ฐากร ตัณฑสิทธิ์ คิดอะไรไม่ออก ก็ “กสทช.” ไว้ก่อน

หลังคำสั่งดับจอ “ทีวีช่องธรรมกาย” เป็นการชั่วคราว 30 วัน เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมากมาย

มีการชี้แจงว่า เหตุการปิดสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุของวัดพระธรรมกาย (DMC) ในครั้งนี้เกิดจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเชิญชวนให้เกิดการรวมตัวกันทำพิธีกรรมทางศาสนา ขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่จับกุมพระธัมมชโย ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องส่งหนังสือด่วนที่สุดเพื่อขอความร่วมมือจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ระงับการออกอากาศ

ที่ผ่านมาการทำหน้าที่ระงับการออกอากาศของ กสทช.เกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง บางครั้งระงับการออกอากาศทั้งช่อง แต่บางครั้งก็ระงับเฉพาะรายการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กสทช.

หลายคนอาจจะสงสัยว่ากระบวนการพิจารณาเนื้อหาและระงับการออกอากาศ มีขั้นตอนเริ่มต้นอย่างไร ครั้งนี้มีโอกาสได้พูดคุยและซักถามข้อสงสัยจาก ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ดูแลเรื่องนี้มากว่า 4 ปี 11 เดือน

Advertisement

นอกจากจะสร้างความกระจ่างปมระงับการออกอากาศแล้ว “ฐากร” ยังเปิดมุมมองการทำงานและวิธีคิดของ กสทช.อย่างน่าสนใจ รวมถึงปมปัญหาการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อก สู่ทีวีดิจิทัล

ที่เป็นปรากฎการณ์อยู่ในขณะนี้


ประเด็นการปิดทีวีธรรมกาย?

เรื่องการปิดทีวีที่เราดำเนินการอยู่ซึ่งไม่ใช่เรื่องลับ ก็มีการเปิดเผยตามมติที่ประชุม เเต่ถ้ามีหนังสือลับเข้ามาเราก็ต้องพยายามไม่ให้เเพร่กระจายออกไป เรื่องธรรมกายเป็นเรื่องที่ทางดีเอสไอทำหนังสือเป็นเรื่องลับมา เมื่อ กสทช.ปิดทีวีก็ถือเป็นเรื่องลับด้วย กสทช.ส่งหนังสือไปเเจ้งทางวัดให้ดำเนินการตามคำสั่ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ที่มีปัญหาพอสมควรคือ ข่าวออกมาค่อนข้างสับสน อีกทั้งเป็นเรื่องลับ กสทช.จำเป็นต้องปกปิดข้อมูล

Advertisement

ปกติการระงับการออกอากาศมีการพิจารณาอย่างไร?

ขึ้นอยู่กับความผิดที่เกิดขึ้น เรากำหนดโทษ ตั้งแต่โทษว่ากล่าวตักเตือน การปรับ การสั่งพักใบอนุญาต เเละการเพิกถอนใบอนุญาต โดยเดินตามขั้นตอนปฏิบัติ ที่ผ่านมายังไม่มีกรณีเพิกถอนใบอนุญาต

ส่วนการพิจารณาแต่ละความผิดที่เกิดขึ้น จะมีคณะอนุกรรมการด้านผังรายการที่กำกับดูแลอยู่ โดย พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ พิจารณาและนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการออกคำสั่งโดยเลขาธิการ กสทช.

เนื้อหาแบบไหนที่พิจารณาว่ากระทบต่อความมั่นคง?

ต้องวิเคราะห์เป็นกรณีไป บางครั้งมีการพูดโจมตีรัฐบาลมองเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่มีนัยยะที่สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นภายในประเทศอันนี้ถือว่ากระทบต่อความมั่นคง หรือเนื้อหาที่พิจารณาเเล้วว่าจะนำไปสู่การแบ่งฝ่าย แบ่งสี หรือมีการเรียกประชาชนออกมา แบบนี้ถือว่าเป็นการสร้างความแตกแยก ก็ต้องมีดุลพินิจในการตัดสินใจให้ชะลอ หรือยุติการออกอากาศไปก่อน

เเต่การยุติการออกอากาศของ กสทช.อาจจะไม่ได้หมายความว่ายุติการออกอากาศทั้งหมด เเต่เป็นการยุติการออกอากาศเฉพาะรายการ บางครั้งเป็นการให้เฉพาะบุคคล เช่น พิธีกรรอบปีนี้ก็หลายครั้งหลายกรณีเหมือนกัน

ใครเป็นผู้พิจารณาหรือแจ้งว่าเนื้อหาที่ปรากฎกระทบความมั่นคง?

