แท็งก์ความคิด : ปรุงรสชาติให้ชีวิต

ปรุงรสชาติให้ชีวิต

ปกติเวลาสัญจรไปที่ไหนในประเทศ เรามองเห็นผู้คนและสิ่งปลูกสร้างแล้วชื่นชม “ความสวย”

แต่เมื่อได้อ่าน “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ชาตินิยม” แล้ว ความรู้ที่ได้รับได้เพิ่มรสชาติให้สมอง

เวลาชมเมืองและสิ่งปลูกสร้างจะสัมผัสได้ถึง “ความงาม”

Advertisement

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ชาตรี ประกิตนนทการ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

รับประกันคุณภาพด้วยคำนำเสนอของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

การันตีด้วยถ้อยความว่า “การเมืองและสังคมในงานศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม จึงสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการในหนังสือเล่มนี้”

Advertisement

ความรู้ที่ได้รับจากหนังสือทำให้เราสนุกหากเดินทางผ่านสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่มีบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในกรุงเทพฯ แวะเวียนไปอยุธยา หรือเดินทางไปเพชรบุรี หากได้ผ่านสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นจะซาบซึ้งถึงความงามของสถาปัตยกรรม

ความงามของสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความคิดผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ ออกมา

นับตั้งแต่ยุคเริ่มแรก ที่สิ่งปลูกสร้างอย่างวัดวาอารามใช้สถาปัตยกรรมที่อิงแอบความเชื่อแบบไตรภูมิ

เรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมตามแนวคิดแบบจารีต

อาทิ สร้างเจดีย์ทรงปรางค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ

ใครไปวัดอรุณราชวราราม จะเห็นพระปรางค์ที่สร้างขึ้นตามแนวคิดไตรภูมิอย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติ กรุงเทพฯ ที่จำลองจักรวาลทัศน์แบบไตรภูมิเอาไว้

แต่พอเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เมื่อต่างชาติตะวันออกตะวันตกเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามา จนสยามประเทศต้องปรับตัวให้เข้ากับโลก

สถาปัตยกรรมจึงมีการเปลี่ยนแปลง

ในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดราชโอรสาราม ที่เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 ออกแบบตกแต่งโดยมีสถาปัตยกรรมจีนเป็นส่วนผสม

ในสมัยรัชกาลที่ 4 การสร้างเจดีย์ใช้เจดีย์ทรงระฆังกลมเป็นประธานของวัดแทนเจดีย์ทรงปรางค์

เจดีย์ทรงปรางค์สะท้อนถึงแนวคิดไตรภูมิ แต่เจดีย์ทรงระฆังกลมสะท้อน “พุทธวจนะ” สอดรับกับแนวทาง “ธรรมยุติกนิกาย” เกิดขึ้นในช่วงปฏิรูปพระพุทธศาสนา

และนับแต่นั้นดูเหมือนว่าสถาปัตยกรรมต่างชาติโดยเฉพาะตะวันตกเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น

การตกแต่งในพระที่นั่งอนันตสมาคม หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ได้ใช้สถาปัตยกรรมตะวันตกในการสร้างสรรค์

โรงกษาปณ์สิทธิการ ในพระบรมมหาราชวัง หรือหมู่อาคารภายในพระนครคีรี หรือเขาวัง ที่ จ.เพชรบุรี หรือพระตำหนักสวนกุหลาบ รวมไปถึงตึกกระทรวงกลาโหม สถานีรถไฟหัวลำโพง พระที่นั่งวิมานเมฆ

ล้วนใช้สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เพราะให้ชาวต่างชาติเห็นถึงความศิวิไลซ์

ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วอยากเห็นของจริง แม้หลายแห่งจะมีโอกาสได้เข้าไปชม แต่ยังไม่อิ่มเอิบกับสถาปัตยกรรมเท่านี้

สถาปัตยกรรมที่อิงแนวคิดห่างไกลจากจารีตมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการประดับตกแต่งงานสถาปัตย์ทางศาสนา

ที่น่าสนใจคือการนำเอาลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งเป็นแนวคิดรูปแบบหนึ่งของตะวันตก มาแทนดาวเพดานตามแนวคิดไตรภูมิ

ไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์ วัดราชบพิธฯ ปราสาทพระเทพบิดร พระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร ต่างเปลี่ยนแปลงเพดานจากลายดาว ไปเป็นลายเครื่องราชฯ

เช่นเดียวกับลายหน้าบันที่นำตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์มาประดับ อาทิ หน้าบันพลับพลาเปลื้องเครื่อง วัดราชบพิธฯ หน้าบันพระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์

หรือการออกแบบผสมผสานทางสถาปัตยกรรมวัดราชบพิธฯ ที่ภายนอกเป็นแบบจารีต แต่ตกแต่งภายในใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิค

แต่การเอาอย่างตะวันตกก็เกิดปัญหาว่าไทยไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงมีการรื้อฟื้นแนวคิดแบบจารีตกลับมาอีกครั้ง

กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถาปัตยกรรมในยุคสมัยนั้นมีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้สถาปัตยกรรมที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย

สถาปัตยกรรมแบบนี้มีลักษณะเส้นตรงไปตรงมาแบบกล่องสี่เหลี่ยม ไม่นิยมลวดลายตกแต่ง หลังคาเป็นทรงตัดหรือไม่ก็จะก่อเป็นแผงคอนกรีตขึ้นไปบังหลังคา นิยมสร้างตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

อาคารสิ่งปลูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบทันสมัยนี้ มีอาทิ อาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม ตึกแถวริมถนนราชดำเนินกลาง ที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข บางรัก ที่ว่าการอำเภอบางเขน สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย โรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีตที่มีตัวอย่างให้เห็นที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม. ซึ่งหลายคนคงเคยไปวัดนี้หลายครั้ง แต่ยังไม่เคยได้ชมกับสถาปัตยกรรมดังกล่าว

หากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ รับรองว่าเมื่อไปเยือนวัดนี้ คงอดใจเหลือบสายตาดูและสังเกตสถาปัตยกรรมการก่อสร้างไม่ได้

นี่เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม” เท่านั้น

การอ่านหนังสือเล่มนี้จะทำให้การมองทิวทัศน์รอบๆ ตัวแตกต่างจากเดิม
เพราะรอบๆ ตัวเราเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม

บ้างเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบจารีต บ้างเป็นสถาปัตยกรรมเชิงพุทธศาสนา หรือสถาปัตยกรรมผสมผสานกับจีน และสถาปัตยกรรมที่ผสมกับฝรั่งตะวันตก

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเหมือนได้ปรุงรสชาติให้สมอง

หลายสถานที่ที่เคยไปแล้วรู้สึกเฉยๆ ไร้รสชาติ แต่เมื่อเติมความรู้ด้าน
สถาปัตย์ และประวัติศาสตร์เข้าไป หลายสิ่งที่เคยดูแล้วจืดชืด กลับมีรสชาติขึ้นมา

เป็นรสชาติที่เกิดจากความรู้ เป็นความรู้ที่ได้จากการอ่าน

การอ่านที่ทำให้สมองมีรสชาติ ปลุกให้ชีวิตมีสีสัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image