10 เรื่องเด่น “ประชาชื่น 2559” ที่มียอดอ่านสูงสุดบนเว็บมติชนออนไลน์

ในรอบปีผ่านมา ในทุกๆ วัน “ประชาชื่นออนไลน์” ได้นำเสนอสกู๊ปเจาะลึกเรื่องราวและบทสัมภาษณ์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสาระความรู้มากมาย รวมกว่า 500 เรื่อง

มีทั้งประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้อ่านด้วยดีเสมอมา

ก่อนจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ “ประชื่นออนไลน์” ชวนย้อนอ่าน ย้อนดูเรื่องราวสุดฮอต ที่ถูกคลิกเข้าชมมากที่สุดในรอบปีพร้อมกันอีกครั้ง

เรื่องไหน ใครพลาด ตามอ่านตอนนี้ยังทัน!!

Advertisement

อันดับที่ 1 อุราภา วัฒนะโชติ ท้าพิสูจน์มหัศจรรย์ แค่ “เอ็กเซอร์ไซส์” ก็ถอดแว่นสายตาทิ้งได้

อุราภา วัฒนะโชติ

เป็นบทสัมภาษณ์ที่ท้าทายความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ ที่มีกลไกสามารถฟื้นฟูตนเองได้ รวมถึงการฟื้นฟูดวงตา อุราภา วัฒนะโชติ ผู้เขียนหนังสือ “สายตาดีด้วยวิธีมหัศจรรย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูดวงตาด้วยวิถีธรรมชาติคนเดียวในประเทศไทย อธิบายถึงการ ฟื้นฟูดวงตาด้วยวิถีธรรมชาติ (Natural Vision) ไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาแก่ หรือสายตาขี้เกียจ ตาเข ตาเหล่ สามารถ “ถอดทิ้ง” แว่นตา กลับมามีการมองเห็นที่ดีได้โดยไม่ต้องใช้ยา ไม่ต้องผ่าตัด (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 2 ‘ไตวาย-ตายไว’ใครว่ากินเค็มอย่างเดียว เตือนหนุ่มสาว-เด็ก 7พฤติกรรมเสี่ยง’ไตพัง’ไม่รู้ตัว

pra01090359p1

Advertisement

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่า สาเหตุของ “โรคไต” มาจากการ “กินเค็ม” เพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง ”กินหวาน” ก็ใช่ กิน ของมัน รวมทั้งพฤติกรรมของคนเมืองที่ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เครียด ทั้งยัง ไม่ออกกำลังกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูง อันเป็นจุดตั้งต้นของโรคไต ด้วยกันทั้งนั้น

“ความเค็มไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นปัจจัยเกื้อหนุน ที่ปัจจุบันคนเป็นโรคไตมากขึ้นเพราะพฤติกรรมการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต หวานจัด เค็มจัด มันจัด ไม่ได้ออกกำลังกาย และการทำงานที่ยาวนานขึ้น ตื่นตี 4-5 กลับถึงบ้านสองทุ่ม ความเครียดด้วย ทำให้ความดันขึ้น เบาหวานขึ้น อีกประการคือ คนมีความตระหนัก มีการตรวจร่างกายมากขึ้น จึงรู้ว่าเป็นโรคไตกันมากขึ้น” (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 3 เปิดเรื่องจริง “สุนทรภู่” ที่ครูไม่เคยสอน จากข้อมูลอีกด้าน หลักฐานอีกมุม !

