ปีเเห่งการสูญเสีย ร่วมอาลัย”ศิลปิน-นักเขียน-นักวิชาการ”

การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สร้างความโศกเศร้าเสียใจ และเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ

ในปีนี้ยังมีข่าวคราวน่าสะเทือนใจจากการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญจากหลายวงการ ในไทยและต่างประเทศ

ขณะที่แวดวงวิชาการ นักคิด นักเขียนและศิลปินของไทยก็ต้องพบกับความสูญเสียของบุคคลระดับตำนาน ผู้สร้างสรรค์ผลงานแห่งความรู้ที่มีผลต่อผู้คนในสังคมอีกหลายท่านเช่นกัน

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” จึงได้รวบรวมผลงานเรื่องราวของปัญญาชนทั้ง 9 ท่าน เพื่อเชิดชูและแสดงความอาลัย

Advertisement

อาลัย”อุชเชนี”

“กวี”แห่งชาติ

11

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการวรรณกรรมไทย

เมื่อ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา หรือ “อุชเชนี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปี 2536 เจ้าของบทกวีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้าอกเข้าใจความทุกข์ตรมของคนยาก จากไปด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในวัย 97 ปี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม

Advertisement

ชื่อของ “อุชเชนี” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงรอยต่อระหว่างการปกครองของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่ามกลางบรรยากาศการเรียกร้องให้ประชาธิปไตยก่อตัวขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง งานเขียนของเธอ ไม่รุนแรง ไม่ปลุกเร้า ไม่กร้าวกร้าน แต่งดงามและเปี่ยมไปด้วยพลัง

12

“อุชเชนี” เกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2462 เป็นกวีที่มีความเสนาะเพริศแพร้วของเสียง ลำนำ จังหวะในกวีนิพนธ์ ด้วยการนำวรรณศิลป์ตามขนบนิยมมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร และสร้างสรรค์ผลงานผ่านปลายปากกามากมาย อาทิ ผลงานรวมกวี “ขอบฟ้าขลิบทอง” “ดาวผ่องนภาดิน” ผลงานประเภทร้อยแก้ว “เพียงแค่เม็ดทราย”

สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนเจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง บรรณาธิการผู้ทรงคุณวุฒิแห่งโลกวรรณกรรม ได้กล่าวถึง “อุชเชนี” ผ่านมติชนว่า งานเขียนของอุชเชนีแพร่หลายในช่วงปี 2500 เป็นครั้งแรก ก่อนจะเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้งในช่วง 14 ตุลา 2516

“งานของท่านมีความรู้สึกนะครับ สำหรับผม มันไม่ใช่ความรู้สึกเชิงการเมือง ไม่ใช่ความรู้สึกเชิงปลุกระดม แต่เป็นความรู้สึกจริงๆ ของคนที่มีฐานรากของความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนยากคนจน เป็นจิตใต้สำนึกของการเป็นคาทอลิก ประสานกับจิตสำนึกขบถของคนในช่วงก่อน 14 ตุลาด้วย”

สุชาติอธิบายอีกว่า ทรรศนะที่ปรากฏในงานเขียนของอุชเชนีแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับหลักการของศาสนาคริสต์ ยังเต็มไปด้วยความรักและการช่วยเหลือเกื้อกูลเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เน้นย้ำถึงความรักที่ควรมอบให้แก่กันและกัน ผ่านความต่างทางชนชั้นและความเป็นอยู่

“กระทั่งนามปากกานี้ ก็มาจากชื่อของเออเชนี (Eugenie) ซึ่งเป็นชื่อของนักบุญในศาสนาคริสต์”

สิ้น”ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู”

ศิลปินภาพเหมือนแห่งเพาะช่าง

21

พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์สาร, พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก บนหนังสือที่ระลึกพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ของกรุงเทพมหานคร และภาพเหมือนของบุคคลสำคัญของประเทศอีกหลายท่าน

เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู อาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ผู้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

ตลอดชีวิตของการเป็นศิลปินและเป็นอาจารย์ศิลปะ นอกจากกจะสร้างสรรค์ผลงานทรงค่ามากมายแล้ว ท่านยังมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับลูกศิษย์

ไม่แปลกที่ศาสตรเมธี ปัญญา จะเป็นที่รักยิ่งของศิษย์ทุกคน

กระทั่งเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้สร้างความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาลูกศิษย์และมิตรสหาย

ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ศาสตรเมธี ปัญญา เล่าว่า ครั้งที่ยังศึกษาด้านศัลยกรรมใบหน้า และอยากทำความเข้าใจด้านความงามให้ถ่องแท้ จึงมาเข้าเรียนศิลปะกับอาจารย์ปัญญา พอมาเป็นอาจารย์แพทย์ก็ส่งลูกศิษย์มาเรียนและติดต่อกับอาจารย์เรื่อยมา

“ล่าสุดก่อนอาจารย์เสียชีวิตราว 1 สัปดาห์ ได้เรียกลูกศิษย์เพื่อสั่งเสียเรื่องงาน และเท่าที่ได้พูดคุยกับลูกศิษย์รายอื่น ทราบว่าจะมีการตั้งมูลนิธิ “ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู” เพื่อมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาศิลปะที่ขาดแคลน นอกจากนี้ อาจมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู ด้วย”

สำหรับศาสตรเมธี ปัญญา เกิดที่สมุทรสาคร มีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมสากล โดยเฉพาะงานสีน้ำและภาพเหมือนบุคคล ได้รับพระราชทานรางวัล “ศาสตรเมธี” ในสาขาศิลปกรรมศาสตร์ด้านจิตรกรรมสากล ซึ่งเป็นรางวัลที่มูลนิธิ ศ.ม.ล.ปิ่น มาลากุล มอบให้แก่นักปราชญ์ในสาขาต่างๆ ที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ เมื่อ พ.ศ.2545

“ผาสุข อินทราวุธ”กับการสูญเสีย

ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการโบราณคดี

31

หากกล่าวถึงเจ้าของผลงานวิชาการที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ด้านโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวัฒนธรรมทวารวดี ชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงคือ ศ.เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

32

เจ้าของผลงานวิชาการมากมาย อาทิ ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี, ทวารวดีธรรมจักร, รายงานการขุดค้นที่ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม, ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี รวมถึงพุทธศาสนาและประติมานวิทยา ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนในภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เป็นต้น

33

ผลงานทางวิชาการของ ดร.ผาสุข ถูกนำมาใช้ในการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ ตลอดจนเป็นแนวทางให้กับนักวิชาการสายโบราณคดีรุ่นหลัง การจากไปอย่างสงบหลังป่วยด้วยโรคไตเมื่อวันที่ 7 กันยายน จึงเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญด้านโบราณคดีไทย

วงวิชาการอยุธยาสุดเศร้า

สิ้นแล้ว”ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี”

41

เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์อยุธยา และถูกยกย่องในวงการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ สำหรับ ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี

ท่านได้สร้างผลงานที่เป็นคุณูปการต่อแวดวงนี้จำนวนมาก อาทิ

การศึกษาพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต

(วันวลิต), พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ.121-122, มหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์, ประถมวงษแลพระราชพงษาวดารย่อ (ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์)

รวมถึงจดหมายเหตุพระสุบินนิมิตรในรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3 และพระสุบินนิมิตรเพิ่มเติม

ม.ร.ว.ศุภวัฒย์เข้ารับราชการทหารตั้งแต่ พ.ศ.2498 จนกระทั่งเกษียณอายุได้อุทิศตนศึกษา ค้นคว้า สร้างสรรค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ จนได้รับการเป็นกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2515 รวมถึงเป็นประธานชำระและศึกษากฎหมายไทยโบราณของราชบัณฑิตยสถาน กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมแล้วอย่างสงบในวันที่ 4 ตุลาคม

สุดอาลัย”ตรึงใจ บูรณสมภพ”

สถาปนิกชั้นครู

51

ขณะที่แวดวงสถาปัตยกรรม ในปีนี้ได้สูญเสียบุคลากรผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถอย่าง ศ.เกียรติคุณ ตรึงใจ บูรณสมภพ อดีตอธิการบดี ม.ศิลปากร ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน

อาจารย์ตรึงใจเป็นที่รู้จักดีสำหรับวงการสถาปนิก ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณบดีคณะสถาปัตยกรรม

ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย

ครั้งหนึ่ง อาจารย์ตรึงใจยังรับหน้าที่กรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกสยาม และประธานกรรมการวิชาการ นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายกสมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาเมือง ต่อมาได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสรรหาภาควิชาการ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา

ด้วยความรู้ด้านสถาปัตย์ ที่ผ่านการสะสมประสบการณ์ จากในเมืองไทยและต่างประเทศ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาต่อปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมจากสถาบัน Pratt นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาการเคหะการวางแผนและอาคารจากสถาบันเบาว์เซนตรุ้ม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงสาขาการอนุรักษ์พลังงานจากสถาบันโซเจสต้า ประเทศอิตาลี

