ไอแวน กาลาเมียน : ปรมาจารย์ไวโอลินกับปรัชญา-มือเหล็กแกร่งในถุงมือหนังสีขาว (อันอ่อนนุ่ม)

Galamian กับ เพิร์ลแมน

ไอแวน กาลาเมียน : ปรมาจารย์ไวโอลินกับปรัชญา-มือเหล็กแกร่งในถุงมือหนังสีขาว (อันอ่อนนุ่ม)

มีทฤษฎีความเชื่อเรื่องความสัมพันธ์ทางความสามารถระหว่างครูดนตรีกับลูกศิษย์ โดยหลักๆ อยู่สองแบบ พิจารณาไปก็ทั้งน่าทึ่ง, น่าคิด และน่าขบขัน ในความย้อนแย้งที่เป็นจริงเหล่านั้น เพราะว่าแม้จะมีความเป็นจริงอยู่ในทฤษฎีทั้งสองนั้น แต่มันก็ขัดแย้งตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ทฤษฎีแรก “ครูต้องเก่งกว่าศิษย์” ถ้าครูไม่เก่งกว่าศิษย์แล้วจะเอาอะไรมาสอนมาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์เก่งได้ ถ้าทฤษฎีนี้เป็นจริงโดยสมบูรณ์ตามเหตุผล ความน่าหดหู่ใจก็บังเกิดขึ้นเพราะ เราจะได้ผลผลิตเป็นลูกศิษย์ (ศิลปินดนตรี) รุ่นต่อๆ ไปที่อ่อนด้อยกว่าครูลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ทฤษฎีที่สอง “ศิษย์ต้องเก่งกว่าครู” โลกแห่งดนตรีจึงจะพัฒนาเติบโตไปข้างหน้าได้ ถ้าทฤษฎีนี้ไม่เป็นจริงโลกแห่งดนตรีก็ไม่อาจพัฒนาก้าวหน้าได้ นับได้ว่าสองทฤษฎีนี้ต่างก็มีเหตุผลด้วยกันทั้งคู่, ขัดแย้งกันอย่างสุดโต่ง หากแต่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์ที่ว่านี้มิอาจสรุปได้เด็ดขาดด้วยเหตุผลที่ตรงไป-ตรงมาเช่นนั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ภายในความสัมพันธ์นี้อีกมากมาย ที่เป็นตัวกำหนดสัมฤทธิผลซึ่งไม่อาจกำหนดล่วงหน้าได้แน่นอนแม่นยำแบบเคมีในห้องทดลอง

แต่วาทะอันคมคายที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ว่านี้ได้อย่างฉุกคิดจนน่าสะอึก นั่นก็คือ “ครูบาอาจารย์ไม่ได้ทำให้ลูกศิษย์มีชื่อเสียงหรอก, พวกลูกศิษย์ต่างหากที่ทำให้ครูอาจารย์มีชื่อเสียง” ผู้ที่กล่าวคำพูดนี้ก็คือ “เดวิด นาเดียน” (David Nadien) อดีตนักไวโอลินมือหนึ่ง (หัวหน้าวง) วงนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิก (New York Philharmonic) ซึ่งต่อมาได้ผันตัวกลายเป็นศิลปินเดี่ยว (Soloist) ที่มีชื่อเสียงขจรขจายในยุคคริสต์ทศวรรษ 1970 ตัวเขาเองเป็นหนึ่งในบรรดาศิษย์ของปรมาจารย์ไวโอลินในตำนานชาวอเมริกัน-อาร์เมเนีย นามว่า “ไอแวน กาลาเมียน” (Ivan Galamian) ซึ่งเราจะมาพูดคุยถึงกันในวันนี้ เขา (กาลาเมียน) มีลูกศิษย์ที่เป็นศิลปินเดี่ยวไวโอลินระดับพระกาฬมากมาย ที่ปัจจุบันกลายเป็นรุ่นใหญ่อาวุโส (บ้างก็ล่วงลับไปแล้ว) อาทิ “พิงคาส ซูเคอร์มาน” (Pinchas Zukerman), “ยิตชาค เพิร์ลแมน” (Itzhak Perlman), “คุง วาชุง” (Kyung-Wha Chung), “ไมเคิล แรบิน” (Michael Rabin), “เอริค ฟรีดแมน” (Erick Friedman) “ไซมอน สแตนด์เอจ” (Simon Standage) … และอีกมากมาย บรรดาผู้รักดนตรีคลาสสิกต่างรู้จักชื่อเสียงผลงาน หรืองานบันทึกเสียงมากมายของบรรดาศิลปินเดี่ยวไวโอลินเหล่านี้ แต่เราไม่เคยได้เห็นผลงานบันทึกเสียงการแสดงเดี่ยวไวโอลิน หรือได้ยินประวัติการขึ้นเวทีแสดงเดี่ยวของตัวครูท่านนี้เลย นี่เองจึงอาจเป็นที่มาของวาทะอันแรงกล้าข้างต้น ของเดวิด นาเดียนที่ว่า “ศิษย์ต่างหากที่ทำให้ครูมีชื่อเสียง”

