รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช มองเกมตั้งรัฐบาลใหม่ ‘การเมืองไทยคือข้าวคลุกแกงมัสมั่น’

รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช มองเกมตั้งรัฐบาลใหม่ ‘การเมืองไทยคือข้าวคลุกแกงมัสมั่น’

รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช
มองเกมตั้งรัฐบาลใหม่
‘การเมืองไทยคือข้าวคลุกแกงมัสมั่น’

14 พฤษภาคม เลือกตั้งจบ แต่ความร้อนแรงดูเหมือนเพิ่งเริ่มต้น
การเมืองไทยในช่วง ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังก้าว (ไกล) ไปข้างหน้าสู่รัฐบาลชุดใหม่ยังคงถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน

เช่นเดียวกับวันนัดหมาย รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ฝนเทกระหน่ำชุ่มฉ่ำสำนักท่าพระจันทร์ ในช่วงเวลาที่นักวิชาการท่านนี้เปรียบเปรยว่า

‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว’

Advertisement

รศ.ดร.ดุลยภาคคือเจ้าของพ็อคเก็ตส์บุ๊กขายดีติดท็อป 3 ประจำสำนักพิมพ์มติชนอย่าง The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ฉายภาพสะท้อนสังคม-การเมืองในภูมิภาคนี้ได้อย่างน่าสนใจ ควบคู่กับการพินิจพิเคราะห์การเมืองไทยร่วมสมัย พร้อมวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา

นี่คือบทสนทนาในตึกศิลปศาสตร์ที่กำลังรีโนเวตครั้งใหญ่ ไม่ต่างจากการเมืองไทยที่ผู้คนมากมายรอคอการรื้อซ่อมอย่างลึกซึ้งถึงโครงสร้าง คว้าสว่านเจาะใจกลางของปัญหา ปรากฏหลักฐานคือผลการเลือกตั้งซึ่งมติมหาชนเข้าคูหากาเบอร์ 31 จนแลนด์สไลด์แทนอีกพรรค

“เอาตรงๆ เลยนะ ผมเลือกมินต์ช็อก เห็นใจเพื่อไทย”

Advertisement

คือคำตอบอย่างเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงเข้มข้นต่อคำถามที่ว่า หากให้เลือกระหว่าง ‘มินต์ช็อก’ กับ ‘กาแฟส้ม’ จะดื่มเมนูใด?

“เพื่อไทยไม่เคยประสบความพ่ายแพ้เลย เขาครองอันดับ 1 มาเกือบ 20 ปี แล้ววันหนึ่งพันธมิตรหรือเพื่อนที่รู้จักกัน ไปด้วยกัน แพคด้วยกัน อยู่ๆ มาเป็นผู้ชนะ”

คุยไปกินไปอย่างออกรสออกชาติ กับ ‘ข้าวหน้าเป็ด’ นิวย่งฮั้ว เมนูโปรดส่วนตัวจากร้านดังท่าพระจันทร์ ด้วยคำตอบอร่อยนัวไม่แพ้กัน จากหลากคำถามที่คนไทยอยากได้คำตอบ

⦁ มองปรากฏการณ์การเมืองไทยเลือกตั้งครั้งล่าสุดอย่างไร?

ผมว่ามันก็เป็นอย่างที่เขาว่ากันว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว แต่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า มันเป็นการเลือกตั้งภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งมีกฎเกณฑ์ มีขั้นมีตอนที่ทำให้การตั้งรัฐบาลใหม่ไม่สะดวกรวดเร็ว มีอุปสรรค มีอะไรหลายอย่าง แต่ก็พูดยาก เพราะพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย หรือฝ่ายประชาธิปไตย ก็ตกลงในกรอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงได้เข้าร่วมการเลือกตั้ง แต่กฎกติกากรอบรัฐธรรมนูญ ฝ่ายของผู้มีอำนาจคือฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแนวร่วมชนชั้นนำอื่นๆ ก็มีหมากกล มีกลยุทธ์ของเขาอยู่

⦁ แต่ผลการเลือกตั้งก็บอกชัดเจนถึงเจตนารมณ์และฉันทามติของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผมอยากจะชวนขบคิดนึดหนึ่งเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของประชาชน เรื่องนี้เป็นปัญหาในการตีความของนักการเมืองตามแต่ผลประโยชน์และสถานการณ์ต่างๆ เช่น แกนนำพรรคเพื่อไทยบอกว่าเจตนารมณ์ของประชาชนก็คือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องจัดตั้งรัฐบาลซึ่งสำหรับเพื่อไทยก็คือต้องร่วมมือกับก้าวไกล การฟอร์มรัฐบาลร่วมกันคือเจตนารมณ์ของประชาชน แต่มันจะเป็นแบบนั้น 100% หรือเปล่า ผมว่าไม่ใช่ เพราะมีคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหว ส่งสัญญาณที่ทำการพรรคเพื่อไทยเลยว่าให้ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลกับก้าวไกลก็ได้ เพราะเพื่อไทยเองก็ควรจะมีโอกาสได้ฟอร์มรัฐบาลด้วยเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องแพคคู่กันไปตลอด แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยก็จะรับไปพิจารณาดูตามสถานการณ์

