แย้งความเห็นกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วย (กปน.) ตั้งแต่ขั้นตอนการขานคะแนน การอ่านบัตรเลือกตั้ง ไปจนถึงการตรวจสอบจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกใช้กับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่แสดงก่อนใช้สิทธิ เช่น ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันให้เห็นว่าประชาชนไทยให้ความเอาใจใส่ต่อกิจกรรมทางการเมืองครั้งนี้ การเลือกตั้งจึงมิได้มีฐานเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางประชาธิปไตยเท่านั้น แต่คือจุดเดิมพันที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตทางการเมืองของทุกคน

5 ข้อกังวล กฎหมายไม่เอื้อ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประชาชนหลาย 10 ล้านคน ยังมีปัญหาอีกจำนวนมาก ซึ่งอาสาสมัครและประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้พบและรายงานเข้ามา ทำให้ We Watch ประมวลข้อค้นพบที่น่าสนใจและต้องครุ่นคิดแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

ข้อกังวลแรกคือเรื่อง “กฎหมายและการจัดการเลือกตั้ง” แบ่งได้เป็น 5 ข้อ

1.ส.ว.ยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

2.การตัดสิทธิพลเมืองหลายกลุ่ม คือ พระสงฆ์ ตลอดจนผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิต และผู้ต้องขังทั้งหมด

3.การใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หมายเลขผู้สมัครและพรรคไม่เหมือนกัน สร้างความสับสน และไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิเลือกตั้ง

4.การเสียสิทธิของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2557 ที่เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามได้ลงทะเบียนไว้

5.ระยะเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ถือเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนปี 2557 ที่กำหนดให้ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้ง

สถานที่ ยังไม่เอื้อลงคะแนน

ณัฐชลี สิงสาวแห รับช่วงต่อ อธิบายในส่วนของ “กระบวนการลงคะแนน” ที่ได้รับรายงานจากอาสาสมัคร มีข้อสังเกตและข้อกังวลหลายประการ ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการลงคะแนน สรุปได้ดังนี้

1.ปัญหาประสิทธิภาพในการจัดการหน่วยเลือกตั้ง

เช่น มีการจัดสถานที่ลงคะแนนไม่เอื้ออำนวยต่อผู้พิการ คนสูงอายุนั่งรถเข็น ฯลฯ บางหน่วยทางขึ้นคูหาเป็นพื้นยกระดับสูง ไม่มีทางลาดที่ใช้สำหรับรถเข็นคนพิการ อาทิ จ.ชุมพร เลย ขอนแก่น อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี ตรัง กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี รวมถึงปัญหาการให้ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งผิด หลายหน่วยเลือกตั้งมีป้ายไวนิลแนะนำผู้สมัครที่เขียนผิด หรือเอกสารข้อมูลผู้ลงสมัครเลือกตั้งไม่ครบถ้วน เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีข้อกังวลปัญหาว่าด้วยความเป็นกลาง เช่น กรณีป้ายหาเสียงอยู่ข้างหรือใกล้หน่วยเลือกตั้ง หรือติดอยู่ที่กระดานปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง และระบบการรายงานผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การรายงานผลที่ล่าช้าและมีจำนวนคลาดเคลื่อนจากที่ประกาศไว้

2.การละเลยหลักการลงคะแนนเป็นความลับ หลายพื้นที่ไม่มีกระดานทึบหรือกำแพงมาบังด้านหลังคูหา อาจทำให้มีการสอดส่องการลงคะแนนได้
เช่น บางหน่วยในกรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ระยอง นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ ลพบุรี

นอกจากนี้ ยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ทำบัตรเลือกตั้งขาด เช่น ในกรุงเทพฯ แต่บทเรียนที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้บัตรใหม่ แต่ใช้วิธีซ่อมโดยใช้เทปกาวแปะ

3.ข้อผิดพลาดของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบการรายงานในหลายกรณี เช่น กรณีที่พบรายชื่อบุคคลที่ไม่รู้จักอยู่ในทะเบียนบ้านของตน, ยังอยู่ที่ทะเบียนบ้านเดิม แม้ย้ายเป็นเวลานานแล้ว, พบสิทธิเลือกตั้งปรากฏเป็นคนละเขตกับภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านจริง

เจอเอกสารผิดปกติ

4.ความผิดปกติของเอกสารสำคัญที่ต้องเปิดเผยต่อประชาชน อันได้แก่

1.)รายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (ส.ส.5/5) ซึ่งจะระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้งนั้น และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

