แท๊งก์ความคิด:เหลียวหลัง-แลหน้า

เหลียวหลัง-แลหน้า

เหลียวหลัง-แลหน้า

รับฟังข้อมูลจากงานสัมมนา Thailand Take off ที่หนังสือพิมพ์มติชนจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้วได้เห็นภาพประเทศไทย

ทั้งภาพที่ย้อนหลังและการมองไปข้างหน้า

การสัมมนาครั้งนี้ มติชนได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจมาร่วมระดมสมอง

Advertisement

ทั้ง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จํากัด ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (ไอเอเอ)

Advertisement

และ นายสันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group

ข้อมูลเหลียวหลังที่นายไพบูลย์นำเสนอนั้น เป็นที่ประจักษ์ว่า 10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทย “ไม่ไปไหน”

ตลาดหลักทรัพย์ทศวรรษแรกของไทย ดัชนีวิ่งขึ้นมาจาก 400 จุด ไปถึง 1,500 จุด

พอเข้าสู่ทศวรรษที่หายไปในปัจจุบัน

จาก 10 ปีที่แล้ว หุ้นอยู่ระดับ 1,500 จุด ปัจจุบันก็ยังอยู่ที่ 1,500 จุด

เป็นทศวรรษที่ไม่ไปไหนจริงๆ

มองแบบนี้อาจจะไม่รู้สึก แต่ถ้าไปเทียบกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียแล้วมองเห็นชัดๆ

20 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นอินโดนีเซียอยู่ที่ 400-500 จุด ผ่านไป 10 ปี ตลาดหุ้นอินโดนีเซียไปแตะ 4,500 จุด และปัจจุบันอยู่ที่ 6,700 จุด

หลายคนอาจจะบอกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเจอมรสุมโควิด-19

แต่พอมองแบบเปรียบเทียบ

ตลาดหุ้นไทยติดลบ 6% ช่วงโควิด-19 ระบาด แล้วมาฟื้นขึ้นมา 1.5% ในปี 2564 และบวก 2.6% ในปี 2565

รวมกันแล้วยังบวกไม่ถึงที่ลบไป

เทียบกับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตเฉลี่ย 5-6% อย่างต่อเนื่อง ตอนเจอโควิดระบาดติดลบไป 2% พอมาถึงปี 2564 ฟื้นบวกเป็น 3.7%

รวมกันแล้ว ปีเดียวอินโดนีเซียเปลี่ยนจากลบเป็นบวก

หันมามองจีดีพีที่เป็นตัววัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีอัตราการเติบโตประมาณ 4.2-4.3 เปอร์เซ็นต์ทุกปี

ขณะที่ประเทศไทยเติบโตเฉลี่ย 1.9 เปอร์เซ็นต์

แค่ตัวเลขที่ยกมาเป็นตัวอย่างก็เพียงพอที่จะมองเห็นภาพรวมในอดีต

ในวงสัมมนาไม่เพียงแต่สะท้อนภาพอดีต หากแต่ยังบ่งบอกถึงสถานะในปัจจุบัน และเสนอแนะการผลักดันเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

นายดนุชา ในฐานะตัวแทนภาครัฐ ยืนยันว่า ภายในปีนี้ภาครัฐมีเม็ดเงินเพียงพอที่จะอัดฉีดเศรษฐกิจ

ขณะที่นายเกียงไกรผลักดันให้รัฐบาลชุดใหม่ “กิโยติน” กฎข้อบังคับแสนฉบับที่เป็นอุปสรรคการพัฒนา

พร้อมเปิดข้อมูลว่า ที่ผ่านมาแค่นำร่องดำเนินการกิโยตินไปจิ๊บๆ ก็สร้างมูลค่าแสนล้าน

นายเกรียงไกรมองว่า หากทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ประเทศจะมีรายได้เป็นล้านล้านบาท

ทำได้เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะพุ่งทะยานทันที

ด้านนายพีระพงศ์ ผลักดันให้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นตัวเพิ่มรายได้ให้ประเทศ

นำเสนอไอเดียดึงชาวต่างชาติเข้าไทย คิดค่าบริการทางสุขภาพ ช่วยทั้งชาวต่างชาติ ช่วยทั้งคนไทย

และยังเติมรายได้ให้ประเทศได้อีกด้วย

ส่วนนายไพบูลย์แนะนำให้ใช้ตลาดทุนเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

วิธีใช้ประโยชน์จากตลาดทุน ต้องเริ่มจากดูแลสภาพคล่อง

สภาพคล่องจะดีได้ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่เป็นมิตร

ถ้าทำได้ ประเทศไทยจะมีแหล่งเงินทั้งจากธนาคาร และตลาดทุน

มีแหล่งเงินที่จะนำไปพัฒนาชาติ

ทางด้านนายสันติธารที่ขึ้นเวทีคนสุดท้าย ได้ฉายภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเปรียบเทียบกับนักกีฬาสูงวัยอย่างเห็นภาพ

พร้อมนำเสนอ 5 หนทางที่จะนำไทยให้เทกออฟ

ข้อ 1 ต้องหยุดการใช้ยากระตุ้น หมายถึงหยุดนโยบายประชานิยมที่เป็นภัยในอนาคต หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ยาก็ต้องคุ้มค่า

ข้อ 2 ต้องผ่าตัดเอากฎกติกาล้าสมัยออก ข้อนี้นักธุรกิจแทบทุกคนเห็นด้วย

ข้อ 3 ต้องไปหาคนมาลงทุน เดินทางไปเจรจากับมหาอำนาจ

ข้อ 4 ต้องมีเทคนิคที่ใช้แรงน้อย แต่ได้ผลิตภาพเพิ่ม

และข้อ 5 สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการจัดการความเสี่ยง

ระหว่างนำเสนอไอเดียมีหลายวรรคหลายคำที่ฟังแล้วน่าคิด

อาทิ ข้อกังวลเกี่ยวกับ AI ที่กลัวจะมาทำงานแทนคน แต่นายสันติธารมองว่า AI ทำงานแทนคนไม่ได้ แต่คนที่รู้จักใช้ AI ต่างหาก ที่จะมาแทนคนที่ใช้ AI ไม่เป็น

ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากที่วิทยากรนำเสนอ

ฟังแล้วได้ประโยชน์จากข้อมูลที่ “เหลียวหลัง” ไปมอง และ “แลเห็นแนวทางข้างหน้า”

ทีนี้ก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะนำข้อมูลไปต่อยอดเช่นไร

แต่ขอให้ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตก็แล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image