แต่ต้องด้วยเหตุผล : คอลัมน์โลกสองวัย

เรื่องที่นักเรียนเยอรมนีอายุ 14 คนหนึ่งไปเจรจาเรื่องตั๋วรถไฟแล้วไม่ต้องจ่ายเงินสักมาร์คเดียวเป็นไปได้อย่างไร

อาจารย์ใหญ่มาเกร็ตบอกว่า การกระตุ้นเด็กที่ดีที่สุดคือปล่อยให้พวกเขาค้นพบประโยชน์จากวิชาที่เรียนด้วยตัวเอง แม้ว่าโรงเรียนนี้จะเป็นโรงเรียนหัวสมัยใหม่ แต่บังคับใช้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด นักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนจะโดนลงโทษให้มาเข้าเรียนเช้าวันเสาร์เป็นการชดเชย

“ยิ่งมีอิสรภาพมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น” อาจารย์แรสเฟลด์ บอก

นักเรียนที่ ESBC จึงได้รับโอกาสที่จะคิดวิธีทดสอบความรู้ที่เรียนมาได้ด้วยตัวเอง เช่นแทนที่จะมานั่งทำข้อสอบ อาจจะลองเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแทน หรืออย่างเด็กชายแอนทอนบอกว่า ในช่วงสามสัปดาห์ที่ไปเดินป่าในคอร์นวอลล์ เขาได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษมากกว่าที่เรียนในโรงเรียนมาตลอดหลายปีเสียอีก

Advertisement

ที่โรงเรียนแห่งนี้กำลังมาแรงที่สุดในเยอรมนี เพราะผลิตเด็กออกมามีคุณภาพมาก โดยเกรดเฉลี่ยของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนคือ 3.0 ทั้งที่ก่อนจะมาเข้าโรงเรียนนี้เด็กเกือบครึ่งถูกมองว่าไม่น่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ด้วยซ้ำ

ESBC เปิดเมื่อปี 2007 มีนักเรียนเพียง 16 คน ถึงปี 2016 มีนักเรียนเต็มความจุถึง 500 คน ทั้งยังมีนักเรียนมาลงชื่อเรียนยาวเป็นหางว่าว

ความสำเร็จของ ESBC ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องเอาการเรียนการสอนแบบนี้ไปลองใช้กับโรงเรียนทั้งประเทศดู แต่อาจไม่ง่ายตามที่นักการศึกษามอง เพราะการที่ ESBC อยู่ในเมืองเบอร์ลิน ทำให้สามารถคัดเด็กที่มีคุณภาพที่ครอบครัวฐานะดี เพราะแม้จะเป็นโรงเรียนเอกชน แต่ค่าเทอมก็ไม่แพงจนเกินไป อยู่ระหว่าง 30,000-250,000 บาทต่อปี (ผม-อาจารย์ชิต-ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม range จึงกว้างนัก)

Advertisement

ครูใหญ่บอกว่า เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็น เพราะนักเรียนโรงเรียนนี้มีหลากหลาย แม้ชื่อโรงเรียนจะบอกว่าเป็นโรงเรียนคริสเตียน แต่มีเด็กเพียง 1 ใน 3 ที่นับถือศาสนาคริสต์ เด็กอีก 30% ที่ครอบครัวอพยพมาจากประเทศอื่น และมีเด็ก 7% มาจากครอบครัวที่ไม่พูดภาษาเยอรมนีที่บ้าน

มาเกร็ตบอกว่า สิ่งที่ยากกว่าการปรับตัวของนักเรียน คือการหาครูที่พร้อมจะปรับตัวเองเพื่อให้เข้ากับการเรียนการสอนแบบใหม่

มาเกร็ตที่กำลังเกษียณด้วยวัย 65 ปี บอกว่า เธอได้สร้าง Education Innovation Lab เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนสไตล์ ESBC ที่โรงเรียนอื่นสามารถนำไปใช้ได้ ขณะนี้มีโรงเรียนกว่า 40 โรงสนใจเข้าร่วม

“เรื่องการศึกษาวิธีเดียวที่คุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คือ จากล่างขึ้นบน เพราะกระทรวงศึกษาธิการก็เหมือนเรือขนส่งน้ำมันที่อุ้ยอ้าย และกว่าจะกลับลำได้ก็ใช้เวลาชาติเศษ สิ่งที่เราต้องการคือเรือสปีดโบ๊ต หลายๆ ลำที่จะโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าเราสามารถทำการศึกษาให้ต่างไปจากเดิมได้” ครูใหญ่ผู้สร้างห้องทดลองนวัตกรรมทางการศึกษาว่าอย่างนั้น

อาจารย์ชิต เหล่าวัฒนา บอกไว้ในบทความว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะไปเข้าหูเข้าตาคนที่อยู่ในวงการศึกษาของเมืองไทย ด้วยหวังใจว่าเขาจะเอาแนวความคิดของคุณครูมาเกร็ตนี้ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้ครับ

สิ่งที่อาจารย์ชิตหวัง ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ได้ดำเนินการกระจายบทความแนวทางความคิดนี้ออกไปอย่างน้อยเท่าจำนวนหนังสือพิมพ์มติชนที่พิมพ์ต่อวัน หวังว่าน้องหนูที่ติดตาม “โลกสองวัย” และหลายคนที่เป็นแฟนน่าจะได้อ่านและเห็นด้วย รวมทั้งจะได้มีโอกาสนำไปเผยแพร่

ส่วนเราจะทำให้เด็กไทยเป็นอย่างเด็กเยอรมนีที่ชื่อ แอนทอน โอเบอร์แลนเดอร์ ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ประการแรกที่ต้องเกิดขึ้นก่อนอื่น คือพ่อแม่ต้องยอมให้ลูกของตัวเองแสดงความคิดเห็นคัดค้านแตกต่างจากความคิดเห็นของตัวเองเสียก่อน

ประการต่อมาสำคัญมาก คือเลิกลงโทษด้วยการ “ตี” ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนแต่ใช้เหตุผล-ได้ไหม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image