ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร |
เผยแพร่ |
แสงไฟระยิบระยับประดับบนต้นไม้สองข้างทาง
ผู้คนสวมเสื้อผ้าหนาๆ ออกมาดื่มด่ำบรรยากาศยามค่ำคืน บันทึกห้วงเวลาแห่งความงดงามท่ามกลางอากาศหนาวเย็น
หิมะโปรยปรายในเวลากลางวัน ราวกับฉากในภาพยนตร์รักแสนโรแมนติก
นี่คือบรรยากาศในช่วงก้าวย่างเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ของ “ฟุกุชิมะ” จังหวัดริมชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรกว่า 3 แสนคน
ชาวบ้านยังมีรอยยิ้มและกำลังใจดี แม้ว่าจะผ่านห้วงเวลาอันยากลำบากจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ นับแต่ปี 2011 เป็นต้นมา กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมและพฤศจิกายนปีนี้ รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตนับพัน ยังไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล
วันนี้ ทุกสิ่งยังคงเดินหน้า ความร่วมมือด้านต่างๆ กระชับแนบแน่น หนึ่งในนั้นคือการ “สร้างแบรนด์” วัฒนธรรมอาหาร
“โคริยามะ” เมืองสำคัญในจังหวัดดังกล่าว คือแถวหน้าของภารกิจนี้
กินปลาคาร์พกันไหม ?
อาจดูเป็นคำถามแปลกประหลาด เพราะในจินตนาการของคนไทย สัตว์น้ำชนิดนี้คือ เจ้าตัวสีส้มหัววุ้นที่ว่ายเวียนไปมาในอ่างปลาแสนสวย ทว่าจริงๆ แล้ว ปลาคาร์พมีหลากหลายสายพันธุ์ ที่สำคัญได้แก่ โกลเด้น คาร์พ, เรด คาร์พ และแบล็ก คาร์พ ซึ่งพันธุ์ท้ายสุดนี้เอง ที่ถูกนำมาปรุงอาหารสุดพิเศษ
ปลาคาร์พพันธุ์นี้ สีเทาออกดำ ตัวค่อนข้างใหญ่ ช่วงวัยที่เหมาะสมคือเมื่ออายุได้ 2-3 ปี นับเป็นอาหารท้องถิ่นที่ชาวเมืองภาคภูมิใจ
“โชกัสสึโซ” (SHOGATSUSO) ร้านอาหารที่ดีที่สุดร้านหนึ่งของเมือง มีเมนูปลาคาร์พชั้นเลิศ เด่นสุดยกให้ “ซาชิมิคาร์พ” เนื้อนุ่มแต่หนึบแบบกำลังดี รับประทานคู่ขิงบด ซอสถั่วเหลืองและมิโซะ
นอกจากนี้ ยังมีเมนูอื่นอีกมากมาย อาทิ เท็มปุระคาร์พ พร้อมเห็ดชิตาเกะ หรือเห็ดหอมทอดรสกลมกล่อม, หนังปลาคาร์พทอดกรุบกรอบ รวมถึงเมนูผัด อารมณ์คล้ายๆ ผัดเปรี้ยวหวาน ซึ่งนำเนื้อปลาไปทอดจนเหลืองชวนรับประทาน แล้วราดด้วยน้ำซอสรสละมุน
ทุกจานเสิร์ฟด้วยรอยยิ้มของเจ้าของร้านในชุดประจำชาติ
เมนูปลาคาร์พ รับประทานกันในโอกาสพิเศษ ราคาสูงกว่าอาหารทั่วไป แต่ถ้าลองคำนวณดูแล้ว ไม่ถึงขั้นสูงลิ่วจนเอื้อมไม่ไหว เพราะตกแค่หลักพันบาทไทยเท่านั้น อย่างชุดอาหารกลางวัน จ่าย 3,000 เยน
อร่อยเลอค่า’โคริยาม่า ซากุระ คาร์พ’
ปัจจุบันความนิยมรับประทานปลาชนิดนี้ เริ่มแพร่หลายมากขึ้น เพราะนอกจากอร่อยลิ้น ยังเลอค่าทางโภชนาการ เพราะช่วยปรับสมดุลเลือด บำบัดโรคเบาหวาน ป้องกันต้อหิน ตีต่อผู้ป่วยโรคโรคไต บรรเทาอาการโรคข้อ รวมถึงอีกหลายโรคของผู้หญิง และยังช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่อีกด้วย
ความรู้เรื่องเนื้อปลาคาร์พมีคุณค่าเป็น “ยา” นี้ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อวิทยาการก้าวหน้า จึงพบว่าเนื้อปลาคาร์พ 50 กรัม ให้พลังงาน 85.5 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยโปรตีน วิตามินเอ บี 1 บี 3 บี 5 วิตามินอี และดี ยังมีแคลเซียม โซเดียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม
เนื้อปลาคาร์พโคริยามะมีสีชมพูระเรื่อราวกับดอกซากุระ เพราะได้รับการดูแลอย่างดีในน้ำที่มีคุณภาพ การให้อาหาร และกระบวนการเลี้ยงที่พิถีพิถัน มีการวางแผนอนาคตระยะยาวแบบเป็นลำดับขั้นไปจนถึงปี 2023 เตรียมสถาปนาแบรนด์เนม “โคริยาม่า ซากุระ คาร์พ” ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาอย่างจริงจัง จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ แข่งขันดีไซน์แพคเกจ ไม่เพียงเท่านั้น ยังจับมือกับฮังการี โดยเชิญเชฟมาเวิร์กช็อปเมนูปลาคาร์พอีกด้วย
เรียกได้ว่า รสชาติดี มีอนาคต
‘ฟุกุฮารุกะ’เทพนิยายแห่งความหวาน
จากแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เขยิบมาสู่ผืนแผ่นดินอันเป็นที่ราบเวิ้งว้างสุดสายตา มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นแผ่กิ่งก้านไร้ใบในฤดูหนาว รอวันกลับมาผลิใบอีกครั้ง ราวกับภาพเขียนแขวนผนังในแกลลอรี่ศิลปะ
ทว่า ในภาพฉากโทนสีทึมเทานั้น หากมองลึกลงไปในรายละเอียด จะมองเห็นพื้นที่เพาะปลูกที่เขียวขจีไปด้วยพืชพรรณ หนึ่งในนั้นคือ “ไร่อุเนะเมะ” ของคุณลุงอิโต โตชิมิ วัย 72 ปี ซึ่งขึ้นชื่อด้วยสตรอเบอรี่พันธุ์ฟุกุฮารุกะสุดหวานฉ่ำ
คุณลุงเล่าว่า เริ่มบุกเบิกไร่แห่งนี้เมื่อปี 2006 บนพื้นที่ 125 เฮกเตอร์ มี “กรีนเฮาส์” ปลูกสตรอเบอรี่ 3 หลัง นอกจากนั้นยังปลูกพืชผักอีกหลายชนิด อาทิ ถั่วเหลือง แตงกวา มะเขือเทศและหัวหอม เป็นต้น
แม้จะเพิ่งทำไร่สตรอเบอรี่ แต่ตระกูลคุณลุงทำการเกษตรมานานหลายชั่วอายุคน สั่งสมประสบการณ์จากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น
“สตรอเบอรี่ในโลกนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ความโดดเด่นของพันธุ์นี้คือ ความหวาน และรสสัมผัสของเนื้อที่นุ่มละมุนลิ้น แต่จะเป็นยังไง ต้องลองชิมดูเอง” คุณลุงอธิบายพร้อมยิ้มอ่อนโยน
มาถึงตรงนี้ คุณโตชิฮิโร่ วัย 42 ปี ลูกชายแท้ๆ เสริมว่า พันธุ์ทั่วไปจะมีความเปรี้ยวและหวาน สัดส่วน 50-50 พูดง่ายๆ ว่าหวานอมเปรี้ยว แต่พันธุ์นี้มีความหวานมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ความเปรี้ยว 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าหวานสุดสุด
กว่าจะได้ผลผลิตชั้นเยี่ยมขนาดนี้ ต้องดูแลเอาใจใส่ในรายละเอียดแทบทุกกระเบียดนิ้ว แม้แต่น้ำที่ใช้ก็ต้องมีคุณภาพ ไหนจะอากาศซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่ง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 23-25 องศาเซลเซียส และต้องไม่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ไม่เช่นนั้นสตรอเบอรี่จะไม่เติบโต เมื่อไหร่ที่อุณหภูมิลดลงต่ำเกินไป จะมีการปล่อยลมอุ่นๆ เข้ามาทางถุงลมพลาสติกที่ทำเป็นท่ออยู่ทั่วไร่ คล้ายๆ กับเป็นฮีตเตอร์นั่นเอง
ภูมิปัญญา ผึ้งน้อยบอกอุณหภูมิ
