อาศรมมิวสิก : ทำไมนักดนตรีต้องใส่ชุดสีดำ

วงลูเซิร์นซิมโฟนีออร์เคสตรา (The Lucerne Symphony Orchestra หรือ Luzerner Sinfonieorchester) จากสวิตเซอร์แลนด์ แสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ใส่ชุดดำทั้งวง

อาศรมมิวสิก : ทำไมนักดนตรีต้องใส่ชุดสีดำ

เมื่อตกลงรับงานจัดนักดนตรีไปแสดงในงาน “50 ปี 14 ตุลาฯ” ในวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่หอศิลป์ประสานมิตร ชั้น 2 สุขุมวิท 21 ทางมูลนิธิเด็กในฐานะผู้จัดการได้ส่งรูปเสื้อตัวอย่างมาให้นักดนตรีเลือก เป็นเสื้อคอกลม มีอยู่ 3 แบบ ฝ่ายผู้จัดการวงดนตรีแชมเบอร์ออร์เคสตราก็ยืนยันที่จะให้นักดนตรีแต่งชุดสีดำทั้งตัว เป็นชุดที่นักดนตรีทุกคนมีอยู่แล้ว โดยไม่ใส่เสื้อคอกลมที่ทางผู้จัดงานเตรียมไว้ให้ ทั้งนี้จึงต้องมีคำอธิบายว่า ทำไมนักดนตรีไม่ใส่เสื้อคอกลม และทำไมนักดนตรีจะต้องใส่ชุดดำ

โดยธรรมชาติแล้วนักดนตรีวงซิมโฟนีออร์เคสตราทั่วโลกก็ใส่ชุดดำ จึงมีคำถามว่าทำไมนักดนตรีในวงซิมโฟนีออร์เคสตราจึงต้องใส่ชุดสีดำ นอกจากเสื้อผ้าสีดำจะดูแลง่ายกว่าสีอื่นแล้ว แม้จะยับยู่ยี่หรือสกปรกมากก็จะมองเห็นไม่ชัดว่าสกปรก ที่สำคัญเสื้อผ้าสีดำก็สามารถเก็บความสกปรกและเก็บกลิ่นไว้ได้ดีกว่าสีอื่นๆ

ศิลปินใหญ่ในบ้านเราเมื่อมีตบะและบารมีถึงขั้นก็หันมาใส่ชุดสีดำ อาทิ จ่าง แซ่ตั้ง ประเทือง เอมเจริญ ถวัลย์ ดัชนี ปรีชา เถาทอง สุชาติ วงษ์ทอง และมีศิลปินอีกจำนวนมากที่เดินตามรอยใส่ชุดสีดำ บรรดาพวกเชิดหุ่นกระบอก หุ่นน้ำ หนังใหญ่ ก็จะใส่ชุดดำเมื่อทำหน้าที่เชิดหุ่น พนักงานเครื่องเสียงและพนักงานฉากก็ใส่ชุดดำ เพื่อให้ชุดเสื้อผ้าสีดำเป็นส่วนหนึ่งของฉาก ไม่ทำให้สายตาและจิตใจของผู้ชมว่อกแว่กในการนั่งชมงานศิลปะ

Advertisement

ประสบการณ์ตรง มีอาจารย์ดนตรีท่านหนึ่ง จบจากต่างประเทศ ใส่เสื้อคอกลมสีดำมาทำงานทุกวัน ผมในฐานะผู้บริหารก็ได้คุยว่า ให้ใส่เสื้อคอปกเพราะเป็นครูบาอาจารย์ ท่านทำได้ระยะหนึ่งก็กลับไปใส่เสื้อคอกลมสีดำอีก ในที่สุดผมก็ถูกกล่าวหาว่า สนใจเสื้อคอกลมสีดำมากกว่าสมองของท่าน ท่านได้ลาออกไป ผมเองรู้สึกคาใจอยู่หลายปี เพิ่งจะสรุปได้ว่า เสื้อคอกลมสีดำ มันดูดีสำหรับผู้ที่มีตบะและบารมีถึงขั้นเท่านั้น

