ฉลองปีใหม่แบบ ‘นักเขียน’ วันว่างๆ ที่เหมือนจะไม่มีอะไร

ช่วงหยุดยาวปีใหม่ใครๆ คงมีแผนกันหมดแล้วว่าจะเลือกออกไปท่องเที่ยวพร้อมกับผู้คนทั่วประเทศ หรือนอนอยู่บ้านซึมซาบบรรยากาศวันหยุดให้เต็มที่

การเลือกหากิจกรรมทำช่วงวันหยุดยาวแต่ละคนก็มีปัจจัยในการตัดสินใจแตกต่างกัน ทั้งเรื่องความชอบ ความสะดวก เวลา ทุนทรัพย์ และโอกาส

นักเขียนเป็นอีกอาชีพที่คนมองว่ามีอิสระเรื่องเวลา แต่บางคนที่ทำงานประจำควบคู่กับงานเขียนก็ต้องการอาศัยการบริหารจัดการเวลาพักผ่อนเช่นกัน

หยุดยาวช่วงเทศกาลแบบนี้คนทำงานสร้างสรรค์เขาเลือกทำอะไรกัน และวันปีใหม่ที่เป็นนัยยะแห่งการเปลี่ยนผ่านทำให้เขามองภาพชีวิตในหนึ่งปีที่ผ่านมาอย่างไร

Advertisement

เช็กชื่อกันก่อนปีใหม่ เผื่อเป็นไอเดียให้คนที่ยังนึกหากิจกรรมไม่ออก


กล้า สมุทวณิช
กล้า สมุทวณิช

‘กล้า สมุทวณิช’

ปัดฝุ่นอ่านงานคลาสสิก

เริ่มที่นักเขียนเรื่องสั้นและคอลัมนิสต์ที่กำลังขยับมาชิมลางกับนิยายเล่มใหม่

กล้า สมุทวณิช ออกตัวมาแต่ไกลว่าช่วงปีใหม่คงไม่ได้ไปไหน

Advertisement

“ก็คงตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือ คงไม่ได้ไปไหน ตั้งใจว่าจะทบทวนอ่านหนังสือเพื่อที่จะเขียนนิยายให้ได้ต่อไป”

ถามถึงลิสต์หนังสือที่เตรียมตัวอ่านช่วงปีใหม่ กล้าบอกว่ายังไม่ได้จัด แต่ช่วงก่อนปีใหม่ต้องเตรียมหาหนังสือสัก 5-6 เล่ม มาตะลุยอ่าน ที่สำคัญคืออาจเป็นช่วงที่ต้อง “ละ” จากโซเชียลเน็ตเวิร์กบ้าง

น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ได้พักผ่อนเต็มที่

“ช่วงนี้อ่านวรรณกรรมคลาสสิกญี่ปุ่น อย่างของ ดะไซ โอซามุ อ่านเพื่อการศึกษาให้รู้ว่าเป็นอย่างนี้ถึงคลาสสิก”

แม้จะเป็นช่วงที่เฟ้นหางานคลาสสิกมาอ่าน แต่กล้าก็บอกว่าปกติเขาเป็นแฟนนิยายร่วมสมัยของนักเขียนไทยนี่แหละ แต่ไม่ค่อยได้อ่านคลาสสิกจึงเป็นช่วงอ่านเพื่อ “ศึกษา”

สำหรับภาพรวมปี 2556 ที่จะผ่านไปของ กล้า สมุทวณิช เขาเผยว่าเป็นปีที่ค่อนข้างหยุดนิ่ง

“จะว่าดีก็ไม่ดี จะว่าแย่ก็ไม่เชิง ไม่สามารถผลิตงานใหม่ๆ ออกมาได้ ค่อนข้างเป็นปีที่ตันอีกปี ส่วนปีหน้าคาดหวังว่าจะเขียนนิยายให้จบสักที”

แฟนวรรณกรรมส่งกำลังใจกันหน่อย


นิธิ นิธิวีรกุล ภาพจาก aftershake.net
นิธิ นิธิวีรกุล ภาพจาก aftershake.net

‘นิธิ นิธิวีรกุล’