ส่วนของเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง จะมีผู้พิจารณาจาก1.กสทช.มีศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาทางวิทยุและโทรทัศน์ 24 ชั่วโมง2.หน่วยงานด้านความมั่นคง ทำเรื่องมาถึง กสทช.ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือดีเอสไอ

3.ประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาจากนั้นเราจะพิจารณาตรวจสอบเนื้อหาพวกนี้อีกครั้งหนึ่งว่ากระทบจริงหรือไม่ตามขั้นตอน โดยจะใช้ดุลพินิจว่าเรื่องนี้กระทบความมั่นคงหรือไม่อย่างไร รวมถึงเรื่องการจัดเรท รายการด้วย

มีการกำกับเนื้อหาบนโทรทัศน์ด้วย?

ขณะนี้เราจะกำกับเนื้อหาหรือเซ็นเซอร์หลังการออกอากาศ ไม่ใช่ก่อนออกอากาศที่เวลาใครจะออกเนื้อหาอะไรต้องส่งมาให้ดูก่อนแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว ฉะนั้นเมื่อเซ็นเซอร์หลังออกอากาศ เเล้วพบว่าใครออกอากาศผิดก็ต้องรับผิดชอบ

ในส่วนของทีวีดาวเทียม มีปัญหาเรื่องการโฆษณาผิดกฎหมาย โฆษณาเกินจริง โฆษณาเกี่ยวกับอาหารและยา ซึ่งเรามีการบูรณาการและมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการอาหารเเละยา สมมุติว่าถ้ามีโฆษณาผิดกฎหมายของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต้องเข้ามาดูในส่วนนี้

แต่การกำกับดูแลทีวีดิจิทัลต่างกันมาก เพราะทีวีดิจิทัลมาจากการประมูลเพราะฉะนั้นขั้นตอนในการกำกับดูเเล จะไม่เหมือนกัน จะมีความยากกว่า

การจะออกคำสั่งปิดหรือระงับการออกอากาศแต่ละครั้งมีผลกระทบกับการประมูลและธุรกิจ ซึ่งเขาจะต้องจ่ายเงินให้กับรัฐ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีเหตุผล มีความจำเป็นที่มากพอสมควรในการจะระงับการออกอากาศ ต่างจากทีวีดาวเทียม ที่มาจากการยื่นเปิดโดยไม่ผ่านขึ้นตอนการประมูล ทำให้เราสามารถกำกับดูเเลได้มากกว่า

ภาพรวมของทีวีดิจิทัลในปีที่ผ่านมา?

ต้องบอกก่อนว่าปัญหาทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด ผลการประมูลปี 2557 ทุกคนที่ชนะการประมูลดีใจกันหมดบางช่องเปิดไวน์ขวดหลายเเสนในการเลี้ยงฉลอง เนื่องจากก่อนหน้าทีวีมีอยู่ 6 ช่องแล้วทุกช่องก็ประสบความสำเร็จทั้งนั้น พอวันหนึ่งที่ทีวีเปลี่ยนมาเป็น 24 ช่อง ทุกคนก็คิดว่าการประกอบธุรกิจด้านนี้น่าจะดีอย่างในอดีตที่ผ่านมา

แต่ขณะนี้สังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป คนดูทีวีน้อยลงยิ่งคนรุ่นใหม่ดูผ่านสื่อออนไลน์ทั้งนั้น หนังสือพิมพ์ยังเเทบอยู่ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อประชาชนไม่เหมือนเดิม การประกอบธุรกิจต่างๆ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป

ในส่วนของทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบเพราะเมื่อมีคนดูทีวีน้อยลง ยอดรายได้ก็ต่ำลง เรื่องนี้ กสทช.มีการเเก้ไขปัญหา เช่น การเเจกคูปองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทีวีดิจิทัลให้มากที่สุด รวมถึงเรื่องการขยายงวดเงินในการชำระ และการนำสัญญาณขึ้นบนดาวเทียม เพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิทัล

ทิศทางปีหน้า?

ผมมีความมั่นใจว่าทิศทางปีหน้าน่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ ตามการคาดการณ์ของสมาคมสื่อต่างๆ มองกันว่าทิศทางปีหน้าน่าจะดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจน่าจะเริ่มดีขึ้น มีการขยับขยายตัวมากขึ้น ทิศทางการโฆษณาต่างๆ น่าจะดีขึ้นตามมา เเต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว กสทช.จะไม่ไปช่วยเหลืออีกแล้วนะ ขอยืนยันว่าเราจะช่วยเหลือตามกระบวนการที่รับปากไว้

แล้วด้านออนไลน์มีการกำกับดูเเลอย่างไร?

