History from / for below เรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์คลองบน ต.บางกอบัว อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

History from / for below
เรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์คลองบน
.บางกอบัว อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

เรื่อง : ศิริวุฒิ บุญชื่น (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ภาพ : ภานุพงศ์ ศานติวัตร (มหาวิทยาลัยศิลปากร)

การเก็บสะสมข้าวของ เป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์โดยทั่วไป โดยมักเริ่มจากเก็บสะสมข้าวของในครัวเรือน อย่างเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย พอรกบ้านก็เอาไปทิ้ง ถ้าคนไม่มีฐานะ ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ก็อาจนำเอาไปขาย

แต่สำหรับนุชจรี (ป้านุช) – สังวน (ลุงแดง) ไกรสมโภช สองภรรยาสามีแห่งบ้านคลองบน ต. บางกอบัว อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ มีความแตกต่างออกไป เพราะพวกเขาไม่ทำอย่างนั้น แม้ว่าพื้นฐานครอบครัวจะไม่ได้เป็นคนมีฐานะก็ตาม นอกจากจะไม่ทิ้งหรือขายแล้ว ป้านุชกับลุงแดงยังได้จัดแสดงข้าวของต่างๆ ที่สะสมไว้นี้ในรูปของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยไม่เก็บค่าเข้าชมอีกด้วย

Advertisement

ย้อนไปราว 30 ปีก่อน ป้านุชได้แรงบันดาลใจการสะสมข้าวของมาจากคุณตาทองใบ ผู้เก็บรักษา “ขันเงิน” ซึ่งได้ส่งต่อมาจากบรรพชนรุ่นก่อนหน้า ก่อนที่ขันเงินดังกล่าวจะตกมาถึงมือป้านุช ทำให้ป้านุชเริ่มเก็บรักษาหม้อไหในบ้านของตัวเองดูบ้าง โดยหวังว่ามันจะถูกส่งต่อไปให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป ในขณะเดียวกัน หากมีนักประดาน้ำสมัครเล่นงมลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาจนเจอหม้อไหรูปทรงแปลกๆ แล้วนำไปขายที่ตลาดนัด ป้านุชก็จะตามไปซื้อมาเก็บสะสมไว้เพิ่มเติมด้วย

จนในที่สุด เมื่อข้าวของเพิ่มจำนวนมากขึ้น ป้านุชกับลุงแดงจึงได้ปรึกษากัน แล้วคิดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ขึ้นมา โดยใช้เงินส่วนตัวสร้างเป็นอาคารสองชั้นแยกออกมาจากตัวบ้าน ต่อมาเมื่อมีคนมาเยี่ยมชนแหล่งเรียนรู้ แล้วเกิดความรู้สึกว่าอยากช่วยสนับสนุนการส่งต่อความทรงจำและมรดกไปสู่ลูกหลาน พวกเขาก็มักจะบริจาคข้าวของเพื่อให้ป้านุชลุงแดงได้นำไปใช้จัดแสดงเพิ่มเติมต่อไป ด้วยเหตุนี้ ข้าวของในแหล่งเรียนรู้นี้ จึงประกอบไปด้วยกลุ่มที่ป้านุชลุงแดงเก็บรวบรวมเอง กลุ่มที่ซื้อมาเพิ่มเติม และกลุ่มที่ได้รับการบริจาคมา

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบน” คือชื่อแหล่งเรียนรู้ของป้านุชและลุงแดง เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 8 พฤษภาคม 2560 โดยข้าวของที่จัดแสดงนั้นประกอบไปด้วย ขันเงิน หม้อ ไห เครื่องมือช่าง บิดหล่า (สว่านโบราณแบบใช้มือหมุน) อกเลื่อย กระปุกตั้งฉ่าย ฝาซึ้งนึ่งขนม หมวกทหารสมัยสงครามเวียดนาม ที่อัดกลีบสไบ หางเสือเรือ และตะเกียงแก๊สสำหรับส่องหากบหาปลา เป็นต้น