2.)ประกาศรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งหลังการลงคะแนน (ส.ส.5/7) ซึ่งจะระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือของหน่วยเลือกตั้งนั้น

ใน 2 รายการแรก พบว่ามีข้อผิดปกติที่เกิดขึ้นซ้ำกันอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ไม่ปิดประกาศเอกสารไว้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง, ปิดประกาศเอกสารไว้ภายในหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนไม่สามารถเดินเข้าไปดูได้, ไม่ระบุรายละเอียด หรือระบุรายละเอียดผิด

3.)รายการเกี่ยวกับผลการนับคะแนนเลือกตั้ง (ส.ส.5/18) ซึ่งระบุคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับ คะแนนที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับในหน่วยเลือกตั้งนั้น มีปัญหาคล้ายคลึงกับ 2 รายการแรก ทั้งการไม่ปิดประกาศ และระบุรายละเอียดผิด โดยมีประเด็นสำคัญที่เพิ่มเติมคือ เอกสาร ส.ส.5/18 นั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บกลับไปคืน กกต.เขต จะต้องปิดประกาศทิ้งไว้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนสามารถมาตรวจสอบผลคะแนนได้ แต่พบว่าในหลายหน่วยเลือกตั้งเจ้าหน้าที่เก็บประกาศนี้ทันทีหลังจากปิดประกาศได้เพียงไม่นาน

เจ้าหน้าที่ ไม่เก็ต

สำหรับข้อกังวลต่อความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กปน. มีหลายกรณี ดังนี้

“ช่วงลงคะแนนเลือกตั้ง” พบว่า เจ้าหน้าที่บางส่วนมีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เช่น ในบางหน่วยไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง, ไม่ให้ประชาชนพับบัตรเลือกตั้งก่อนหย่อนบัตร, ห้ามใช้ปากกาที่ประชาชนเตรียมมาเอง, ไม่ให้ใช้บัตรประชาชนที่มีที่อยู่เก่า ให้กลับไปทำใหม่ เป็นต้น

“ช่วงการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง” พบการรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับการวินิจฉัยบัตรดี-บัตรเสียผิดพลาด, การขานคะแนนผิดพลาด ขีดคะแนนผิด

โดนปฏิเสธ สังเกตการณ์-ห้ามถ่าย

ในส่วนของ “ปัญหาว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง” พบว่า กปน.ไม่เข้าใจหลักการของความโปร่งใสและสิทธิในการสังเกตการณ์ ส่งผลให้เต็มไปด้วยอุปสรรค ดังนี้

1.เจ้าหน้าที่ปฏิเสธผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้มีเอกสารแต่งตั้งจากพรรคการเมือง หรือจาก กกต.

2.เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อาสาสมัครถ่ายภาพเอกสารสำคัญ เช่น รายงานจำนวนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งต้องเปิดเผยต่อประชาชน รวมถึงการถ่ายภาพการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง

3.เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อาสาสมัครและประชาชน ถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอในขณะนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง

แนะ กกต.แก้ 2 ข้อด่วน

We watch มีข้อเสนอแนะต่อการจัดการหลังการเลือกตั้งในระยะเร่งด่วนนี้ 2 ประการ คือ

1.กกต.ควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดการที่ผิดพลาด และชี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน

2.เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อ “การบริหารประเทศ” และเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อประชาชน กกต.ควรเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ในการตรวจสอบผลการเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง และประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด โดยอาจยึดระยะเวลาตามกฎหมายเลือกตั้ง 2554 ซึ่ง

กำหนดให้ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้ง เป็นแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ให้ครอบคลุมถึงการเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งด้วย

จับตาต่อจนตั้งรัฐบาล กรอบ 60 วัน ‘นานไป’

กฤต แสงสุรินทร์ ตอบคำถามในฐานะผู้สังเกตการณ์ ว่าการที่ กกต.มีกรอบเวลาประกาศผล ‘อย่างเป็นทางการ’ ภายใน 60 วัน นานเกินไปหรือไม่ ?

