หลง คอลัมน์ ประสานักดูนก

“เหยี่ยวตีนแดง” เป็นเหยี่ยวปีกแหลมอพยพ ขนาดเล็ก จะผ่านประเทศไทยในฤดูกาลอพยพต้นหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม

เหยี่ยวหลายแสนตัวจากไซบีเรีย จีนและมองโกเลียจะย้ายถิ่นหนีอากาศหนาวเย็น เหยี่ยวหลายร้อยตัว ที่จัดว่าเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดข้างต้น จะเดินทางผ่านสามเหลี่ยมทองคำ มุ่งหน้าข้ามเทือกเขาแดนลาว ไปประเทศเมียนมาและอินเดียเพื่อแวะพักซักซ้อมตระเตรียมร่างกาย ก่อนจะเหินฟ้าหาญกล้า บินข้ามมหาสมุทรอินเดียแถวๆ ทะเลอารเบีย เพื่อไปขึ้นฝั่งที่ทวีปแอฟริกา แล้วเดินทางต่อไปอาศัยในฤดูหนาวที่ประเทศแอฟริกาใต้

ในอดีตนักดูนกไทยจะต้องเดินทางไปเฝ้ารอเหยี่ยวตีนแดงบนดอยลาง หรือทางเลี่ยงเมืองฝาง ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของเหยี่ยวตีนแดงตัวเล็กแต่ใจใหญ่ บางปีอาจจะพบหลายร้อยตัว แต่ปีนี้มีรายงานน้อยตัว นอกนั้น จะพบได้ประปรายที่วัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่ และพวกพลัดหลงจากฝูงหลัก แทนที่จะบินเฉียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ กลับบินลงใต้มาเรื่อยๆ สร้างความตื่นเต้นในฐานะเหยี่ยวหายาก เช่น แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี เขาเรดาร์ หรือเขาดินสอ

ปีนี้ทัพของเหยี่ยวตีนแดงมาช้า เหมือนกับลมหนาวจากประเทศจีน มีรายงานพบรายตัวที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และดงเหยี่ยวดำปากพลี จ.นครนายก แต่กลับไม่พบเห็นที่เขาเรดาร์หรือเขาดินสอเลย หรืออาจจะหลงหูหลงตาก็เป็นได้ เพราะหลังจากมีรายงานพบเหยี่ยวตีนแดงรายตัวแล้ว นักถ่ายภาพนกกลุ่มใหญ่ที่โชคดีก็พบฝูง 7 ตัว รวมเหยี่ยวเพศผู้ที่ไม่เคยมีรายงานพบนอกภาคเหนือเลย ถึง 2 ตัว ที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี แถมโชว์บินจับแมลงชีปะขาวกินกลางอากาศ หรือ aerial feeding ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติของเหยี่ยวปีกแหลม อาทิ เหยี่ยวเคสเตรล เหยี่ยวฮอบบี้

Advertisement

หลังจากฝูงพลัดหลงที่เขื่อนศรีนครินทร์ ไม่กี่วันต่อมา นักดูนกสิงคโปร์ก็รายงานเข้ามาว่าพบเหยี่ยวตีนแดง วัยเด็ก 1 ตัว ที่ประเทศปลายสุดของคาบสมุทรมลายูอีกด้วย แต่ตัวที่สร้างความสุขให้นักดูนก ถ่ายภาพนกในเมืองกรุง นาน 1 สัปดาห์ เป็นเหยี่ยวตีนแดง เพศเมีย 1 ตัว ที่หลงมาถึงดงเหยี่ยวดำ ปากพลี แม้ว่าจะโดนพี่ใหญ่เจ้าถิ่น เช่น เหยี่ยวดำพันธุ์ไทย ไล่ตี ไล่ต้อนบ้าง แต่อาศัยรูปลักษณ์ปราดเปรียว ว่องไว เหยี่ยวดำตัวใหญ่ๆ บินไล่ไม่ทัน นางตีนแดงจึงวนเวียนอยู่ที่ปากพลีนานกว่าเขาใหญ่ ที่คนเขียนก็พลาด ไม่มีโอกาสตามไปดูเพราะมีภารกิจสำรวจเหยี่ยวด่างดำขาวที่ปางฮุ้ง เวียงหนองหล่ม

น่าแปลกว่าปากพลีมีรายงานเหยี่ยวตีนแดงติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ปีกลายเป็นเหยี่ยววัยเด็ก หากปีนี้เป็นเหยี่ยวเต็มวัยเพศเมีย ก็หวังว่าปีหน้า อาจจะมีเหยี่ยวเพศผู้ตัวงามๆ ซึ่งหายากที่สุดสำหรับนักดูนกไทย โผล่มาที่แหล่งชมเหยี่ยวใกล้กรุง เช่น ดงเหยี่ยวดำปากพลี อีกให้ครบ 3 ปีติดต่อกัน ถ้าธรรมชาติจะจัดสรรให้ครับ

falcon amur_CKA5037

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image