อาศรมมิวสิก : เสียงใหม่ที่เมืองตรัง

งานแถลงข่าวที่ตรัง วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

อาศรมมิวสิก : เสียงใหม่ที่เมืองตรัง

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 เวลา 19.00-21.00 น. พื้นที่หอนาฬิกากลางเมืองตรัง มีรายการจัดแสดงดนตรีโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา บรรเลงเพลงที่เกี่ยวกับเมืองตรัง โดยมี ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เป็นผู้ควบคุมวง เริ่มด้วยอ่านบทกวี โดยกวีชาวตรัง สมเจตนา มุนีโมไนย จิระนันท์ พิตรปรีชา และมีกวี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นลูกเขยตรัง ตามลงไปอ่านบทกวีด้วย

สมเจตนา มุนีโมไนย เกิดที่บ้านหนองขอน เรียนที่โรงเรียนอำเภอย่านตาขาว ได้ปริญญาที่ประสานมิตร เป็นครูสอนภาษาและวรรณคดีไทย คติชนวิทยา วัฒนธรรมไทย เขียนบทกวีในมติชนสุดสัปดาห์และนิตยสาร มีผลงานรวมเล่มชื่อ “มาแต่ตรังไม่หนังก็โนรา” นามปากกา “สิงคลิ้ง นาหยีค้อม” บทกวี “การเวกครวญ” ในชื่อ “พันดา ธรรมดา” มีบทกวี “เหยียบเงา” ที่สะท้อนปรัชญาของหนังตะลุงอย่างลึกซึ้ง

จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ พ.ศ.2532 จากผลงาน “ใบไม้ที่หายไป” นักเขียน นักแปล นักเขียนบทภาพยนตร์ นักกิจกรรมสังคม ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มิวเซียมสยาม เติบโตบนเส้นทางการอ่านเขียน จากร้านหนังสือสิริบรรณ จิระนันท์ พิตรปรีชา มีชีวิตที่โชกโชน เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยรับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตรูสะมิแล ปัตตานี ได้พบรักกับสาวเมืองตรัง ลูกสาวนายสถานีรถไฟทับเที่ยง ได้เป็นลูกเขยตรัง

ADVERTISMENT

บันทึกของจดหมายเหตุเจมส์ โลว์ (พฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ.2367) กล่าวถึง พระภักดีบริรักษ์ เจ้าเมืองตรัง ซึ่งเป็นลูกนอกกฎหมายของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นอายุเพียง 19 ปี เป็นผู้ดูแลเมืองตรัง อุปนิสัยของพระภักดีบริรักษ์ในทรรศนะของเจมส์ โลว์ บอกว่าเป็นคนโลภ หยิ่งยโส และเป็นกวีด้วย มีผู้สงสัยว่าพระยาตรังคนนี้น่าจะเป็นศรีปราชญ์ตัวจริง

ดนตรีเริ่มแสดงเพลงรองเง็งเสียงใหม่ ด้วยเพลงลาคูดูวอ ซัมเป็ง บุหงารำไป โดยมี จักรกฤษ เจริญสุข เล่นวิโอลา ทยารัตน์ โสภณพงษ์ เล่นรำมะนาและไห ยูโสบ หมัดหลงจิ เล่นกีตาร์ ต่อด้วยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราเล่นเพลงรองเง็ง ลาคูดัว ปาหรี จำเปียน ติหมังบุหรง เพื่อให้คณะนางรำรองเง็งจากอำเภอปะเหลียนได้ร่วมแสดงด้วย

เพลงลาคูดัว (Lagu Dua) หรือลาคูดูวอ บางพื้นที่เรียกว่าละงูดัว การเรียกชื่อก็เพี้ยนกันไปตามท้องถิ่น แต่ตัวเพลงมาจากต้นตอเดียวกัน หมายถึงการเล่น “สองเราหรือเธอกับฉัน” ลาคู (Lagu) แปลว่า บทเพลงหรือทำนองเพลงที่มีเสียงขึ้นลงสูงต่ำ ดวล (Duel) ใช้รากศัพท์จากภาษาละติน อยู่ในภาษาโปรตุเกสและเข้ามาใช้ในภาษาไทย อาทิ ดวลปืน ดวลมีด การท้าดวล เป็นการต่อสู้ระหว่างคน 2 คน “ตัวต่อตัว” มีเพลงรองเง็งจำนวนมากที่ลงท้ายชื่อเพลงด้วยคำว่า ดูวอ ดูวา หรือดัว ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน เป็นเพลงที่มี 2 จังหวะ คือจังหวะช้าและจังหวะเร็ว ในที่นี้หมายถึง การเต้นรำระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง หรือการร้องเพลงโต้ตอบระหว่างชายหญิง การเต้นรำที่จับกันเป็นคู่ๆ เป็นการเต้นรำของฝรั่ง หม่อมราโชทัยเรียกว่า “ฝรั่งรำเท้า” ปรากฏในบันทึกของหม่อมราโชทัย เมื่อครั้งเป็นล่ามหลวง ตามคณะทูตไทยไปอังกฤษ พ.ศ.2400 ได้เขียนเรื่องฝรั่งรำเท้าไว้ คือการเต้นระบำยกเท้าสูง เป็นต้นตอของการเต้นรำของยุโรป เพลงลาคูดัวถือว่าเป็นเพลงครูของวงรองเง็ง ทุกวงนำไปเล่นเพราะเป็นเพลงสนุกเร้าใจ