จะว่าไปแล้วมิใช่ว่าตัวของกาลาเมียนเองไม่เคยขึ้นเวทีแสดงเดี่ยวเองมาก่อน (มันย่อมเป็นไปไม่ได้) เขาเริ่มเส้นทางเดินไวโอลินในรัสเซีย (สำนักไวโอลินอันแข็งแกร่ง) ก่อนที่จะย้ายไปพำนักในฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1922 (ด้วยวัย 19 ปี) ได้เข้าศึกษาที่สถาบันดนตรีแห่งกรุงปารีส (Paris Conservatoire) ใต้ปีกการอุปถัมภ์ของ “ลูเซียน กาเป” (Lucien Capet) ศาสตราจารย์ไวโอลินผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคนิคการใช้คันชักแบบสำนักฝรั่งเศส ซึ่ง ศ.กาเป ผู้นี้ นอกจากจะเป็นศิลปินแล้วยังมีความสามารถในเชิงวิชาการขั้นสูงด้วยการเขียนตำราเทคนิคการใช้คันชักไวโอลินอันมีชื่อเสียง (ตำรานี้ชื่อว่า “La Technique Stiperieure del’Archet”) ตำราของ ศ.กาเป ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่และสืบทอดจารีตการใช้คันชักแบบที่เรียกกันว่า “สำนักฝรั่งเศส” ซึ่งประเทศฝรั่งเศสมีชื่อเสียงมายาวนานในฐานะการปฏิวัติพัฒนาศักยภาพตัวคันชักไวโอลินครั้งใหญ่ (ราวๆ ศตวรรษที่ 19) อันเป็นจุดผันเปลี่ยนวิธีการเล่นไวโอลินครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ จนได้รับการยอมรับ, ยกย่องอย่างกว้างขวางถึง มโนทัศน์ที่ว่า “คันชักเครื่องสายแห่งสำนักฝรั่งเศส” และนี่จึงเป็นจุดผันเปลี่ยนอันสำคัญของ ไอแวน กาลาเมียน จากศิลปินกลายมาเป็นครูผู้สอน ผู้ครอบครองเทคนิคการใช้คันชักแห่งสำนักฝรั่งเศสอันเลื่องชื่อนั้น

