รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ เลคเชอร์ ‘ปารีสโมเดล’ เลือกนายกเขต ‘กรุงเทพมหานครมีอำนาจน้อยมาก’

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ เลคเชอร์ ‘ปารีสโมเดล’ เลือกนายกเขต ‘กรุงเทพมหานครมีอำนาจน้อยมาก’

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ เลคเชอร์ ‘ปารีสโมเดล’ เลือกนายกเขต ‘กรุงเทพมหานครมีอำนาจน้อยมาก’

กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก ไม่เพียงชาวกรุงเทพมหานครเท่านั้น สำหรับ ‘ปารีสโมเดล’ ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นำเสนอต่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ในวันที่ยกทัพสมาชิกสภา กทม.และว่าที่ ส.ส.กรุงเทพฯ เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นและแนวทางการทำงานร่วมกัน เมื่อ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

ทำเอาสีส้มสาดแสงออร่าฉาบทับสีเขียวของ (ศาลาว่าการ) กทม.เสาชิงช้าไปชั่วขณะ

ในวันนั้น มีการเสนอให้มีการแก้กฎหมาย เปลี่ยนโครงสร้างโดยใช้โมเดลปารีส ‘เลือกนายกเขต’ เพื่อให้การบริหารเมืองหลวงเมืองฟ้าอมรของไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Advertisement

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิษย์เก่าฝรั่งเศส ผู้คว้าปริญญาโทและเอกด้านกฎหมายมหาชน (Doctorat en Droit, Mention très honorable à l’unanimité des membres du jury) จากมหาวิทยาลัย Nantes ให้เกียรติพูดคุยประเด็นดังกล่าว โดยอธิบายว่า ปารีสโมเดล สื่อถึงเขตปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ กล่าวคือ ปกติแล้วประเทศฝรั่งเศสแบ่งการปกครองท้องถิ่นเป็น 3 ชั้น ได้แก่ 1.ภูมิภาค 2.จังหวัด และ 3.เทศบาล เนื่องจากปารีสเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก จึงได้รับ 2 สถานะ คือเป็นทั้งจังหวัดและเทศบาลในตัว หมายความว่ากรุงปารีสที่เราเรียกกันนั้น มีอำนาจหน้าที่มากกว่าเทศบาลทั่วไป

“สถานะเขตหรือตารางกิโลเมตรของเมืองแม้ไม่ได้ใหญ่มาก แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มากและมีสถานะเป็นเมืองหลวงด้วย ก็เลยทำให้ถูกยกระดับกลายเป็นจังหวัดด้วย พอมีสถานะเป็นจังหวัดแล้วก็มีอำนาจหน้าที่มากกว่าเทศบาลอื่นๆ ทั่วๆ ไป ในฝรั่งเศสก็จะมีเมืองที่คล้ายๆ กับปารีส เช่น เมืองลียง (Lyon) มาร์เซย (Marseille) และคอร์ซิกา (Corsica) ที่อยู่ทางใต้ เป็นต้น”

ส่วนประเด็นด้านบทบาทหน้าที่ของนายกเทศมนตรีเมืองปารีส รศ.ดร.วรรณภาอธิบายว่า เหมือนนายกเทศมนตรีเมืองอื่นๆ แต่มีหน้าที่เพิ่มเติม เพราะเมื่อปารีสกลายเป็นจังหวัดด้วยก็ทำให้มีอำนาจหน้าที่มากกว่าเมืองอื่นๆ และด้วยความที่ปารีสมีความซับซ้อนสูง จึงทำให้ปารีสถูกแบ่งออกเป็นเขต ตามกฎหมายกระจายอำนาจของเมืองปารีสในปี 1982 ที่แบ่งปารีสออกเป็น 20 เขต ในแต่ละเขตมีสภาเขตและก็นายกเขตที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสมาชิกของสภาเขตประกอบไปด้วยสมาชิก 2 ส่วน คือ สมาชิกสภาเขตส่วนแรกมาจากสมาชิกสภาเมืองปารีส ซึ่งได้รับเลือกตั้งในเขตนั้น ทำให้มีหมวก 2 ใบ กล่าวคือ เป็นทั้งสมาชิกสภาเมืองปารีสและสภาเขตด้วย สมาชิกในส่วนที่สอง เป็นสมาชิกที่เป็นตัวแทนในแต่ละเขตที่มีการเลือกตั้งทั้ง 20 เขตด้วย ส่วนนายกสภาเขตจะเลือกมาจากสมาชิกสภาเขตที่เป็นสมาชิกสภาเมืองปารีสประจำเขตนั้น มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อการดำเนินการที่เกี่ยวกับเขต ในการจัดทำบริการสาธารณะที่ใกล้ชิดกับประชาชน และตอบสนองความเป็นอยู่ของคนในเขตนั้นๆ เช่น การผังเมือง แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน สถานดูแลเด็ก สวนสาธารณะ สนามกีฬา เป็นต้น สภาเขตของเมืองปารีสคล้ายกับ กทม.ในอดีตที่เคยมีสภาเขตกรุงเทพมหานคร หรือ (ส.ข.) แต่ความพิเศษของเขตในปารีสคือ การมีนายกเทศมนตรีของแต่ละเขตด้วย