(ซ้าย) พระอภัยมณี ขายดิบขายดีในยุคที่การพิมพ์แพร่หลาย รู้จักกันในนามวรรณกรรมวัดเกาะ หรือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ (ภาพจากฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน) (ขวา) "โคตรญาติย่ายาย" สุนทรภู่อยู่ในตระกูลพราหมณ์เมืองเพชร หลงเหลือภาพถ่ายเก่าเสาชิงช้าวัดเพชรพลี อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นหลักฐาน
(ซ้าย) พระอภัยมณี ขายดิบขายดีในยุคที่การพิมพ์แพร่หลาย รู้จักกันในนามวรรณกรรมวัดเกาะ หรือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ (ภาพจากฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)
(ขวา) “โคตรญาติย่ายาย” สุนทรภู่อยู่ในตระกูลพราหมณ์เมืองเพชร หลงเหลือภาพถ่ายเก่าเสาชิงช้าวัดเพชรพลี อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นหลักฐาน

เรื่องของ “สุนทรภู่” เป็นเรื่องที่คนไทยรับรู้และท่องจำกันมาตั้งแต่อยู่ชั้นเรียนนั้น บางประเด็นก็เป็นข้อมูลเก่าที่ถูกผลิตซ้ำ ส่วนบางประเด็นก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือมโน

“มติชน” ไขข้อขัองใจในข้อถกเถียง เผยความจริงว่า สุนทรภู่ไม่ได้มีอาชีพกวี และเมืองแกลง ไม่ใช่บ้านเกิดของสุนทรภู่

รวมถึงเสียงอธิบายเสียงเล่าลือที่ว่าสุนทรภู่ ขี้เมา จริงหรือไม่ (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 4 รัตนา แซ่เล้า อำนาจนิยมใน’การศึกษาไทย’ สังคมที่กล่อมให้คนเชื่อง

รัตนา แซ่เล้า
รัตนา แซ่เล้า

คงไม่เป็นการเกินเลยหากจะบอกว่า หนึ่งในปัญหาที่เรื้อรังและยาวนานมากที่สุดประเด็นหนึ่งของประเทศไทยคือ “การศึกษา”

ผ่านการพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เพื่อจะพบว่าเรายังยืนอยู่ที่เดิม หรืออาจขยับก้าวขึ้นมาไปยืนในจุดที่ผิดเพี้ยนไปจากทางที่ควรจะเป็น ดร.รัตนา แซ่เล้า อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือหนึ่งในผู้ที่เห็นปมปัญหาเหล่านี้อย่างชัดเจนมากที่สุดคนหนึ่ง ได้วิเคราะห์ไว้ในบทสัมภาษณ์นี้ตอนหนึ่งว่า

“เด็กไทยมีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ อยากพัฒนาตัวเองสูงมาก แต่ความสิ้นหวังคือสถาบันการศึกษาไทย ไม่ว่าจะโรงเรียน มหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ เพราะอำนาจนิยมในทุกระดับ ผู้ใหญ่จะมองว่าความเป็นเด็กนั้นโง่เสมอ เด็กไม่ได้โง่ เขาไร้เดียงสา แต่นโยบายไทยพูดตลอดเวลาว่า Ranking เราต่ำ มหาวิทยาลัยไทยแย่ ภาษาอังกฤษเราต่ำในอาเซียน แปลว่าเด็กไทยโง่ภาษาอังกฤษ คำพูดเหล่านี้ควรจะเลิกนะคะ เพราะการด่าคนอื่นว่าโง่นั้นลิดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นคน เด็กจะโตมาได้อย่างไรถ้าเขารู้สึกว่าเขาโง่ คนทุกคนต้องการแรงใจ จะได้มีความตั้งใจเรียนกับทำกิจกรรม” (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 5 ‘สงกรานต์’ไม่ใช่ปีใหม่ไทย ‘สาดน้ำ’ไม่ได้มาจากอินเดีย

บรรยากาศการสาดน้ำในสิบสองปันนา (ภาพ www.sxfj.org/html/398.html)
บรรยากาศการสาดน้ำในสิบสองปันนา (ภาพ www.sxfj.org/html/398.html)

ประเพณีสงกรานต์ตามความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่คือวันขึ้นปีใหม่ไทย เป็นประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นความเข้าใจจากข้อมูลในหนังสือเรียนและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่มองข้ามข้อมูลหลักฐานและการศึกษาวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน

แท้จริงแล้วสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมรากอุษาคเนย์ ไทย กัมพูชา พม่า ลาว และยังพบในบางกลุ่มชนในเขตจีนตอนใต้

โดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันถกประเด็น “สาดน้ำสงกรานต์ วัฒนธรรมร่วมรากเอเชีย” เพื่อเสริมการเรียนรู้ให้สังคมที่ต้องทำความเข้าใจ (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 6 คุยกับ “สุขุม นวลสกุล” เส้นทาง “นักพูด” และปมดราม่า “เบส อรพิมพ์”

สุขุม นวลสกุล

เป็นอีกประเด็นร้อนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2559 สำหรับกรณีดราม่าของ อรพิมพ์ รักษาผล หรือ เบส อรพิมพ์ นักพูดชื่อดัง

จุดเริ่มต้นจากวีซ่าไม่ผ่าน นำไปสู่การแชร์ต่อคลิปที่มีการพูดพาดพิง “คนอีสาน” จนทำให้เกิดความไม่พอใจขยายวงกว้างลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โต ขุดลึกไปถึงการทำงานให้กับกองทัพ

ถึงเเม้ เบส อรพิมพ์ จะออกมาชี้เเจงตอบคำถามหลายประเด็นพร้อมกล่าวขอโทษคนภาคอีสานทุกคน แต่กระเเสโจมตียังคงมีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

“มติชน” เจาะลึกประเด็นที่เกิดขึ้น โดยได้พูดคุยกับ รศ.สุขุม นวลสกุล นักพูดผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนาน ยังเป็นนักวิชาการที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นความผิดพลาดของ “นักพูด” หรือเป็นเรื่องปกติที่ “นักพูด” หลายคนเคยเจอ (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 7 “ถังแดง”บทเรียนจากความตาย จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง”

จุฬารัตน์02

บทสัมภาษณ์ของ จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม พูดถึงหนังสือเล่มล่าสุดเรื่อง “ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย” ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ เมื่อครั้งศึกษาปริญญาโทที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังจากจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ “ถังแดง” เกิดช่วงสงครามเย็น เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าปราบปรามแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ช่วงทศวรรษ 2510 ในภาคใต้ก็นำโมเดลการปราบปรามอย่างรุนแรงมาใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเขตเคลื่อนไหวของ พคท.

เผาลงถังแดง คือ การนำคนใส่ถังน้ำมันพร้อมเชื้อเพลิง เผาทั้งที่เสียชีวิตและยังมีชีวิต ซึ่งวิธีนี้จะทิ้งร่องรอยไว้น้อยมาก เหตุการณ์นี้รุนแรงขึ้นมาในช่วงปี 2514 จนถึงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ก่อนที่รัฐจะเปลี่ยนไปใช้การปราบปรามวิธีการอื่นๆ เมื่อมีผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 8 อันเนื่องมาจาก ‘ศึกชิงกุ้ง’ ทัวร์จีนและการปะทะกันของวัฒนธรรม

ศึกชิงกุ้ง

ภาพนักท่องเที่ยวจีนช่วงชิงกุ้งในภัตตาคารแห่งหนึ่งที่ปรากฏในวิดีโอคลิปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พูดกันตามตรงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทยอีกต่อไป-แต่ถามว่าดู ‘เซอร์เรียล’ ไหม คงต้องตอบว่า สำหรับบางคนแล้ว พฤติกรรมหลายอย่างของนักท่องเที่ยวจีน ทั้งการพูดจา, การต่อแถว ไปจนกระทั่งการเข้าห้องน้ำ ล้วนเป็นเรื่องที่ ‘เหนือจริง’ ในความรู้สึกประมาณหนึ่ง

มากน้อยคงไม่คิดว่าจะได้เห็นใครชิงกุ้งกันดุเดือดปานนั้น

แต่จีนย่อมไม่ใช่ชนชาติเดียวที่ไปสร้างความกระอักกระอ่วนใจในต่างแดน เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธได้หรือว่าชาติอื่นๆ หรือแม้แต่คนไทยในต่างบ้านต่างเมือง ไม่เคยทำอะไรที่ขัดต่อวัฒนธรรมและสังคมของพื้นที่นั้นๆ

