9วาทะประวัติศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2483-2566)

9วาทะประวัติศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2483-2566)

9วาทะประวัติศาสตร์
นิธิ เอียวศรีวงศ์
(2483-2566)

‘ผมเป็นคนเล่นนาฬิกา’
คือคำบอกเล่าของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ผู้ซึ่งเข็มนาฬิกาชีวิตหยุดลงเมื่อเวลา 11.47 น. ของวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พุทธศักราช 2566
ทว่า ผลงาน และแนวคิดที่ฝากไว้ย่อมดำรงอยู่เหนือกาลเวลา
ตลอดระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษที่มีลมหายใจของนักคิด นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ ได้จุดประกายให้สังคมไทย ‘ตาสว่าง’ ในประเด็นหลากหลาย
บรรทัดจากนี้ คือส่วนหนึ่งของวาทะประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองร่วมสมัยที่จะไม่ถูกลบลืม

1.

Advertisement

“…นาฬิกามีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ คุณสามารถหมุนเข็มมันกลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณต้องการ คุณหมุนมันกลับไปได้เลย
แต่ถึงเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตาม มันก็เดินก้าวหน้าต่อไม่ยอมหยุดเดินไปถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้สักวันหนึ่ง
นาฬิกามันสอนใจเรา แม้หมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ เมื่อคุณพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต อย่าลืมว่านาฬิกามันไม่หยุด มันเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อยากจะเจอมันอีกตลอดไป
ทุกคนคิดว่าจะตั้งนาฬิกากลับไป แต่ระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพบังคับให้ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ ปรับตัว วิธีการแบบนี้ไม่สามารถคุมจังหวะการเปลี่ยนแปลงได้
ในฐานะคนเล่นนาฬิกา ผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่างที่หลายคนในประเทศไทย ซึ่งยังท่องตำราหลวงวิจิตรวาทการอยู่ไม่เข้าใจว่าคุณอาจถอยวัฒนธรรมกลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น
แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว มันยังเดินต่อไปได้อีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึงจนได้เสมอ”

จากเวทีเสวนา ‘นิธิ 20 ปีให้หลัง’ จัดโดย สำนักพิมพ์มติชน
18 ธันวาคม 2557

2.

Advertisement

“…จากการศึกษาแบบเรียนครั้งนี้ ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะมีความประทับใจว่า แบบเรียนประถมศึกษานั้นช่างบรรจุความรู้เอาไว้มากมาย อะไรเช่นนั้น ใครที่เรียนรู้ข้อมูลและมโนทัศน์ทุกอย่างที่เสนอไว้ในแบบเรียนประถมศึกษาจนครบถ้วนแล้ว ดูเหมือนไม่มีอะไรที่เขาจะต้องเรียนอีกแล้ว เพื่อจะทำหน้าที่ในสังคมนับตั้งแต่นายธนาคาร, รัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, หัวหน้าคณะรัฐประหาร, ศาสตราจารย์ หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ เพราะเมื่อได้อ่านหรือฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมของคนเหล่านี้ ข้าพเจ้าไม่พบว่ามีอะไรเกินไปกว่าที่ปรากฏอยู่แล้วในแบบเรียนชั้นประถมศึกษาเลย…”

จากหนังสือ ‘ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์
ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก’ สำนักพิมพ์มติชน
พิมพ์ครั้งที่ 3, พ.ศ.2557


3.

“…ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังจะมาถึงข้างหน้า …ผมเกรงว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สูญเสียอย่างมาก อย่างที่เราไม่เคยประสบมาก่อน และที่น่าเศร้าสลดยิ่งกว่านั้นก็คือ แม้สูญเสียมากถึงเพียงนั้นแล้ว กว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเดินต่อไป ไม่ว่าบนหนทางอะไรก็ต้องใช้เวลานานมาก อาจเกินหนึ่งชั่วอายุคนด้วยซ้ำ และส่วนใหญ่ของเราที่หายใจอยู่ในทุกวันนี้ จะไม่ได้เห็น…”

บางส่วนจากบทนำในหนังสือ ‘มติชน บันทึกประเทศไทย ปี 2563’

4.

“สังคมที่มีพลัง คือสังคมที่ปล่อยให้มีความหลากหลายในวัฒนธรรม ความแตกต่างของวิถีชีวิต ค่านิยม และรสนิยมของเจ๊ก คือความมั่งคั่งในวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมไทย
ในฐานะที่มีสำนึกของเจ๊กเช่นนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกศรัทธาและชื่นชมต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้
…….
เวลาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าหลักฐานและครุ่นคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์เป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้ทัศนคติของข้าพเจ้าที่มีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเปลี่ยนแปลงไป
ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม แต่เป็นไปในทางที่ลึกขึ้น จนมองเห็น (หรือคิดว่ามองเห็น) ทั้งความอ่อนแอและความเข้มแข็งของพระองค์
มีความสามารถที่จะชื่นชมพระองค์ในฐานะมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่
ไม่ใช่ทวยเทพที่จุติมาดับทุกข์เข็ญแก่มวลมนุษย์”

จากปกหลัง ‘การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี’
ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2529

5.

