พูดแล้วขนลุก ได้กลิ่นความเจริญ ศุภพงษ์ พรึงลำภู แห่งพรรคร่วมรัฐเบียร์ ยื่นข้อเสนอแก้ผูกขาด พลิกสุราเป็นภาษีช่วยชาติ

พูดแล้วขนลุก ได้กลิ่นความเจริญ ศุภพงษ์ พรึงลำภู แห่งพรรคร่วมรัฐเบียร์ ยื่นข้อเสนอแก้ผูกขาด พลิกสุราเป็นภาษีช่วยชาติ

พูดแล้วขนลุก ได้กลิ่นความเจริญ
ศุภพงษ์ พรึงลำภู แห่งพรรคร่วมรัฐเบียร์
ยื่นข้อเสนอแก้ผูกขาด พลิกสุราเป็นภาษีช่วยชาติ

ในขณะที่ก้าวไกล กับเพื่อไทย ช่วงชิงห้ำหั่นที่นั่งประธานสภา ส.ว.หลายเสียงยังไม่เปิดปากว่าจะขานชื่อใครเป็นนายกฯคนที่ 30 หม้อต้มเบียร์ใต้หลังคา ‘สหประชาชื่น’ กำลังเดือดปุดๆ อุณหภูมิได้ที่

เครื่องดื่มสีอำพันที่เรียกกันว่า ‘เบียร์’ นอกจากน้ำ ยังต้องอาศัยส่วนผสมสำคัญ 3 อย่าง คือ มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์

“หลักการทำเบียร์คือ เอาน้ำตาลจากมอลต์ให้ยีสต์กิน ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามากวนยีสต์ทำงาน สมมุติมีแบคทีเรียลงไป อาจจะบูด กลายเป็นน้ำส้มสายชูแทน มันฉิบหายได้หลายรูปแบบ (หัวเราะ) ดอกฮอปส์ คือตัวทำให้เบียร์ขม ใช่ว่าใส่เยอะจะหอม บางทีกินไม่ได้ก็มี ต้องใส่ให้พอดีให้รู้จังหวะ ต้มนานเกินไปก็ขมปรี๊ด”

Advertisement

เป็นวิธีหมักบ่มพื้นฐาน ที่คนทำคราฟต์เบียร์ได้เรียนรู้ความพอดีของปริมาณ ว่า ‘มาก-น้อย’ มีผลต่อความเพี้ยนหรือกลมกล่อม คล้ายกับส่วนผสมของการเมืองไทย หากพรรคร่วมรัฐบาลมากไปก็อาจขัดกัน ไม่เป็นเอกภาพ

“อ่าน MOU แล้วบอกตามตรงว่า คาดหวังมาก”

ศุภพงษ์ พรึงลำภู หรือ ตูน ในวัย 41 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น ย่านจตุจักร และ Sandport Brewing แห่ง ต.ท่าทราย จ.นนทบุรี เปิดประตูเวลคัมเล่าด้วยอารมณ์ขันสีหน้าชื่นมื่น เพราะกว่าจะเปิดร้านได้ต้องสู้ทุกก้าว เคยเดินไปยื่นหนังสือถึงรัฐสภา ให้หนุน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แต่ก็ถูกคว่ำไม่เป็นท่า (2 พ.ย.65) โอกาสนี้ที่กำลังจะได้รัฐบาลใหม่ จึงวิงวอนให้ช่วยเป็นหลังพิง ปรับแก้กฎหมายสุดโต่งที่ปิดกั้นคนทำมาหากิน

Advertisement

22 พ.ค.2557 ย้อนกลับไปในวันที่กฎหมายยังปิดประตู ‘ลุงตู่’ แห่ง คสช. ก่อรัฐประหาร เขาในวัย 32 ซุ่มเปิดกิจการอยู่ในมุมมืด แต่ต้องไปผลิตถึงเมืองนอก

20 พ.ค.2566 คือวันจับมืออ่านแถลงการณ์พรรคร่วมรัฐเบียร์ ต่อต้าน ม.32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมสุรา

22 พ.ค.2566 วันที่รัฐบาลใหม่คล้องแขนเซ็น MOU ให้คำมั่นทำตามนโยบายร่วม จึงเป็นวันจุดประกายความหวัง เพราะ 2 ข้อในนั้น เป็นเหมือนเดิมพันต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการตัวเล็ก

‘ข้อ 9 ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน ข้อ 10 ยกเลิกการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม’

26 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่รีรอยกโขยงตัวแทนสมาคมสุราท้องถิ่นไทย เครือข่ายสุราแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์ ไปหาว่าที่นายกฯ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ผู้ผลักดันคนสำคัญ เพื่อแสดงความยินดีกับก้าวไกล พร้อมยื่นหนังสือส่งเสียงถึง ส.ว.

จากบัณฑิตวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ม.กรุงเทพ มือเบสวง Abuse the Youth ฟรีแลนซ์ทำแอนิเมชั่น และผู้เป็นเจ้าของร้านเช่าการ์ตูน หันเหสู่เส้นทางสร้างโรงเบียร์สหประชาชื่น ที่มีคนจากสหประชาชาติเคยมานั่งชนแก้ว จากวันที่เปิดบาร์ยืนยังไม่มีเก้าอี้นั่ง กระทั่งวันนี้คนแห่มาถามเพราะอยากทำบ้าง เห็นเค้าลางกติกาการค้าที่กำลังจะแฟร์

5 โมงเย็นย่ำ คือเวลาประตูเปิดรับคนทำงานให้มาล้อมวงจิบคราฟต์เบียร์แกล้มอาหาร สนทนาการเมืองอย่างออกรส

สำหรับ ‘ตูน’ หวังให้ที่นี่เป็นมากกว่าจุดหลอมรวมความเมามาย แต่มันกลายเป็น ‘สโมสร’ ของหมู่บ้าน

⦁คนที่มากินเบียร์ ส่วนมากเขาคุยกันเรื่องอะไร?

หลายเรื่องนะ ฟุตบอลบ้าง การเมือง อกหัก เรื่องทั่วไป โปรแกรมเมอร์มานั่งทำงานคุยเรื่องเทคก็มี ตั้งแต่หลังเลือกตั้งร้านเต็มเกือบทุกวัน มาถาม ‘ผมอยากเปิดโรงเบียร์บ้าง’ อย่างวันแกรนด์โอเพนนิ่ง มีบินมาจากต่างจังหวัดหลายคนมาก ถ้าจะทำบ้างต้องทำยังไง จังหวะมันค่องข้างพอดีกัน เพิ่งได้ใบอนุญาตช่วงที่กำลังเข้มข้นพอดี

ผมอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนสโมสรหมู่บ้าน ผู้ใหญ่มาได้ เด็กมาดี ผมไปดูโรงเบียร์ที่ต่างประเทศมันไม่เหมือนบ้านเราที่เน้นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เขาก็มานั่งกินกันพ่อแม่ลูก ลูกก็กินเบอร์เกอร์ มันก็แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง แค่ร้านนี้เบียร์เขาอร่อย อายุไม่ถึงก็ยังไม่ต้องกิน ไม่ได้เมาสนุกสุดเหวี่ยงเหมือนไปเที่ยวข้าวสาร คนละฟีล มันจะเป็นอะไรที่รีแลกซ์ ดื่มสัก 2-3 ชั่วโมงก็กลับบ้าน

พูดแล้วขนลุก ได้กลิ่นความเจริญ ศุภพงษ์ พรึงลำภู แห่งพรรคร่วมรัฐเบียร์ ยื่นข้อเสนอแก้ผูกขาด พลิกสุราเป็นภาษีช่วยชาติ

⦁พร้อมเดินหน้ามากแค่ไหนหลังได้รัฐบาลใหม่?

โรงเบียร์สหประชาชื่น เปิดมา 1 ปีแล้ว (25 พ.ค.65) แต่เพิ่งได้ใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ 2-3 เดือนที่แล้ว ความจริงพวกเราผู้ประกอบการแอลกอฮอล์ทางเลือกไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ พึ่งพาตัวเองมาตลอด ถ้ารัฐบาลใหม่สามารถปลดล็อกให้ทุกอย่างง่ายขึ้น พวกเราพร้อมมากๆ

⦁ก่อนมาเป็นโรงเบียร์แห่งนี้ ต้องผ่านการต่อสู้อะไรมาบ้าง?