นอกจากท่อลมอุ่นที่ช่วยประคบประหงมสตรอเบอรี่น้อยๆ แล้ว จะสังเกตเห็นลังไม้สี่เหลี่ยมซ้อนชั้น สิ่งที่อยู่ในนั้นคือฝูงผึ้ง ซึ่งตั้งใจเลี้ยงไว้บอกอุณหภูมิ เมื่อไหร่ที่ฝูงผึ้งชวนกันบินขึ้นสู่เพดานกรีนเฮาส์ แสดงว่าอุณหภูมิสูงเกินไป ต้องเร่งแก้ไขให้พอเหมาะ นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันชาญฉลาดที่เกิดจากการสังเกตธรรมชาติรอบตัว
อย่างไรก็ตาม การที่ทางไร่ไม่ใช้ระบบอัตโนมัติใดๆ จึงไม่สามารถสร้างผลผลิตจำนวนมากๆ ได้ แต่นั่นก็ทำใหสตรอเบอรี่ทุกผลที่นี่ช่างเป็นดังของขวัญล้ำค่า เพราะผ่านมือของชาวไร่ ที่ทุ่มเทด้วยหัวใจอย่างแท้จริง ในแต่ละวันจะมีสตรอเบอรี่ผลสวยให้ผู้คนได้ลิ้มรสวันละ 70 กล่อง กล่องละ 350 กรัม ในราคากล่องละ 630 เยน แต่ในช่วงเทศกาลอย่างคริสต์มาสและปีใหม่ จะสูงขึ้นอีกเล็กน้อย
เสียดายที่ทางไร่ยังไม่พร้อมรับนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม หรือชิมที่ไร่โดยตรง แต่สามารถซื้อได้ในตลาดท้องถิ่นของเมืองโคริยามะ โดยยังไม่มีการส่งออกนอกประเทศ เพราะผลิตได้ไม่มาก อีกทั้งหนึ่งในคุณสมบัติเด่น คือเนื้อที่นุ่มละมุน กลับกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการขนส่ง แต่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้
“ก่อนหน้านี้ ทางไร่เคยส่งออกสตรอเบอรี่ไปประเทศจีน แต่เป็นพันธุ์อื่น ส่วนพันธุ์นี้ยังส่งออกไม่ได้ เพราะผลิตได้ไม่มากนัก และเนื้อนุ่มมาก ต้องออกแบบแพคเกจให้ดีก่อน ไม่อย่างนั้นจะเสียหายระหว่างขนส่งได้ เพราะเนื้อนุ่มมาก” คุณโตชิฮิโร่กล่าว
ดังนั้น ใครอยากชิมต้องมาเยี่ยมเยือนเมืองแห่งนี้ด้วยตัวเอง รับรองว่าคุ้มค่า
พลาดมาทั้งชีวิต ? มากินสตรอเบอรี่ให้ถูกวิธีกันเถอะ !
เยี่ยมชมไร่อันงดงามกันแล้ว ได้เวลาทดลองเก็บผลบอบบางน่าทะนุถนอม
ชาวไร่ตัวจริง อธิบายพร้อมทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า ให้ใช้อุ้งมือค่อยๆ ช้อนใต้ขั้วแล้วค่อยๆ ดึงอย่างเบามือ อย่ากระชากหรือปลิดจากขั้วด้วยนิ้วมือ เดี๋ยวผลจะช้ำ ส่วนการดื่มด่ำกับความหวานฉ่ำของผลสตรอเบอรี่ที่ถูกต้อง คือ เริ่มกัดจากโคนซึ่งติดกับขั้ว เนื่องจากเป็นส่วนที่หวานน้อยกว่าส่วนอื่น เพื่อเก็บส่วนที่มีค่าที่สุดไว้ตอนท้าย นั่นก็คือ ส่วนปลายซึ่งหวานสุดสุด
สตรอเบอรี่ไร่นี้เมื่อเก็บแล้วพร้อมหม่ำได้ทันที เพราะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงทุกชนิด
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าแห่งเมืองโคริยามะ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารที่เป็นทั้งศาสตร์ ศิลป์ และภูมิปัญญา เป็นดินแดนเปี่ยมเสน่ห์ที่น่าเดินทางไปเยี่ยมเยือนทุกฤดูกาล
ออนเซ็น-เรียวกัง
อีกหนึ่งอย่างที่พลาดไม่ได้เมื่อเยี่ยมเยือน ฟุกุชิมะ คือ “น้ำพุร้อน” (ออนเซ็น) ซึ่ง ดีต่อสุขภาพ คลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส สละความเขินอายแล้วเปลือยเปล่าเข้าสัมผัสบบรรยากาศห้องอาบน้ำรวมในวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงโรงแรมแบบญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่า “เรียวกัง” ซึ่งมีที่พักค้างคืนนับสิบแห่งที่ต่างก็ล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
(ดูรายละเอียดเพิ่ม www.tif.ne.jp และ www.kanko-koriyama.gr.jp)