เริงโลกด้วยจิตรื่น : สามัญสำนึกมนุษย์

เริงโลกด้วยจิตรื่น : สามัญสำนึกมนุษย์

ใ นความเป็นปุถุชน คนธรรมดา “สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์” ย่อมสำคัญมาก เพราะอย่างน้อยจะให้มนุษย์รู้ว่าเราควรจะอยู่ร่วมกันแบบไหน

ทว่าโลกที่เคลื่อนไปความเป็นธรรมดาของมนุษย์ อันถือเป็นสัตว์โลกเผ่าพันธุ์หนึ่งกลับคล้ายก่อความรู้ ความคิดที่ย้อนแย้งอย่างยิ่งกับ “สามัญสำนึก”

แต่เมื่อต้องตอบคำถามว่า “อะไรคือสามัญสำนึกของมนุษย์” นั่นก็เป็นเรื่องยากแล้วที่คำตอบของทุกคนจะเหมือนกัน ทั้งที่ควรจะไม่ต่างกัน

Advertisement

เพราะ “สามัญสำนึกมนุษย์” คือความหมายเบื้องต้นของ “ความเป็นคน” ที่ทุกคนควรจะต้องรู้ในทางเดียวกัน

หรือว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว “มนุษย์เราไม่ได้เรียน หรือร่วมกันหาคำตอบว่าเราควรจะอยู่ร่วมกันอย่างไร”

เปล่าเลย! ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

Advertisement

มนุษย์ควรจะอยู่ร่วมกันอย่างไร หรือแม้แต่ควรจะใช้ชีวิตอย่างไรร่วมกับสรรพชีวิต หรือสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ กระทั่งเลยไปถึงอยู่ร่วมกับจักรวาล

ก่อนที่จะพัฒนาคำตอบทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน ศาสนาของทุกศาสนาได้ให้คำตอบว่า “อะไรคือสามัญสำนึกของมนุษย์” ไว้แล้ว พร้อมชี้ทางให้มนุษย์ได้เข้าใจ และอยู่ร่วมกับสามัญสำนึกอย่างกลมกลืน ไม่ก่อแรงเสียดทาน

อย่างเช่นใน “พุทธศาสนา”

พระพุทธองค์ทรงแสดงหนทางสู่ความเข้าใจความหมายของสามัญสำนึกไว้ใน “ศีล 5”

ตอกย้ำไว้ใน 7 สายทางที่สัตว์โลกจะเป็นไปหลังหมดลมหายใจ

ในสายที่ 4 ทางไปเป็นมนุษย์ ระบุว่าคือ ผู้ที่มีเบญจศีลและเบญจธรรม หรือใช้ชีวิตเจริญอยู่ในบุญกิริยาวัตถุ 10 เท่านั้นจึงจะเกิดเป็นมนุษย์ได้

เมื่อผู้ประกอบเป็นผู้มีศีล 5 คือไม่เบียดเบียนชีวิต, ไม่แย่งชิงทรัพย์, ไม่ถูกกามารมณ์ครอบงำจนขาดสติ, ไม่โกหก หลอกลวง, ไม่เมามาย ย่อมหมายถึงมีจิตอยู่ในสภาวะรักษาความสงบ สันติของการอยู่ร่วมกัน

ความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงเป็น “สามัญสำนึกของมนุษย์”

ดังนั้น พฤติกรรมใดก็ตามที่ทำลายสันติภาพในสังคมมนุษย์ ก่อให้เกิดความเกลียดชัง โกรธแค้นในกันและกัน ย่อมเป็นการสร้างภาวะที่แย้งกับ “สามัญสำนึกมนุษย์”

ไม่เพียง “พระพุทธเจ้า”

ในทุกศาสนา ศาสดาล้วนแล้วแต่ชี้ทางให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความรัก

มีเมตตา เกื้อกูลต่อกัน

ทุกศาสนาชี้ให้เห็นด้วยซ้ำว่าหากไม่รักษาความกรุณา ปรานี เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เห็นอกเห็ใจนต่อกันไว้ การอยู่ร่วมกันนั้นจะไม่ใช่ “สังคมมนุษย์”

ไม่ยากเลยที่ทุกคนจะสามารถเห็นได้ว่า สังคมที่เราอยู่นั้นห่างไกลจาก “สภาวะของสังคมมนุษย์” แค่ไหน

เพียงแค่ลองพิจารณาว่าเราอยู่ร่วมกันด้วย “สำนึก” แบบไหน

เป็น “สามัญสำนึกของมนุษย์” อย่างที่กล่าวมาแล้วหรือไม่

หรือเป็นสำนึกพร้อมจะเบียดเบียนทำลายล้าง ลุ่มหลงในสิ่งเสพ กระทั่งพร้อมจะทิ้งทุกคุณธรรม

เราอยู่ในสังคมที่เชื่อมร้อยจิตใจไว้ด้วย “สามัญสำนึกของมนุษย์” หรือไม่

และที่สำคัญกว่านั้นคือ การพิจารณาเพื่อมองเข้าไปในสภาวะจิตของตัวเอง ว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตของเรานั้น ประกอบอยู่ด้วยสำนึกแบบไหน

เป็น “สามัญสำนึกมนุษย์” อย่างที่ทุกศาสนาให้นิยามไว้

หรือด้วย “สำนึก” ในรูปที่ประกอบเป็นชีวิตในภพภูมิอื่น ที่ไม่ใช่มนุษย์

สัตว์นรก-เปรต อสูรกาย-สัตว์เดรัจฉาน-มนุษย์-เทวดา-พรหม-นิพพาน

มองเห็นหรือไม่ “สามัญสำนึกที่มีอยู่” ได้นำพาเราไปเป็นอะไร

ในร่างมนุษย์ขณะนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image