คุณสมบัติของสีดำเป็นสีที่มีความเข้มลุ่มลึกและลึกลับน่าฉงน มีน้ำหนักมั่นคง หนักแน่น ขรึม ขลัง มีความพอดี มีพลังอยู่ในตัว สงบนิ่ง เป็นอมตะ คงอยู่เป็นนิรันดร์ สีดำเป็นตัวกำหนดรูปร่างและกำหนดรูปทรงได้ชัดเจน สีดำทำหน้าที่เป็นสีใช้พื้นรอง รองรับฉากหลังสามารถที่จะผลักให้รูปบนเวทีโดดเด่น ใช้สีดำสำหรับการตกแต่งบังคับให้รูปทรงกระชับ สีดำบอกถึงรสนิยมที่มั่นคง ให้อารมณ์ของความเงียบและร่มเย็น คนที่ใส่แว่นตาสีดำจะโดดเด่น เท่ และน่าค้นหา

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 ศิลปินในยุโรปนิยมใช้สีเข้มลงพื้น เพื่อให้เกิดความสงบนิ่งลึกและผลักรูปให้โดดเด่นขึ้นมา สีดำมีพลังซับเก็บความร้อนและดูดเอาสีอื่นๆ ไปรวมไว้ ทำให้สีดำกลายเป็นจุดสุดท้ายของสรรพสิ่ง ก่อนที่จะหายไปกับความมืด ซึ่งสีดำก็กลายเป็นความกลัวและความตาย

Advertisement

ยุคบาโรก (Baroque) พ.ศ.2143-2293 ปีที่โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (J.S. Bach) เสียชีวิต ถือเป็นปีที่สิ้นสุดยุคบาโรก บาคมีอาชีพเล่นดนตรีอยู่ในโบสถ์ ใส่ชุดดำเหมือนกับบาทหลวง ฝ่ายบาทหลวงก็มีเสื้อครุยชุดดำเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ขลัง และน่าเชื่อถือ เพื่อจะสื่อสารกับพระเจ้า นักดนตรีในวงดนตรีและนักร้องในวงขับร้องประสานเสียงก็ใส่ชุดดำหมด เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาที่เข้าโบสถ์บูชาเพื่อร้องเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้าให้จิตนิ่งสงบ บาคเล่นออร์แกนในโบสถ์ที่เมืองไลป์ซิก (Leipzig) ทั้งชีวิต มีศักดิ์ศรีไม่ต่างไปจากบาทหลวง บาคเป็นคนที่มีระเบียบ ละเอียดประณีต ใส่เสื้อมีกระดุม 14 เม็ด บาทหลวงเคยปรารภว่า เพลงของบาคที่เล่นออร์แกนนั้นยาวไปขอให้ตัดลง บาคก็ไม่ใส่ใจ สัปดาห์ต่อมาก็ยังเล่นเพลงเดิมเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่า ที่ยืดยาวนั้น “เป็นแค่หางเพลงไม่ใช่ตัวเพลง” มีบันทึกว่า บาคเคยท้าบาทหลวงออกไปดวลดาบกันที่หน้าโบสถ์ ซึ่งบอกถึงสถานะความสำคัญของบาค “ฉันเป็นคนทำงานหนัก ใครก็ตามที่ทำงานหนักเท่าฉัน ก็จะได้เป็นอย่างที่ฉันเป็น”

ปราชญ์โบราณ เซนต์ ออกัสติน (St. Augustine พ.ศ.897-973) ได้กล่าวไว้ว่า “วิญญาณกลับไปสู่พระเจ้าโดยอาศัยเสียงดนตรี” คริสต์ศาสนาจึงใช้ดนตรีนำในโบสถ์ ใช้ดนตรีเพื่อห่อจิตวิญญาณ ดนตรีของชาวตะวันตกได้ยกให้เป็นวิชาของนักปราชญ์และบรรจุดนตรีเป็นเครื่องมือหล่อหลอมจิตวิญญาณมนุษย์ โดยผ่านพิธีกรรม ซึ่งนักบวชและนักดนตรีเป็นผู้ส่งจิตวิญญาณไปสู่พระเจ้า จึงใส่ชุดสีดำ

ภาพวาดโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค วาดโดยฮัสมัน (Haussmann) เมื่อปี พ.ศ.2289 ก่อนบาคตาย 4 ปี

ในพิธีศพของเจ้าชายอัลเบิร์ต (Prince Albert พ.ศ.2362-2404) สิ้นพระชนม์ พ.ศ.2404 สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย (พ.ศ.2362-2444) พระราชินีอังกฤษ นักล่าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่ ครองราชย์ 63 ปี “ภายใต้ดวงอาทิตย์เป็นแผ่นดินของพระนาง” พระนางได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ทองคำให้พระสวามี สร้างหอแสดงดนตรี (Prince Albert Hall) ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษกระทั่งปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียทรงชุดสีดำตลอดพระชนม์ชีพ ต่อมาอีก 40 ปี

สีดำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความตาย การไว้ทุกข์ของชนชั้นสูง สีดำบอกอารมณ์โศกเศร้า สีดำทำให้รู้สึกนิ่งสงบ สีดำเป็นสีของความทุกข์การไว้อาลัย สีดำจึงคู่กับความตายและเป็นสีเสื้อผ้าของความตาย

สีดำเป็นสีที่ประเพณีและพิธีกรรมใส่ความหมายลงไปว่าเศร้า ซึ่งแตกต่างไปจากสีของคนตะวันออกที่มีสีใส่ตามวันต่างๆ คนจีนและคนเวียดนามใส่สีขาวในงานศพเพราะอากาศร้อน สีขาวไม่อมแดด ในขณะที่สีดำให้ความหมายว่าเป็นสีของคนบาป สีของนรก สีของความชั่ว สีดำเป็นสีของพวกกาลี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสีขาวที่เป็นสีของสวรรค์ สีขาวเป็นสีของความหลุดพ้นหรือนิพพาน

ส่วนชาวสยามนั้น ความตายคือการเปลี่ยนมิติจากรูปธรรมไปสู่นามธรรม จึงต้องมีการเฉลิมฉลองงานศพเพื่อจะส่งวิญญาณขึ้นไปสู่สวรรค์ มีดนตรีปี่พาทย์ส่งดวงวิญญาณไปสวรรค์ งานศพชาวสยามใส่เสื้อหลากสี สำหรับศพที่ไม่มีดนตรีบรรเลง วิญญาณก็จะกลายเป็นสัมภเวสี เร่ร่อนไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด

เสื้อคอกลมจำหน่ายในงาน 50 ปี 14 ตุลาฯ

ความรักแท้ก็มีสีดำ พลังความรักที่เป็นมิติอมตะ อาทิ กามนิตวาสิฏฐี โรมิโอจูเลียต ไอ้ขวัญอีเรียม การจบความรักด้วยความตาย ความรักจึงเป็นสีดำ ซึ่งแตกต่างไปจากคนใจดำเพราะเป็นคนใจร้าย

สมัยอังกฤษล่าเมืองขึ้น ยุคสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พระราชินีอังกฤษ ครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 18 พรรษา กระทั่งสิ้นพระชนม์ 81 พรรษา อังกฤษยึดครองอินเดีย มีทหารอังกฤษระดับสูงเล่นสนุกเกอร์ที่อินเดียเป็นครั้งแรก พ.ศ.2418 มีลูกสนุกเกอร์ 22 ลูก ใช้ไม้แทงลูกขาวให้ไปกระทบโดนลูกสีอื่นๆ ลงหลุม การสร้างลูกสีขาวเป็นตัวแทนนางพญาสิงโตขาว เป็นตัวแม่ (Cue Ball) ส่วนลูกดำเป็นตัวแทนของราชาวานร เมื่อลูกดำถูกตีลงและการกวาดลูกจนหมดโต๊ะจะเหลือแต่ลูกขาว ซึ่งเป็นเจ้าแม่นางพญาสิงโตขาว ผู้ชนะตลอดกาล