บินเดี่ยวสองล้อคู่ใจ

อีกหนึ่งนักเขียนหนุ่มมาแรง นิธิ นิธิวีรกุล วางแพลนสิ้นปีแบบเข้มๆ ว่าอาจขี่มอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวต่างจังหวัดคนเดียว โดยเล็งอ่างเก็บน้ำเขาวงที่สุพรรณบุรีเป็นจุดหมาย

“สมัยเด็กๆ เคยดูหนังแล้วตัวละครขี่มอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์ไปทั่วประเทศก็เท่ดี เหมือนเป็นความฝันอย่างหนึ่ง พอโตมามีมอเตอร์ไซค์ก็เลยอยากทำ”

นิธิบอกว่าเป็นสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาเพิ่งไปไกลสุดที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ตั้งใจไว้ว่าอยากขับไปให้ถึงเชียงใหม่สักวัน

อีกแผน หากไม่ออกจากบ้านคือการอ่านหนังสืออยู่บ้านเขียนนิยาย

เล่มที่มีอยู่ในมือตอนนี้คือ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” โดย วีรพร นิติประภา ที่ตั้งใจไว้ว่าจะอ่านให้จบก่อนสิ้นปี แล้วจะไปไล่อ่าน “โมบี้-ดิ๊ก (Moby-Dick)” ที่อ่านค้างไว้ให้จบ

“แล้วคงต่อด้วย Heart of Darkness (หฤทัยแห่งอันธการ) นั่นก็ครึ่งเล่มแล้วยังไม่จบสักที หนังสือของ ‘ภู กระดาษ’ ก็อ่านค้างไว้เล่มหนึ่ง”

นิธิเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ แค่เห็นลิสต์หนังสือที่อ่านค้างคาอยู่นี่ก็ไม่รู้ว่าจะจบก่อนหยุดยาวปีใหม่ไหม

ถามถึงช่วงปีที่ผ่านมา ชายหนุ่มตอบกลับเสียงเรียบว่าสำหรับชีวิตความเป็นนักเขียนก็ไม่มีอะไรแตกต่าง เป็นเหมือนอย่างที่เป็นมา

“ถ้าจะบอกก็คือ ตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. ชีวิตก็แทบไม่มีอะไรแตกต่าง รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ดีขึ้น ส่วนปีหน้าสิ่งที่อยากเห็นเกิดขึ้นสักทีคือการเลือกตั้ง หวังว่ารัฐบาลใหม่จะแก้ไขอะไรๆ นอกนั้นไม่ได้หวังอะไร ส่วนงานเขียนพูดได้ว่าไม่กล้าหวังมากกว่า มันมาเท่าที่มันเป็น ตอนนี้เขียนนิยายเล่มใหม่อยู่ แก้ไม่รู้กี่รอบ เริ่มใหม่รอบที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้”

ปิดบทสนทนาไปด้วยเสียงหัวเราะในลำคอของนักเขียนหนุ่ม


อุรุดา โควินท์
อุรุดา โควินท์

‘อุรุดา โควินท์’

เรื่องกินเรื่องใหญ่-ตุนอาหารรับมวลชน

จ่อไมค์มาที่นักเขียนสาวสวย อุรุดา โควินท์ ส่งเสียงสดใสทักทายมาตามสัญญาณโทรศัพท์

“ตอนปีใหม่ถ้างานเสร็จก็น่าจะทำกับข้าวกินที่บ้าน เมานิดหน่อย แล้วก็ดูหนัง ทำกับข้าวอร่อยๆ เมา ดูหนัง อ่านหนังสือ แต่ต้องทำงานให้เสร็จ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ฉลอง”

อุรุดาหัวเราะก่อนบอกว่า ตอนนี้กำลังขัดเกลานิยายเล่มใหม่ที่ตั้งใจให้เสร็จ เพื่อเอาไปเสนอสำนักพิมพ์หลังปีใหม่