กฤตหยิบยกคำกล่าวของ กกต. ที่บอกว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งได้ต่อเมื่อตรวจสอบแล้วว่า สุจริตและเป็นธรรม ซึ่งจะเรียกว่าสุจริตได้เมื่อเคลียร์ข้อ
ร้องเรียนทุกอย่างแล้ว ฉะนั้น เขตเลือกตั้งไหนที่มีเรื่องร้องเรียนอยู่ ต้องตรวจสอบก่อน จะประกาศได้อย่างเป็นทางการเมื่อสุจริตแล้วร้อยละ 95 ของ 400 เขตเลือกตั้งหรือ ประมาณ 380 เขต ถ้าเรื่องร้องเรียนค้าง 20 เขตขึ้นไป กกต.ก็จะไม่สามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งอาจกินเวลา 60 วัน ถ้ายังไม่ครบก็ต้องประกาศก่อน แต่เรื่องร้อนเรียน ยังไม่จบ ต้องเคลียร์ต่อไป

We Watch มองว่าถ้าใช้เวลานานเกินไป ในการที่ประชาชนจะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ ควรมีการสอบรับรอง และจัดการปัญหาให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

วันนี้เป็นเพียงการแถลงข้อค้นพบของ We Watch ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงการจัดตั้งรัฐบาล เราจะเก็บรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานของ กกต. รวมถึงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และเราจะออกเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final report) เพื่อชี้แจงกรณีข้อค้นพบทั้งหมดจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ

กรณีคุกคามอาสาสมัครเลือกตั้งพบว่ามีบ้าง จากความเข้าใจผิด เช่น เจ้าหน้าที่พาออกจากหน่วยเลือกตั้ง บางจังหวะมีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ติดตามไปที่บ้าน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นใคร แต่ยังไม่มีรายงานการทำร้ายร่างกาย

บทเรียน ‘กกต.’ ตอบประชาชนให้กระจ่าง

ตัดภาพกลับมาที่ พงษ์ศักดิ์ ตอบถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลว่า We Watch เองกังวลเช่นเดียวกับประชาชนทุกคน ในเรื่องวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ถ้าจะให้ ส.ว.มีอำนาจ ไม่ฟังเสียงสะท้อนของประชาชน เราก็ขอให้ช่วยกันทำให้เขาได้เข้าใจว่าประชาชนต้องการอะไร ไม่ควรจะค้านเสียงประชาชน นี่เป็นหลักการสากล

ส่วนประเด็นการรายงานผลคะแนนไปยัง กกต.ส่วนกลางล่าช้า เนื่องจากไฟดับ สัญญาณอินเตอร์เน็ตติดๆ ดับๆ เป็นปัญหาทางเทคนิคที่แก้ไขได้ และควรนำไปเป็นบทเรียนในการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ปัญหาทางเทคนิค กกต.น่าจะหาวิธีแก้ไข และควรทำเป็นบทเรียนและควรที่จะทำความกระจ่างให้กับประชาชนด้วย ว่าเมื่อมีปัญหาแล้ว กกต.ลงไปแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

พร้อมใช้หรือยัง? ‘เครื่องลงคะแนน’

เพื่อลดความผิดพลาด พงษ์ศักดิ์เห็นว่าเป็นไปได้ที่ไทยจะใช้เครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เหมือนในต่างประเทศ

อย่างที่ทุกท่านรู้ว่า กกต.ได้พัฒนาเครื่องลงคะแนนอัตโนมัติมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว โดยได้แบบอย่างมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งมีคอมเมนต์หลายเรื่อง ผมคิดว่าตอนนี้ กกต.ก็เปิดให้ทดลอง โดยหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานการศึกษาหลายที่มาก ผมคิดว่าเป็นเรื่องความพร้อม กกต.อาจจะคิดเรื่องความพร้อมว่าเมื่อไหร่ที่จะเปิดให้ใช้

แต่ผมเรียกร้องอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ตรวจสอบเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ใดก็ตาม ต้องได้รับตรวจสอบโดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ เป็นกลาง ในทุกประเทศมีเรื่องนี้ แต่ในประเทศไทย อย่าง Rapid report เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทาง We Watch ก็เรียกร้องให้ Verify source code โดยองค์กรที่น่าเชื่อถือ คือเครื่องมือหรือแอพพลิเคชั่นใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับผลคะแนน เกี่ยวข้องกับการแพ้ชนะในการเลือกตั้ง จะต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะใช้ ว่าไม่มีการแทรกแซงใดๆ เป็นหลักการที่คิด มีหลายประเด็นมาก เช่นเครื่องลงคะแนนรุ่นสุดท้ายที่ผมไปทดสอบ ไม่มีหูฟังสำหรับผู้พิการทางสายตาที่จะกดคอนเฟิร์ม แล้วได้ยินว่าตัวเองกดคอนเฟิร์มหมายเลขอะไร

ผมอยากบอกว่าการเลือกตั้งมันต้อง inclusive คุณต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงการเลือกตั้งให้ได้ ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใดๆ ก็ตาม หากใช้เครื่องมือนั้นแล้ว
กระทบกับผู้พิการหรือผู้ที่มีปัญหา คุณจะต้องเอาเขามาเข้าร่วมในการออกแบบ การใช้งานให้เขาทดสอบก่อน เป็นข้อเรียกร้องของเรา

คาใจ ไปดูงานตั้งหลายประเทศ พัฒนาแล้วจริงหรือ?