ผมเริ่มทำปี 2557 ปีเดียวกับรัฐประหาร ทุกคนเข้าใจดีว่ากฎหมายไม่เอื้อ การเชื่อมโยงของประชาชนในการออกกฎหมาย มันขาดออกจากกัน พูดตรงๆ ว่าความหวังมีน้อยมาก ความจริง พ.ร.บ.สุรา มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตอนปี 2560 ซึ่งก็แทบจะเหมือนเดิม คือเปลี่ยนจากกฎต่างๆ มาเป็น พ.ร.บ. แต่ยังคงเงื่อนไขที่โรงเบียร์ต้องผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี หรือว่าถ้าเป็น
“บรูผับ” (Brewpub) อย่างผมต้อง 100,000 ลิตรต่อปี ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แบบนี้ก็มี คุณอยากทำวิสกี้ทำวอดก้า ต้องมีกำลังการผลิต 30,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งก็ไม่มีใครตอบได้ว่ากำหนดตัวเลขเหล่านี้มาทำไม มีประโยชน์ต่อการแข่งขันตรงไหน แต่เรายังเรียกร้องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนที่จะยื่น พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล ตอนนั้นก็มีการออกกฎกระทรวงใหม่ แก้ไขกำลังการผลิต เห็นไหมมันแก้ได้ แก้ที่ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง’ คือต้องเป็นมติของรัฐบาลให้แก้ ไม่อย่างนั้นประชาชนพูดให้ตายก็ไม่เปลี่ยน

⦁เรียกว่าคนทำสุรามีมติตรงกันว่าต้องการอะไร แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เห็นความสำคัญ?

ผมว่าคนทำเบียร์มีความต้องการง่ายๆ ความจริงในกฎหมายไทย เบียร์อยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เลยไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำให้มันถูกกฎหมายไม่ได้ เราอยากเข้าถึงใบอนุญาตง่ายกว่านี้ ความรู้สึกแรกที่เจอเมื่อ 8 ปีก่อน ผมอ่านแค่คำว่า ‘ทุนจดทะเบียน 10 ล้าน’ เฮ้ย! มันไม่ใช่เรื่องของคนธรรมดาแล้ว ถ้าอยากบรรจุขวดได้ก็ต้อง 10 ล้านลิตร ก็คงประมาณตึก แทงก์น่าจะสูงสัก 20 เมตร (หัวเราะ) ลองนึกภาพชาวบ้าน เกษตรกร หรือชาวเขาที่โฮมสเตย์ เขาจะไปทำได้ไง พูดตรงๆ เดี๋ยวนี้การทำเบียร์ที่บ้านมีทั่วไป อุปกรณ์หาซื้อได้ ทุกคนก็พยายามฝึกฝนฝีมือ ถ้าเกิดกฎหมายเมกเซนส์ มีทางออก เขาก็พร้อมจะเข้าระบบ

⦁กฎหมายในปัจจุบัน ยังไม่เอื้ออย่างไรบ้าง?

ผมดูจาก MOU ที่เพิ่งประกาศเมื่อ (22 พ.ค.) มันมีเรื่องของการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ทุกวันนี้เบียร์รายย่อยเสียภาษีแพงกว่าเบียร์เจ้าใหญ่ เพราะการคำนวณภาษีแบบที่ใช้ราคาปลีก ผมแนะนำให้ใช้วิธีการคำนวณใหม่ พวกผมทำแก้วขึ้นมา จะมีสัดส่วนภาษี คือ 22 เปอร์เซ็นต์ของราคาปลีก แนะนำให้เข้ากรมสรรพสามิต แต่ประเด็นคือ ‘ราคาปลีก’ โดยพื้นฐานรายย่อยจะแพงกว่ารายใหญ่อยู่แล้ว เพราะต้นทุนวัตถุดิบคนละสเกล การที่คิดของคนตัวเล็กกับคนตัวใหญ่เท่ากัน มันไม่เรียกว่าเป็นธรรม อาจจะเรียกว่า ‘เสมอภาค’ แต่ไม่ใช่การแข่งขันที่แฟร์