นักเขียนเจ้าของ “ครัวสีแดง” ตามชื่อหนังสือของเธอบอกว่าครัวของเธอมักทำกับข้าวหม้อใหญ่ กินกันได้หลายบ้าน เพื่อนฝูงคนไหนว่างก็จะแวะเวียนกันมาหา

“เราทำอยู่แล้ว ใครว่างก็มากินกัน ใครไม่ว่างก็แช่แข็งเก็บไว้กินหลังปีใหม่ เพราะหลังหยุดยาวปีใหม่แม่ค้าจะหยุดกันเยอะ หาของกินยาก อันดับแรกต้องตุนอาหารก่อน เรื่องกินเรื่องใหญ่ แพลนไว้ก่อนว่าจะทำอะไรกิน แล้วไปซื้อวัตถุดิบมาตุนไว้ในตู้เย็นให้ 4 วันนั้นเราได้กินอย่างอิ่มหนำสำราญ”

“ดูไม่เป็นนักเขียนเลยเนอะ” เธอหัวเราะร่วนหลังพูดประโยคนี้

ส่วนการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ เธอปฏิเสธว่าหลีกเลี่ยงมาหลายปีแล้วเพราะคนเยอะ ปกติที่จะไปๆ มาๆ ระหว่างเชียงรายกับนครปฐม ถ้าเป็นไปได้ก่อนปีใหม่เธอจะผละเมืองหนาวมาอยู่นครปฐม

“ปีใหม่เราจะกลับตลอดเพราะคนมาเชียงรายเยอะมาก รถจะติด ขณะที่แม่ค้าก็อยากเมา ไม่ทำอาหาร ต้องแย่งกันกิน แย่งกันทุกอย่าง ปีใหม่คนเชียงรายจะไม่สนุก ต้องตุนเยอะกว่าคนกรุงเทพฯอีก”

สำหรับปีที่ผ่านมาของนักเขียนสาว เธอบอกว่าเป็นปีที่ทำงานหนักขึ้น

“ปีที่ผ่านมากำลังใจยังดีอยู่ แต่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี เราทำงานมากขึ้น แต่ได้เงินจากการเขียนน้อยลง มีอย่างอื่นมาเสริม มองย้อนกลับไปเรารู้สึกเหนื่อยกว่าปีอื่น หรือเพราะเราแก่ลงก็ไม่รู้ (หัวเราะ) แต่ขณะที่เราทำเราไม่รู้สึกถึงความเหนื่อย บางเรื่องเรารู้สึกว่าเขียนยากขึ้นหรือเขียนได้สั้นลง พวกนี้จะเกี่ยวกับ ‘แรง’ และวินัย ก็อาศัยลูกขยันเอา แย็บบ่อยๆ”

“ส่วนปีหน้าตั้งใจว่าอยากมีเรื่องสั้นใหม่หนึ่งเล่ม เพราะไม่ได้เขียนเรื่องสั้นมานานแล้ว และตอนนี้นิตยสารที่เราเคยเขียนนิยายลงประจำเขาปิดไปแล้ว นิยายที่เราเขียนเลยไม่ต้องรีบขนาดนั้น สามารถทำควบคู่กับเรื่องสั้นไปได้”

ดูเป็นปีใหม่สไตล์เจ้าของ ‘ครัวสีแดง’


ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

‘ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์’

เลี้ยงลูกในหอศิลป์

เลี้ยวมาทางคอลัมนิสต์ด้านศิลปะ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ เจ้าของคอลัมน์ “อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ” ใน มติชนสุดสัปดาห์

ปีใหม่สำหรับคอลัมนิสต์พ่อลูกอ่อนไม่พ้นเรื่องเลี้ยงลูก แต่ภาณุเลือกจะพาลูกไปวิ่งเล่นอยู่ตามหอศิลป์

