ผ้าขาวม้า, สีกากี, เสื้อครุย ไทยรับจากเปอร์เชีย (อิหร่าน)

ผ้าขาวม้า, สีกากี, เสื้อครุย ไทยรับจากเปอร์เชีย (อิหร่าน)

ผ้าขาวม้า, สีกากี, เสื้อครุย
ไทยรับจากเปอร์เชีย (อิหร่าน)

ดร. กุสุมา รักษมณี

บางตอนจากหนังสือ กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม

Advertisement

กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กุสุมา รักษมณี
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พิมพ์ครั้งแรก 2566
ราคา 670 บาท สั่งซื้อได้ที่ https://www.matichonbook.com

ผ้าขาวม้า

ขาวม้าเป็นผ้าฝ้ายทอสี่เหลี่ยมผืนผ้าผืนยาว ใช้เป็นเครื่องแต่งกายและใช้สารพัดประโยชน์ ทุกวันนี้เรียกว่าผ้าขาวม้า แต่เดิมเรียกว่า ขาวม้า ดังปรากฏในวรรณคดีบางเรื่อง

Advertisement

ในภาษามลายูมีคว่า kěmar หมายถึง เข็มขัด โดยอ้างว่ามาจากภาษาชวาซึ่งอาจรับมาจากภาษาเปอร์เชีย ในภาษาฮินดีก็มีคว่า kamar หมายถึง เอว, เอวเสื้อ โดยอ้างว่ามาจากภาษาเปอร์เชีย

และมีคว่า kamarband หมายถึง เข็มขัด ซึ่งมาจากภาษาเปอร์เชียเช่นกัน

เครื่องแต่งกายของชาวเปอร์เชียสมัยราชวงศ์ศะฟะวีย์ (ศตวรรษที่ 16-18) และราชวงศ์กาญาร (ศตวรรษที่ 18-20) มีผืนผ้าชนิดหนึ่งใช้เคียนเอว เรียกว่า กะมัรบันด์ (kamarband; kamar หมายถึงส่วนกลางของสิ่งใดก็ได้รวมทั้งเอวของคนเรา band หมายถึงแถบที่ใช้พัน (ตรงกับคว่า พนฺธ ในภาษาสันสกฤต)) ผ้ากะมัรบันด์นี้เรียกย่อๆ ว่า กะมัร ก็มี

ชนิดของผ้าต่างไปตามสถานะของบุคคล เช่น ขุนนางอาจใช้ผ้าทอควบแล่งทอง เศรษฐีใช้ผ้าทอควบแล่งเงิน ชาวตลาด เสมียน หรือข้าราชการอาจใช้ผ้าส่าน ผ้ามัสลินหรือผ้าฝ้ายโดยพันทบให้เป็นที่เก็บเอกสาร ปากกา หรือเงินได้ด้วย โดยเฉพาะชาวบ้าน คนเฝ้าประตู คนรับใช้ของพ่อค้า เป็นต้น มักจะเหน็บมีดสั้นไว้ด้วยเพื่อเป็นอาวุธหรือเป็นเครื่องมือ

การใช้ผ้าเคียนเอวจึงไม่เพียงแต่เป็นเครื่องบอกสถานะเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ประจวันได้ด้วย

การใช้ผ้าเคียนเอวอย่างวิจิตรต้องใช้ผ้า 2 ผืน ผืนแรกกว้างและยาว อาจทด้วยผ้าไหมปักทอง ต้องพับทบผ้าตามยาวหลายทบให้ได้แผ่นผ้ากว้าง 4-5 นิ้ว แล้วจึงพันรอบเอวหลายๆ รอบ อีกผืนหนึ่งเป็นผ้าผืนสั้นและแคบกว่า มักเป็นผ้าที่ทอด้วยขนแพะหรือขนอูฐ เป็นผ้าสีเดียว เมื่อทบผ้าตามยาวให้ได้ความกว้างไม่เกิน 3 นิ้วแล้วจึงพันรอบเอว 2 รอบ ให้เหลื่อมกับผ้าผืนแรก เพื่อจะได้เปิดให้เห็นผ้าเคียนเอวทั้ง 2 ผืน การใช้ผ้าผืนที่สองเป็นผ้าสีเดียวก็เพื่อจะขับให้ผ้าผืนแรกเด่นขึ้นมา