ผมว่าพวกเราเข้าใจดีว่าภาษีมันจะถูกเอาไปใช้พัฒนาประเทศ แต่ทุกวันนี้รายย่อยเสียภาษีเท่ารายใหญ่ รายได้เข้ารัฐ 99% มาจากรายใหญ่ ถ้าเกิดว่ารายย่อยขยายตัวมากขึ้นก็จะเก็บได้มากขึ้น การเก็บภาษีที่แพงเกินไปทำให้ของหนีภาษีมีมากขึ้น ฉะนั้น ก็ช่วยเก็บภาษีให้มันเมกเซนส์ จะได้เก็บกันเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น แล้วก็ช่วยเอาภาษีไปทำเรื่องดีๆ อาวุธก็อย่าไปซื้อเยอะ เอาไปพัฒนาเรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์บ้าง

⦁‘เสมอภาค’ ไม่ได้หมายความว่า ‘เป็นธรรม’ เสมอไป แต่คือการออกแบบกติกาให้เอื้อกับคนทุกกลุ่มที่ต้นทุนไม่เท่ากัน?

ใช่ ผมมองว่าการแข่งขันที่เป็นธรรม เหมือนกีฬา เขายังแบ่งรุ่น แบ่งไซซ์ แบ่งเพศ แบ่งอายุ เพื่อให้คนสามารถแข่งขันกันได้ เมื่อการแข่งขันไม่เป็นธรรม คนก็ไม่อยากแข่ง อย่างน้อยที่สุดที่อยากเห็น คือเราไม่ควรเสียภาษีแพงกว่าเจ้าใหญ่ กติกามันสามารถมีความสร้างสรรค์ได้ เช่น ถ้าใช้วัตถุดิบการเกษตรของไทย จะได้ส่วนลดภาษี มันก็จะสปินไปอีกต่อหนึ่งกับพี่น้องเกษตรกร และทำให้เกิดความต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ผมอยากเห็นกติกาที่สร้างสรรค์ กระตุ้นให้ทุกคนออกมาแข่งขันกันทำมาหากิน

⦁ถ้าตลาดยังถูกผูกขาดต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น?

สถานการณ์ปัจจุบัน ตลาดเบียร์ประมาณ 2-3 แสนล้าน มีผู้เล่นอยู่แค่ไม่เกิน 10 รายที่ครอง 99% ของเราไม่อยู่ในเพาเวอร์พอยต์เขาหรอก แค่จุดนิดเดียวน่าจะขึ้นจอไม่ได้ (หัวเราะ) ถามว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น คือหนึ่งแทนที่เงินตรงนี้มันจะได้กระจายไปถ้วนทั่วก็ไปกระจุกอยู่แค่ไม่กี่บริษัท สมมุติบริษัทนึงเขาจ้างได้สัก 10,000 คน แบ่งมาสักเปอร์เซ็นต์เดียว 1,000-2,000 ล้าน มันสามารถมีบริษัทเล็กๆ ได้กี่บริษัท อย่างโรงเบียร์ของเราเล็กนิดเดียว แต่อยู่หลายครอบครัว สร้างอาชีพให้ได้ตั้งหลายงาน ถ้ามีอย่างนี้ไปทั่วๆ มันจะดีกว่าไหม

สอง พอมันไม่มีการแข่งขันก็ไม่เกิดการพัฒนา โปรดักต์จมอยู่กับที่ เปลี่ยนฉลากไปเรื่อยๆ ยังไม่พอ แอลกอฮอล์มันอยู่คู่กับมนุษย์มานาน พวกภูมิปัญญาชาวบ้าน สุราพื้นบ้านทั้งหลายก็ไม่มีใครสืบต่อ เพราะทำไปก็โดนจับหมด

⦁เคยได้ยินเรื่องเล่า ได้เห็นศักยภาพของคนทำสุราพื้นบ้านอย่างไรบ้าง?

