ทวงคืน คัดค้าน ต้านรื้อ สมรภูมิร้อนปี 59 ปีหน้าริบหรี่หรือมีหวัง ?

อุณหภูมิสูงปรี๊ดดดดจนปรอทแทบแตกไม่รู้กี่ที สำหรับกรณีวิวาทะหลากหลายในปีนี้ ที่ล้วนเข้มข้นราวกับอยู่ในสมรภูมิรบ ทั้งยังซับซ้อนซ่อนปม ชวนให้เกาะติดยิ่งกว่าซีรีส์ยอดฮิตในจอแก้ว

มาย้อนชมสุดยอดประเด็นฮอตตลอดปีཷ พร้อมแนวทางต่อสู้ในปีหน้าว่าจะเป็นเช่นไร ?

ทวงคืน ‘สมบัติชาติ’ ขาดหลักฐานหรือรัฐเมิน ?

ภารกิจเพื่อชาติของกลุ่มผู้เห็นคุณค่าด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่เริ่มต้นขึ้นจากประเด็นเล็กๆ ในโลกโซเชียล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นั่นคือการพบภาพถ่ายประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปพระเมไตรยะซึ่งระบุว่าพบในไทยถูกประมูลขายในต่างแดน ต่อมา ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำ ม.นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐ เผยแพร่ภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เดอะ เมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก บนป้ายจัดแสดงระบุชัดว่ามาจากไทยแลนด์ ! นำไปสู่กระแสการ “ทวงคืน” โดยมีการตั้งกลุ่ม “สำนึก 300 องค์” ส่วนกุนซือภารกิจระดับโลกเช่นนี้ คือ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเขมรในไทย มุ่งค้นคว้าและลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลเขียนรายงานเกี่ยวกับการลักลอบขุดปราสาทปลายบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ) เมื่อราว พ.ศ.2507 โดยเชื่อว่านั่นคือเหตุการณ์ที่ทำให้โพธิสัตว์หลุดออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย กระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในสหรัฐและยุโรป

ม้าหินทราย

Advertisement

มีนาคม กรมศิลปากรขยับ ให้ข่าวว่าตั้งคณะทำงานติดตามเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยมอบหมาย อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิประสานภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์ก แต่แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม

พฤษภาคม คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รวมกับสำนักพิมพ์มติชน และศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ จัดเสวนาใหญ่เรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย มรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” มีผู้เข้าฟังล้นหอประชุมใหญ่ หนึ่งในวิทยากรคือ มาลีภรณ์ คุ้มเกษม จากกลุ่มนิติการ กรมศิลปากร มองว่า ในเชิงกฎหมาย คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขาดภาพถ่ายเก่ายืนยันว่าเคยอยู่ในไทย ด้านนักวิชาการค้านว่าสามารถใช้หลักฐานเทียบเคียง และมั่นใจในข้อมูลแน่นปึกของตน

หลังจากนั้นยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญคือ ในเดือนสิงหาคมซึ่งมีการพบภาพม้าหินทราย จากปราสาทพนมรุ้ง และทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชงมุนลี ที่ซานฟานซิสโก สหรัฐ หนนี้ อบต.โนนดินแดง เจ้าของพื้นที่ออกมาแอ๊กชั่นสนั่นที่ราบสูงด้วยแถลงข่าวจ่อยื่น “บิ๊กตู่” ช่วยหนุนทวงคืน ด้านอธิบดีกรมศิลป์ ก็ให้สัมภาษณ์ว่าจะประสานกระทรวงการต่างประเทศ ทว่า ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเช่นเคย

Advertisement
นางสีดา บนเสาปราสาทพนมรุ้ง ในพิพิธภัณฑ์ชงมุนลี อยู่ในลิสต์ของทีม "ทวงคืน" เช่นกัน
นางสีดา บนเสาปราสาทพนมรุ้ง ในพิพิธภัณฑ์ชงมุนลี อยู่ในลิสต์ของทีม “ทวงคืน” เช่นกัน

ในที่สุด ประเด็นนี้กลับมาพีคอีกครั้ง ในวันที่ 21 ธันวาคม เมื่อสหรัฐจับกุม แนนซี วีเนอร์ ผู้พัวพันขบวนการค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ ซึ่งเชื่อว่าเป็นคดีตัวอย่างที่จะหาแนวทางการทวงคืน กลุ่มสำนึก 300 องค์ จึงเรียกร้องยังภาครัฐอีกครั้ง พร้อมระบุว่า ตนได้ติดต่อกับ เจสัน เฟลช์ นักข่าวอเมริกันมือรางวัลจากการขุดคุ้ยประเด็นการลักลอบค้าของเก่าเพื่อฟอกเงิน เลี่ยงภาษี โดยระบุว่า เจสันยินดีช่วยดำเนินการ ซึ่งหากรัฐไทยเป็น “เจ้าทุกข์” การทวงคืนก็จะง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังสะกิดเบาๆ ถึงหน่วยงานและบุคคลที่ตนเคยยื่นรายงานไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรมศิลปากร และวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยขอให้มีสัญญาณตอบรับพร้อมความเคลื่อนไหวให้ชื่นใจบ้าง

ความคืบหน้ามาท้ายปีอย่างนี้ ต้นปีླྀ ต้องเกาะติดให้แน่นหนึบ ว่ารัฐไทยจะเดินหน้าหรือว่าเมินเฉย !