Advertisement

“นายกเทศมนตรีก็คือคนที่ดูแลเขต ถ้าเปรียบเป็นแบบบ้านเรา อาจเทียบได้กับ ผอ.เขต แต่ก็อาจไม่ใช่เสียทีเดียวเพราะ ผอ.เขต มาจากการเป็นข้าราชการประจำ แต่นายกเทศมนตรีแต่ละเขตก็จะมาจากการเลือกตั้งจากบรรดาสมาชิกสภาที่อยู่ในเขตนั้น เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ หลักคิดที่สำคัญคือ ‘การกระจายอำนาจ’ เพื่อให้แต่ละเขตสามารถทำงานตอบสนองความต้องการของคนในเขต ซึ่งดูได้จากการวางผังเมือง และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชัดเจนของเมืองปารีส ที่อาจไม่เหมือนกรุงเทพฯ

ฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น โซนธุรกิจ โซนร้านค้า โซนที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการในแต่ละเขต ทำให้ตัวนายกเทศมนตรีเข้าใจปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ไม่เหมือนกับข้าราชการประจำหรือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐแบบปกติ ที่อาจจะไม่ได้ทำงานตามการตอบสนองของประชาชนในพื้นที่ได้ดีเท่าที่ควร”

(ภาพจาก https://www.paris.fr/pages/metropole-192)

นอกจากนี้ รศ.ดร.วรรณภาเผยว่า กฎหมายฐานตั้งต้นของไทยนั้น กรุงเทพมหานครเป็นองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ไม่ได้มีอำนาจแบบจังหวัด

“เราไปทรีตมันเป็นเหมือนจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ อย่างคุณชัชชาติไม่ใช่เหมือนผู้ว่าฯจังหวัดอื่นเพราะเขามาจากการเลือกตั้ง และเราก็ไม่ได้ให้อำนาจกรุงเทพมหานครมากนักในขณะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ถ้าเปรียบกรุงเทพฯกับเมืองหลวงในหลายประเทศที่มีการกระจายอำนาจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโตเกียว และอื่นๆ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเมืองหลวงแบบนี้ มีอำนาจมากกว่ากรุงเทพฯมาก

กรุงเทพมหานครถือว่ามีอำนาจน้อยมาก ตัวอย่างเช่น ขนส่งมวลชน ขสมก. ควรจัดการโดย กทม. ในต่างประเทศ ความเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอำนาจในการจัดการของตัวเอง แต่ในกรุงเทพฯ ณ วันนี้ คนในประเทศแบกรับการใช้สาธารณูปโภคบางอย่าง พวกรถเมล์ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ให้คนกรุงเทพมหานครอยู่ แม้จะวิ่งระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ตาม เพราะไม่ได้กระจายอำนาจหน้าที่ให้กรุงเทพมหานครมากนัก การทำงานของกรุงเทพมหานครเลยมีความยากลำบากพอสมควร ไม่ได้มีความคล่องตัวหรือมีอำนาจมากนัก ยังมีความเป็นส่วนกลางเข้ามาครอบอยู่เยอะ ในขณะที่ปารีสมีอำนาจมากพอสมควร ถือว่าเป็นเทศบาลและจังหวัดด้วย

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การจัดการจราจร ในกรณีที่เรามีฝุ่น PM2.5 กรุงเทพมหานครก็ไม่มีอำนาจในการจัดการระงับ ให้ลดหรือห้ามรถยนต์ ลดการวิ่งเข้ามาในกรุงเทพฯชั้นในเพื่อลดปริมาณฝุ่น เป็นต้น”

รศ.ดร.วรรณภาอธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นการแบ่งโครงสร้างว่า อาจไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับการกระจายอำนาจหน้าที่ให้สามารถจัดการตนเองได้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯอาจไม่ใช่เป็นทางออกทางเดียวของการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ควรกระจายอำนาจหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มีการจัดบริการสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นได้

