เริงโลกด้วยจิตรื่น : ‘คำพูด’ 3 มิติ

เริงโลกด้วยจิตรื่น : ‘คำพูด’ 3 มิติ

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า “คำพูด” มีความสำคัญต่อชีวิต

เป็นที่รู้กันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความสงบสุขได้ด้วยพึ่งพาอาศัยกัน แบ่งหน้าที่ โอบอ้อมอารี เกื้อหนุนจุนเจือต่อกัน

“การพูด” เป็นวิธีสื่อสารเบื้องต้นสุดที่มนุษย์ใช้เพื่อการอยู่ร่วมกัน

Advertisement

ที่มีความสำคัญเพราะ คือ “การแสดงออก” ให้คนอื่นได้รับรู้ในสารที่สื่อออกมา เป็นการสะท้อนถึงแรงผลักจากภายในว่าคืออะไรที่ทำให้พูดออกมาเช่นนั้น

และ “แรงกระตุ้น” หรือ “แรงผลัก” ให้เกิดคำพูดที่แตกต่างกัน ซึ่งหากจะแบ่งคร่าวๆ จะแยกเป็น 3 มิติ

มิติแรก “คำพูด” สะท้อนจาก “ความรู้สึก” แสดงถึงความชอบ ไม่ชอบ ชื่นชม อิจฉา เมตตา พยาบาท หรืออื่นๆ ที่ชี้นำจิตสำนึก อาจจะเป็นคำพูดที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ เพราะเป็นไปตามความรู้สึกที่มีต่อเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร และผู้ที่รับฟัง

Advertisement

เพราะคำพูดในมิตินี้มักเริ่มต้นที่ความรู้สึก มักไม่ค่อยคำนึงถึงความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากนัก จึงเสี่ยงต่อการสร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย

ดังนั้นคำพูดในมิตินี้ จึงเหมาะกับการใช้กับผู้ฟังที่มีความสนิทชิดเชื้อกับผู้พูดมากหน่อย เป็นคนที่รู้จักนิสัยใจคอกันเป็นอย่างดีอยู่ก่อน

และไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะไปใช้บอกกล่าวกับคนที่ไม่มักคุ้น หรือไม่รู้จักกันดีพอ เพราะอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยความรู้สึกดี หรือรู้สึกร้าย

เพราะสำหรับคนไม่สนิท พูดดีจะเสี่ยงถูกมองว่าเป็นแค่ปากหวาน ไม่มีความจริงใจ ขณะที่พูดในทางร้ายจะเป็นการก่อความไม่เข้าใจ ที่จะเกิดการตอบโต้ได้

คำพูดที่ก่อปัญหาในต่อความสัมพันธ์มักเป็นคำพูดในมิตินี้ อย่าว่าแต่คนที่ไม่รู้ใจกัน แม้คนที่รู้จักกันดีพอ ในบางเวลา ในบางอารมณ์เมื่อเจอคำพูดที่ถูกความรู้สึกล้วนๆ แบบ “พูดไม่คิด” ออกมา ปัญหาก็เกิดได้

มิติที่สอง สะท้อนมาจาก “ความรู้” ที่แสดงความรู้เพียวๆ หรือใช้ความรู้หลายๆ เรื่องมาประกอบกันเข้าเป็น “ความคิด” แล้วแสดงออกมา

เช่นกัน “คำพูด” ในมิตินี้ แม้จะมีธรรมชาติของความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า แต่ใช่ว่าจะไม่ก่อปัญหาในการสื่อสาร เนื่องจากทุกการสื่อสาร จะต้องมี “ผู้สื่อ” กับ “ผู้รับสื่อ”

การนำเสนอความรู้ และความคิดนั้น แม้ว่า “คนที่สื่อ” เรียบเรียงความคิดจากความรู้เป็นอย่างดี สื่อด้วยด้วยความเป็นเหตุเป็นผลแค่ไหนก็ตาม หากทรรศนะของ “ผู้รับสื่อ” ไม่ชอบ หรือรับไม่ได้กับข้อมูลความรู้นั้น ความไม่พอใจย่อมเกิดขึ้นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คำพูดที่มาจาก “ความรู้” และ “ความคิดที่อาศัยความรู้เป็นฐาน” ย่อมสร้างการรับฟังได้ดีกว่า

“มิติที่สาม” เป็นคำพูดที่สะท้อนจาก “คุณธรรม” ในความหมายของ “ธรรมชาติที่เป็นคุณต่อการอยู่ร่วมกัน” อาจจะเป็นการแสดงถึง “ความห่วงใย-ร่วมทุกข์ ร่วมสุข-รัก-ปรารถนาดี-การปกป้องคุ้มครอง” หรืออื่นๆ ที่สะท้อนความจริงใจในมิตรไมตรีที่มีให้

คำพูดจากแรงกระตุ้นของ “คุณธรรมที่มีอยู่จริงในจิตใจ” เช่นนี้ มักสร้างความรู้สึกดีให้กับผู้ฟังมากกว่า เว้นเสียแต่ว่า “ผู้ฟังจะมีปมในใจก่อความหวาดระแวงต่อความปรารถนาดี” นั้น โดยเฉพาะกับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกัน

ในคำพูดทั้ง 3 มิตินี้ มิติแรกพูดด้วย “ความรู้สึก” เป็นเรื่องที่ต้องการระมัดระวังมากที่สุด เพราะเกิดปัญหาตามมาง่าย

หากปรารถนาให้มีคำพูดที่สร้างความรู้สึกที่ดีจากคนฟัง คือการพัฒนาคำพูดใน “มิติที่สาม” ซึ่งวิธีการสำคัญที่สุดคือ “การฝึกฝนหรือสร้างคุณธรรมแท้จริง” ให้เกิดขึ้นในใจให้มากไว้

แต่ถึงที่สุดแล้ว จะดีกว่าหากเป็นคำพูดที่ผสมทั้ง 3 มิติเข้าด้วยกัน และใช้กับกาละ เทศะ เหมาะสมกับจังหวะเวลา สถานที่ และคนรับฟัง

คำพูดที่มาจากความรู้สึกจะน่าฟัง เมื่อผสมเข้ากับความรู้ที่กว้างลึกเป็นความคิดที่แหลมคม ไปในทางที่จะสร้างความดีงามของการอยู่ร่วมกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image