สัญลักษณ์การล่าเมืองขึ้น ทหารอินเดียซึ่งเป็นคนพื้นเมืองถูกบังคับให้ใส่ชุดสีกากี ดูง่ายว่าเป็นทหารทาส ส่วนทหารไทยก็รับชุดกากีเข้ามาใช้ สมัยร้อยเอกน็อกซ์ (Thomas Knox) ทหารอังกฤษย้ายมาจากอินเดียได้เข้ามาฝึกทหารแตรที่วังหลวง พ.ศ.2395 โดยใช้เพลง “ก๊อดเซฟเดอะควีน” บรรเลงรับเสด็จ ซึ่งสยามได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษโดยไม่รู้ตัว ระหว่าง พ.ศ.2395-2414 ยังมีชุดราชปะแตน (Raja Pattern) นำเข้ามาด้วย

สีดำกับสีขาวก็มีประเด็นสัญลักษณ์ของการเหยียดผิวและชนชั้น สีดำเป็นชนชั้นต่ำ สีขาวเป็นชนชั้นสูง ในอเมริกามีอยู่เพลงหนึ่ง “น้ำหมึกสีดำกระดาษสีขาว” (Black & White) โดยวงชื่อหมากลางคืน 3 ตัว (Three Dog Night) พ.ศ.2515 รณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิว ประเด็นที่ประธานาธิบดีประเทศซิมบับเว โรเบิร์ต มูกาบี (Robert Mugabe พ.ศ.2467-2562) พูดถึงการเหยียดผิวว่า “แม้ก้นฉันจะดำแต่ฉันก็ใช้กระดาษเช็ดก้นสีขาว”

เสื้อคอกลมจำหน่ายในงาน 50 ปี 14 ตุลาฯ
เสื้อคอกลมจำหน่ายในงาน 50 ปี 14 ตุลาฯ

กลับมาประเด็นว่า ทำไมนักดนตรีจึงต้องใส่ชุดเสื้อผ้าสีดำ ซึ่งประพฤติและปฏิบัติจนเป็นปรัชญาว่า นักดนตรีอาชีพต้องใส่ชุดสีดำ กระทั่งสีดำกลายเป็นชุดและรูปแบบมาตรฐานของนักดนตรี ขึ้นชื่อว่าเป็นนักดนตรีอาชีพแล้วจะต้องใส่ชุดสีดำ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ง่าย มองเห็นได้สะดุดตา เห็นแล้วรู้ได้ว่าเป็นนักดนตรี สีดำทำให้นักดนตรีทุกคนดูดี ชุดสีดำของนักดนตรีดูแล้วเป็นพวกเดียวกัน เป็นกลุ่มเดียวกัน และเป็นวงเดียวกัน หากนักดนตรีแต่ละคนแต่งชุดที่หลากหลายสีก็จะดูไม่นิ่ง เพราะว่ามีสีฉูดฉาดและแตกต่างกันกระทั่งแตกแยกมากเกินไป ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ชุดดำของนักดนตรีถือว่าเป็นอุปกรณ์ของมืออาชีพ ทุกคนแต่งตัวด้วยชุดดำ ทุกสายตาก็จะมีสมาธิในการมอง การดู การฟัง และมีสมาธิในการเล่นดนตรี ผู้ชมสามารถจะมองเห็นสีหน้าและอารมณ์ของนักดนตรีที่ปรากฏบนใบหน้าสีเนื้อของนักดนตรีได้ชัดเจน บางโอกาสก็มีวงขับร้องประสานเสียงที่สามารถแต่งชุดหลากสีได้ ก็เป็นกรณีพิเศษเฉพาะงานสังสรรค์รื่นเริงที่มีบทเพลงสนุกสนาน ไม่ต้องตั้งใจฟังเพลง แต่ตั้งใจจะสนุก

ทั้งหมดเป็นคำอธิบายให้แก่ผู้ดำเนินการจัดงาน ผู้จัดการวงดนตรี และอธิบายให้นักดนตรีได้เข้าใจ เพื่อจะได้จัดการและเข้าใจตรงกัน หากมีข้อมูลใหม่หรือความเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ยินดีนำไปปฏิบัติในโอกาสต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image