ผมทึ่งมากกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะผมทำเบียร์ต้องใช้ความร้อน แต่ว่าคนทำสาโท ใช้กระติกน้ำใบเดียว แล้วทำอร่อยด้วย คือภูมิปัญญาชาวบ้านไทยมักจะใช้อะไรน้อยมาก เพราะบ้านเราเป็นสังคมเกษตรกรรมมาก่อน ไห ตุ่มอะไรพวกนี้ เขาสามารถเปลี่ยนเป็นภาชนะหมักสุราได้หมดเลย มันมหัศจรรย์มาก (ยิ้ม) และมีงานวิจัยเกี่ยวกับวิธีการพวกนี้มาเรื่อยๆ แต่จะโดนตัดงบบ้างอะไรบ้าง จะทำวิจัยเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ปุ๊บ ก็โดนแคนเซิลหมด

⦁ไทยยังมีกรอบ ‘ขัดศีลธรรมอันดี’ ที่เหนียวแน่นอยู่?

ใช่ (หัวเราะ) ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเงินกู้ ธุรกิจแอลกอฮอล์ ธนาคารเขาไม่จ่ายให้ คือต้องบ้านรวยหรือใจรักจริงๆ ผมเคยเจอสาโทที่ จ.ขอนแก่น ลุงคนนี้ชื่อ ลุงสวาท อุปฮาด อยู่ อ.นำพอง ทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตที่ได้เอามาทำสาโทขาย รสออริจินัล และโรเซ่ ลูกหม่อนออกก็ทำสาโทลูกหม่อน สาโทผสมสับปะรด แล้วเปิดเป็นโฮมสเตย์ ไปนาแกคือสามารถกินข้าว กินปลา ดื่มสาโทที่แกทำ สาโทตัวไหนที่ไม่ดีมากนัก ก็เอาไปกลั่นเป็นเหล้าต่อ แกจะสอนชาวบ้าน มี ‘วันกินปลา’ เป็นเทศกาล คือวันที่ดูดน้ำขึ้นมาเพื่อเก็บเกี่ยวจะชวนชาวบ้านให้เอาสาโทที่บ้านมาแชร์กัน แล้วก็มากินปลาร่วมกันในนา เรื่องแบบนี้พูดแล้วมันโรแมนติกจะตาย ผมว่านักท่องเที่ยวก็อยากจะมา

⦁มีโอกาสที่สาโทไทย จะเป็นเหมือน ‘โซจู’ เกาหลีหรือไม่?

ได้สิ ถามจริงเมื่อก่อนใครชอบกินโซจูบ้าง พอมันมีการกระตุ้นก็ทำให้ฮิตขึ้นมา แต่ว่าไม่ได้อยู่ดีๆ ฮิต เป็นการทำงานอย่างเป็นระบบของรัฐบาล โอเคมันแรง เขาก็กระตุ้นให้ทำกลิ่นอื่นๆ ขึ้นมาสิ ที่ดื่มง่าย วิธีดื่มที่น่าสนใจ อย่างเมื่อก่อนมี ‘มักกอลลี’ เหล้าเกาหลีคล้ายๆ สาโทบ้านเรา เขาก็ทำเป็นรสยาคูลท์ บลูเบอรี่ เกิดความน่าสนใจขึ้น ตลาดก็ตื่นตัว ขณะที่ของบ้านเรา คนเข้าไปเล่นก็ไม่ได้ คนรุ่นเก่าก็จะไม่มีแรงแล้ว อยากให้เขาพัฒนาแพคเกจจิ้งหรอ อยู่ธรรมดาเขาก็ต้องระวังโดนจับอยู่ทุกวัน โฆษณาไม่ได้ ดังนั้น MOU ข้อ 9 การแข่งขันที่เป็นธรรม ผมคาดหวังให้ 1.เราเข้าถึงการผลิตได้ มีการเก็บภาษีที่แฟร์ เหมาะแก่การแข่งขัน 2.การห้ามสุราประเภทต่างๆ คือ ‘สุราพิเศษ’ ทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมไทยทำวิสกี้ ทำวอดก้าไม่ได้ กลั่นเหล้าขาวมาแล้วเอาไปบ่มต่อ จาก 70 บาท สามารถเพิ่มมูลค่าได้ แต่ว่าอะไรแบบนี้ไม่ให้ทำ ทำได้คือต้องเป็นเจ้าใหญ่ เพราะมันเขียนว่ากำลังการผลิตคุณต้องเยอะถึงจะอนุญาต ซึ่งมันไม่มีเหตุผล

⦁รัฐบาลใหม่ ควรใช้โอกาสนี้ ผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าเลยไหม?