ในระดับดุษฎีบัณฑิต ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ตรึงใจ ได้รับปริญญาเอกด้านการผังเมือง เกียรตินิยมดีมาก จากมหาวิทยาลัยซอร์บอน ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปริญญาเอกด้านสถาปัตยกรรม จาก เอ โกล เด โบซาร์ ปารีส ประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน ต่อมาได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ การจัดการมรดกสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารภาครัฐและการกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 8 สถาบันพระปกเกล้าด้วย

วงวิชาการ ร่วมอาลัย

เชิดชู”ลิขิต ธีรเวคิน”

65

หลังเข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการป่วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ช่วงดึกของคืนวันที่ 20 พฤศจิกายน ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และนักวิชาการชื่อดังด้านรัฐศาสตร์ ได้เสียชีวิตอย่างสงบท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของครอบครัว

62

คุณูปการของ ศ.ดร.ลิขิต เป็นที่ประจักษ์และรับรู้กันดีในแวดวงปัญญาชน ทำให้หลังการเสียชีวิตบรรดานักวิชาการในแวดวง รวมถึงลูกศิษย์ และผู้ติดตามผลงานคิด เขียน พูดของ ศ.ดร.ลิขิต ออกมาแสดงความอาลัยจำนวนมาก

“ศ.ดร.ลิขิต เป็นผู้มีความตั้งใจดีต่อประเทศชาติและอยากเห็นประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนา อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบอบยุติธรรม น่าเสียดายที่เวลาที่จะทำคุณประโยชน์ให้ประเทศนั้นมีน้อยเกินไป” ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวอาลัย

ขณะที่นักวิชาการชื่อดัง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ได้แสดงความอาลัยด้วยเช่นกัน

“รู้สึกเสียใจและเสียดายมากๆ ผมและ ศ.ดร.ลิขิต มีความสนิทกัน เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เดียวกัน รุ่นเดียวกัน ในวงการรัฐศาสตร์ ศ.ดร.ลิขิตถือเป็นนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่ง ดังนั้น การจากไปของท่านนำมาซึ่งความเสียใจและเสียดายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ศ.ดร.ลิขิตทิ้งมรดกไว้ให้คนรุ่นหลังเยอะมากจริงๆ โดยเฉพาะงานวิชาการ ใครก็ตามที่ต้องการเรียนรู้เรื่องของรัฐศาสตร์หรือเรื่องของการเมืองไทย หนีไม่พ้นงานเขียนของ ศ.ดร.ลิขิต”

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกผู้หนึ่งที่แม้จะไม่ได้เรียนกับ ศ.ดร.ลิขิตโดยตรง แต่ได้ศึกษาผ่านตำราของท่าน เป็นวิชาหลักเล่มหนึ่งในวิชาการเมืองไทย

“ศ.ดร.ลิขิตจะมองการเมืองไทยเน้นความเป็นจริง ต่อมามีการสนับสนุนพลังของประชาธิปไตยมากขึ้น ความนิยมของในช่วงหลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกง่ายๆ ว่า ศ.ดร.ลิขิตพูดที่ไหนนั่นคือประชาธิปไตย รู้สึกใจหายที่ท่านจากไป”

63

ส่วน เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ระบุว่า งานวิชาการของ ศ.ดร.ลิขิต ถือเป็นตำราพื้นฐานในการเรียนรู้ระบอบการปกครองของไทยของเด็กไทยยุคหลัง นอกจากจะเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการเมืองไทย เป็นอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย

“ส่วนงานด้านวิชาการ เคยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ยังได้รับรางวัล “ปากกาขนนกทองคำ” สำหรับหนังสือที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 15 สาขาวิชา สาขาวิชารัฐศาสตร์ เรื่อง วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย นอกจากนี้ ยังมีผลงานด้านการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในสื่อแขนงต่างๆ รวมถึงหนังสือพิมพ์มติชน ทั้งยังเป็นเจ้าของวลี “อัศวินม้าขาวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตกม้าตายทั้งนั้น” และ “ไม่มีอีกแล้วอัศวินม้าขาวในประเทศนี้” เอกชัยบอก

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ศ.ดร.ลิขิต ว่าเป็นผู้ที่มีผลงานทางรัฐศาสตร์ ยังทุ่มเทในการสอนและให้ความรู้กับนักศึกษา รวมถึงนักวิชาการในวงการรัฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง ถือเป็นนักรัฐศาสตร์ที่ทรงคุณค่าคนหนึ่งของประเทศไทย เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านต้องจากไปอย่างรวดเร็ว โดยตนเองก็มักจะแลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์ลิขิตอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่ทราบข่าวก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก”