‘เจ้าพระยาเดือด’ ค้านทางเลียบ แนวร่วมเพียบ ไม่ช่วยอะไร ?

โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โปรเจ็กต์อภิมหาอลังการที่รัฐบาลชุดนี้ผลักดันให้เดินหน้าอย่างเต็มขั้น ถูกคัดค้านโดยเอ็นจีโอ สถาปนิก และนักวิชาการมานานนมเน นับแต่มหาดไทยและ กทม. มอบหมายสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ ม.ขอนแก่น ศึกษาและจัดทำแผนด้วยระยะเวลาราว 7 เดือน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไม่เพียงพอ ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนที่ได้รับผล กระทบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ถึงจะมีการประชุมรับฟังความเห็นแต่ก็เป็นเพียง “อีเวนต์” ให้ครบสูตร

แม้จะค้านสุดแรงเพียงใด แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากสังคมวงกว้าง กระทั่งเดือนกันยายน เกิดทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์กรณี “วิมานพระอินทร์” แลนด์มาร์กเจ้าพระยาที่กลุ่มเฟรนด์ ออฟ ริเวอร์ หรือ “เอฟโออาร์” ตั้งคำถามว่าลอกแบบจากโปรเจ็กต์ คริสตัล ไอแลนด์ ที่รัสเซียหรือไม่ เพราะหน้าตาละม้ายจนแทบแยกไม่ออก กลายเป็นกระแสข่าวที่ “ชาวเน็ต” โพสต์อำหนักมาก ส่งผลให้ผู้ที่ไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของโครงการ หันมาสนใจโปรเจ็กต์นี้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

 กลุ่มค้านทางเลียบเจ้าพระยาแนวร่วมเพียบ ขณะที่ภาครัฐมั่นใจประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย
กลุ่มค้านทางเลียบเจ้าพระยาแนวร่วมเพียบ ขณะที่ภาครัฐมั่นใจประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการประชุมรับฟังความเห็น-สรุปผลการศึกษา รวมถึงเวทีชี้แจงเหตุลอก-ไม่ลอก ล้วนมีชุดข้อมูลที่ต่างฝ่ายนำเสนอ ถกเถียง ตอบโต้ คัดค้าน ผู้รับบทหนักได้แก่ ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่มเอฟโออาร์ และ ภารนี สวัสดิรักษ์ สมาชิกสมัชชาแม่น้ำ ที่ตั้งคำถามถึงการสร้างทางเดินเลียบเจ้าพระยาขนาด 12-15 เมตร บนเส้นทาง 14 กม. ทำให้สูญเสียพื้นที่ 20% ส่งผลถึงระดับน้ำอาจสูงขึ้น ไหลแรงขึ้น ทำลายวิถีชีวิต

งานนี้มีแนวร่วมคัดค้านเป็นคนดังมากมาย อาทิ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ศศิน เฉลิมลาภ เอ็นจีโอ รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. เป็นต้น

ด้าน สจล. บทหนักตกอยู่ที่โฆษกและรองผู้จัดการโครงการอย่าง ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ที่ยืนยันว่ามีการลงพื้นที่ชุมชนละ 4-6 ครั้ง รวม 300 ครั้ง ส่วนเรื่องระดับน้ำศึกษาแล้วไร้ผลกระทบ ไม่มีการใช้

คอนกรีตหนาๆ ปักในแม่น้ำ ไม่สร้างถนน แต่เป็นทางเดินและทางจักรยาน ส่วนวิมานพระอินทร์ก็ไม่ได้ลอกใครมาจริงๆ

ฝ่ายภาครัฐ ก็ยืนยันจะเดินหน้าโครงการต่อไป เช่นเดียวกับกลุ่มคัดค้านก็เดินสายยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมและงานเสวนาอย่างสม่ำเสมอ

ตุลาคม กลุ่มค้านจัดงานใหญ่ “โอบกอดเจ้าพระยาด้วยความรัก” ท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ

พฤศจิกายน สมัชชาแม่น้ำ อิโคโมสไทย สมาคมเรือไทย เข้าพบตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทักท้วงโครงการดังกล่าว

ธันวาคม บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อถึงกระแสต้านว่ามาจากขบวนการเอ็นจีโอเท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย !

