แท็งก์ความคิด : อ่าน ‘กินไกลบ้าน’

อ่าน‘กินไกลบ้าน’

อ่าน ‘กินไกลบ้าน’

หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์ เพียงพลิกไม่กี่หน้าก็ต้องอ่านต่อไป
หนังสือชื่อ The Restaurant A History of Eating Out กินไกลบ้าน : เรื่องเล่าขานร้านอาหารรอบโลก

เขียนโดย William Sitwell แปลโดย ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ บริษัท งานดี จำกัด จัดจำหน่าย

ในบทแรก “ชาวโรมัน” ผู้เขียนจับจุดไปที่เมืองปอมเปอี เมืองโบราณแห่งนี้หลายคนล้วนรู้ว่าเป็นเมืองสมัยเมื่อกว่า 2000 ปี ที่เผชิญชะตากรรม

Advertisement

ภูเขาไฟระเบิด ลาวากลบฝังมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม ปี 79

เป็นมหันตภัยที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน ทำให้สภาพของเมืองและอื่นๆ ยังคงความเป็นอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

รวมทั้งร้านรวง รูปภาพ และอาหารการกิน

Advertisement

ด้วยเหตุนี้บทแรกที่เปิดขึ้นมา ผู้เขียนจึงพาผู้อ่านไปสัญจรเมืองปอมเปอี พร้อมพลิกข้อมูลหลักฐานความเป็นอยู่ของคนยุคนั้น

หลักฐานที่สมบูรณ์ขนาดปรากฏเป็นตัวอักษรบนกำแพงบาร์ ที่บ่งบอกคุณภาพไวน์ในยุค 2000 ปี ว่าคือ “ฟาเลอร์เนียน”

สภาพเมืองที่เต็มไปด้วยร้านรวง ไม่ว่าจะเป็นร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านขายไวน์ ร้านช่างตีเหล็ก ร้านขายเหล็กและทองสัมฤทธิ์ ร้านขายงานศิลปะและงานฝีมือ ร้านซักผ้า โรงอาบน้ำสาธารณะ ธนาคาร ร้านตัดผม เบเกอรี

เอาแค่นี้ก็มองเห็นแล้วว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นั่นเมื่อ 2000 ปี เป็นเช่นไร

อ่านหนังสือไปได้ 1 บท เกิดอาการติดลม ต้องพลิกไปอ่านบทต่อๆ ไป

ไล่เรียงจากบทชื่อ “ชาวโรมัน” ไปสู่บท “จักรวรรดิออตโตมัน” ที่บรรยายถึงอาหารที่ชาวออตโตมันรับประทาน

มาสะดุดตาตรงท้ายบทที่กล่าวถึงเครื่องดื่มที่ชื่อ “เชาเบ” หรือกาแฟ

กาแฟมีถิ่นกำเนิดในเอธิโอเปีย หรือเยเมน แต่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในออตโตมันมาก

มีคำบรรยายถึงกาแฟในยุคนั้นว่า สีดำราวน้ำหมึก ช่วยคลายความปั่นป่วนของท้องไส้ และดื่มตอนยังร้อนที่สุดเท่าที่จะทำได้

ร้านกาแฟในยุคออตโตมันถือเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตในที่สาธารณะของบุรุษ

และที่น่าสนใจคือ กาแฟ มีบทบาทในร้านนอกบ้านไม่เพียงแค่ออตโตมัน แต่ในยุคต่อมากาแฟได้เข้าไปมีบทบาททางสังคมไม่น้อย

ข้ามไปดูบทที่ชื่อว่า “การปฏิวัติร้านกาแฟ” จะเห็นได้ชัด

บทนี้กล่าวถึงกาแฟที่เข้าสู่ประเทศอังกฤษ ร้านกาแฟแห่งแรกเปิดตัวในย่านออกซ์ฟอร์ด ในปี ค.ศ.1652

ก่อนที่กาแฟจะมาถึงออกซ์ฟอร์ดมีประวัติอันเร้าใจอยู่ในเล่ม

หลังจากนั้นกาแฟกลายเป็นสารกระตุ้นจิตใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณที่ได้รับความนิยม

ร้านกาแฟกลายเป็นสถานที่เข้าสังคมอันทันสมัย

และกลายเป็นศูนย์กลางรวมตัวทางการเมือง

จบจากการรับประทานอาหารนอกบ้านทางฝั่งตะวันตก โยกไปอ่านความเคลื่อนไหวด้านฝั่งตะวันออกบ้าง

เมื่อพลิกมาถึงบท กำเนิดซูชิสายพาน เราก็ได้สัมผัสถึงกลิ่นอายตะวันออก

สัมผัสจากร้านซูชิของโยชิอากิ ชิราอิชิ ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

ชิราอิชิ เปิดร้านแรกคือร้านเท็มปุระในปี 1947 พอมาถึงต้นทศวรรษ 1950 ตัดสินใจมาขายซูชิแทนเท็มปุระ

คราวนี้หนังสือเล่าถึงการกำเนิดซูชิ ซึ่งเริ่มจากความต้องการถนอมอาหารจากยุคเก่าเรื่อยมาถึงยุคใหม่

เล่าด้วยถ้อยความที่กระชับ สั้น และได้ใจความ

แต่บทที่กล่าวถึงซูชินี้ ต้องการจะบอกกล่าวถึง “สายพาน” ที่ช่วยลำเลียงอาหารของเขาไปตามโต๊ะลูกค้าทั่วร้าน

ไอเดียซูชิสายพานนี้ ชิราอิได้มาเพราะไปดูงานโรงต้มกลั่นเบียร์

ตอกย้ำว่าการดูงานนั้นมีคุณค่า เพียงแต่ที่ดูไร้ค่า เพราะคนไปดูงาน ไม่สามารถเอาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

การนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับอาหาร ทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้น และผลประกอบการดีเกินคาด

เชฟสามารถทำอาหารรอไว้โดยไม่ต้องรอออเดอร์จากลูกค้าก่อน ร้านไม่จำเป็นต้องมีพนักงานเสิร์ฟ

ขณะที่น้ำชาร้อนใช้วิธีติดตั้งก๊อกน้ำร้อนไว้เป็นจุดๆ

กิจการของเขาเติบโต จากสาขาในญี่ปุ่น ขยายไปถึงลอนดอนในปี 1994 จากนั้นก็กระจายไปทั่ว

ภายในเล่มยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารและร้านอาหารนอกบ้านอีกหลายบท นอกจากตะวันตกและตะวันออกแล้ว ยังกล่าวถึงร้านเซซ์ปานิสซ์ในสหรัฐอเมริกา

เรียกได้ว่าอ่านหนังสือเล่มนี้จบ จะอิ่มเอมไปกับอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านยุคสมัยต่างๆ มาจนถึงบัดนี้

มาถึงบทส่งท้าย ชื่อ “อนาคตของการรับประทานอาหารนอกบ้าน”

อาหารที่เราท่านรับประทานกันเพื่อความอยู่รอดก็มีอะไรที่มากกว่านั้น

อาหารที่สรรหามาเพื่อความพึงพอใจทางกาย

กลายมาเป็นอาหารที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกได้ด้วย

เรื่องราวรายละเอียดเป็นเช่นไรต้องหาอ่านกันได้

The Restaurant A History of Eating Out กินไกลบ้าน

เรื่องเล่าขานร้านอาหารรอบโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image