“ว่าจะพาลูกไปดูงานศิลปะร่วมสมัยที่หอศิลป์กรุงเทพ ตอนนี้มีงานแอร์วิน วูร์ม วันเปิดงานสัมภาษณ์ศิลปินลงมติชนไปแล้ว แต่อยากดูอีกรอบแบบเก็บรายละเอียด เด็กน่าจะชอบ เพราะเกี่ยวกับการเล่น การเอาตัวเองไปเป็นศิลปะ และที่ Gallery VER มีงานของอ้วน Armchair ที่ทำงานภาพถ่ายก็น่าสนใจ คงพาลูกไปดูงาน ที่บางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี่ก็มีงานของศิลปินชื่ออเล็ก เฟส เด็กน่าจะชอบเป็นกราฟิตี้ มีการ์ตูนน่ารักๆ”

กางปฏิทินศิลปะจิ้มกันเลยทีเดียว

หยุดยาวปีใหม่ภาณุบอกว่า คงไม่ได้ทำอะไรต่างจากปกติ ด้วยลักษณะงานฟรีแลนซ์ที่ทำงานอยู่ทุกวัน

“อย่างปีใหม่ปีที่แล้วก็ไปเปิดงานพี่เจ้ยที่เชียงใหม่ (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จัดแสดงงาน The Serenity of Madness) เหมือนไปเที่ยว แต่แวะไปทำงานด้วย พาลูกไปดูงานศิลปะ ไปเที่ยวสวนสัตว์เชียงใหม่ดูแพนด้าด้วย”

แน่นอนว่าใครอยากเจอภาณุ หาตัวเขาได้ตามหอศิลป์หรือโรงหนัง อย่างช่วงนี้มีหนังไทย 3 เรื่องที่หลุดจากโรงอื่นแต่ยังฉายอยู่ที่เฮาส์ อาร์ซีเอ ช่วงปีใหม่น่าจะเป็นโอกาสดีที่ไปตามดู

รอบปีที่ผ่านมาสำหรับภาณุคือเรื่องลูกที่เพิ่งเกิดได้ไม่นาน บวกกับงานที่เข้ามาเยอะ ทั้งงานออกแบบและงานเขียน จนถึงงานคอลัมน์ที่ปีหน้าจะเปิดพื้นที่ใหม่อีกเล่มหนึ่ง

“ก็ต้องทำครับ เพราะว่าลูกสอง (หัวเราะ) อย่างงานที่ลงเว็บไซต์มันไม่มีหยุด คนอ่านคอนเทนต์ก็ไม่ได้หยุดด้วย ต้องเขียนทุกอาทิตย์ ถ้าจะไปเที่ยวก็ไปได้ แต่ต้องเขียนงานด้วย ไปแล้วต้องได้งาน”

ส่วนความคาดหวังใหญ่ในปีหน้าสำหรับภาณุ คือ หวังว่าประเทศอย่าเลวร้ายกว่านี้

“เรามีลูกก็ต้องกังวลว่าบ้านเมืองจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต คนในประเทศนี้ตอนนี้ก็ทำมาหากินไปวันๆ ไม่รู้ว่า พ.ร.บ.คอมพ์ผ่านแล้วจะเป็นยังไงต่อ มีอิสรภาพการทำงานแค่ไหน ยิ่งคนทำงานนิตยสารเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปทำออนไลน์กันหมด พอกฎหมายนี้ผ่านจะส่งผลอย่างไรกับอนาคตของประเทศที่เปลี่ยนเป็นออนไลน์หมดทุกอย่าง

“พูดง่ายๆ ความคาดหวังปีหน้าคือ เอาตัวรอดไปได้อีกหนึ่งปี โดยที่ไม่ตกงานหรือโดนจับกันไปซะก่อน (หัวเราะ) แต่ก็มีความหวังกับเด็กรุ่นใหม่นะ เขาก็มีความคิดเป็นของตัวเอง มีการทำงานมีมุมมองที่ดูแล้วน่าทึ่ง ไม่ใช่ว่าเห็นดีเห็นงามกับคนที่มีอำนาจไปซะหมด ถึงเราจะอยู่ในประเทศที่คนแก่สิ้นหวัง แต่เด็กรุ่นใหม่ต้องมีความหวัง รุ่นลูกเราจะได้อยู่ในรุ่นที่แม้จะดูไม่มีหวัง แต่ทำให้คนมีความคิดมากขึ้น ตื่นรู้มากขึ้น”

