แท็งก์ความคิด : เรื่องเล่า‘ยุติธรรม’

เรื่องเล่า‘ยุติธรรม’

เรื่องเล่า‘ยุติธรรม’

ติดตามการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มองเห็นความสำคัญของกฎหมาย

หากกฎหมายที่ออกมาฝืนธรรมชาติ อาจผลักดันให้เกิดเหตุร้ายและความรุนแรงขึ้น

กฎหมายที่ออกมาด้วยกระบวนการที่ผู้คนไม่ได้เห็นด้วยอย่างแท้จริง หรือกฎหมายที่ออกมาตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ

Advertisement

แทนที่จะทำให้สังคมสงบสุข อาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมลุกเป็นไฟ

รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมประเทศของ คสช. จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่

เพราะมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะฝืนเจตจำนงประชาชน ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาใจผู้มีอำนาจ รับฟังเสียงข้างน้อย ไม่สนใจเสียงข้างมาก

Advertisement

ฝืนธรรมชาติของมนุษย์

ระหว่างดำเนินการออกกฎหมายก็มีการไล่จับไล่ขังคนเห็นต่าง สร้างความคับข้องใจแก่ผู้ที่ไม่เห็นด้วย

รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาด้วยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้สังคมสันติสุขหรือเกิดเหตุตรงกันข้ามเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

ความจริงแล้วที่มาของกฎหมายนั้นมีความสำคัญ

หนังสือ ประวัติศาสตร์ความคิด นิติปรัชญา ของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้บอกเล่าเรื่องราวความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมและการได้มาซึ่งกฎหมายเอาไว้เยอะ

บทแรกๆ ของหนังสือบอกเล่าถึงวรรณกรรมยุคกรีกที่ชื่อว่า “เธโอโกนี”

วรรณกรรมเรื่องนี้กล่าวถึงธิดาของเทพซูสกับเทพีเธมิส 3 องค์

องค์หนึ่ง คือ ไดคี องค์หนึ่ง คือ ยูโนมีอา อีกองค์หนึ่ง คือ อีรีนี

เทพี 3 องค์นี้ ถือว่า ไดคี เป็นเทพีแห่งความยุติธรรม ยูโนมีอา เป็นเทพีแห่งความเป็นระเบียบ และเทพพีอีรีนี เป็นเทพีแห่งความสันติสุข

ตามตำนาน เทพีไดคี เป็นผู้นำกฎหมายจากสรวงสวรรค์โอลิมปัสมาสู่โลกมนุษย์

เทพีไดคี มีภารกิจประกาศกฎหมายให้มนุษย์ได้รับรู้ ปกป้อง และธำรงไว้ซึ่งกฎหมายที่ตนนำมาประกาศ

ชาวกรีกถือว่ากฎหมายเป็นของขวัญที่ได้รับจากทวยเทพ

นอกจากนี้ ในตำนานกรีกเมื่อเอ่ยถึงเทพีแล้ว ยังเอ่ยถึงมารอีกด้วย

มารที่ถือเป็นอริของเทพีไดคี มี 3 นาง คือ เอริส, บีอา หรือ ไบอา และ ไฮบริส หรือ ฮิวบริส

เอริส เป็นมารแห่งความขัดแย้ง เป็นผู้ทำลายกฎระเบียบ

บีอา เป็นมารแห่งการใช้กำลัง เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย

ส่วน ไฮบริส เป็นมารแห่งความไม่พอเหมาะพอควร ความเกินเลยไร้ขอบเขต

อาจารย์วรเจตน์สรุปความเกี่ยวโยงอย่างเป็นเหตุและผลจากตำนานดังกล่าว

ระบุว่า วรรณกรรมดังกล่าวมองว่าโลกใบนี้ถูกปกครองด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยมีเทพเจ้าเป็นผู้ปกปักรักษากฎเกณฑ์

แต่โลกทั้งใบไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน

โลกของสิ่งที่มีเหตุผลจะตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของไดคี ส่วนโลกที่ไม่มีเหตุผลตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของบีอา ซึ่งนิยมใช้กำลัง

มนุษย์ที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของไดคีจะมีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของไดคี เมื่อนั้นชุมชนมนุษย์ก็จะตกต่ำและเกิดการต่อสู้ใช้กำลัง

การใช้กำลังนำไปสู่ความเกินเลยไร้ขอบเขต และชุมชนแห่งนั้นจะไม่เป็นชุมชนมนุษย์อีกต่อไป

การอยู่ร่วมกันโดยอาศัยกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมคือสภาวะที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

กฎหมายจึงต้องไม่มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นจากเจตจำนงโดยอำเภอใจ

กฎหมายต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่สอดรับกับคุณลักษณะหรือธรรมชาติของมนุษย์

การตรากฎหมาย จึงต้องไม่กระทำไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ

บุคคลที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้ใช้อำนาจ มีภารกิจในการค้นหากฎเกณฑ์ที่ถูกต้องให้พบ

บุคคลเหล่านั้นจะต้องพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ภายใต้แสงสว่างหรือรัศมีของไดคี

กฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นฉบับใดหรือคำพิพากษาใดที่ไม่สอดคล้องกับไดคี กฎเกณฑ์นั้นย่อมมิใช่กฎเกณฑ์หรือคำพิพากษาที่แท้จริง

แต่เป็นมายาที่ลวงให้เราเห็นว่าเป็นกฎเกณฑ์หรือคำพิพากษานั้นเป็นกฎเกณฑ์หรือคำพิพากษาที่แท้จริง

อ่านวรรณกรรมเรื่อง “เธโอโกนี” แล้ว ชวนให้คิดถึงรัฐธรรมนูญปี 60

กฎหมายฉบับนี้ออกมาภายใต้แสงสว่างของเทพีไดคีหรือไม่

หรือเป็นกฎกติกาที่ออกตามอำเภอใจที่หวังควบคุมคนส่วนใหญ่

หากกฎหมายที่ออกมาไม่สอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์ กฎหมายอาจเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรง

กฎหมายที่มีที่มาจากความอำเภอใจ ทำให้กฎหมายแปรสภาพ

จากกฎหมายจากเทพีที่นำไปสู่สันติสุข กลายเป็นกติกาจากมารที่ก่อให้เกิดความรุนแรง

เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ

เป็นเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยง

นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายและความยุติธรรมของประเทศเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image