“ได้มีผู้กล่าวกันมานานแล้วว่า ประวัติศาสตร์มีคุณประโยชน์ในการศึกษาวรรณกรรม
และวรรณกรรมมีคุณประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์
แม้คำกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่การศึกษาอย่างจริงจังเพื่อสำเร็จประโยชน์ดังกล่าว ยังไม่ได้กระทำกัน
การศึกษาที่ข้าพเจ้าเสนอในหนังสือนี้ คงเป็นงานชิ้นแรกๆ ในแนวนี้
และเช่นเดียวกับงานชิ้นแรกๆ ทั้งหลาย
คุณค่าของมันอยู่ตรงที่มันจะทำให้ตัวเองล้าสมัยได้รวดเร็วเพียงใด”

จาก ‘ปากไก่และใบเรือ รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรม
และประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์’
คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก อมรินทร์การพิมพ์ พ.ศ.2527

6.

“จุดมุ่งหมายของนักประวัติศาสตร์ มิใช่เพื่อเข้าใจด้านเดียวของสังคมในอดีต
จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือการเข้าใจสังคมทั้งหมด”

จาก ‘การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในอดีตและอนาคต’
รวมบทความประวัติศาสตร์
ฉบับที่ 1 กรกฎาคม 2523

7.

“แม้จะพยายามสักเพียงใด งานของนักประวัติศาสตร์ที่จะเสนอความจริงอันแห้งแล้งนี้คือความล้มเหลวอยู่ส่วนหนึ่งเสมอ
เราตัดตัวเองออกจากปัจจุบันให้เด็ดขาดไม่ได้ และส่วนนี้เองที่บังคับให้เราสนทนากับอดีตโดยไม่รู้ตัว
ตราบเท่าที่เราเป็นมนุษย์ ข้อจำกัดนี้เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับไว้
ในส่วนที่เป็นความล้มเหลวของนักประวัติศาสตร์ตรงนี้เองที่ทำให้การสนทนากับอดีตไม่มีวันสิ้นสุด”

จากหนังสือ
ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา
สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2543

8.

“ถามว่าประวัติศาสตร์คืออะไร
ผมอยากจะตอบว่า คือการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในเวลาของสังคมมนุษย์”

การบรรยาย
‘ประวัติศาสตร์คืออะไร’ ผ่านซูม
จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร
30 มิถุนายน 2564

ภาพจากเพจ’คิดถึงอาจารย์นิธิ’

9.

“เดิมสิ่งที่เคยเข้าใจกันมาคือ คนไทก่อตั้งหรือมีส่วนร่วมในแกนกลางอาณาจักรใหญ่ในจีน 2-3 แห่งจากเสฉวนถึงยูนนาน ทำให้เราเห็นว่าการเคลื่อนย้ายต้องมาจากเหนือลงใต้ แต่การศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์จีน ซึ่งใช้เอกสารกว้างขวางกว่าที่ฝรั่งเคยใช้มา พบว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะจากหลักฐานเอกสารสะท้อนว่าไม่มีตรงไหนเลยที่แสดงว่าคนไทมีส่วนร่วมในนั้น
นักประวัติศาสตร์ฝรั่งก่อนหน้านี้ อาศัยลักษณะบางอย่าง เช่น การอยู่เรือนเสาสูง กินหมาก ย้อมฟันดำ ชอบสักตามร่างกาย แต่จริงๆ แล้วเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนหลายเผ่ามาก ไม่มีหลักฐานแน่นอนชัดเจนลงไปว่า คนที่ในภายหลังต่อมาจะกลายเป็นไทหรือไต มาจากอาณาจักรใหญ่ๆ เหล่านั้น
นักประวัติศาสตร์จีนพบว่า ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือ คนไทน่าจะอยู่ปนกับกลุ่มที่จีนเรียกว่า เยว่ ทางตอนล่างของลุ่มน้ำแยงซีในเขตซึ่งเป็นที่ราบไปจนถึงบริเวณที่ติดฝั่งทะเล”

จากรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว
ตอน ‘คนไทยมาจากชาวเขา ที่โน่น ที่นั่น ที่นี่ กับนิธิ เอียวศรีวงศ์’
กรกฎาคม 2563

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image