“ฝรั่งเศสเปลี่ยนโครงสร้างและกระจายอำนาจไปด้วย เป็นโครงสร้างใหม่ตัวอำนาจหน้าที่ก็ตามไปด้วย นอกจากการแบ่งเขตเมืองปารีสออกเป็น 20 เขต สิ่งที่น่าสนใจปารีสในช่วงปี ค.ศ.2014 เป็นต้นมา ปารีสถูกยกระดับให้เป็นเมโทรโพล (Métropole du Grand Paris) เป็นมหานครกลุ่มปารีส มันจะไปครอบคลุมเอาจังหวัด เทศบาลข้างเคียงมาร่วมกันอยู่ด้วยและยกสถานะเป็นนิติบุคคลคือครอบเหนือขึ้นไปอีก ก็จะทำให้ปารีสมันมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นเป็นปารีสบวกเมืองข้างๆ ในขณะที่ผู้ว่าฯกทม.ทำอะไรก็ติดขัด ถ้ากฎหมายไม่อนุญาต ก็แก้ปัญหาไม่ได้ รัฐบาลส่วนกลางเป็นคนทำ มันก็ทำงานได้อย่างไม่คล่องตัว ไม่ตอบสนองให้กับคนในพื้นที่มากนัก”

เมื่อถามว่า หากดำเนินตามปารีสโมเดล อาจจะไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานคร แต่รวมถึงปริมณฑลด้วยใช่หรือไม่?

รศ.ดร.วรรณภาตอบว่า ใช่ โดยอาจพัฒนาเมืองใกล้เคียงกัน แต่ไม่ได้เป็นการยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“มันจะมีองค์กรพิเศษครอบคลุมขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งทันที เพื่อพัฒนานโยบายกรุงเทพมหานครเป็นภาพรวม อันนี้น่าสนใจ เราเรียกว่าเมือง เมโทรโพล หรือเมืองมหานคร เป็นองค์กรความร่วมมือที่ทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างความเป็นเมืองมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ดูแค่เขตอย่างเดียว ไม่ได้ดูเฉพาะกรุงเทพมหานครอย่างเดียว แต่ดูปริมณฑลด้วย ซึ่งมันจะพัฒนาไปพร้อมกัน โดยเน้นการกระจายอำนาจ”

รศ.ดร.วรรณภาย้ำว่า กรุงเทพมหานครยังมีข้อกำจัดหลายๆ ด้าน ต้องไปแก้กฎหมายหลายเรื่องเพื่อกระจายอำนาจให้กับ กรุงเทพมหานคร

“เรามีกรรมการการกระจายอำนาจตั้งแต่ พ.ศ.2540 ที่ทำเรื่องแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ถ่ายโอนอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนถึงปัจจุบัน แต่การกระจายอำนาจยังไปไม่ได้ไกล เพราะถูกเหนี่ยวรั้งจากส่วนกลางด้วย และมักจะคิดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่พร้อม”

เมื่อถามว่า อำนาจและหน้าที่ของนายกเขตเป็นอย่างไร?

รศ.ดร.วรรณภากล่าวว่า เป็นการย่อยลงมาดูเฉพาะเขต และประเด็นที่ใกล้ชิดประชาชน เช่น อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์ ยังอยู่ที่องค์การปกครอง ดูเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โรงเรียนในเขตนั้นๆ รวมถึงอำนาจเกี่ยวกับความเป็นอยู่ การเกิดการตาย โรงเรียน สถานเด็กเล็ก สวนสาธารณะ สนามกีฬา เป็นต้น

ส่วนประเด็นที่ว่า หากนำโมเดลนี้มาใช้ในกรุงเทพมหาคร จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นเทียบกับปารีสได้หรือไม่?

รศ.ดร.วรรณภามองว่า อาจไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว

“อาจเป็นแบบเขตที่แบ่งกัน ที่ถูกแบ่งพัฒนาหรือตอบสนองความต้องการของคนในแต่ละที่ในแต่ละเขตได้ ส่วนตัวคิดว่าโซนนิ่งใน กทม.มีปัญหาตั้งแต่ต้น มันจัดลำบาก ถามว่าดีไหม คิดว่าคอนเซ็ปต์ดี แต่ด้วยปัญหาเรื่องโซนนิ่งจึงอาจจะดีไม่ได้เท่าปารีส ถ้าคนในเขตทำงานกันอย่างจริงจัง ถ้าคนทำงานมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็จะทำงานตอบสนองประชาชน เพราะเป้าหมายคือการถูกเลือกตั้งเข้ามาใหม่ เขาก็ทำงานเพื่อเอาใจตอบสนองประโยชน์สาธารณะของประชาชนในเขตนั้น แข่งขันกันพัฒนา สภาเขตทำงานมีประสิทธิภาพ มันมีหลายปัจจัย การกระจายอำนาจในแต่ละเขตเพื่อทำงานให้ตอบสนองต่อพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว มันก็เป็นอีกโมเดลหนึ่ง การเลือกตั้งลงไประดับเขต จะทำให้การตอบสนองในพื้นที่ดีกว่า เพราะผู้ว่าฯกทม.ทำงานทุกพื้นที่คนเดียวไม่ไหว” รศ.ดร.วรรณภาทิ้งท้าย

นับเป็นโมเดลน่าสนใจที่ต้องจับตา หลังตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ

ณัฐวุฒิ สำราญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image