แท๊งก์ความคิด:ทรานส์ฟอร์มพรรค

ทรานส์ฟอร์มพรรค

ทรานส์ฟอร์มพรรค

ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ตื่นตัวต่อการทรานส์ฟอร์มพรรคหลังการเลือกตั้งมากที่สุด

บทสรุปจากพี่โทนี่ วู้ดซัม หรือทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ออกอากาศวิจารณ์ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม คือ ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยต้องดิสรัปต์มากกว่านี้

ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้จะปรับเปลี่ยนแปลงก็ยังสู้พรรคก้าวไกลไม่ได้

Advertisement

มุมมองของพี่โทนี่ตรงกับไอเดียของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

และตรงกับความคิดของ นายเศรษฐา ทวีสิน

ทั้งอุ๊งอิ๊งและเศรษฐา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ตระเวนหาเสียง ใกล้ชิดกับยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ของพรรคมาตลอด

Advertisement

วันก่อน นายเศรษฐาขึ้นเวทีของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ให้สัมภาษณ์ นายสรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์

หนังสือพิมพ์ประชาชาติจัดงานดินเนอร์ทอล์ก “JOURNEY TO TRANSFORM” 47 ปีประชาชาติธุรกิจ ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กทม.

นายเศรษฐาสรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ไม่นึกมาก่อนว่าจะพ่ายแพ้

ตามการคาดการณ์ยังมั่นใจว่า ถ้าไม่แลนด์สไลด์ตามเป้าหมายที่วางไว้ พรรคเพื่อไทยก็น่าจะได้ ส.ส.เกิน 250 ที่นั่ง ส่วนพรรคก้าวไกลน่าจะได้ 80 ที่นั่ง

แต่เมื่อผลออกมาว่า พรรคเพื่อไทยได้ 141 ที่นั่ง ขณะที่พรรคก้าวไกลได้ 151 ที่นั่ง ก็ต้องกลับมาทบทวน

ในทรรศนะของนายเศรษฐามองว่า เมื่อพรรคตั้งเป้าแลนด์สไลด์ แต่ได้ ส.ส. 141 ที่นั่ง ถือว่าพ่ายแพ้

เมื่อพ่ายแพ้ก็ต้องมาสรุปบทเรียน

หนึ่งในจุดที่พลาดไปคือการประเมิน pain point ของประชาชนผิดพลาด

แม้เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ แม้นโยบายแก้ปัญหาปากท้องของพรรคเพื่อไทย และความเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยทำได้จะประสบผล

แต่ก็ไม่สามารถสู้นโยบายและการนำเสนอของพรรคก้าวไกลได้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยมีความคับข้องใจกับการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรื่องปากท้องนั้นเขาเจ็บจนเรียนรู้ที่จะอยู่รอด แต่สภาพจิตใจที่คับข้องใจมาตลอด พรรคก้าวไกลได้เสนอทางออกให้ได้โดนใจมากกว่า

หลายคนมองว่าสุดโต่ง คือ ปรับโครงสร้างระบบขนานใหญ่ แต่นั่นกลับกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการมากกว่า

ข้อเสนอที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ 3 ข้อใหญ่ๆ นั่นคือ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

หนึ่ง demilitarize การให้ประเทศไทยปลอดอิทธิพลทหาร สอง demonopolize ยุติการผูกขาด และสาม decentralize มุ่งกระจายอำนาจ

ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับกระเป๋าดิจิทัลนั้นก็ปลุกกระแสขึ้นมาได้

แต่ในที่สุดคนต้องการคุณค่า ต้องการสิทธิทางเพศสภาพ ต้องการสิทธิการเกณฑ์ทหาร ต้องการสมรสเท่าเทียม

ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะเสนอนโยบายเพื่อเปลี่ยนประเทศ

พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายที่่ค่อยๆ เปลี่ยนประเทศไทย ส่วนพรรคก้าวไกลเปลี่ยนประเทศแบบพลิกฝ่ามือ

สุดท้ายประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวไกล

ยังมีอีกหลายเรื่องที่นายเศรษฐามองเห็น ทุกเรื่องนายเศรษฐาเปรียบเทียบให้เห็นและแยกแยะออกมาอย่างแจ่มชัด

อาทิ การใช้ถ้อยคำในการหาเสียง การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และที่ทิ้งไม่ได้คือการเข้าถึงประชาชนเพื่อรับฟังความทุกข์ของเขาอย่างต่อเนื่อง

บทสรุปสุดท้ายคือพรรคเพื่อไทยต้องทรานส์ฟอร์ม

นายเศรษฐาไม่ได้หนีหายไปจากพรรคเพื่อไทย และยอมรับข้อเสนอที่พรรคมอบให้ชี้แนะการปรับเปลี่ยนพรรค

เชื่อว่าไม่เพียงแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่มีบทสรุปจากการเลือกตั้ง

และเชื่อต่อไปว่า ทุกพรรคเองก็ถึงเวลาต้องทรานส์ฟอร์ม

เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้อยู่ได้ในโลกยุคใหม่

ถ้าการเมืองก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ ต่อไปรัฐบาลก็จะอยู่ในโลกปัจจุบัน ไม่ได้หลงเกียรติประวัติในอดีตจนก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆ เขา

ทรานส์ฟอร์มจึงไม่ได้สำคัญเฉพาะองค์กรธุรกิจ หากแต่วงการการเมืองเองก็มีความจำเป็น

สำหรับงาน JOURNEY TO TRANSFORM ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ สิ่งที่ถูกใจคือการสรุปปัญหาหลักของประเทศไทยในปัจจุบัน

เป็นข้อสรุปจากคำตอบของนายเศรษฐา ที่ตอบคำถามว่าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงจะทำอะไรเป็นอันดับแรก

นายเศรษฐาตอบแบบไม่ลังเล

สิ่งที่แรกที่ต้องทำทันทีคือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง

คาดว่าใช้เวลาประมาณ 18 เดือน ทำเสร็จแล้วก็เลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แล้วหลังจากนั้น ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากกับดักปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้

การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นการทรานส์ฟอร์มของประเทศไทย

ในยุคที่อะไรๆ ก็ถูกดิสรัปต์ การทรานส์ฟอร์มเป็นกลไกหนึ่งที่น่าศึกษา

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image