ว่า ขาวม้า ในภาษาไทยคงรับมาจากค kamar ในภาษาเปอร์เชีย อาจรับมาโดยตรงหรือผ่านภาษาอินเดียหรือภาษาชวามลายูก็ได้


ผ้าคาดเอวขาวม้า” ของชาวบ้านจากภาพสีน้ำนักมวยปล้ำกับครูฝึก” ในศตวรรษที่ 17 (ภาพวาดฝีมือ Engelbert Kaempfer นักธรรมชาติวิทยา แพทย์ นักสรวจ ชาวเยอรมัน ในศตวรรษที่ 17) (ที่มา: Sheila R. Canby, 2002: 151)

สีกากี

กากี คือสีน้ำตาลปนเหลือง ภาษาอังกฤษว่า khaki มาจากภาษาเปอร์เชียว่า คาก (khāk) เดิมใช้เรียกสีเครื่องแบบของกองทหารปัญจาบ เป็นที่นิยมในการสงครามช่วง ค.. 1857-1858 ต่อมาหน่วยงานต่างๆ ของอินเดียนิยมนำมาใช้เป็นสีเครื่องแบบเพราะสะดวก วิธีย้อมผ้าให้เป็นสีกากีก็ทำได้ง่าย

ในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานแก่เจ้าพระยายมราช (เป็นฉบับหนึ่งที่มีพระราชกระแสรับสั่งให้อาลักษณ์เขียนเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ยังมิทันได้ถวาย ทรงพระประชวรหนักและเสด็จสวรรคตเสียก่อน) ลงวันที่ 20 ตุลาคม ร.. 129 มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเครื่องแต่งตัวพลตระเวน ตอนหนึ่งว่า

[…] บัดนี้ได้คิดเครื่องแต่งตัวขึ้นใหม่ทั้งนายแลพลตระเวน คือเครื่องแต่งตัวเต็มยศสำหรับนายพลตระเวน ควรเปลี่ยนใช้ผ้าสักหลาดสีกากี มีแถบกางเกงแลคอบ่าเสื้อสีแดงเลือดหมู […] สีที่เรียกว่ากากีนั้นแปลว่ากระไร เข้าใจฤๅไม่ จะแปลให้ฟัง ภาษาเปอร์เชียน กากี ว่า แผ่นดิน สีกากี แปลว่า สีแผ่นดิน แผ่นดินเมืองเปอร์เชียเป็นทะเลทราย สีจึงได้เป็นเช่นนั้น ไทยเราแต่งสีนั้นก็เข้ากับผิวเนื้องามดีอยู่ ใช้ได้

ภาษาเปอร์เชียมีคำว่า คาก (khāk) แปลว่า ดิน, ฝุ่น เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์ว่า คากี (khākī) หมายถึง ที่เกี่ยวกับดิน ภาษาอินเดีย เช่น ฮินดีและอุรดู รับคำนี้จากเปอร์เชียไปใช้เรียกสีอย่างสีดิน สีฝุ่น ในสมัยที่ชาวอังกฤษเข้าปกครองอินเดีย ได้รับคำนี้มาใช้ในภาษาอังกฤษว่า khaki คำว่า กากี ในภาษาไทยคงจะรับมาจากภาษาอังกฤษอีกที ทุกวันนี้คำว่า “สีกากี” มิได้หมายถึงสีน้ำตาลปนเหลือง อย่างสีเครื่องแบบข้าราชการเท่านั้น แต่เป็นคำที่กลายเป็นนามนัย (metonymy) หมายถึงข้าราชการตำรวจ

เสื้อครุย

ในราชสำนักเปอร์เชียมีประเพณีที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองรัฐประทานเสื้อเกียรติยศหรือเสื้อยศ (robe of honour) แก่ทูตต่างเมือง นักปราชญ์ ขุนนาง ฯลฯ เพื่อแสดงบารมีและรสนิยมสูงส่งของผู้มอบ และแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้มอบกับผู้รับมอบ