ผมคิดว่าใน 100 วันแรก เรื่องของกฎกระทรวงต่างๆ สามารถเซ็นแก้ไขได้เลย จะกระตุ้นให้คนอยากมาลงทุน เช่น ล่าสุดที่มีการแก้เรื่องเบียร์ จากเริ่มต้น 100,000 ลิตร เป็น 100 ลิตร แต่เรื่องสุราขาว สุราแช่ ก็ยังไม่ค่อยนำพาเท่าไหร่ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุรา เรามีคู่มืออยู่แล้วว่ากฎหมายไหนบ้างที่เป็นอุปสรรค แล้วควรเอาอะไรเข้า-ออก มีงานวิจัยจากต่างประเทศ เรื่องพวกนี้มันไม่ควรบังคับที่ขั้นต่ำ จริงๆ เรามีมาตรฐานเยอะมาก เอากฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้ร่วมกันได้ ถ้าเขาอยากเริ่มเท่าไหร่ก็ว่ากันไป เพราะสุดท้ายเรื่องต้นทุนอื่นๆ จะมาบอกเองว่า เขาควรจะทำขนาดเท่าไหร่

⦁หน้าที่ของรัฐ คือแค่เปิดโอกาสและทำให้กติกาเป็นธรรม?

ใช่ อย่าง ‘เรื่องภาษีสุรา’ ทำให้เกิดความแบ่งแยกเยอะ คือภาษีเหล้าขาวถูกที่สุด รัฐบาลบอกว่าถ้าเหล้าขาวแพงคนจะไม่ได้กิน มุมมองแบบนี้ ให้คนจนมีสิทธิกินเหล้าขาวอย่างเดียวเหรอ? ถ้าภาษีเบียร์ ภาษีไวน์ถูกลง คนจนก็กินเบียร์ กินไวน์ได้ การแบ่งประเภทอย่างนี้ไม่เมกเซนส์ มันควรจะเป็นการคิดแบบว่า ‘สุราแช่’ ไม่เกิน 15 ดีกรี เสียภาษีเรตนึงโดยคิดจากปริมาณแอลกอฮอล์ ส่วน ‘สุรากลั่น’ ตั้งแต่ 20 ดีกรีขึ้นไปก็คิดอีกเรต ฐานคิดภาษีฟุ่มเฟือยที่เอาไปยัดใส่สุรา แล้วเกิดการแบ่งแยกแบบนี้ ควรจะถูกเอาออกไปด้วย

⦁คนทำคราฟต์เบียร์มองเห็นความหวังมากขึ้น แต่หลังจากนี้มีโอกาสสะดุดอุปสรรคอะไรอีกบ้าง?

ผมเห็นความหวัง เพราะเป็นคณะรัฐบาลที่สะท้อนเสียงประชาชนจริงๆ ยังเหลือ ‘ส.ว.’ เป็นมรดกของคณะรัฐประหาร เราจะเรียกร้องเขาได้ไหม ผมไม่แน่ใจว่าเขาเคยได้ออกนอกบ้านมาฟังเสียงประชาชนบ้างหรือเปล่า ข่าวก็ออกบ่อยเปิดสื่อดูไหม หรือดูเฉพาะบางช่อง เราอยากให้การเมืองยึดโยงกับประชาชนจริงๆ เพื่อที่ว่าการบริหารบ้านเมืองจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ส่วนเรื่องการควบคุมแอลกอฮอล์สุดโต่ง ถ้าสมมุติ MOU ข้อ 9 ได้ปลดล็อกสุราพื้นบ้าน ก็ยังติดที่ ‘สื่อสารไม่ได้’ ถ้ายังไม่โดนกับตัวอาจจะไม่เก็ท มีประชาชนจำนวนมาก รวมถึงผู้ประกอบการโดนจับจากการโฆษณา คุณลองนึกภาพดูสุราชุมชนที่อยู่ตามท้องถิ่น ชายแดน ไม่ให้เขาขายออนไลน์แล้วให้ขายไหน ใครจะไปเห็นสินค้า