“แม้อาจารย์ลิขิตจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ความคิดความอ่านของอาจารย์ยังคงมีความแหลมคมอยู่เสมอ”

อาลัย”จงรัก จันทร์คณา”

ผู้ประพันธ์บทเพลงอมตะ

ChayKa

เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการผู้ประพันธ์เพลงเมื่อ จงรัก จันทร์คณา ครูเพลงชื่อดัง เจ้าของเพลงดังอมตะ ที่คนไทยรู้จักกันดีหลายเพลง เช่นเพลงประจำตัวอย่าง “จงรัก” เพลงดังอื่นๆ เช่น “ทำไมถึงทำกับฉันได้” “เหมือนคนละฟากฟ้า” “หนึ่งหญิงสองชาย” ฯลฯ ยังคงทำงานเพลง แต่งเพลง และร่วมออกรายการกับทางเฉลิมกรุงทีวี ฯลฯ จวบจนบั้นปลายชีวิต

เนื่องจากการป่วยประกอบกับการพักผ่อนน้อย รับประทานน้อย นอนไม่ค่อยหลับ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและมีอาการเบาหวาน เสียชีวิตลงเมื่อค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน ในวัย 78 ปี 9 เดือน

จงรัก เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 เป็นบุตรชายคนสุดท้องของครูพรานบูรพ์ หรือจวงจันทร์ จันทร์คณา ครูเพลงอมตะชื่อดังต้นตำรับเพลงไทยสากล และละครร้อง เป็นผู้ชอบและรักในการแต่งเพลง มีผลงานเพลงสุดยอดดังและอมตะที่คนไทยรู้จักกันดีหลายเพลง

สิ้นครูเพลงชื่อดัง

“ลพ บุรีรัตน์”

72

เป็นอีกหนึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่หลังครูเพลงคนสำคัญเสียชีวิตลงอีกท่านหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา

วิเชียร คำเจริญ หรือ ลพ บุรีรัตน์ นักแต่งเพลงชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงมากมายกว่า 2,000 เพลง อาทิ “สาวนาสั่งแฟน”, “นัดพบหน้าอำเภอ”, “อื้อฮือ หล่อจัง” “กระแซะเข้ามาซิ”, “ดาวเรืองดาวโรย” ฯลฯ และเคยได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย รวมถึงรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ.2548

หลังครูลพ บุรีรัตน์ ตรวจพบว่ามีเชื้อราในปอดและเนื้องอกที่ตับเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และได้เข้ารับการรักษามาตลอด กระทั่งล่าสุดได้นำตัวส่งโรงพยาบาลต้นเดือนพฤศจิกายน และเสียชีวิตในที่สุด

สิ้นปราชญ์อีสาน”คำหมาน คนไค”

ผู้แต่ง”ครูบ้านนอก”

81

หลังเข้ารับการรักษาตัวเป็นเวลานาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ธันวามคม สมพงษ์ พละสูรย์ หรือ “คำหมาน คนไค” เจ้าของบทประพันธ์ชื่อดัง “ครูบ้านนอก” ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ในวัย 79 ปี ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ท่ามกลางความอาลัยและความเศร้าเสียใจ โดยเฉพาะในวงการครูอีสาน

ปรีดา ข้าวบ่อ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร “ทางอีศาน” บอกว่า สมพงษ์เป็นตัวอย่างของครูชนบทที่อุทิศตนเพื่อสังคมและแวดวงการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนที่มีชื่อเสียงอย่าง “ครูบ้านนอก” ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ สะท้อนถึงชีวิตของครูประชาบาล ชีวิตส่วนตัว เป็นผู้มีอุปนิสัยดังเช่นคนอีสาน คือ เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นนักวิชาการสูง เมื่อครั้งได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำหลักการของอับราฮัม ลินคอล์น มาใช้และยึดถือตลอดมา คือ หลักการของเสรีภาพ อิสรภาพ นับว่า เป็นผู้ยึดหลักประชาธิปไตยตราบจนลมหายใจสุดท้าย

คำหมาน คนไค เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2480 ที่บ้านดอนเมย ต.นาจิก อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี มีชื่อเสียงจากผลงานเขียน อาทิ จดหมายจากครูบ้านนอก, บักสีเด๋อ, บันทึกของครูประชาบาล, หักอกศึกษา และครูบ้านนอก เป็นต้น

ถึงแม้จะเป็นความสูญเสียที่น่าใจหาย แต่ผลงานที่บุคคลทั้ง 9 ท่าน สรรค์สร้างไว้ยังคงอยู่ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image