แท็งก์ความคิด : เกษียณเกษม

เกษียณเกษม

เกษียณเกษม

มีเรื่องเล่ามากมายจากงาน Thailand Healthcare 2023 “เกษียณสโมสร” ที่เครือมติชนจัดและเพิ่งเสร็จสิ้นไปหมาดๆ

ใครแวะเวียนไปในงานคงได้รับสิ่งที่ต้องการเกี่ยวกับสุขภาพไปกันแล้ว

หลายคนเข้าตรวจร่างกายฟรี อีกหลายคนได้สอบถามเรื่องการเงิน ส่วนคนที่ฝักใฝ่ใคร่รู้เรื่องสุขภาพอื่นๆ เชื่อว่าเก็บเกี่ยวเอาสาระไปเต็มๆ

Advertisement

งานครั้งนี้ มี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์เป็นประธานเปิดงาน

ก่อนพิธีการเริ่มต้นมีโอกาสเสวนากับท่านอธิบดี ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีแผนงานรับมือกับสังคมผู้สูงวัยเอาไว้แล้ว

พร้อมกันนั้น ท่านอธิบดีได้เล่าให้ฟังถึง “ฟิตเนสผู้สูงอายุ”

Advertisement

เป็นไอเดียเจ๋ง เพราะฟิตเนสทั่วไปให้ความสำคัญกับหนุ่มสาว สร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ แต่สำหรับผู้สูงวัยจำเป็นต้องออกกำลังกายอีกสูตรหนึ่ง

ตั้งใจไว้ว่า ถ้าภาคเอกชนสนใจนำเอาไอเดียฟิตเนสผู้สูงวัยไปสานต่อ ก่อร่างเปิดเป็นธุรกิจบริการประชาชนก็จะดีเยี่ยม

คาดหวังไปถึงว่า ธุรกิจดังกล่าวจะทำให้ผู้สูงวัยป่วยน้อย และอายุยืนอย่างแข็งแรง

ตรงตามเจตนาของกรมการแพทย์และสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ออกกำลังกายผู้สูงอายุขึ้นมา

ตั้งใจไว้ว่า หากทำสำเร็จมีผู้สูงวัยเข้าร่วม ผู้สูงอายุจะคงความแข็งแรง ถ้าเจ็บป่วยก็ฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาได้เหมาะสม

ศูนย์ฟิตเนสผู้สูงอายุจะมีบุคลากรคอยดูแลผู้สูงวัยขณะออกกำลังกาย คอยแนะนำว่าต้องใช้แรงระดับไหน แล้วค่อยๆพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

ผู้สูงวัยที่ใช้บริการจะได้รับสายรัดข้อมือติดตามการออกกำลังกาย (Tracker) ดูเฉพาะบุคคลนั้นๆ เพื่อเก็บสถิติ และแนะนำน้ำหนักที่ใช้เล่นอย่างเหมาะสม

มีเครื่องเฉพาะที่มีซัพพอร์ต ป้องกันการบาดเจ็บในขณะเล่นได้ ทำให้ผู้สูงวัยปลอดภัยจากการใช้เครื่องออกกำลังกาย

ภายในฟิตเนสผู้สูงอายุ จะมีการประเมินศักยภาพร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นแพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับอายุและสมรรถภาพร่างกาย

รายละเอียดอื่นๆ หากใครสนใจติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันสิรินธรฯ โทร 0-2591-5455

วกกลับมาที่งาน Thailand Healthcare รอบๆ บริเวณงาน นอกจากพื้นที่ที่ 30 สถาบันแพทย์มาร่วมตรวจสุขภาพฟรีแล้ว ยังมีการแสดงนวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัยให้ได้ชม

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC นำแอพพ์ที่คอยเฝ้าระวังผู้สูงวัยหกล้มในพื้นที่ที่ลูกหลานอาจมองไม่เห็น เช่น ห้องน้ำ

เพียงแค่โหลดแอพพ์และติดตั้งเซ็นเซอร์ในจุดที่ต้องการ

เมื่อผู้สูงวัยล้มลง ระบบจะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือของลูกหลานที่โหลดแอพพ์

แอพพ์จะแจ้งเตือนความผิดปกติ ทำให้ลูกหลานติดต่อกลับไปยังผู้สูงวัยเพื่อตรวจสอบ และหากพบความผิดปกติจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทันที

แอพพ์ตัวนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะสำเร็จและออกมาให้บริการได้ภายในปีนี้

ส่วนใครที่มีปัญหาระบบการฟัง ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเอาเทคโนโลยีตรวจสอบการฟังมาตั้งเป็นโดมสูง ที่เรียกชื่อว่า “บ้านนก”

ใช้เสียงนกที่มีระดับความถี่เสียงแตกต่างกันเป็นเครื่องวัดความสามารถในการได้ยิน

เมื่อเดินเข้าไปในโดมและฟังเสียง จะทราบว่าระบบการฟังของเราปกติ หรือผิดปกติ

ฟังเสียงนกกระเต็น นกเดินดง นกเดินดงสีดำ นกคัดคู และนกเขาแขก แล้วก็รู้เบื้องต้นว่าความสามารถในการรับฟังเรามีปัญหาหรือเปล่า

ขณะที่บนเวทีเสวนามีคุณหมอสลับกันมาให้ความรู้

เวทีหนึ่ง เสวนาเรื่อง “รู้ทัน PM 2.5-มะเร็งปอดในคนไม่สูบบุหรี่ ภัยเงียบจาก ฝุ่น PM 2.5 ที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน” มี นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ

ฟังแล้วต้องระวังปัจจัยเสี่ยงที่มีหลากหลาย แม้คนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่สูดฝุ่นจิ๋วเข้าไป โอกาสเป็นมะเร็งปอดก็เพิ่มขึ้น

เรื่องเช่นนี้ภาครัฐต้องตระหนัก ภาคเอกชนและประชาชนต้องช่วยกัน

นอกจากนี้ คุณหมอรังสฤษฎ์ยังเน้นย้ำว่าข้อมูลทางการแพทย์ที่เผยแพร่ทางไลน์นั้น “แทบทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริง”

ขอให้ดูแหล่งที่เผยแพร่ และถ้าไม่แน่ใจต้องปรึกษาแพทย์ปลอดภัยที่สุด

สำหรับใครที่แวะเวียนไปสอยดาว อยากบอกให้ทราบว่า เงินที่ท่านให้มา เครือมติชนได้นำไปมอบให้โรงพยาบาลเมื่อวันสุดท้ายของงาน

ขอให้ได้บุญกุศลกันถ้วนทั่ว ไม่เจ็บไม่จน กายแข็งแรง ใจแข็งแกร่ง

Healthcare ปีนี้มีแนวคิด “เกษียณสโมสร”

ใครแวะเวียนไปงานคงได้เก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆ ที่ผู้จัดนำเสนอ

ดูจากสีหน้าและเสียงเรียกร้องให้จัดอีกในปีหน้าแล้ว

สรุปได้ว่างาน “เกษียณสโมสร” นี้ สร้างความเกษมให้ผู้เยี่ยมชมงานจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image