ห้ามขายบ่าย 2-5 โมง คุณลองนึกภาพนักท่องเที่ยว บ่าย 2 เพิ่งเช็กอินโรงแรม วันหยุดของเขาทำงานหนักมาอยากจะขอดื่มสักหน่อย ‘รอก่อน ยังขายไม่ได้’ การบังคับสุดโต่งที่ไม่แยกแยะระหว่างสุราทำอาหารกับสุราแบบบริโภค พวกเหล้าจีน เหล้ามิริน ก็ห้ามไปด้วยหมด เรื่องการห้ามโฆษณา (ม.32) มันร้ายแรงมาก ปรับ 50,000-500,000 บาท เป็นส่วนแบ่งให้เจ้าหน้าที่ ถ้าสมมุติมีคนแจ้งจะมีรางวัลสินบนนำจับให้ 20% แต่ถ้าไม่มีคนแจ้ง ทั้ง 80% เข้าสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีก 20% เข้ากระทรวงการคลัง ตรงนี้ผมสงสัยว่ามันเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เขาจับคดีเหล่านี้เป็นพิเศษหรือเปล่า หน้าที่เขาคือ ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อันตราย ไม่ใช่ไล่จับคนที่ทำมาหากินสุจริต

เจตจำนงของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกิดขึ้นมาเพื่อป้องกันเยาวชน แต่ขายให้เยาวชนปรับแค่ 6,000 บาท ไม่พอ ยังเขียนช่องว่างไว้ว่าสามารถออกข้อกำหนดเพิ่มได้เรื่อยๆ ตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มข้อกำหนดโทษสำหรับการดื่มหลังเวลาจำหน่าย คุณลองนึกภาพดู ร้านปิดเที่ยงคืน เที่ยงคืน 1 นาที ก็จะมีเจ้าหน้าที่บุกเข้ามาเหมือนจับยา (หัวเราะ) นึกภาพผับไฟเปิด ‘ทุกคนหยุดนะ โอ๊ยตายแล้วเหล้ายังไม่หมดแก้วเลย คุณโดนปรับแล้ว 30,000 เจ้าของร้านโดนปรับหลักแสน คุณทำเพื่ออะไร หรือนั่งกินร้านข้าวต้ม บ่ายสองปุ๊บโดนชาร์จ กฎหมายเหล่านี้ขัดกับ MOU ข้อที่ 9 ด้วย

อย่าไปคิดว่าของเราจะเกิดขึ้นอย่างที่ซีรีส์เกาหลี เพราะว่ากฎหมายพวกนี้บีบคอพวกเราอยู่ ไปย้อนอ่านรายงานการประชุมทุกคนพูดจาเหมือนตอนนี้ ตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

⦁คือทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยังต่อสู้เรื่องเดิม?

ใช่ เขาพูดว่าทำแบบนี้จะกระทบต่อการท่องเที่ยว ต่อผู้ค้าแอลกอฮอล์รายย่อย ต่อเศรษฐกิจ ฟังแล้วไม่นำพา คณะกรรมการควบคุมฯ ที่ไม่มีผู้ประกอบการ หรือประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม มันทำให้การออกกฎหมายแต่ละอย่างสร้างแต่ความเดือดร้อน ผมไม่เห็นประโยชน์จริงๆ เห็นแต่ยอดเงินสินบนที่เขาได้แต่ละปี เราร้องไปทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประชาชนรวมรายชื่อยื่นเสนอขอแก้ไขไปแล้ว ถ้ารัฐบาลใหม่ยึดข้อตกลง MOU ปลดล็อกกฎหมายควบคุมสุดโต่งได้ เราจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมการดื่มการกิน มีการแข่งขัน มีความพัฒนา นำไปสู่การส่งออก พูดแล้วขนลุกสัมผัสได้ถึงความเจริญ (หัวเราะ)

⦁เป็นไปได้จริงหรือ ถ้าปรับแก้กฎหมาย-สลายทุนผูกขาด ยอดขายของเจ้าใหญ่หดหาย เขาจะยอม?