เรื่องออนไลน์ มีส่วนที่คาบเกี่ยวกับผู้ให้บริการไอเอสพี (ISP : Internet Service Provider) เป็นเรื่องที่ กสทช.กำกับดูแล แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการปิดเว็บไซต์เป็นเรื่องของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในปัจจุบัน ไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช.โดยตรง แต่เนื่องจาก กสทช.ต้องกำกับดูแลผู้ให้บริการไอเอสพี ภายใต้เงื่อนไขนี้เราบอกผู้ให้บริการไอเอสพีนำเนื้อหาที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้น

ดังนั้น ถ้ามีคนแจ้งว่าเนื้อหาที่ขึ้นบนไอเอสพีนั้นมันผิดกฏหมาย กสทช.ก็ต้องเป็นผู้แจ้งให้เอาลง เพราะฉะนั้นบทบาทในการทำงานจะมีความคาบเกี่ยวกันกับกระทรวงดีอี

1

กระเเสสังคมที่มีต่อ กสทช.เป็นอย่างไร?

ที่ผ่านมาทุกคนคิดอะไรไม่ออกก็ กสทช.ทั้งนั้น กสทช.เป็นเเพะรับบาปทุกเรื่องเลย (หัวเราะ)

เนื่องจากเรากำกับดูแลเรื่องโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นคนก็จะถามทันทีว่า กสทช.ทำไมไม่กำกับดูแล ทั้งที่หลายเรื่องไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ แต่เราก็ต้องรับเรื่องมาก่อนเพื่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจะปฏิเสธประชาชนไม่ได้ เช่น มีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ก็มีคนถามว่าทำไม กสทช.ไม่ไปจัดการ เราต้องถามก่อนว่ามีการแจ้งความมีหมายศาลหรือเปล่า เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเนื้อหาไหนละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างคนที่เอาหนังหรือละครมาขึ้นเว็บไซต์เขาอาจจะทำสัญญาตกลงกันไว้ กสทช.จะไปรู้ได้อย่างไรว่าเขาซื้อลิขสิทธิ์มาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ดังนั้น ต้องมีการเเจ้งความดำเนินคดีก่อน กสทช.ถึงจะเข้าไปจัดการได้ หรือเจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องแจ้งมาที่เราเพื่อให้ระงับการเผยเเพร่ไว้ก่อน ส่วนการดำเนินคดีก็ต้องมีการดำเนินคดีด้วย

อยู่เฉยๆ กสทช.ไม่สามารถรู้ได้นะครับ ว่ามีใครเอาเนื้อหาผิดกฎหมาย เนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์มาเผยเเพร่ กรณีนี้ยกเว้นเนื้อหาที่เราเห็นชัดเจนว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เช่น สื่อลามกอนาจาร เป็นต้น

ถูกประชาชนว่าหรือล้อเลียนโกรธไหม?

มีโกรธบ้าง แต่ต้องทำใจ คือมีกลุ่มที่ยังไงก็ตามเราจะทำดีหรือไม่ดีเค้าก็คิดไม่ดีกับเราอยู่แล้ว กลุ่มที่เราอธิบายไปก็ไม่ฟังก็พยายามบอกว่าเราทำไม่ถูกต้อง แต่เราก็ต้องเข้าใจด้วยเพราะยังมีกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจในเนื้อหาจริงๆ เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ

ผมคิดว่าถ้าประชาชน 70 เปอร์เซ็นต์เข้าใจผมถือว่าผ่านแล้ว เราจะไปหวังให้คนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์เข้าใจเป็นไปได้ยาก ยิ่งในสังคมที่เป็นแบบนี้อยู่ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย

ทำอย่างไรเวลาประชาชนมาร้องเรียนงานที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบ?

ประชาชนไม่รู้หรอกครับว่างานนี้อยู่ในความดูแลของใคร ดังนั้น ผมต้องยอมรับว่าเราต้องยอมกลืนเลือดตัวเอง หมายความว่า จะอย่างไรก็ต้องรับหน้าไปก่อนแล้วค่อยประสานงานไปยังหน่วยงานที่ดูแล

เราจะปฏิเสธประชาชนคงไม่ได้ ถ้าปฏิเสธไปเขาก็ขาดที่พึ่ง จะบอกว่าไม่อยู่ในความรับผิดชอบแล้วโยนกันไปโยนกันมา ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองอะไรสักอย่าง

พอใจการจัดการปัญหาในปีนี้แค่ไหน?

