พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้-บรรยากาศ

จำได้ว่าเมื่อสัก 6-7 ปีก่อนเคยมีโอกาสเดินทางมาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต้องการให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษาทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบในการพัฒนาด้านต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการป่าไม้

การบริหารจัดการน้ำ

Advertisement

การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่หายาก

การเลี้ยงโคนม การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กบ

การวางระเบียบในการจับปลาในแหล่งน้ำ

Advertisement

การพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตของราษฎร

และการพัฒนาศักยภาพของคนทางด้านจิตใจ ความคิด ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม และมีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม

ทั้งนั้น เพราะอดีตเมื่อสักประมาณ 34 ปีก่อน บริเวณป่าสงวนแห่งชาติแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษา ทุกวันนี้สภาพพื้นที่โดยรวมต่างเต็มไปด้วยป่าเขาหัวโล้น ไม่มีแหล่งน้ำ และไม่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เลย

เนื่องจากราษฎรบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า

เพื่อทำไรเลื่อนลอย

ทั้งพื้นดินแถบบริเวณนี้ยังเต็มไปด้วยหินกรวด จนยากที่ราษฎรจะเพาะปลูกทำการเกษตรใดๆ ได้ กระทั่งวันหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯมาที่นี่ พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525 ให้พิจารณาจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีอาณาบริเวณกว่า 8,500 ไร่

แล้วจากนั้นพระองค์ก็ทรงเริ่มลงมือศึกษา วิจัย และทดลอง

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เก็บดินตัวอย่างจากที่นี่เพื่อไปถวายให้ในหลวง ซึ่งในหลวงก็ทรงนำดินนั้นไปใส่ในขวดแก้ว พร้อมกับใส่น้ำไปด้วย

พระองค์ปล่อยให้ดินอยู่อย่างนั้นสองสามคืน ก็ทรงมองเห็นสภาพของดินมีการอมน้ำไว้ นั่นแสดงว่าสภาพผืนดินโดยรวมไม่ได้แย่ไปกว่าที่คิด

น่าจะทำการฟื้นฟูได้

แต่สิ่งแรกที่ควรทำคือต้องปลูกป่าในใจคนก่อน เพราะถ้าหากปลูกป่าในใจคนได้ จะทำให้สภาพผืนป่าค่อยๆ กลับมา แต่กระนั้น สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปคือการทำฝายชะลอความชุ่มชื้น

เพราะพระองค์ทรงทดลองและเห็นแล้วว่าดินในขวดแก้วมีการอมน้ำ ดังนั้น ถ้าสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นไปด้วย ก็จะทำให้สภาพผืนป่ากลับมาโดยเร็ว

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า แรกๆ ในหลวงเสด็จฯมาที่นี่บ่อยมาก เสด็จฯครั้งหนึ่งจะอยู่นานมากๆ

พระองค์ทรงเดินไปตรงนั้นตรงนี้แล้วทรงตรัสรับสั่งกับข้าราชการที่ตามเสด็จฯให้ทำโน่นทำนี่ ขณะเดียวกัน พระองค์ก็จะทรงฉายพระรูปผืนดินแห้งแล้งต่างๆ พร้อมกับพล็อตจุดลงบนแผนที่ เพื่อนำไปศึกษาต่อ

ทรงเสด็จฯมาอีกครั้งก็จะสอบถามถึงความคืบหน้า

กระทั่งวันหนึ่งพระองค์ตรัสว่าเราต้องทำให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อทุกคนจะได้เข้ามาศึกษา และนำไปปรับใช้กับการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างเสียก่อน ตรงนี้จึงก่อเกิดเป็นพระราชดำริในเรื่องของการทำประโยชน์สามอย่างที่เริ่มต้นจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ตอนนั้นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทุกคนไม่เข้าใจ

แต่พระองค์ทรงอธิบายว่าการที่จะทำให้ธรรมชาติเกิดความยั่งยืนต้นน้ำคือภาคเหนือจะต้องฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนมาโดยเร็ว ทางหนึ่งข้าราชการก็ไปอธิบายเรื่องการปลูกป่าในใจคน

แต่อีกทางหนึ่งเราต้องส่งเสริมการสร้างอาชีพให้กับราษฎรด้วย

ขณะที่กลางน้ำคือภาคกลาง เพราะเมื่อป่าไม้ภาคเหนืออุดมสมบูรณ์แล้ว ก็จะมีฝน มีน้ำจากธรรมชาติ และน้ำจากธรรมชาตินี่เองจะทำให้เกษตรกรในภาคกลางสามารถทำการเกษตรได้

ขณะที่ปลายน้ำคือภาคใต้ และภาคใต้ส่วนใหญ่จะทำการประมง แต่สิ่งที่ได้ไปด้วยคือจังหวัดที่อยู่ปลายน้ำโดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่แถบฝั่งอ่าวไทยก็จะเป็นแหล่งระบายน้ำจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ด้วย

โดยเฉพาะช่วงเกิดอุทกภัย

เจ้าหน้าที่คนนั้นเล่าให้ผมฟังว่าพระองค์ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลมาก พระองค์ทรงไม่ได้คิดเฉพาะแต่ที่นี่ แต่ทรงมองไปถึงอนาคตด้วย

ซึ่งผมฟังแล้วก็เห็นจริงตามนั้น

เพราะการกลับมาครั้งนี้ ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ไม่ว่าสภาพผืนป่าที่เต็มไปด้วยความเขียวขจี หากยังมีศูนย์เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อีกมากมาย เพื่อที่จะให้ประชาชนเข้ามาทำการศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้

หากสัตว์ป่าต่างๆ ยังเริ่มกลับมา โดยเฉพาะนกยูง กวาง เก้ง และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย อันเป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าความสมบูรณ์ของผืนป่าได้กลับคืนมาแล้ว

กลับคืนมาเพราะพระองค์โดยแท้

กลับคืนมาเพราะที่นี่เป็นห้องทรงงานของพระองค์ที่มีอาณาบริเวณกว่า 8,500 ไร่ เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยที่พระองค์จะเสด็จมาที่นี่ถึง 8 ครั้งตลอดช่วงรัชสมัย

ทั้งที่นี่ยังเป็นต้นแบบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการอีกด้วย

จึงอยากเชิญชวนทุกคนให้ลองไปสักครั้ง

แล้วท่านจะประจักษ์ชัดว่าห้องทรงงานของพระองค์ทำไมถึงกว้างใหญ่เพียงนี้

ทำไมห้องทรงงานของพระองค์จึงเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต

ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image