We Watch เป้าหมายของเราชัดเจนคือเห็นแล้วว่าปัญหาการเลือกตั้งไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค หรือกระบวนการจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องโครงสร้างทางกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง
ที่เป็นอุปสรรค กระทั่ง กกต.เองก็ยอมรับกับเราว่ากฎหมายหลายข้อเป็นอุปสรรคในการแก้ไขและปรับปรุง

ฉะนั้น We Watch ต้องการทำงานหลังการเลือกตั้ง เพื่อที่จะปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้ง ชัดเจนว่าการจะทำอย่างนั้นได้เราต้องทำงานเรื่องนี้จริงจัง เราต้องการมีส่วนร่วม และคนที่จะมาช่วยรณรงค์ รวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะกับเรา เพราะ We Watch ต้องการจะทำการพัฒนาการเลือกตั้ง และพัฒนาประชาธิปไตยไปในตัว

เช่น การเลือกตั้งก่อนปี 2562 ถ้าหากลงทะเบียนไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า แล้วไม่ได้ไปใช้สิทธิได้ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า ก็ยังสามารถกลับไปเลือกตั้งที่ภูมิลำเนาได้ ผมถามว่าคุณเอาออกทำไม คือมันเป็นการสนับสนุน ทำให้คนเข้าถึงสิทธิเลือกตั้ง สนับสนุนให้คนออกมาใช้สิทธิ หลักการใหญ่ๆ ในเชิงสากลมี 2 ข้อ คือถ้าคุณเป็นองค์กรที่ทำเรื่องการจัดการเลือกตั้ง 1.ทำอย่างไรก็ได้ ให้เขาเข้าถึงสิทธิของเขาตามรัฐธรรมนูญ 2.ทำให้สิทธิของเขาได้ถูกนับ เป็นเรื่องสากล เราขอเรียกร้องให้ กกต.ต้องแก้ปัญหาและปรับปรุงโดยใช้ 2 หลักการนี้

We Watch เรียกร้องมาหลายครั้งแล้ว ไปยื่นข้อเสนอแนะต่อ กกต.หลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง Inclusive election แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
กกต.ไปดูงานต่างประเทศหลายประเทศมาก ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งเนปาล ถ้าคุณเป็นคนพิการทางสายตา หรือทุกประเภท แม้กระทั่งป่วยติดเตียง นอนอยู่บ้านประเทศเหล่านี้เขาจะมี mobile unit หรือหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ไปที่บ้าน ทาง กกต.จะต้องจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่พร้อมผู้สังเกตการณ์ภาคประชาชน และพรรคการเมืองอย่างน้อย 3 พรรค พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปกันเป็นหน่วยตามบ้านที่ลงทะเบียนไว้ ที่อินโดนีเซียชัดเจน คุณป่วยติดเตียงอยู่โรงพยาบาล หรือจะผ่าตัด เขาลงทะเบียนแล้ว กกต.ต้องเอาหน่วยเคลื่อนที่ไปตามโรงพยาบาล ทำได้ แต่ประเทศไทยเราทำไม่ได้ แม้กระทั่งที่ฟิลิปปินส์ คุณถูกจองจำอยู่ในคุกแต่ยังไม่ได้ตัดสิน
คุณมีสิทธิเลือกตั้ง เขาต้องจัดหน่วยเลือกตั้งในเรือนจำให้คุณ เขาทำกันมายาวนานมาก มันเป็นหน้าที่ แต่บ้านเราทำไม่ได้ เพราะมีข้อกฎหมายเขียนว่า การเลือกตั้งต้องทำในหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น We Watch เสนอว่าให้เปลี่ยนเถอะ ปรับเถอะคุณปรับได้ แต่หลายปีแล้วก็ไม่ปรับ ผมขอเรียกร้อง

ปัญหาที่แท้จริงของการเลือกตั้ง คือกฎหมายเลือกตั้งที่ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาการเลือกตั้งของเราได้

อธิษฐาน จันทร์กลม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image