⦁ โอกาสที่พรรคก้าวไกลจะถูกยุบมีมากน้อยแค่ไหน และหากถูกยุบจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร เทียบกับตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ สถานการณ์จะรุนแรงกว่าไหม?

ถ้าเราดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มันก็มีบางอย่างที่ต้องระมัดระวังเหมือนกัน คือถ้าใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางกฎหมายเข้าไปจัดการกับฝ่ายที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แล้วตอนนี้ฐานคะแนนของก้าวไกลเยอะกว่าอนาคตใหม่ซึ่งได้ประมาณ 80 ที่นั่งนิดๆ แต่ก้าวไกลได้ 150 หรือ 151 ที่นั่ง หากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในคดีหุ้นสื่อไอทีวี หรือแกนนำก้าวไกลประสบปัญหาทางการเมืองทำให้ไปต่อไม่ได้ ผมคิดว่าการลงถนนของม็อบราษฎรและกลุ่มต่างๆ ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะเขามีประสบการณ์ในการลงถนนอยู่

แต่เมื่อลงถนนไปแล้ว สมมุติว่าอีกฝั่งหนึ่งมีม็อบ Save112 มันก็อาจจะกลายเป็นการปะทะเผชิญหน้ากันของกลุ่มก้อนมวลชนทางการเมือง ออกรูปรอยว่าจะมีสุญญากาศทางการเมือง แล้วทหารก็ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งที่คาดการณ์กันได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสำหรับก้าวไกลนั้น ผมคิดว่าเขาก็ต้องคิดกลยุทธ์แก้เกมว่าถ้าเอาม็อบมาลงแล้วมันเป็นเงื่อนไขให้จำเป็นต้องมีอำนาจจากคนขี่ม้าขาวให้เข้ามาจัดการ เขาจะแก้เกมอย่างไร มันก็มีทั้งแนวโน้มการปฏิวัติรัฐประหารหรือการปฏิวัติเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกแบบ

ถามว่าถ้าคุณพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ มีโอกาสที่จะเกิดการนองเลือดไหม มี ถ้าด้อมส้มรู้ว่าคุณพิธาไม่ได้ไปต่อ และอาจจะโดนคดีด้วย ซึ่งถ้าด้อมส้มไม่ออกมา แต่อดทนอดกลั้นกับเรื่องนี้ และรอเลือกตั้งอีก 4 ปีให้ก้าวไกลแลนด์สไลด์ถล่มทลายเลย ก็จะเป็นทางออก แต่ผมว่าคนรอไปถึงตรงนั้นไม่ได้ มีม็อบลงถนนแน่นอน คฝ.มาแน่นอน ต้องถามว่าปริมาณเจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจ ทหาร จะขนเข้ามารับมือกับตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

⦁ ในมุมมองส่วนตัว ตำเเหน่งประธานสภาควรเป็นของใคร หรือพรรคไหน?

มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว มันอยู่ที่อารมณ์ของผู้คน ของนักการเมืองในช่วงนั้นด้วย ก็ว่ากันไปตอนโหวตกันในสภา ผมมองอย่างนี้ว่าก้าวไกลกับเพื่อไทยมีคะแนนใกล้เคียงกัน ห่างกันเพียง 10 ที่นั่ง แต่ถ้าแปลงออกมาตามปริมาณประชากรที่โหวต ก็ทิ้งห่างประมาณหนึ่งอยู่เหมือนกัน ในมุมเพื่อไทยคือ ประมุขทางฝ่ายบริหาร ก้าวไกลก็เป็นแล้ว ถ้าประมุขฝ่ายนิติบัญญัติก้าวไกลเป็นอีก มันจะแฟร์ไหมสำหรับเพื่อไทย แม้เพื่อไทยเสียงน้อยกว่าแต่ก้าวไกลขาดเพื่อไทยไม่ได้ ถ้าเพื่อไทยย้ายขั้ว ดีลข้ามขั้ว ก้าวไกลก็อดเป็นรัฐบาล นี่คืออำนาจต่อรองที่เพื่อไทยมี