Advertisement

เมื่อกาลาเมียน ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา เขากลายมาเป็นครูผู้มีชื่อเสียงเต็มตัว หลังจากได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สอนไวโอลิน ณ สถาบันดนตรีที่ยิ่งใหญ่อย่าง “จูลลิอาร์ด” (Juilliard School) และสถาบันเคอร์ติส (Curtis Institute) แล้ว ไอแวน กาลาเมียน จึงได้ก่อตั้งสถาบันดนตรีของตนเองขึ้นมาในปี ค.ศ.1944 ซึ่งมีชื่อว่า “เมโดว์เมานท์” (Meadowmount School of Music) ในนครนิวยอร์ก ซึ่งมีชื่อเสียงมากในเรื่องมาตรฐานที่สูงส่ง เรื่องเล่าเกี่ยวกับครูกาลาเมียน มีความสนุกน่าสนใจและหลากหลายแง่มุม ที่สะท้อนถึงชีวิตความเป็น “ครูโบราณ” ที่เข้มงวดกวดขัน, เคร่งครัด และใจดีมีเมตตา, สนุกสนานรื่นเริงในการใช้ชีวิตร่วมกับลูกศิษย์ เมื่อหมดช่วงเวลาแห่งการสอนหรือสิ้นสุดบทบาทครูกับศิษย์ที่เคยมีต่อกัน ครูกาลาเมียนก็จะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง ในด้านนี้ “เดวิด นาเดียน” สะท้อนเรื่องราวนี้ได้ดีที่สุด เมื่อเขาเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของกาลาเมียน ซึ่งได้ใช้ชีวิตแบบ “กินนอน” ร่วมบ้านเดียวกันกับครูแบบโบราณ เขาพำนักกับบ้านของกาลาเมียน ในอพาร์ตเมนต์เดียวกันที่แมนฮัตตัน โดยกาลาเมียนมีห้องสำนักงานอยู่ด้านหน้าสุด และมีโถงทางเดินยาวลึกเข้าไป มีห้องพักนักเรียนเรียงรายอยู่สองข้าง โดยครูพักอยู่ห้องหน้าสุด สำหรับ เดวิด นาเดียน แล้วเขากับกาลาเมียนใช้ชีวิตเรียนไวโอลินและพำนักร่วมกันแบบสำนักบ้านครูดนตรีไทยแบบโบราณ จะว่าไปแล้ว นี่ก็เป็นวิถีชีวิตการเรียนดนตรีที่ในอดีตเป็นอยู่กันมา อย่างน้อย เซอร์เกย์ รัคมานินอฟ (Sergei Rachmaninoff) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้ชีวิตสมัยเป็นนักเรียนเปียโน ร่วมอพาร์ตเมนต์เดียวกับอาจารย์ในห้องติดๆ กันแบบนี้

สำหรับศิลปินคนอื่นๆ มีแง่มุมที่พบเจอกับครูกาลาเมียน ที่แตกต่างกันไปสำหรับ “ยิตชาค เพิร์ลแมน” แล้ว เขามีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป (ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเพิร์ลแมนไม่ใช่ “นักเรียนกินนอน” แบบเดวิด นาเดียน) เขาเล่าว่า “การสอนของเขานั้นดุ, น่ากลัวมาก” “…คุณจะต้องเล่นให้ได้ดีอย่างสมบูรณ์ทีเดียวละ ไม่เช่นนั้นละก็ สายตาของเขาจะจ้องขมึงมายังคุณ และทำให้คุณรู้สึกว่า ‘นั่นๆ!!’ …” “…แทบจะไม่มีช่องว่างสำหรับการแลกเปลี่ยนเพราะว่าเขาจะมีระบบวิธีพิเศษบางอย่างซึ่งเขาจะนำมาประยุกต์ใช้กับทุกๆ คน ความยิ่งใหญ่ของเขาขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่า เขาสามารถที่จะสอนใครก็ได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีพรสวรรค์หรือไม่ก็ตาม เขาสามารถสอนคนเหล่านั้นให้เล่นไวโอลินได้ดีทุกคน บางคนอาจจะได้รับแรงกระตุ้นบันดาลใจ บางคนอาจจะดีขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด แต่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเรียนกับเขาอย่างแน่นอน…”

