‘…ผมอ่านประวัติศาสตร์ เพื่อเขียนเรื่องที่ไม่มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์…’ ครั้งที่ 8 ของการพิมพ์ ‘คนดีศรีอยุธยา’

‘…ผมอ่านประวัติศาสตร์
เพื่อเขียนเรื่องที่ไม่มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์…’
ครั้งที่ 8 ของการพิมพ์ ‘คนดีศรีอยุธยา’

พิมพ์มาแล้วเป็นครั้งที่ 8

สำหรับ ‘คนดีศรีอยุธยา’ ผลงาน เสนีย์ เสาวพงศ์

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ที่จะพาย้อนไปอ่านเรื่องเล่าที่ไม่เคยมีการกล่าวถึงที่ไหน เรื่องเล่าของคนธรรมดาสามัญผู้หยัดยืนด้วยหัวใจมิพ่าย ถึงแม้สายธารประวัติศาสตร์อันแล้งร้างว่างเปล่ามิอาจจารึกชื่อนามของพวกเขา-พวกเธอไว้ ก็หาเปลี่ยนหัวใจอันหยัดยืนมั่นคงเหล่านั้นได้ไม่

Advertisement

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ชาวบ้านทั้งหลายแตกกระสานซ่านเซ็นแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ระส่ำระสายจากการกวาดต้อนและหวาดผวาจากการเอาเปรียบซึ่งกันและกันเอง

โต เล็ก และน้อย สามพี่น้องผู้มีใจรักชาติเสียยิ่งกว่าชีวิตตน ออกเดินทางไปยังชุมนุมต่างๆ เข้าไปปลุกสำนึกความรักความหวงแหนแผ่นดินเกิดให้กับชาวกรุงศรีฯ ที่เหลือรอด ทั้งสามรวบรวมชาวบ้านที่ไม่จำเพาะแค่ผู้ชาย แต่รวมไปถึง สตรี คนแก่ และเด็ก คนธรรมดาทั้งหลายเหล่านี้รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเพื่อกอบกู้กรุงศรีฯ

“…ผมอ่านประวัติศาสตร์ เพื่อเขียนเรื่องที่ไม่มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์…

Advertisement

ในการนี้ ผมนำวิธีการของจินตนิยมมาใช้ในการสร้างงานเขียนเพราะให้ขอบเขตของการใช้ความคิดและจินตนาการกว้างขวางกว่า ในแง่ที่ว่าไม่ต้องเป็นการแสดงชีวิตอย่างที่เป็นจริง แต่ชีวิตที่มันควรจะเป็นไปได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงด้วยจึงจะมีความควรเป็นไปได้

การเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็อยู่ในแนวจินตนิยมทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องก่อนเกิดของคนเขียน ส่วนจะเป็นจินตนิยมก้าวหน้าหรือถอยหลังเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

…และข้อสำคัญ นวนิยายไม่ใช่เอกสารประวัติศาสตร์

เมื่อเดินย้อนรอยถอยหลังไปในแผ่นดินของประวัติศาสตร์ที่ส่วนใหญ่ว่างเปล่า เลาะเล็มไปตามต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในประวัติศาสตร์แน่นอนแล้ว บนอาณาบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีการกล่าวถึงแม้สักวรรคหนึ่งหรือบรรทัดหนึ่งนั้น มีพืชคลุมดินอีกมากหลายที่ดูก็เหมือนไม่มีความสำคัญ มันขึ้นอยู่และเหี่ยวแห้งตายไปตามกาลเวลาแต่ก็มีการเกิดขึ้นใหม่เข้ามาทดแทนอย่างต่อเนื่อง ยาวนานไม่ขาดสาย

ผมพยายามขุดหารากเหง้าของสิ่งเหล่านี้ด้วยจินตนาการที่มีอย่างจำกัด

ท่ามกลางป่าละเมาะที่มีไม้แก่นที่แกร่งกล้าของบางระจัน คงจะมีตันหญ้าหรือต้อยติ่งขึ้นอยู่บ้าง

ผมไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ในประวัติศาสตร์

และผมเชื่อว่า ผมไม่ได้ปลอมประวัติศาสตร์…”

คือบางส่วนจากคำ ‘ขอสารภาพ’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ก่อนจะพาผู้อ่านเดินทางเข้าสู่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์อย่างคนดีศรีอยุธยา

ด้าน ไอดา อรุณวงศ์ ได้เขียนไว้บางส่วนใน ‘บทตาม’ ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 นี้ ตอนหนึ่งว่า

“…สามัญชนในคนดีศรีอยุธยาคือสามัญชนที่ไม่ใช่แค่ในความหมายว่าไม่ใช่เจ้าไม่ใช่นาย หากยังสามัญในความหมายของความเป็นมวลราษฎรธรรมดาที่ไม่ปรารถนากระทั่งจะต้องให้ใครจดจำได้ ไม่ต้องได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษวีรสตรี ไม่ต้องได้ชื่อว่าอะไร เป็นศรีสามัญในความหมายอย่างสามัญนาม หรือจะเรียกว่าเยี่ยงสามานยนามก็คงไม่ผิดอะไร เพราะมันเป็นนามที่มีไว้เพื่อยืนยันว่าไม่ต้องมีนาม…”

ไม่รู้ว่าขอบฟ้าและขอบดินมันจรดกันที่ตรงไหน

ยังไม่วาย

แวบแรกที่เห็นประโยคแรกของนวนิยาย ‘คนดีศรีอยุธยา’ ขึ้นต้นด้วยคำถามว่า ‘เอ็งพวกใคร?’