เรียกได้ว่า ฝ่ายค้านไม่หยุดยั้ง ภาครัฐก็เดินหน้าพร้อมสร้าง เช่นกัน

ปีหน้าฟ้าใหม่ ต้องจับตากันต่อไปว่าโครงการนี้จะลงเอยเช่นไร ?

ศึก ‘ป้อมมหากาฬ’ สุดยื้อ หรือมีหวัง ?

เป็นมหากาพย์ยาวนานถึง 24 ปี สำหรับกรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ที่อยู่คู่กรุงเทพทวารวดีศรีรัตนโกสินทร์มาอย่างยาวนาน เพื่อสร้างสวนสาธารณะ โดยตลอดปีཷ นี้ มีสถานการณ์สุดพีคเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ชุมชนที่มีเอ็นจีโอเสริมทัพด้านวิชาการ และกรุงเทพมหานคร กลายเป็นคู่วิวาทะทางความคิดที่หวิดปะทะกันหลายหน โดยเฉพาะระหว่างการเข้ารื้อถอนซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

3 กันยายน พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. นำเจ้าหน้าที่รื้อบ้าน 9 หลัง ที่ได้รับการยินยอมโดยเจ้าของ แต่กว่าจะเจรจาได้ ต้องฝ่าด่านเครือข่ายชุมชนที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ ในวันเดียวกัน ยังมีการล้อมวงเจรจา โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและเอ็นจีโอเป็นสื่อกลาง เสนอตั้งคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อหาทางออก ในวันรุ่งขึ้น มีการรื้อถอนต่อเนื่อง กำหนดรวม 12 หลัง ระหว่างนั้นชาวบ้านร้องว่า กทม.ไม่ทำตามข้อตกลงที่จะไม่รื้อบ้านที่ไม่ยินยอม กลายเป็นความขัดแย้งอีกครั้ง

หลังการรื้อถอนระลอกแรก ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชน แถลงสู้ต่อ องค์กรมากมายพากันออกแถลงการณ์ให้หยุดไล่รื้อ ตัวแทนชุมชนยังเดินสายยื่นหนังสือหวัง “บิ๊กตู่” สั่งตั้งคณะกรรมการพหุภาคี นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องหลายครั้ง กระทั่งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติเข้าพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน

น่าสนใจว่า ประเด็นป้อมมหากาฬนี้ นักกฎหมายไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย อาทิ รศ.ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล ล้วนเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ กทม.อ้างว่าติดขัด คือ กฎหมายนั้น แท้จริงแล้วสามารถแก้ไขได้ แต่ภาครัฐดูเหมือนจะไม่ให้ความสนใจ

การต่อสู้ของชุมชนป้อมมหากาฬที่ กทม.ยืนยันรื้อแน่ต้นปีหน้า
การต่อสู้ของชุมชนป้อมมหากาฬที่ กทม.ยืนยันรื้อแน่ต้นปีหน้า

ต่อมา กลางเดือนธันวาคม กทม.ประกาศยืนยันการรื้อชุมชนภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยเผยแนวทางการรื้อถอนครั้งต่อไป ว่าจะให้ทหารเข้าเคลียร์พื้นที่ ส่วนตำรวจจะรับผิดชอบในการดำเนินคดี ด้าน กทม.จะรื้อและขนย้าย

แนวทางอหิงสานั่งปิดทางเข้าออกแบบเดิมอาจใช้ไม่ได้กับกลยุทธ์ใหม่ของ กทม.

แม้อยู่ในสถานการณ์ว้าวุ่น แต่ล่าสุด เสาร์-อาทิตย์ที่ 24-25 ธันวาคม ชุมชนก็ยังคึกคักด้วยกิจกรรมแนวเก๋ อย่าง “มาหากัน ณ มหากาฬ” จำหน่ายสินค้าทำมือที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม

สำหรับแนวทางปีหน้า ชุมชนเผยว่า ในระหว่าง 14-15 มกราคม จะจัดงานอีกครั้ง รวมถึงนิทรรศการภาพลายเส้นเรือนไม้โบราณจะมีไปจนถึงปลายเดือนแรกของปี

ส่วนหลังจากนี้ เข้าฤดูมรสุม นั่นคือเส้นตายที่ กทม.กำหนดไล่รื้อ

กลศึกครั้งต่อไป แน่นอนว่าไม่ง่าย แต่จะเป็นทางตันหรือไม่ ต้องรอชม

สถานการณ์เหล่านี้ แม้มีที่มาแตกต่างกัน แต่จุดร่วมคือการต่อสู้ในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง ส่วนผลจะเป็นเช่นไร ต้องคอยลุ้นกันต่อไปในปีหน้า !

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image