“อาร์โนล์ด ชไตน์ฮาร์ดท” (Arnold Steinhardt) นักไวโอลินมือหนึ่งของวง “กัวเนริควอเต็ท” (Guarneri Quartet) ให้ปากคำว่า …ในช่วงระหว่างการสอนเขาไม่ค่อยพูดมากหรอก และแทบจะไม่ยิ้มเลย เขาไม่ข่มขู่, ไม่หว่านล้อมปลอบประโลมใดๆเขามีพลังสมาธิความหนักแน่นอย่างมหาศาล…ความคิดโดยพื้นฐานของเขาก็คือว่า ใครๆ ก็สามารถเป็นนักไวโอลินที่ดีได้ มีการตั้งเวทีไว้พร้อมสรรพในห้องสอนของเขา มีรูปภาพของปรมาจารย์อย่าง “วิเยอร์ตอมพ์” (Henri Vieuxtemps) และ“คอเรลลิ” (Arcangelo Corelli) ที่คอยจ้องคุณอยู่ เขาสอนตั้งแต่ 08.00 น. ไปจนถึง 18.00 น. 7 วันเต็มในรอบสัปดาห์ และบทเรียนในทุกๆ ชั่วโมงจะจบลงอย่างแม่นยำภายในเวลา 59 นาทีเป๊ะ ไม่มีขาดไม่มีเกิน นักเรียนของ ไอแวน กาลาเมียน ทุกๆ คนจะได้รับกฎหลักพื้นฐาน 2 ข้อ ที่เขาจะถ่ายทอดอย่างเน้นหนักแบบสำเนียงรัสเซีย ข้อหนึ่ง “More Bow!” (เพิ่มการใช้คันชักให้มากขึ้น!) และข้อสอง “…จงเล่นให้ดังจนกระทั่งว่า ผู้ฟังที่นั่งอยู่แถวสุดท้ายในคอนเสิร์ตฮอลล์ ได้ยินเสียงคุณ…” อาร์โนล์ด ชไตน์ฮาร์ดทเล่าต่อไปอีกว่า “…ภายหลังจบจากการศึกษากับเขาแล้ว ผมได้รู้จักครูกาลาเมียนมากขึ้น ในระดับสังคม และพบว่า เขานั้นทั้งใจดีและสนุกสนาน, บางครั้งเราก็เล่นหมากรุกด้วยกัน และเขาก็ชอบดื่มเหล้าวอดกา (Vodka) ในขณะเล่นหมากรุก พร้อมกับภาษิตนักดื่มในแบบของเขา ‘แก้วเดียวก็ดีนะ’, ‘แต่สองแก้วจะดีกว่า’ และ… ‘สามแก้วไม่เคยพอ’ ตอนผมไม่ได้เป็นนักเรียนของเขาแล้ว เขาเป็นกันเองมาก…”

Advertisement
Ivan Galamian

“เจมส์ บุสเวลล์” (James Buswell) ศาสตราจารย์ไวโอลินแห่งสถาบันดนตรีนิวอิงแลนด์ (New England Conservatory of Music) ศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งของกาลาเมียน เล่าถึงความประทับใจว่า “….ไม่มีวันไหนเลยที่ผ่านไปโดยที่ผมจะไม่พูดถึงเขาในฐานะครู…” “แม้คุณจะได้เรียนกับเขาเพียงครั้งเดียว นั่นมันก็จะตราตรึงฝังแน่นเข้าไปในการสอนของคุณโดยตลอด กาลาเมียนเป็นบุรุษผู้มีความคิดเชิงวิเคราะห์ซึ่งจะพยายามปลูกฝังปรัชญาแห่งความเป็นระเบียบอันลึกซึ้งสู่นักเรียนของเขาทุกๆ คน…” “…กาลาเมียน มีเทคนิคที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นเลิศในด้านการใช้แขนและคันชัก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ของเขาในเรื่องกฎแห่งฟิสิกส์และสรีระ ซึ่งอิงไปถึงความสามารถในการเปล่งเสียงไวโอลินให้พุ่งไกล…ภาระจุดหมายของกาลาเมียน ก็คือการส่งผ่านและดำรงอยู่ของเสียงไวโอลินในระบบอุโฆษวิทยา (การสะท้อนก้องกังวานในหอแสดงดนตรี) เขาสอนนักเรียนของเขาถึงการจะทำอย่างไรให้เสียงไวโอลินนั้นสามารถลอยเด่นทะยานเหนือวงออร์เคสตรา…”

