เริงโลกด้วยจิตรื่น : ‘ระยะห่าง’ที่เหมาะสม

เริงโลกด้วยจิตรื่น : ‘ระยะห่าง’ที่เหมาะสม

หากจะบอกว่าการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น สิ่งอื่น สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมี “ระยะห่าง” อาจจะฟังแล้วขัดกับความรู้สึกนึกคิดที่เคยชินกับทัศนคติที่ว่า “สรรพสิ่งคือหนึ่งเดียวกัน” อันทำให้ “ระยะห่าง” ซึ่งเท่ากับการแยกตัวออกมา จะเป็นการปฏิเสธสัจธรรมตามทรรศนะ “เป็นหนึ่งเดียว” นั้น

ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยเพราะ “ระยะห่าง” กับ “ความเป็นหนึ่งเดียว” นั้นเป็นคนละจังหวะ คนละขั้นตอนของการดำเนินชีวิต

และการมี “ระยะห่าง” นับว่ามีสำคัญต่อชีวิตที่ดำเนินไป

Advertisement

ในทางกายภาพ “ระยะห่างของเรากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง” วัดจากความใกล้ ไกลระหว่างเรากับสิ่งนั้น

“ระยะห่างที่เหมาะสม” คือระยะที่เราสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้สูงสุด

ในมิติของ “สายตา” ความเหมาะสมอยู่ที่ “ระยะห่างที่ทำให้เราเห็นชัด และเห็นอย่างละเอียดลออที่สุด”

Advertisement

ใน “มิติของมือ” ความเหมาะสมอยู่กับ “การหยิบฉวยมาใช้ได้สะดวก”

ใน “มิติของความปลอดภัย” ความเหมาะสมอยู่ที่ “ระยะทางที่เหตุของอันตรายมาไม่ถึง”

ระยะห่างทาง “กายภาพ” นับว่ามีความสำคัญแล้ว ดูเหมือนว่าระยะห่างทาง “จิตใจ” จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่ถูกต้องของชีวิตมากกว่าเสียอีก

จิตใจในกรอบของ “ความรู้สึก นึก คิด” นั้นมีความสำคัญมาก เพราะความยุ่งยากของการสร้างทรรศนะที่ทำให้สามารถเข้าถึงความเป็นจริง หรือเหตุผลที่แท้จริงของปรากฏการณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการยึดติดกับความรู้สึก นึก คิดที่เป็นความเคยชิน ทำให้จมอยู่กับทัศนคติที่แข็งทื่อ ไม่มีพลวัต ทำให้สัมผัสถึงความแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งนั้นๆ

การบล็อก หรือยึดไว้กับความรู้สึก นึก คิดเดิมๆ เป็นเหตุสำคัญการเกิดภาวะจิตที่เรียกกันว่า “อคติ”

การออกจาก “อคติ” ย่อมเป็นเรื่องสำคัญ และวิธีการคือต้องสร้าง “ช่องว่างระหว่างความรู้สึก นึก คิด ของเรากับทรรศนะที่ถูกครอบงำด้วยอคตินั้น”

“ช่องว่าง” นั้นก็คือ “ระยะห่าง”

การสร้างช่องว่าง หรือ “ระยะห่าง” ระหว่าง “ความรู้สึก นึก คิด” ของเรากับ “อคติ” เป็นเรื่องภายในจิตใจ ดังนั้น ที่ต้องสร้างขึ้นมาก่อนคือ “พื้นที่ว่างในจิต” เพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็น “ระยะห่าง” ที่จะทำให้เกิดการมองเห็น “ทรรศนะที่เคยชินอันสะสมมา” หรือที่ถูกตั้งค่าว่าคือ “อคติ” ได้

หากคิดจะรื้อ “ทัศนคติ” เพื่อให้พ้นจากการยึดถือ “อคติ” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง “ระยะห่าง” ระหว่าง “จิตที่ใช้เห็นจริง” กับ “จิตที่ยึดติด” นั้นขึ้นมา

ใช้พื้นที่ว่างนั้นแยก “จิตตื่นเห็น” ออกจาก “จิตที่ถูกครอบงำ” และใช้ “จิตตื่นเห็น” นั้นสร้างปัจจัยให้ “ทัศนคติใหม่ๆ” เกิดขึ้น

เป็น “ทัศนคติใหม่” อันมี “พลวัต” ที่จะทำให้เหมาะสมกับความเป็นไป ณ ปัจจุบันขณะ อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต

“ระยะห่าง” จึงมีความสำคัญของชีวิต ทั้งในทาง “กายภาพ” และ “จิตใจ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image