Advertisement

จะเห็นได้ว่าข้าวของที่ลุงป้าได้เก็บรวบรวมไว้นี้ หลายอย่างคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็แทบไม่รู้จักแล้ว ยกตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีชื่อแปลกหูอย่าง “บิดหล่า” ที่ได้กล่าวถึงไว้ก่อนหน้า เป็นต้น ดังนั้น นี่จึงนับได้ว่าความตั้งใจของป้านุชบรรลุผลแล้ว เพราะอย่างน้อยที่สุด คนที่ได้อ่านข้อเขียนนี้ก็ได้เรียนรู้ว่า “บิดหล่า” คืออะไร

ก่อนหน้าที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบนจะได้เปิดให้เยี่ยมชมอย่างเป็นทางการในปี 2560 นั้น ที่วัดบางกอบัวซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ได้มีโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ประจำวัดอยู่ก่อนแล้ว โดยได้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ผู้ซึ่งกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับวัดบาง กอบัวอยู่ มาช่วยดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์ประจำวัดให้ เมื่ออาจารย์ทราบข่าวว่าป้านุช ลุงแดงกำลังมีโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วยเช่นกัน อาจารย์จึงอาสามาช่วยออกแบบ และจัดวางข้าวของต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบนให้ นี่จึงกลายเป็นก้าวแรกที่ลุงป้าทั้งสองได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพิพิธภัณฑ์

ต่อมา เมื่อเปิดพิพิธภัณฑ์ในปี 2560 ไม่นาน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม แล้วพาป้านุชลุงแดงไปดูงานที่วัดท่าพูด . สามพราน จ. นครปฐม ซึ่งที่วัดดังกล่าวมีข้าวของที่เชื่อกันว่าได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน เช่น พระยานมาศ และโขนเรือกัญญา เป็นต้น ด้วยเหตุนี้วัดท่าพูดจึงได้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด” และนี่จึงอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ป้านุชลุงแดงยืมเอาชื่อ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน” มาใช้กับพิพิธภัณฑ์ของตนเอง

นอกจากอาจารย์จากราชภัฏฯ และการดูงานที่วัดท่าพูดแล้ว ป้านุชกับลุงแดงยังได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการจัดพิพิธภัณฑ์จาก อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน [องค์การมหาชน]) ด้วย โดยในปี 2565 หลังจากที่พัฒนาย่านบางกะเจ้าและบางกอบัวให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเรื่องแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) มาสักระยะหนึ่งแล้ว อพท. ได้เข้ามาช่วยปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบน ให้ดูมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น พร้อมทั้งบรรจุพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนี้ให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนบางกอบัว ร่วมกับสถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย เทวาลัยพระพิฆเนศวร เส้นทางจักรยาน การมัดย้อมผ้า และการนวดฝ่าเท้า เป็นต้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แม้จะมีบุคคลหรือองค์กรภายนอกเข้ามาช่วยพัฒนาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบนอยู่มากมาย แต่ไม่มีหน่วยงานใดที่จะแนะนำให้ป้านุชลุงแดงรู้จักการจัดทำบัญชีทะเบียนวัตถุ ส่งผลให้ป้านุชและลุงแดงไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงของวัตถุที่จัดแสดง รวมทั้งไม่ทราบประวัติของวัตถุอีกหลายชิ้น รู้เพียงว่าได้รับบริจาคมาเท่านั้น

นอกจากนี้ ป้านุชลุงแดงก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการทำประกันวัตถุจัดแสดง รวมทั้งการทำสัญญาต่างๆ จึงไม่กล้าอนุญาตให้ยืมวัตถุ หากพิพิธภัณฑ์อื่นอยากติดต่อขอยืมไปจัดแสดง หรือกองถ่ายละครอยากขอยืมวัตถุไปใช้ประกอบฉาก

อย่างไรก็ตาม ป้านุชลุงแดงเคยอนุญาตให้โรงเรียนในชุมชมยืมเตารีดโบราณไปให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการรีดผ้าของคนในอดีต