คงไม่เป็นการเกินเลยนักหากจะพูดได้ว่า มองให้ลึกลงไปกว่าฟุตเทจที่ปรากฏบนวิดีโอซึ่งแพร่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์ นี่ย่อมเป็นเรื่องของการปรับตัว การใช้ชีวิต ไปจนถึงสภาพแวดล้อมและสังคมซึ่งแตกต่างกันของแต่ละแห่ง

และใช่ไหม ว่านี่อีกเช่นกัน ที่ย่อมเป็นเรื่องที่เราสมควรจะทำความเข้าใจไว้ ในวันที่ยังต้องรับแขกบ้านแขกเมือง และไปเป็นแขกในบ้านอื่นเมืองอื่นอยู่เช่นนี้ (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 9 หลากปริศนา’พระนเรศวร’ คำถามคาใจและแบบเรียนไทยที่ (ยัง) ไม่ยอมเปลี่ยน?

นเรศ

เริ่มตั้งแต่พระนามที่คนไทยติดปากว่า พระนเรศวร ก็อาจคลาดเคลื่อน เพราะพงศาวดารไทยมากมายซึ่งถูกชำระในยุคต้นรัตนโกสินทร์ออกพระนามว่า “พระนเรศวร” แต่หลักฐานร่วมสมัยในยุคนั้นล้วนออกพระนามว่า “พระนเรศ” สอดคล้องกันกับหลักฐานพม่า

มาถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เด็กไทยทุกคนได้ร่ำเรียนตั้งแต่เยาว์วัย ก็เต็มไปด้วย “ถ้อยคำ” ที่ชวนตั้งคำถามถึง ดังเช่น แบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 บทที่ 7 และ 8 ซึ่งมีข้อความระบุว่า “คนไทย (สมัยอยุธยา) ไม่ชอบพม่า” จึงทำให้สงสัยว่าทราบได้อย่างไร? มีหลักฐานเอกสารใดที่บอกเช่นนั้น

คนเขียนแบบเรียนไทย ไม่ได้สนใจคำถามพวกนี้เท่าไหร่ ไม่ได้สนใจการนิยามความหมาย จึงใช้มาอย่างนี้ 20-30 ปี หรือส่วนที่บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับพม่า อยู่ในลักษณะแข่งอำนาจกัน เพื่อครองดินแดนสุโขทัย ล้านนาและหัวเมืองมอญ เมื่อใดที่พม่าเข้มแข็งจะเป็นฝ่ายมารุกรานอยุธยา ถามว่าเราไม่เคยไปรุกรานเขาเลยหรือ?

เป็นการตั้งคำถามของ สุเจน กรรพฤทธิ์ ผู้เขียนหนังสือ “จากเวียงจันทน์สู่เวียงแหง ตามรอยนเรศวรมหาราช นอกกรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยม” ในตอนหนึ่งของสกู๊ปประชาชื่น ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา ที่ชวนให้เดินก้าวข้ามผ่านกรอบแนวคิดเดิมๆ แล้วค้นหาคำตอบใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

อันดับที่ 10 “9 เรื่องน่ารู้ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ”

10

ภายหลังจากการเผยแพร่ข่าวที่คนไทยทั่วแผ่นดินไม่อยากได้ยินที่สุด ความเศร้าโศกเสียใจก็ถั่งโถมทั่วนครเมื่อทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559

สิ่งที่คนไทยทำได้นอกจากร่วมใจแสดงความอาลัยแล้วคือการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงงานเพื่อแผ่นดินไทยมากว่า 70 ปี

9 เรื่องที่เสนอต่อจากนี้เป็นเกร็ดสาระที่หยิบขึ้นมาจากนับร้อยนับพันเรื่อง อันเป็นสิ่งที่น่าจะทำให้พสกนิกรย้อนรำลึกถึงเรื่องราวที่น่าจดจำที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ในวาระที่ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน (คลิกอ่านฉบับเต็ม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image