แวบนั้นมันรู้สึกว่ามันล้อกันอย่างช่วยไม่ได้กับคำถามบาดใจ ‘เธอลูกใคร?’ ในนวนิยาย ปีศาจ

ถ้าคำถาม ‘เธอลูกใคร’ สะท้อนหัวใจของปัญหาในนวนิยาย ‘ปีศาจ’ เรื่องความเป็นชนชั้นสืบสายลูกเต้าเหล่าใคร คำถาม ‘เอ็งพวกใคร’ ก็สะท้อนสภาพสงครามที่มีการตั้งก๊กกลุ่มชุมนุมฝักฝ่ายในยามกรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย ในภาวะนี้ ภาพของชนชั้นที่ถูกฉายออกมาในยามบ้านเมืองแตกสลาย แลดูเจือจางเลือนราง แม้จะมีการปรากฏขึ้นของตัวละครที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าเป็นนาย แต่ก็เป็นไปอย่างตัวประกอบที่เข้าฉากมาเท่าที่จำเป็นต้องใช้ ในโลกของราษฎรสามัญที่กำลังต่อสู้ในยามสงครามและจำเป็นต้องนิยามความสัมพันธ์ใหม่ให้ทุกคนเสมอหน้ากันไม่ว่ามาจากไหนและไม่ว่าหญิงหรือชาย หลายครั้งการปรากฏขึ้นของเจ้านายจึงดูแปลกปลอม ไม่รู้เรื่องรู้ราว หาไม่เช่นนั้นก็ผิดที่ผิดทาง และเป็นฝ่ายต้องเรียนรู้ใหม่

ส่วนที่เป็นหัวใจที่คนจะจดจำจากนวนิยายเรื่องนี้ได้มากที่สุดคงเป็นเมื่อราษฎรเหล่านั้นครั้นเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็ไม่ได้ต้องการรออยู่เฝ้าเจ้า เพื่อรับความดีความชอบแต่อย่างใด ไม่แม้กระทั่งจะอยู่รอฟังคำขอบใจ แถมยังฝากให้ขุนนางช่วยเป็นธุระไปบอกลาแทน เพราะถือว่าเมื่อเสร็จธุระแล้วก็ขอกลับไปทำมาหากินตามประสาชาวบ้านทั้งหลายต่อไป

มันเรียบและง่ายถึงเพียงนั้น มันไม่ได้รู้สึกถึงความพยายามใดที่จะเสนอปัญหาทางชนชั้นด้วยการเสนอภาพการปะทะขัดแย้งทางชนชั้นอย่างใน ‘ปีศาจ’ มันเป็นเพียงการสอดส่ายสายตาลงไปยังชนชั้นต้อยติ่งและต้นหญ้าที่ดำเนินชีวิตและต่อสู้ดิ้นรนของมันไปในภาพคู่ขนานอย่างหน้าตาย

และถ้าใน ‘ปีศาจ’ ก่อนที่จะมาถึงรุ่นการต่อสู้ของ สาย สีมา นั้นมีบทของชาวนาที่ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาก่อนหน้าที่พวกเขาจะถูกกลืนหายไปในฉากหลังของนวนิยายภายใต้ข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่ต้องมาอาศัยปัญญาชนอาชีพกฎหมาย และภายใต้ชื่อนวนิยายที่ตั้งไว้อย่างประกาศเจตนารมณ์หลอกหลอนแล้วปล่อยให้ความซับซ้อนมันอยู่ที่ว่าใครหลอนใคร

ใน ‘คนดีศรีอยุธยา’ ก็คือเรื่องราวของชาวบ้านสามัญที่รวมกลุ่มเป็นชุมนุมกอบกู้บ้านเมืองในช่วงกรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย ให้ดำรงสืบทอดต่อมาได้ก่อนจะลับหายไปกับคุ้งน้ำอย่างไร้ชื่อไร้นามมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์…และภายใต้ชื่อนวนิยายที่ตั้งไว้อย่างเรียบง่ายจนดูจงใจกับความดาษดาอย่างน่าใจหายของคำว่าคนดี

มาถึงขั้นนี้ มันก็ยังอดไม่ได้อีกนั่นแหละ ที่จะนึกไปถึงวรรคทองวรรคหนึ่งใน ‘ปีศาจ’

‘โลกของเราเป็นคนละโลก … โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน’

แต่สามัญชนใน ‘คนดีศรีอยุธยา’ คือสามัญชนที่ไม่ใช่แค่ในความหมายว่าไม่ใช่เจ้าไม่ใช่นาย หากยังสามัญในความหมายของความเป็นมวลราษฎรธรรมดาที่ไม่ปรารถนากระทั่งจะต้องให้ใครจดจำได้ ไม่ต้องได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษวีรสตรี ไม่ต้องได้ชื่อว่าอะไร

เป็นศรีสามัญในความหมายอย่างสามัญนาม หรือจะเรียกว่าเยี่ยงสามานยนามก็คงไม่ผิดอะไร

เพราะมันเป็นนามที่มีไว้เพื่อยืนยันว่าไม่ต้องมีนาม

พบกับคนดีศรีอยุธยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 ออกแบบปกงดงามสะดุดตาโดย นักรบ มูลมานัส ได้แล้ววันนี้ ติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์มติชน สั่งซื้อได้ที่ www.matichonbook.com โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image