ภาณุกล่าวทิ้งท้ายกันไปแบบไม่หดหู่นัก


วีรพร นิติประภา ภาพโดย อุศนา สุวรรณวงค์
วีรพร นิติประภา ภาพโดย อุศนา สุวรรณวงค์

‘วีรพร นิติประภา’

แอ๊กอาร์ตข้ามปี

คำถามเดียวกัน ถึงกิจกรรมช่วงปีใหม่ของ วีรพร นิติประภา เจ้าของหนังสือชื่อยาวเล่มล่าสุด “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ”

ฟังคำถามแล้ว วีรพรถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนตอบติดตลก “ชีวิตพี่ไม่มีที่ไป โนไลฟ์สไตล์ แอ๊กอาร์ตอย่างเดียว”

“พี่ก็เป็นปกติของพี่นะที่ไม่มีแพลน นั่งรอคนเรียกกินเหล้า หมูลากมาหมาลากไป ไม่เคยเคาต์ดาวน์ ไม่สนใจ ถ้าปีไหนซวยจริงๆ ไม่มีคนเรียกก็อยู่บ้าน ส่วนใหญ่ปีใหม่หลายปีก็เฉยๆ ไม่ค่อยสนใจ”

ถามชี้นำว่าคิดจะหากิจกรรมทำที่บ้านอย่างการทำอาหารไหม วีรพรปฏิเสธเป็นพัลวัน “ไม่ๆๆ ขี้เกียจตัวเป็นขน เหมือนเดิม ตื่นมาอีกเช้าก็อีกปีแล้ว เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ”

มองผ่านไปถึงปีที่ผ่านมาของนักเขียนรางวัลซีไรต์ที่เดินสายออนทัวร์ทั่วประเทศอย่างวีรพร

“ปีดาราใช่ไหม (หัวเราะ) ผ่านปีมางงๆ ใครก็เรียกไปพูดที่นั่นที่นี่ ตกอยู่ตรงกลางมายาคติของเรื่องที่ตัวเองเขียนเอง ทุกอย่างก็มายาคติ เดี๋ยวดังแล้วเดี๋ยวก็ไม่ดังแล้ว เขาเรียกไปพูดก็ไปงงๆ แต่ไม่เหนื่อย เพราะทำใจมาล่วงหน้าแล้ว ได้รางวัลก็คิดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องทำ ให้พูดที่ไหนก็พูด เขาถามอะไรก็ตอบ เตรียมรับมือกับการถูกถ่ายรูปซึ่งหนักมากในช่วง 3-4 วันแรกที่ได้รางวัลตั้งแต่ปีที่แล้ว เราต้องไปยืนปรากฏอยู่ในรูปกับคนที่เราไม่รู้จัก แต่ผ่านมาสบายๆ ไม่ลำบากอย่างที่คิด”

ส่วนเป้าหมายปีหน้าของวีรพรคือ ออกหนังสืออีกเล่มหนึ่ง

“อยากออกอีกเล่มหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้ในหนึ่งปีไหม เล่มนี้ตั้งใจว่าจะเบาๆ ไม่ยากเหมือนพุทธศักราชฯที่ค่อนข้างเป็นงานโครงใหญ่ ตัวละครเยอะ ช่วงนี้กำลังวางคิดอยู่ในหัว เวลาเหลือน้อย อายุก็มาก จะทำอะไรก็ต้องรีบ โซลูชั่นมีแค่นี้ ไม่วางแผนอะไรล่วงหน้า ไม่ค่อยคิดอะไรยาวๆ”

ส่วนเรื่องที่วีรพรคิดถึงสำหรับปีใหม่ เธอตอบมาว่า

“เหมือนกันทุกปีแหละ ตื่นมาก็เหมือนเดิม เพียงแต่ปฏิทินมันหมดแล้ว พยายามไถปฏิทินอันใหม่จากแบงก์มาตั้ง”

ร่ำลากันไปพร้อมเสียงหัวเราะมีเอกลักษณ์ของเธอ


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image