ตำแหน่งประธานสภามันมีความสำคัญก็เพราะว่าสามารถคุมเกมได้ อย่างที่ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่า ผมก็ไม่ยอม แต่ถ้าเป็นคนของเพื่อไทยก็คิดว่ามันก็ไม่แฟร์นะ ถ้าตำแหน่งนี้เพื่อไทยจะไม่ได้ ผมเลยคิดว่ามันไม่มีสูตรตายตัว ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นพรรคอันดับ 1 อันดับ 2 แต่คุณชวน หลีกภัย ก็ได้เป็นประธานสภา นี่ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง เพราะคิดว่าน่าจะเป็นตัวแทนที่เป็นกลางทางการเมือง อย่างน้อยก็ประมาณหนึ่งในการคุมฝ่ายพลังประชารัฐซึ่งก็เป็นอีกขั้วหนึ่งกับฝั่ง
เพื่อไทยและก้าวไกล หวยมาออกที่คุณชวนก็เหมาะสมแล้ว

⦁ กรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ตามหลักการ ส.ว. ควรเลือกตามมติมหาชน?

ต้องไปดูบ่อเกิดของ ส.ว. ชุดนี้ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ส.ว.บางกลุ่มมองว่าต้องฟังเสียงประชาชน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ บอกว่าทุกอย่างต้องไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม คุณก็เลือกตั้งตามกรอบของรัฐธรรมนูญนี้แล้ว นี่คือกรอบและกติกาของประเทศ ส.ว.อาจจะมีเหตุผลว่าต้องทำตามระเบียบขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ ส.ว.แต่ละท่าน ที่จะพิจารณาสมบัติของว่าที่แคนดิเดตนายกฯ

ขณะเดียวกันการที่ ส.ว.มีบ่อเกิดมาจากการแต่งตั้งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ถ้าเราบอกว่าสองคนนี้ไม่มีบทบาทอะไรเลย ส.ว.ต้องฟังเสียงของประชาชนอย่างเดียว ในแง่ของสัจนิยม ผมว่ามันทำแบบนั้นไมได้ ส.ว.ก็ต้องรับพิจารณาเงื่อนไขหลายอย่างจากฝั่งอำนาจเก่า

⦁ คุณทักษิณ ชินวัตร ประกาศกลับไทยกรกฎาคมนี้ คิดว่าเป็นไปได้จริงๆ ไหม?

ถ้าท่านให้คำมั่นและประกาศอย่างนั้น ก็คงจะมั่นใจอะไรบางอย่างว่ากลับมาแล้วจะมีที่ทาง มีความปลอดภัย อันนี้ก็ว่ากันไป การกลับมาของคุณทักษิณมันมีประโยชน์ในการวิเคราะห์บทบาทของพรรคเพื่อไทย ถ้าท่านมาตอนที่เพื่อไทยเป็นรัฐบาล แคนดิเดตเพื่อไทยอาจจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือสมมุติคุณพิธาไปต่อได้ ท่านยังปลอดภัยอยู่ใช่ไหม หรือสุดท้ายคุณพิธาไปต่อไม่ได้ คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมา คุณเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นมา มันจะดีกับพรรคเพื่อไทยอย่างไร

⦁ ในมุมมองเชิงรัฐศาสตร์ อนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร?

ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้แนวพินิจไหนในการวิเคราะห์ ถ้าใช้เทคนิคแบบทฤษฎีเกมในทางรัฐศาสตร์ที่แบ่งตัวแสดงทางการเมืองออกเป็นขั้วต่างๆ ก็จะได้คำอธิบายอีกแบบหนึ่ง ถ้าใช้ระบบอุปถัมภ์ ในประเทศไทยซึ่งยังคงมีอยู่ อาจจะมีการเปลี่ยนไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้านใหญ่ บ้านใหม่ การเมืองท้องถิ่น ก็สามารถอธิบายได้อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน จะใช้เลนส์เรื่องเศรษฐกิจการเมือง รูปแบบรัฐ รัฐเดี่ยว รัฐเดี่ยวรวมศูนย์ รัฐเดี่ยวกระจายอำนาจ มันก็จะออกรูปรอยการวิเคราะห์ได้อีกแบบหนึ่ง

ผมขอยกตัวอย่างว่า ถ้าเลือกใช้เลนส์ในทางทฤษฎีเกม หลักการง่ายๆ คือแม้จะมีตัวแสดงมากมายก่ายกองในการเมือง จะสามารถทำให้มันง่ายขึ้นโดยการจัดจำแนกประเภทให้เป็นเพียงไม่กี่กลุ่ม และจะเป็นปฏิสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มเหล่านั้น