เพลงบุหรงกากาดูวา (Burong Gaga Dua) เป็นเพลงมาเลเซีย มีคำว่า “ดูวา” ต่อท้าย (Dua) เป็นเพลงสำหรับการเต้นรำคู่ ครูขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2536 ได้เคยอธิบายเนื้อเพลงลาคูดูวอเอาไว้ เนื้อร้องมีความหมายว่า “ภูตพรายหน้าฉาบสีขาบข้น สู่ดินดลหวังหมายทำลายสิ้น ดอกจำปาสีน้ำเงินเป็นปีกบิน อยู่ถิ่นนั้นหอมกลิ่นมาถิ่นนี้” ซึ่งเป็นอารมณ์และความรู้สึกเกี่ยวกับเพลง

งานแถลงข่าวที่ตรัง วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ตรังรับอิทธิพลวัฒนธรรมเพลงชวาโดยตรง วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราได้นำบทเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากชวามาบรรเลงชื่อเพลงนกเขามะราปี เพลงนกเขามะราปีคือนกเขาชวา กรมศิลปากรใช้เป็นเพลงประกอบระบำในเรื่องอิเหนาตอนประสันตาต่อนก เรียกว่าระบำนกเขามะราปี ซึ่งครูมนตรี ตราโมท ได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2493 นำทำนองมาจากเพลงชวา ส่วนที่ชื่อว่ามะราปี (Mount Merapi) หรือเมราปีนั้น เป็นชื่อของภูเขาไฟที่ดับแล้ว ภูเขาไฟเมราปีระเบิดเมื่อ พ.ศ.2091 เป็นเวลา 475 ปีแล้ว ครั้งนั้นมีคนตายจำนวนมาก ข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2566 มีภาพยืนยันว่า “ภูเขาไฟเมราปี” ปะทุอีกครั้งที่หมู่บ้านในเมืองมาเกอลัง อินโดนีเซีย

เพลงนกเขามะราปี มีทำนองที่ไพเราะมาก นกเขามีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นภาคใต้ เพราะชาวใต้ชอบเลี้ยงนกเขา เป็นนกเขาตัวเล็กๆ เมื่อขันจะมีเสียงที่ไพเราะ เรียกว่านกเขาชวา และผู้คนนิยมนำนกเขาชวามาประกวดกัน แข่งขันกันว่าตัวไหนขันแล้วมีเสียงที่ไพเราะกว่ากัน บทเพลงนกเขามะราปีจึงเป็นบทเพลงที่มีความไพเราะมากเหมือนเสียงของนกเขาชวา เนื้อร้องมีอยู่ว่า “แสงอรุณแอร่ม (อะแหร่ม) งามยามอุทัย รังสีใสประไพผ่องส่องเวหา” ทำนองเพลงนกเขามะราปีเป็นต้นตอหลัก ออกลูกหลานเป็นเพลงอื่นๆ อาทิ เพลงปี่โนรา บินหลา ปักษ์ใต้บ้านเรา บินหลาบอง สังกะอู้ เสน่ห์ยะลา เป็นต้น

เสียงเพลงใต้ (Sound of Southern) พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์ ได้นำกลิ่น จิตวิญญาณ สำเนียงของเสียงเพลงรองเง็ง มาเรียบเรียงใหม่ให้เป็น “เสียงเพลงใต้” เป็นเพลงใหม่ ทำนองใหม่ และมีสำเนียงเป็นเพลงใต้

เสียงเพลงใหม่ที่แสดงในครั้งนี้ เป็นการนำเอาพันธุกรรมเพลงมาย่อยแล้วสร้างเป็นเพลงใหม่ เมื่อได้เป็นเพลงใหม่แล้ว เพลงใหม่ยังให้ความรู้สึกของอดีตอยู่ เพียงแต่ใช้กลิ่นและวิญญาณของทำนองเก่า เป็นการตัดต่อพันธุกรรมเพลงเก่าแล้วสร้างเป็นเพลงใหม่ขึ้นมา

นักร้องกิตติมศักดิ์ ท่านทูตระฮ์มัต บูดีมัน (Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และส่าหรี สุฮาร์โย (Sari Suharyo)