มองจากทั่วโลก ทุนเจ้าใหญ่ก็ใหญ่ไปเรื่อยๆ แต่ว่าของบ้านเรามันใหญ่เกินไป มันต้องรู้จักแบ่งให้คนอื่นทำมาหากินบ้าง อย่างว่าที่นายกฯพิธา พูดว่าหายเต็มที่ก็ 5% อเมริกาหายสูงสุด 10% ตอนนี้ก็ดร็อปลงมา จริงๆ เราไม่สามารถใหญ่มากได้หรอก คุณคิดว่าผมจบ MBA ฮาร์วาร์ดเหรอ จะบริหารกิจการใหญ่โตได้ขนาดนั้น เราไม่ได้อยากจะ โอโห ‘ฉันจะเป็นเจ้าตลาด เจ้าโลก’ แค่อยากทำกินได้ ผมมองว่าไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่จะล้นออกไปจากเจ้าใหญ่ มันจะช่วยคนได้มาก เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ มันเหมือนเราจินตนาการกัน แต่แค่นี้กลิ่นความเจริญมันเริ่มมา ชั่วโมงนี้ก็ขอร้องเถอะ ไม่ว่าจะ ส.ว.หรือ ส.ส.พรรคการเมือง เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เรามีบทเรียนมากพอแล้ว

⦁ขอเบียร์ 1 รสในร้าน ที่คิดว่าเหมาะสมกับประชาชนคนไทยในเวลานี้?

ตอนนี้เรามี แลนด์สไลด์ IPA ตั้งชื่อให้เข้ากับสถานการณ์นิดนึง (หัวเราะ) คนชื่นชอบกันมาก วันแกรนด์โอเพนนิ่ง (20 พ.ค.66) จัดตัวนี้กันรัวๆ มันเป็นเบียร์อีกสไตล์นึง มีกลิ่นมีรสชาติมากกว่า เบียร์ก็เหมือนกับกาแฟ ตอนนี้กาแฟคนไทยน่าจะเยอะกว่าอิตาลีแล้วมั้ง คือถ้ารัฐบาลไม่ยุ่งเขาก็หาทางเจริญเติบโตเองได้ การคิดแทนทำให้โตไม่ได้ ก็เลยไปโตใต้ดินกันแทน

⦁แต่อีกด้าน ก็มีเสียงค้านว่าถ้าเปิดเสรี คนจะมอมเมากันทั้งประเทศหรือเปล่า?

ไม่งั้น เยอรมันประเทศคงล่มสลายไปแล้วมั้ง เขากินกันทั้งวัน จริงๆ กินเต็มที่วันนึงก็ไม่เกิน 1-2 ลิตรหรอก เพียงแต่ว่าแทนที่เขาจะจ่ายให้บริษัทเดียว เขาจะจ่ายให้ชาวบ้านชาวช่อง อาจจะจ่ายให้บริษัทเล็กๆ ที่อยู่แถวบ้าน ให้คนแถวนั้นมีงานทำ ไม่ใช่สุราเสรีแล้ว ฉันกินเหล้าทั้งวัน มันก็ต้องไปทำงานหาเงิน จินตนาการแบบนั้นมันสุดโต่งไป อยากให้มองในแง่ที่ว่าเขาจะมีความสุนทรีย์มากขึ้นในเวลาพักผ่อน มายด์เซตแบบนี้มันมีบ้างไม่ได้หรอ ท่านผู้มีความเจริญทั้งหลายก็ดื่มไวน์ ดื่มวิสกี้เมืองนอกกันทั้งนั้น แล้วพอจะปลดล็อกสุราให้มีความหลากหลาย โอ้ ตายแล้ว! (หัวเราะ) ประเทศไทยมีด่านตรวจแอลกอฮอล์เยอะที่สุดในโลก กฎหมายจราจรก็มีอยู่ เราควบคุมกันอย่างมีสติ มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่สักแต่จับ-ปรับ แต่ว่าไม่เรียนรู้อะไรเลยแล้วก็เอาสินบนไปแบ่งกัน

ก็เพลาๆ บ้างกับความมโน มันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว ประชาชนไม่พร้อมจะรออีกต่อไปแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image