ในการเมืองไทยวันนี้ ถ้าเราบอกว่าในฟากรัฐบาลรักษาการ มีตัวแสดงแบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม ผมคิดว่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มฮาร์ดไลเนอร์ คือ พวกอนุรักษนิยมมากๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม และไม่ยอมเจรจาต่อรองกับฝ่ายต่อต้าน อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ซอฟต์ไลเนอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยอมเจรจา ยอมผ่อนอำนาจกับฝ่ายต่อต้าน

ถ้าเราดูชนชั้นนำทหาร อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็เห็นชัดเจนนะ ว่าบิ๊กตู่ คือ ฮาร์ดไลน์เนอร์ ส่วนบิ๊กป้อม คือ ซอฟต์ไลเนอร์ ทีนี้ฝ่ายค้านที่กำลังตั้งรัฐบาลกันอยู่วันนี้ จะมีฝ่ายที่ไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลสุดๆ อุดมการณ์บางอย่างก็น่าจะปรับได้ เจรจากันได้

⦁ ถ้าเปรียบเทียบการเมืองไทยเป็นอาหารจานหนึ่ง คิดว่าเมนูอะไรใกล้เคียงที่สุด?

ผมว่าการเมืองไทยเหมือนข้าวคลุกแกงมัสมั่น มันเริ่มมีองค์ประกอบแบบต่างประเทศเข้ามาในสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทย องค์ประกอบเหล่านี้มันก็ขลุกขลิกกันอยู่ รอให้งวดๆ ลงตัว แล้วกลายเป็นอาหารจานเด็ด ความขลุกขลิกไทยเทศจะผสานกันลงตัวอย่างไร ขึ้นอยู่กับคนปรุง อยู่ที่อุปกรณ์ประกอบทำแกง ปัจจัยจำเป็น ปัจจัยพอเพียง

ผมคิดว่าการเมืองไทย หากเดินในทิศทางที่มีการบริหารจัดการความขัดแย้ง ถ่วงดุล ลดความรุนแรง ค่อยๆ เอาไทยเทศมาผสมกัน ถ้าได้ออกมาเป็นแกงมัสมั่นคลุกข้าวสักจานก็น่าจะมีกำลังใจพอไปต่อได้

⦁ มีอาหารก็ต้องมีเครื่องดื่ม ระหว่าง ‘มิ้นต์ช็อก’ จากร้าน Think Lab ของเพื่อไทย กับ กาแฟน้ำส้ม ‘ซันไรส์’ จากร้าน Sol bar ของก้าวไกล เลือกดื่มอะไร?

เอาตรงๆ เลยนะ เลือกมินต์ช็อก เพราะผมก็เห็นใจเพื่อไทย เพื่อไทยไม่เคยประสบความพ่ายแพ้เลย เขาครองอันดับ 1 มาเกือบ 20 ปี แล้วอยู่มาวันหนึ่งพันธมิตรหรือเพื่อนก็รู้จักกัน ไปด้วยกัน แพคด้วยกัน อยู่ๆ มาเป็นผู้ชนะ ฐานเสียงเพื่อไทยก็หันไปหาด้อมส้มเยอะ
เมืองหลวงของภาคเหนือบ้านเกิดคุณทักษิณ ถูกตีแตก ความรู้สึกของชนชั้นนำในเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร แต่ก็แสดงสปิริตน้ำใจนักกีฬาให้พรรคที่ได้อันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คุณอุ๊งอิ๊งก็แสดงท่าทีแบบนี้ไป

ความรู้สึกส่วนตัวผมค่อนข้างเห็นใจ ผมไม่ได้ต่อต้านก้าวไกล ขอแสดงความยินดีด้วยที่เขาประสบชัยชนะในครั้งนี้ เพราะกลยุทธ์โซเชียลมีเดีย หรือการวางแผนที่รัดกุมรอบคอบสู้กับอำนาจเก่าต่างๆ เขาทำได้ดี น่าประทับใจ ความสำเร็จของสีส้ม เป็นเรื่องของการชูแนวคิดประชาธิปไตยสังคมนิยม พลังของประชาชนที่ต่อต้านความเหลื่อมล้ำ ขจัดเรื่องปัญหาทางชนชั้นให้รัฐโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ผมชอบนโยบายเพื่อไทย

แม้นโยบายประชานิยมจะมีปัญหา เป็นข้อคดีความสำหรับคุณทักษิณอะไรก็ตามแต่ แต่เพื่อไทยทำให้นโยบายมันย่อยง่าย กินได้ ช่วงหาเสียงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่านโยบายที่ทีมเพื่อไทยผลิตมาน่าสนใจมาก เช่น ซอฟต์เพาเวอร์

เขามีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ตลาด ประชาสังคม จะทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจในการทูตวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมจับตารอมานาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image