ปีที่ผ่านมาเราจัดการปัญหาได้เร็ว ผมเองถือเป็นนโยบายเลยว่าต้องทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับอีกต่อไป ถ้ามองเห็นปัญหาต้องรีบเข้าไปจัดการก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม หรือเข้าไปจัดการก่อนที่ปัญหาจะเกิด ยกเว้นแต่ปัญหาที่เราคาดการณ์ไม่ได้ หรือที่เราคาดคิดไม่ถึงว่ามันจะตามมา

เช่น วันนี้มีข่าวโทรศัพท์มือถือระเบิด เราต้องรีบสั่งสำนักงาน กสทช.เขต เข้าไปตรวจสอบทันทีว่าเกิดจากอะไร เพื่อประมวลข้อมูลแล้วนำมาแก้ปัญหา หาทางเยียวยาประชาชน

แต่ก่อนเราไม่ได้ทำงานเชิงรุกแบบนี้ เวลาเกิดโทรศัพท์มือถือระเบิดปล่อยไป 3-4 วันประชาชนไม่รู้จะทำยังไง ก็ไปแจ้งความสถานีตำรวจ ตำรวจเองมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีโทรศัพท์ไม่มากนัก ก็รับแจ้งความไม่ได้ ประชาชนร้องกับสื่อว่าไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเหลือประชาชนเลย

ผมมองว่าตอนนี้ กสทช.เดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ว่าคนที่ทำงานใน กสทช.จะต้องเป็นคนที่ทำงานแข็งขันหรือแอ๊กทีฟพอสมควร ต้องดูข่าว 24 ชั่วโมง ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารตลอดถึงจะสามารถทำงานเชิงรุกเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ตลอดเวลา ต้องยอมรับว่าถ้าไม่ทำแบบนี้เราก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

ทำงานหลายด้านขนาดนี้รู้สึกเหนื่อยหรือเปล่า?

เหนื่อยมากครับ ผมบอกเลยว่าผมทำงาน 24 ชั่วโมงทุกวัน บางทีนอนหลับอยู่ก็ฝันเกี่ยวกับงาน กสทช.นี่แหละ (หัวเราะ)

หลายครั้งงานของผมคิดได้ตอนเข้าห้องน้ำนะ ที่ทำงานขนาดนี้เพราะผมคิดว่าเราอาสาเข้ามาแล้ว ถ้าเราหยุดวันหนึ่งแล้วประชาชนเดือดร้อนเขาไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครนี่คือความทุกข์ของเรานะ

ทุกวันนี้ต้องคิดว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้เป็นความสุขของเรา เหนื่อยก็จริงแต่ประชาชนเข้าใจ เหนื่อยแล้วประชาชนรู้ว่าเราทำงานให้ เหนื่อยแล้วเราแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ นั่นคือความสุขของเราที่ตอบกลับมา

อ่านเว็บ-โซเชียลมีเดีย
วันหยุดนั่งร้านกาแฟ

“กิจวัตรประจําวันของผมตื่นมาตอน ตี 4 เปิดไอแพดเปิดโทรศัพท์มือถือ ไล่อ่านเว็บไซต์ข่าวและเรื่องราวในโซเชียลต่างๆ ว่ามีอะไรกระทบกับ กสทช.บ้าง” เลขาธิการ กสทช.พูดถึงภารกิจแรกของวัน จากนั้นตี 5 ของเช้าวันอังคาร และเช้าวันเสาร์ จะวิ่งออกกำลังกายประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อคลายเครียด

ส่วนการพักผ่อนในช่วงวันหยุด “ฐากร” จะให้เวลากับครอบครัวด้วยการขับรถออกต่างจังหวัด ขณะเดียวกันก็ติดต่องานไปด้วย

“สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดก็คือนั่งร้านกาแฟ ปกติผมขับรถประมาณชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมงก็จะหยุดในร้านกาแฟตามปั๊มน้ำมัน แล้วเปิดดูโซเชียลมีเดีย ถ้ามีปัญหาก็จะติดต่อเพื่อหาทางแก้ไข”

การพักผ่อนของ ฐากร ยังทำให้ได้รับรู้ถึงความคิดของประชาชนด้วย

“มีอยู่ครั้งหนึ่งระหว่างผมไปเข้าห้องน้ำ มีคนคุยกันเรื่องประมูลเลขสวย เขาพูดว่าเลขล็อตนี้ไม่ต้องประมูลหรอกราคาสูงไป เดี๋ยวครั้งต่อไปเลขาฯ กสทช.จะลดราคาลงมาเอง คือเขาคุยกันโดยไม่รู้ว่าผมเป็นใครแต่ทำให้เรารู้ว่าเขาคิดยังไง หรือบางครั้ง ไปนั่งในร้านกาแฟก็พยายามฟังคนอื่นเขาพูดทำให้เราได้เห็นได้สัมผัสความรู้สึกนึกคิดของประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image