รถไฟจีนเชื่อมอินโดจีน ยุทธศาสตร์เริ่มใช้งาน : คอลัมน์เดือนหงายที่ชายโขง

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งวันหนึ่งในการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศจีนกับประเทศลุ่มน้ำโขง เมื่อรถไฟขบวน K9813 ออกเดินทางจากสถานีรถไฟใหม่เมืองอี้ว์ซี (Yuxi) มณฑลยูนนาน ปลายทางกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระยะทาง 502 กิโลเมตร และวันต่อมา รถไฟความเร็วสูงสายเซี่ยงไฮ้-ยูนนาน ก็เปิดทำการเช่นกัน ทำให้โครงข่ายคมนาคมทางรางของจีนเชื่อมต่อลงมาถึงกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นครั้งแรกนับแต่ขาดกันไปในสงครามโลกครั้งที่สอง

การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางรางของจีนนั้น เป็นยุทธศาสตร์หลักและเข็มมุ่งตามนโยบายของประธานประเทศ สี จิ้นผิง มาตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง ระบบ One Belt-One Road และเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 มีแผนที่จะเชื่อมต่อทางรถไฟจากสุดขอบทวีปยูเรเชียด้านหนึ่งฝั่งจีน ไปจรดสุดปลายขอบทวีปอีกด้านหนึ่งที่สเปน ซึ่งการเชื่อมโยงก็สำเร็จแล้วแต่ยังต้องเจรจาต่อรองปัญหาด้านเขตแดนต่างๆ รวมถึงการสร้างโครงข่ายให้เชื่อมโยงลงมาทางเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อขยายเส้นทางการขนส่งจากมณฑลด้านในและกระจายความเจริญให้ทั่วถึง

แผนการเชื่อมโยงทางรถไฟหรือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ของจีน เป็นการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อลดความแออัดของท่าเรือและการเดินทะเล ซึ่งมีความเสี่ยงหลายประการ และลดความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์พาณิชย์ของทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทหลายฝ่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจาการค้ารวมถึงปรับดุลอำนาจทางทะเล

สถานีอี้ว์ซีใหม่ดังกล่าว จะเป็นชุมทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อมณฑลยูนนานกับอินโดจีน โดยมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกับนครคุนหมิง รถไฟเร็วระหว่างอี้ว์ซี-ฮานอย และรถไฟเร็วอี้ว์ซี-ม่อหาน เชื่อมชายแดนลาว ซึ่งจะพัฒนาต่อเนื่องเป็นรถไฟถึงนครหลวงเวียงจันทน์และเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดมณฑลยูนนานที่มีประชากรมากกว่า 45 ล้านคน ให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเต็มตัว โดยก้าวข้ามอุปสรรคทางภูมิประเทศและขุนเขาที่สลับซับซ้อนด้วยทางรถไฟ

Advertisement

ทั้งนี้ ทางการลาวได้เปิดเผยว่า จะเริ่มงานก่อสร้างทางรถไฟช่วงม่อหาน-หลวงพระบาง และมีพิธีเปิดหน้าดินเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2016 นี้ด้วย

ความล่าช้าในการก่อสร้างรถไฟเชื่อมต่อจีนกับประเทศลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมา เกิดจากความไม่ลงตัวในเงื่อนไขและข้อเจรจาในการก่อสร้างทั้งสองฝ่ายรวมถึงปัญหาด้านการสำรวจทางภูมิศาสตร์ ในประเทศลาวยังมีปัญหาความไม่พอใจและการก่อความไม่สงบต่อต้านบริษัทจีนอยู่ประปราย เนื่องจากประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการสัมปทานปลูกยาง ตัดไม้ และทำเหมืองของจีนในอดีต ส่วนทางรถไฟที่ไทยและจีนร่วมลงนามและทำพิธีไปเมื่อ 20 ธันวาคม 2015 จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากยังไม่สามารถตกลงเรื่องแหล่งเงินและอัตราดอกเบี้ยรวมถึงการดำเนินงานรับผิดชอบได้

โครงการก่อสร้างทางรถไฟเป็นโครงการที่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์หลายมิติทั้งในแง่การต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างชาติรัฐ เศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงความมั่นคงทางยุทธศาสตร์

Advertisement

การเห็นพ้องต้องกันเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางรางที่สามารถขนส่งสิ่งของและผู้คนจำนวนมากได้ในครั้งเดียว ต้องอาศัยความเชื่อมั่นไว้ใจกันระหว่างรัฐอย่างสูงยิ่ง รวมถึงต้องประสานผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ด้วยระบอบการปกครองของประเทศจีน และประเทศในลุ่มน้ำโขงที่วางแผนเชื่อมต่อทางรถไฟทั้งหมดในขณะนี้ ขาดความโปร่งใสและการนำเสนอข่าวอย่างชัดเจน ทำให้การสร้างความไว้วางใจและเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและจะเป็นผู้ใช้งานรถไฟเชื่อมต่อนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ละโครงการถูกปิดบังและไม่มีความแน่นอน ได้แต่หวังว่าผลประโยชน์ของทางรถไฟนั้นจะนำพาประโยชน์สุขแก่ประชาชน มิใช่เพียงกลุ่มธุรกิจใหญ่และผู้บริหารบ้านเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image