เพลงภาคใต้นั้นรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมอินโดนีเซียเป็นพิเศษ ครั้งนี้จึงได้นำเพลงจากอินโดนีเซียมาเสนอด้วย 3 เพลง มีเพลงเบงาวันโซโล (Bengawan Solo) ราซาซายังเง (Rasa Sayange) และบุหรงจำปา (Bungong Jeumpa) โดยมีนักร้องกิตติมศักดิ์ ท่านทูตระฮ์มัต บูดีมัน (H.E. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และส่าหรี สุฮาร์โย (Sari Suharyo) นักการทูตประจำสถานทูตอินโดนีเซีย เป็นผู้ขับร้อง

พื้นที่ในจังหวัดตรังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรม “จีนผสมโปรตุเกส” ดูจากอาคารบ้านเรือนเก่ากลางเมืองตรัง มีเพลงสากลที่เข้ามาผ่านทางเกาะหมากหรือเมืองปีนัง ซึ่งตกอยู่ในความดูแลและเป็นของอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ.2329 มีเพลงตะวันตกผ่านมาทางเมืองปีนังมาก เศรษฐีเมืองตรังก็จะส่งลูกไปเรียนหนังสือที่เมืองปีนังด้วย

ยูโสบ หมัดหลงจิ หรือโรเบ็ตโต อูโน (Roberto Uno) เกิดที่เกาะตันหยงโป ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสตูล ได้ยินเพลงยุโรปมาตั้งแต่อายุยังน้อย แม้ไม่ได้เข้าใจความหมายนักแต่ก็ร้องเพลงได้ โดยนำเสนอเพลงควอนโด (Quando Quando Quando) เป็นภาษาอิตาลี และเพลงคาชิโต (Cachito) ภาษาสเปน

ทีเด็ดโดยมีนักร้องเร็กเก้ (Reggae/Reggay) ศัพท์ดนตรีของชาวหมู่เกาะจาเมกา (Jamaica) ประเทศที่อยู่ในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน คำว่ารองเง็ง รองเก็ง เร็กเก้ มีความหมายคล้ายๆ กัน แปลว่า “บ้าๆ บอๆ” บรรจบ พลอินทร์ (จ๊อบทูดู) นั้น เป็นศิลปินเร็กเก้ชื่อดัง เจ้าของเพลงสังกะอู้ และบินหลาบองเกาะลิบง โดยมีวงปล่อยแก่จากจังหวัดยะลาเดินทางมาร่วมแสดงเพลงปักษ์ใต้บ้านเรา ศรีตรัง และบินหลาบองเกาะลิบง

บรรจบ พลอินทร์ ได้อธิบายว่า หาดทรายที่เกาะลิบงมีทรายเม็ดเล็กๆ ละเอียดเต็มไปหมด เมื่อน้ำลดลง ก็จะเห็นหาดทรายเป็นหลุมเล็กๆ เท่าฝ่ามือ มีแอ่งน้ำในหลุม พื้นที่กว้างใหญ่ เมื่อโดนแสดงอาทิตย์ส่องก็จะสะท้อนมีประกายแวววาวระยับสวยงามมาก

จิระนันท์ พิตรปรีชา อ่านบทกวีเรื่องเมืองตรัง

ส่วนบิลลาบอง (Billabong) เป็นภาษาของชาวเล ชุมชนวิราดจุริ (Wiradjuri) เป็นรัฐตอนใต้ของนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) มีชายหาดสวยงามเหมือนเกาะลิบงที่ตรัง ต่อมามีบริษัทธุรกิจเสื้อผ้าของออสเตรเลียนำชื่อบิลลาบองไปทำเป็นยี่ห้อกางเกงชุดว่ายน้ำและขยายเป็นเสื้อผ้า ชื่อบิลลาบองก็เป็นชื่อเพลงบินหลาบองเกาะลิบงของบรรจบ พลอินทร์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

ตรังเป็นเมืองฝั่งทะเลอันดามัน เป็นพื้นที่รองรับลมมรสุมตะวันตก ฝนจะตกตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2566 นายกเทศมนตรีนครตรัง ดร.สัญญา ศรีวิเชียร ได้เปิดแถลงข่าวที่ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ตรัง โดยนำเสนอผลงานครบ 2 ปี พร้อมเสนอการแสดงดนตรีของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ณ บริเวณหอนาฬิกากลางเมืองตรัง ในวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 หลายฝ่ายกระซิบให้ทำข้อตกลงกับเทวดาด้วยว่า “ฝนอย่าเพิ่งตก”

เนื่องจากงานครั้งนี้ได้ลงทุนไปมาก คณะทำงานประกอบด้วยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ทีมเครื่องเสียง คณะจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รวมๆ แล้ว 150 ชีวิต เมื่อลงทุนไปแล้ว จึงได้ตัดสินใจกันว่า ถ้าฝนตกก็จะรอ เมื่อฝนหยุดแล้วก็จะแสดงดนตรีต่อไปจนจบ มิตรรักแฟนเพลงจะได้ไม่ต้องกังวล ไปฟังฟรี ดูฟรี มีเก้าอี้นั่ง 1,000 ตัว ไปก่อนมีที่นั่ง ไปทีหลังก็ต้องยืน