ด้วยความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนตามที่ได้กล่าวมานี้ ทำให้สภาพของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบนในปัจจุบัน (มิถุนายน 2566) ชั้นล่างจะเป็นพื้นที่จัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอย และอุปกรณ์ขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น อกเลื่อย กระปุกตั้งฉ่าย แอกไถนา ขวดเหล้าสาเก และหางเสือเรือ เป็นต้น โดยจะมีพื้นที่หนึ่งที่จำลองลักษณะพื้นที่ครัว ซึ่งนิยมตั้งอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านที่ยกเสาสูง การจัดแสดงจึงออกแบบบริเวณพื้นให้ดูคล้ายเป็นพื้นดินแตกระแหงใต้ถุนบ้าน แล้วมีอุปกรณ์ทำครัวต่างๆ ติดตั้งไว้โดยรอบ ส่วนบริเวณชั้นบนนั้นจะจัดแสดงขันเงิน ธนบัตรเก่า กระเป๋าหวาย เครื่องดนตรี และตลับเทป เป็นต้น โดยทั้งชั้นบนและชั้นล่างนั้น จะถูกแบ่งพื้นที่แยกออกไปอีกส่วนหนึ่งสำหรับใช้ตั้งโต๊ะรับประทานอาหารขนาดยาวด้วย

รายได้จากการขายข้าวแกงของป้านุช จะถูกแบ่งมาใช้เป็นค่าดูแลรักษาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยค่าน้ำ (มีห้องน้ำแยกต่างหากสำหรับบริการแขกผู้เยี่ยมชม) ค่าไฟ และค่าทำความสะอาดเล็กๆ น้อยๆ โดยในทุกๆ เช้าของวันจันทร์ถึงศุกร์ ป้านุชจะต้องเดินทางข้ามเรือไปยังฝั่งคลองเตยเพื่อให้ถึงร้านราวตีสี่ครึ่ง ซึ่งร้านจะตั้งอยู่บริเวณศูนย์อาหารเล็กๆ กึ่งกลางระหว่างทางเข้าสำนักงานศุลกากรกับวัดคลองเตยนอก หลังจากนั้นก็จะปรุงอาหารแล้วขายไปจนกระทั่งถึงเวลาเลิกงานของศุลกากร ป้านุชจึงค่อยเลิกงานตาม

นอกจากรายได้จากการขายข้าวแกงแล้ว ครอบครัวป้านุชลุงแดงยังมีรายได้จากการรับจัดเลี้ยงด้วย กล่าวคือ เมื่อครั้งที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นี้ในปี 2560 ผู้อำนวยการฯ ทราบว่าป้านุชและลุงแดงทำข้าวแกงขาย จึงเสนอให้ทำอาหารเลี้ยงคณะที่มาเยี่ยมชมดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งได้สนับสนุนให้ลุงแดงเข้าไปประกวดแข่งขันการทำอาหารที่ตัวจังหวัด จนได้รางวัลชนะเลิศกลับมา

ต่อมาเมื่อ อพท. มาช่วยพัฒนาชุมชนบางกอบัวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อพท. จึงได้เชิญลุงแดงห้เป็นกรรมการฝ่ายอาหาร ส่งผลให้เวลามีแขกมาเยี่ยมชุมชน อพท. ก็จะติดต่อสั่งอาหารจากลุงแดงและป้านุชอยู่โดยตลอด

ป้านุชลุงแดงเห็นเป็นโอกาสที่ดี จึงได้พัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับจัดเป็นห้องอาหารเล็กๆ รองรับลูกค้าได้คราวละประมาณ 30 คนด้วย และเคยรองรับได้สูงสุดถึง 70 คน โดยคิดราคาอาหารเซ็ตละ 300 บาทต่อคน ประกอบไปด้วยอาหาร 4 อย่าง (หมดแล้วเติมใหม่ได้) และของหวาน 1 อย่าง

อย่างไรก็ตาม อาหารแบบนั่งรับประทานที่พิพิธภัณฑ์นี้ จะต้องเป็นการสั่งไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏชุดโต๊ะสำหรับนั่งรับประทานอาหารอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย และนี่ได้กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่ถูกนำมาใช้ดูแลพิพิธภัณฑ์ นอกเหนือกำไรจากข้าวแกงของป้านุช