ดังปรากฏหลักฐานหนึ่งเป็นภาพวาดซึ่งมีคำอธิบายว่าใน .. 1000 พระเจ้ามะห์ มูดแห่งราชวงศ์ฆัซนะวีย์ (ครองราชย์ .. 999-1030) ผู้ครองอาณาจักรทางตะวันออกของเปอร์เชียโดยเป็นอิสระจากราชวงศ์อับบาซีย์ ได้รับเสื้อยศจากกาหลิบกาดิร (Qādir, ครองราชย์ .. 991-1031) แห่งราชวงศ์อับบาซีย์ ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงแบกแดด ภาพวาดนั้นเป็นภาพสีน้ำขนาดเล็กลงสีทองและเงิน อยู่ในหนังสือ “ปูมจดหมายเหตุ” (Jāmi’ al- tawārīkh) ของระชีด อัด ดีน (Rashīd- ad Dīn, .. 1247-1318) ชาวเมืองฮะมะดาน (Hamadān) นักประวัติศาสตร์เปอร์เชียในสมัยราชวงศ์อีลข่าน


พระเจ้ามะห์มูดทรงสวมเสื้อครุยพระราชทานจากกาหลิบกาดิร (ที่มา: http://warfare.6te.net/Persia/14/Jami_al-Tawarikh-Mahmud_of_Ghazni_in_robe_from_the_Caliph-Edinburgh-MsOr20.htm)

ในภาพนั้นพระเจ้ามะห์มูดซึ่งประทับอยู่ท่ามกลางข้าราชบริพารกำลังสวมเสื้อยศซึ่งเป็นเสื้อคลุมตัวยาว แขนยาว เปิดด้านหน้า เป็นผ้าปักทองประดับแถบสีแดงตามขอบเสื้อและต้นแขนปลายแขน โดยทั่วไปการประทานเสื้อยศจัดเป็นพิธีอย่างเป็นทางการในราชสำนักหรือกลางชุมชน บางทีก็มีเครื่องยศอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ผ้าโพกศีรษะ ผ้าคาดเอว กางเกง รองเท้า อาวุธที่ประดับตกแต่งม้า ฯลฯ เป็นเครื่องยศที่ครอบคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า บ้างเรียกว่า “หัวถึงเท้า” (sar-u pā)

การประทานเสื้อยศเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการปกครองของเปอร์เชีย เป็นการแสดงว่าเจ้าผู้ปกครองพอใจผลงานของผู้อยู่ใต้ปกครองคนใดมากน้อยเพียงใด และมีไมตรีต่อเจ้าต่างเมืองเพียงใด ประเพณีในราชสำนักนี้เฟื่องฟูในศตวรรษที่ 17-18 ในราชสำนักราชวงศ์ศะฟะวีย์และราชวงศ์กาญาร มีบันทึกกล่าวถึงรายละเอียดในพิธีรับเสื้อยศของเจ้าผู้ครองนครท้องถิ่นทั้งหลาย ครั้นถึงปลายศตวรรษที่ 19 ประเพณีนี้ก็หมดความนิยม ต่อมาใน .. 1928 รัฐบาลอิหร่านได้ยกเลิกประเพณีทั้งหมด คำเรียกเสื้อยศในภาษาเปอร์เชียคือ คิลอะห์ (khil’at) เป็นคำที่รับมาจากภาษาอาหรับ มีความหมายตามศัพท์ว่าการเปลื้องเสื้อที่สวมอยู่ให้ผู้อื่น ในรายที่พระมหากษัตริย์โปรดเป็นพิเศษ อาจประทานฉลองพระองค์ที่ทรงอยู่หรือจากคลังพระภูษาของพระองค์

ในบันทึกการเดินทางของคณะทูตเปอร์เชียจากราชสำนักกษัตริย์สุลัยมานแห่งราชวงศ์ศะฟะวีย์ (ศตวรรษที่ 17) ตอนหนึ่งกล่าวถึงการที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานเสื้อยศ ผ้าโพกศีรษะ และผ้าคาดเอวแก่คณะราชทูต “เป็นเครื่องแต่งกายเกียรติยศตามข้อปฏิบัติของชาวอิหร่าน” ในบันทึกกล่าวถึงพระราชนิยมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า “ทรงเริ่มสวมเสื้อผ้าแบบอิหร่าน คือเสื้อคลุมตัวยาวมีลวดลายปัก สนับเพลา เสื้อ รองพระบาท และถุงพระบาท”

