มังกรชนมังกร : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

เปิดหน้ามากันครบแล้วสำหรับขาใหญ่ในแวดวงไอทีอีคอมเมิร์ซแดนมังกรที่รุกคืบเข้ามาขยายธุรกิจในบ้านเรา

ล่าสุดไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นหนึ่งในสามบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ “เทนเซ็นต์กรุ๊ป” (ในจีนที่ใหญ่บึ้มไม่แพ้กัน ก็มีไป่ตู้, อาลีบาบา และเทนเซ็นต์)

ว่ากันที่จริง “เทนเซ็นต์” เข้ามาในบ้านเราตั้งนานแล้ว ก่อน “อาลีบาบา” ของ “แจ็ก หม่า” ด้วยซ้ำไป เพราะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด เจ้าของเว็บท่าดัง “สนุก ดอตคอม” มาตั้งแต่ปี 2010 เริ่มจาก 50% และเพิ่มเป็น 100% ในปี 2 ปีต่อมา

แต่ “สนุก ออนไลน์” เพิ่งได้ฤกษ์ เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมนี้เอง

Advertisement

“กฤตธี มโนลีหกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เท็นเซนต์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ในแง่การทำงานยังคงเดิม (ปัจจุบันมีทีมงานประมาณ 250 คน) แต่สาเหตุที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อบริษัททั้งๆ ที่เทนเซ็นต์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มาตั้งนานแล้ว ก็เพราะในช่วงแรกที่เทนเซ็นต์เข้ามาเป็นเจ้าของ “สนุก” ยังมีแค่บริการข้อมูลผ่านเว็บท่า (เว็บพอร์ทัล) เป็นหลัก ต่างจากในปัจจุบัน ที่มีบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก

มีทั้งที่พัฒนาเอง และนำบริการของบริษัทแม่มาให้บริการในไทย เช่น บริการเพลงออนไลน์ JOOX, เกมบนมือถือ และแอพพลิเคชั่นแชตอันโด่งดัง “วีแชต” (WeChat) ด้วยยอดผู้ใช้บริการกว่า 800 ล้านราย เป็นต้น

จังหวะนี้จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเปลี่ยนชื่อบริษัท และประกาศทิศทางธุรกิจในปีหน้า 2017 พร้อมกันไป

Advertisement

โดย “เทนเซ็นต์ ประเทศไทย” จะเน้นไปในการสร้างแพลตฟอร์มด้านคอนเทนต์และบริการ (Content and Services Platforms) ที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคออนไลน์

ผ่านแพลตฟอร์ม 3 หลัก

แพลตฟอร์มแรก “News & Portal” ประกอบด้วยบริการข้อมูล ข่าวสาร สาระ บันเทิง บนเว็บไซต์

www.sanook.com, Sanook แอพพลิเคชั่น, โมบายแอพพลิเคชั่น NoozUp (นิวส์อัพ) ที่เน้นเกาะกระแส ข้อมูล ข่าวสารสำหรับกลุ่มคนเมือง และคนรุ่นใหม่

แพลตฟอร์มถัดมา Entertainment & Multimedia Platforms มีบริการเพลงออนไลน์ผ่าน JOOX มิวสิกแอพพลิเคชั่น (มียอดดาวน์โหลดกว่า 22 ล้านครั้ง และมีฐานสมาชิกที่จ่ายเงินเพื่อใช้บริการรายเดือนหลักแสนราย, บริการเกมมือถือ เช่น เกม Ultimate Legends ที่ติดอันดับ 1 ในหมวดรวมบน App Store และติดท็อป 100 ในหมวดเกม เป็นต้น

สุดท้าย คือ Services หรือบริการ “ดิจิทัลเอเจนซี่” ครบวงจรภายใต้แบรนด์ “ท็อปสเปซ” ซึ่งจะขยายครอบคลุมทุกบริการของเทนเซ็นต์รวมถึงวีแชต และบริการซื้อสื่อออนไลน์สำหรับธุรกิจไทยที่ต้องการเจาะกลุ่มผู้ใช้ชาวจีน และต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคชาวจีน หรือคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน

“ไม่เกี่ยวกับกรณีอาลีบาบาเข้ามาในประเทศไทยที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนชื่อ แต่คิดว่าเป็นช่วงนี้เหมาะสม คนในวงการธุรกิจรู้จักเทนเซ็นต์อยู่แล้ว และส่วนหนึ่งก็รู้ว่าเทนเซ็นต์เป็นผู้ถือหุ้นของเรา แต่ผู้บริโภคทั่วไปอาจไม่รู้จักเทนเซ็นต์ เท่ากับรู้จัก สนุก หรือ WeChat เพราะเทนเซ็นต์ไม่ได้เป็นบริษัทที่เน้นโปรโมตชื่อบริษัท แต่จะเน้นไปที่ตัวบริการเป็นหลัก”

หลังเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโลโก้บริษัทแล้ว

“กฤตธี” ยืนยันว่า ทิศทางธุรกิจ และทีมงานยังคงเดิม แต่ที่เพิ่มเติม คือเทนเซ็นต์มีแผนที่จะขยายการลงทุนไปในบริษัทสตาร์ตอัพไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริการต่างๆ ที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

เชื่อว่าคงเพิ่มความคึกคัก และสีสันให้วงการสมรภูมิสตาร์ตอัพไทย

ในบ้านเรา “เทนเซ็นต์” อาจไม่ได้โด่งดัง และเป็นที่รู้จักมากเท่ากับ “อาลีบาบา” ของ “แจ็ก หม่า” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว

“เทนเซ็นต์กรุ๊ป” ยิ่งใหญ่ไม่แพ้หรืออาจใหญ่กว่า “อาลีบาบา” ด้วยซ้ำไป หากพิจารณาจากมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผลัดกันแพ้ชนะไป-มา โดยปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีรายได้หลักมาจากโปรแกรมแชต QQ, WeChat และเกมออนไลน์

ถือได้ว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียแซงหน้า ไชน่าโมบาย, อาลีบาบา และซัมซุง

บุคลิกผู้นำองค์กรสะท้อนถึงบุคลิกองค์กร ว่ากันว่า “โพนี หม่า” ผู้ก่อตั้ง “เทนเซ็นต์” ไม่ชอบปรากฏตัวต่อสาธารณะเท่าไรนัก เป็นคนละสไตล์กับ “แจ็ก หม่า” แห่งอาลีบาบา แต่ถ้าพิจารณาจากรายได้และผลกำไรของบริษัท คงต้องบอกว่า “เทนเซ็นต์” มาในสไตล์ “โลว์โปรไฟล์ ไฮโปรฟิต”

น่าจับตาว่า “สนุกออนไลน์” ในชื่อใหม่ “เทนเซ็นต์ ประเทศไทย” จากนี้ไปจะมีอะไรๆ ใหม่ๆ ที่สร้างสีสันให้ธุรกิจอินเตอร์เน็ตในไทยได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

สมรภูมิในจีนอาจใหญ่พอสำหรับอาลีบาบา, เทนเซ็นต์ และไป่ตู้ แต่สำหรับบ้านเรา อดนึกถึงคำกล่าวที่ว่า เมื่อ “ช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญ” ไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image