เมนูอาหารเลือกได้เต็มที่ 5 อย่างนั้น (คาว 4 หวาน 1) ประกอบไปด้วย แกงกรุบมะพร้าวกุ้งสด ยำส้มฉุน ม้าฮ่อ ผัดสามฉุน น้ำพริกลงเรือ ยำผักกูด ต้มจืดตำลึง ยำหัวปลี ลูกจากลอยแก้ว ลูกจากสด ส้มฉุนลอยแก้ว น้ำตะลิงปลิง ชาเกสรบัว และเมนูที่ทำจากพืชท้องถิ่นที่ชื่อ “น้ำพันช์พิลังกาสา” จะเห็นได้ว่าเมนูอาหารหลายอย่าง ดำรงสถานะเป็นวัตถุจัดแสดงที่ป้านุชและลุงแดงตั้งใจจะรักษาเพื่อส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ลุงแดงจะคอยจดบันทึกปริมาณน้ำหนักของเศษอาหารที่แต่ละกรุ๊ปรับประทานเหลือ เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism)” ของ อพท. ที่เน้นการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะ และลดการสิ้นเปลืองพลังงาน เป็นต้น

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบนจะวางตัวเป็น “พิพิธภัณฑ์” แต่ลุงแดงและป้านุชกลับยอมรับเองว่าไม่เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ใดมาก่อน นอกจาก “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด” เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เคยสัมผัสกับวิธีเล่าเรื่อง และการจัดวางในรูปแบบอื่นมาก่อน ทำให้ประวัติศาสตร์จากเบื้องบน (History from above) ที่มักเล่าผ่านวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่สามารถเข้าไปครอบงำ จัดการ หรือทำงานอยู่ในสำนึกของป้าลุงทั้งสองได้ ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์รูปแบบดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่เช่นนั้น

ในทางกลับกัน เรื่องเล่าจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบน กลับเป็นการถ่ายทอดประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง (History from below) ที่เจตนาจะรักษาเรื่องเล่าของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ผ่านวัตถุจัดแสดงที่คนตัวเล็กตัวน้อยได้เคยใช้ เพื่อให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้เรียนรู้ต่อไป ดังนั้นประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง จึงได้กลายเป็นประวัติศาสตร์เพื่อคนเบื้องล่าง (History for below) ไปด้วยในตัว

การใช้คำว่า “เบื้องบน” และ “เบื้องล่าง” นั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะฉายภาพให้เป็นประเด็นเรื่องชนชั้นแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการใช้คำศัพท์เพื่อชี้ให้เห็นถึงการใช้งาน “อดีต” ของคนใน “ปัจจุบัน” ในรูปแบบอื่น ซึ่งได้เขย่าและท้าทายมโนทัศน์ของสังคมที่เชื่อว่ามีแต่ประวัติศาสตร์ของมหาบุรุษเท่านั้น ที่ถูกต้อง แท้จริง และเป็นหนึ่งเดียว โดยหากใช้คำศัพท์แบบธงชัย วินิจจะกูล ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างก็คือ “ประวัติศาสตร์แบบ Postmodern” นั่นเอง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองบน เปิดให้เยี่ยมชมทุกวันเสาร์อาทิตย์ ระหว่างเวลา 10.00- 16.00 . โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แต่ร่วมบริจาคสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ได้

ส่วนท่านที่ต้องการขอยืมวัตถุไปจัดแสดง ขอยืมวัตถุไปใช้ประกอบฉากในละคร หรือสั่งอาหารล่วงหน้า สามารถติดต่อลุงแดงได้ที่เบอร์ 08 0684 2853

ป้านุชและลุงแดง

ป้ายทางเข้าพิพิธภัณฑ์ฯ

บรรยากาศห้องจัดแสดงชั้นล่าง

บรรยากาศห้องจัดแสดงชั้นบน

หางเสือเรือเป็นของหายากมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image