“โดโรธี เดอเลย์” (Dorothy DeLay) ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งของกาลาเมียนซึ่งต่อมาได้ขยับฐานะขึ้นมาเป็นครูผู้ช่วยสอนของเขา พรรณนาไว้ว่า “…เขาสอนด้วยการมุ่งไปที่เทคนิคโดยตรง ความชำนาญของเขาก็คือเทคนิคการใช้คันชักในการผลิตเสียง ลูกศิษย์ของเขาทุกคนจึงล้วนแต่มีเสียงไวโอลินที่ใหญ่, แข็งแกร่งกังวาน เป็นองค์ประกอบที่ได้รับการจัดการมาอย่างสวยงาม…” มักจะมีความขัดแย้งในการสอนไวโอลินระหว่างครูสองยักษ์ใหญ่นี้เสมอๆ โดโรธี เดอเลย์เองวิเคราะห์ไว้อย่างน่าฟังว่ามันมาจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน กาลาเมียนมาจากสายเลือดอาร์เมเนีย ที่มีวัฒนธรรม “พ่อเป็นใหญ่ในบ้าน” ในขณะที่เธอจะมีแนวคิดตรงกันข้าม ในมุมมองของเธอนั้นความอบอุ่น, ความสบายใจแบบคนในครอบครัวคือบรรยากาศอันสำคัญมากกว่า

Lucien Capet

ความน่าประทับใจแห่งความเป็นมนุษย์ของ กาลาเมียนได้รับการสะท้อนและบันทึกไว้โดยภริยาของเขาเองที่เล่าไว้อย่างน่าประทับใจว่า “…ฉันเชื่อว่า กาลาเมียนเอง น่าจะพอรู้คร่าวๆ ถึงวัน-เวลาแห่งมรณกรรมของเขา ช่วงเวลาไม่นานนักก่อนเขาจะจากไป เขากล่าวกับฉันว่า ‘แม่ทูนหัวจ๋า เธอพอจะทราบไหมว่า ถุงมือหนังสีขาวของฉันอยู่ไหน?’ …แน่นอนที่สุดฉันรู้ ฉันนำมันมาให้เขา เขาวางมันลงบนโต๊ะพร้อมกับเปิดกล่องและยื่นมันมาให้ฉัน และพูดว่า ‘ในบางวันข้างหน้าเธออาจจะต้องสวมมันนะ, ฉันอยากให้เธอจดจำไว้ว่าวิถีทางที่มั่นคง-ปลอดภัยที่สุดในอันที่จะรักษาสถาบัน Meadowmount ต่อไปได้ก็คือจะต้องมีมือเหล็กอันแข็งแกร่งในถุงมือหนังสีขาวอันนุ่มนวล’ (Hand of Steel in a white kid glove) กาลาเมียนเป็นผู้มีความมนุษย์ผู้มีจิตใจแห่งการให้อย่างมากที่สุดจนแทบไม่น่าเชื่อ…เมื่อเขามีอะไรในชีวิตเขาก็จะแบ่งปัน ฉันคือผู้หญิงที่โชคดีที่สุดในโลก…”

หากท่านอ่านมาโดยตลอดจนถึงบรรทัดนี้แล้ว คงจะเห็นได้ถึงความเป็นมนุษย์และความเป็นครูอันเข้มงวดแต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือสูงด้วยความเมตตาแบบ “ครูโบราณ” ที่นับวันเราคงจะพบเห็นได้ยากมากขึ้นในสภาพสังคมแบบโลกปัจจุบัน ความเข้มงวดกวดขันที่เสมือนสภาวะ “หยาง” (เพศชาย, ความร้อน) ที่จะต้องใช้ผนวกควบคู่กับความอ่อนโยนมีเมตตาปรานีที่เสมือนสภาวะ “หยิน” (เพศหญิง, ความเย็น) สภาวะที่ต้องผสมผสานให้เกิดความพอเหมาะพอดีควบคู่เกื้อกูลกันไป คติความเชื่อ, ปรัชญาบางอย่าง พูดต่างกันในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก หากแต่มันก็คือความจริงเดียวกันแห่งมนุษย์บนโลกนี้ทั้งมวล “มือเหล็กอันแข็งแกร่งในถุงมือหนังสีขาวอันนุ่มนวล” ก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนคิดว่านี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรัชญาการสอนไวโอลิน หากแต่มันคือปรัชญาการปกครองที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว

อ้างอิงจากบทความ “Ivan Galamian : Hand of Steel” www.thestrad.com

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image