เสื้อคลุมตัวยาว” หรือฉลองพระองค์ครุยมีลักษณะเดียวกัน khil’at เป็นไปได้ว่าคำว่า คิลอะห์ นี้เองได้เลือนมาเป็นคำว่า “ครุย” ในภาษาไทย ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2554 นิยามว่า “ชื่อเสื้อจำพวกหนึ่งใช้สวมหรือคลุม มีหลายชนิด ใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศหรือแสดงหน้าที่ในพิธีการหรือแสดงวิทยฐานะ”

พระปฏิเวทย์วิศิษฎ์มีความเห็นว่าเสื้อครุยเริ่มใช้ในสยามอย่างช้าไม่ต่ำกว่าแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังปรากฏในจดหมายเหตุออกพระวิสุทสุนทรเมื่อคณะราชทูตเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าราชทูตแต่งตัวอย่างเต็มยศตามธรรมเนียมไทย คือสวมเสื้อเยียรบับมีกลีบทองและดอกไม้ทอง และสวมเสื้อครุย

ต่อมาในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชบัญญัติ .. 2343 ความตอนหนึ่งว่า “ห้ามอย่าให้ข้าราชการผู้น้อยใส่เสื้อครุยกรองคอกรองสังเวียนกรองสมรด […] ใส่เสื้อครุยได้แต่กรองปลายมือ”

จนถึงรัชกาลที่ 6 จึงมีพระราชกำหนดเสื้อครุย .. 2454 ซึ่งมีพระราชปรารภตอนหนึ่งว่า “เสื้อครุยเป็นเครื่องแต่งตัวในงานเต็มยศใหญ่แต่โบราณมา […] การที่ใช้เสื้อครุยนั้นสมควรจะมีพระราชกำหนดไว้ให้เป็นระเบียบเสียด้วย”

เสื้อครุยตามพระราชกำหนดเป็นเสื้อครุยพื้นขาว (หรือสีชมพูเฉพาะงานพระราชพิธีกำหนดให้แต่ง) ปักทอง มีสำรดกรองทองติดขอบรอบและต้นแขนปลายแขน เสื้อครุยดังกล่าวนี้สำหรับเสนามาตย์ นอกจากนั้นยังมีฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นครุยพื้นกรองทอง หรือกรองเงินปักทองลายก้านแย่ง หรือพื้นสีสลับทองหรือพื้นขาวสลับทอง มีสำรดขอบ สำรดต้นพระกรปลายพระกร

ต่อมามีครุยอีกประเภทหนึ่งคือครุยวิทยฐานะซึ่งเริ่มใช้เมื่อ .. 2440 เรียกว่าเสื้อเนติบัณฑิต ทำด้วยผ้าแพรหรือผ้าเสิร์จสีดำเลียนแบบเสื้อเนติบัณฑิตของอังกฤษ ครั้นถึง .. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานเสื้อครุยเนติบัณฑิตอย่างไทย โดยใช้แบบอย่างเสื้อครุยเสนามาตย์คือเป็นผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดติดขอบรอบและต้นแขนปลายแขน ครั้นถึงรัชกาลที่ 8 (.. 2479) มีพระราชบัญญัติยกเลิกเสื้อครุยเนติบัณฑิตแบบไทยเดิม ให้ใช้เสื้อครุยทำด้วยแพรหรือเสิร์จสีดำ ดังที่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน

ส่วนเสื้อครุยวิทยฐานะนั้นในรัชกาลที่ 7 (.. 2473) มีพระราชกำหนดเสื้อครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าให้ใช้เสื้อครุยผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดติดขอบรอบและต้นแขนปลายแขน มหาวิทยาลัยอื่น เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้เสื้อครุยต่างไปเป็นผ้าสีดำเป็นต้น


ลอมพอก

เครื่องสวมศีรษะจากเปอร์เชีย เป็นต้นแบบลอมพอกขุนนางสมัยยอุธยา และชฎา, มงกุฎ ในโขนละครของไทย

(บน ไพร่พลของพระเจ้าไกโคชรูสวมลอมพอกแบบต่างๆ (ภาพวาดในศตวรรษที่ 16 ในหนังสือ ชาห์นามะ) (ที่มา : Sheila R. Canby, 2003: 99) (ล่าง) ภาพวาดขุนนางสยามสวมลอมพอก (ที่มา : Simon de La Loubère, 1961: 73)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image