ขุดแล้ว ขุดอยู่ ขุดต่อ เกาะติดปริศนา‘ประตูช้างเผือก’ แนวอิฐแปลกประหลาดที่รอคำอธิบาย

ขุดแล้ว ขุดอยู่ ขุดต่อ
เกาะติดปริศนา‘ประตูช้างเผือก’
แนวอิฐแปลกประหลาดที่รอคำอธิบาย

มีความก้าวหน้ามารายงานให้สาธารณชนทราบอย่างต่อเนื่อง สำหรับสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ตั้งแต่งานในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงอารยธรรมอันรุ่งโรจน์แห่งล้านนา

ล่าสุด เปิดเผยถึงการดำเนินงานทางโบราณคดี ‘ประตูช้างเผือก’ ที่ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ชงเองด้วยคำว่า ‘น่าตื่นเต้นไม่น้อย’

นักโบราณคดีเปิดไพ่ให้ใจเต้นรัวขนาดนี้ ประชาชนคนไทยที่เฝ้าลุ้นปากหลุมยิ่งตาลุกวาว

Advertisement

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เผยว่า การขุดแต่งในครั้งนี้เผยให้เห็นองค์ประกอบประตูช้างเผือกที่เคยมีมาแต่อดีตที่มีความซับซ้อนและมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง กล่าวคือ พบองค์ประกอบสำคัญของประตูช้างเผือก ทั้งกรอบช่องทางเข้าประตู หลุมเสาของบานประตู อิฐปูพื้นภายในป้อมประตู กรอบประตูทางด้านทิศตะวันตก และโครงสร้างของป้อมประตูบางส่วนที่มีฐานรากลึกกว่าผิวดินปัจจุบันร่วม 2 เมตร และลักษณะการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ก่อเป็นแนวอิฐขนานกัน 2 แนว และถมอัดดินตรงกลาง

หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2436 มีองค์ประกอบกำแพงเมืองเป็นประตูเมืองที่มีกรอบประตูยื่นออกมา คล้ายกับเป็นป้อมประตู โดยจากการดำเนินงานพบขอบของกรอบช่องประตูที่ยื่นออกมาจากกำแพงเมืองบริเวณทางทิศตะวันออก และขอบป้อมประตูทางด้านทิศตะวันตก การพบขอบกรอบช่องประตูนี้ เป็นหลักฐานยืนยันแผนผังประตูช้างเผือกที่ปรากฏในแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ว่ามีลักษณะตรงกัน แต่ทั้งนี้ หลักฐานทางโบราณคดีได้แสดงให้เห็นลำดับความเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งของประตูช้างเผือก คือ ณ ช่วงเวลาที่มีการจัดทำแผนที่ เมื่อปี 2436

ขณะนั้นไม่ปรากฏองค์ประกอบของประตูช้างเผือกหลายส่วน ทั้งแนวอิฐที่พบกลางพื้นที่ข่วงลานประตูช้างเผือก ที่ก่อเป็นแนวขนานกันและถมอัดดินตรงกลาง วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ขวางพื้นที่ ร่องน้ำที่อยู่กลางช่องประตูทางเข้า และกรอบช่องประตูอีกกรอบหนึ่ง

Advertisement

บทวิเคราะห์เบื้องต้นของนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ คือ หลักฐานเหล่านี้น่าจะมีมาก่อนช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการทำแผนที่ และน่าจะถูกเปลี่ยนแปลงสภาพโดยการรื้อและกลบไป จึงทำให้แผนที่โบราณนครเชียงใหม่ไม่แสดงแนวโบราณสถานองค์ประกอบเหล่านี้ของประตู

นักโบราณคดีชี้ว่า ข้อมูลจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง พื้นที่ส่วนกลางและตะวันตกของประตูช้างเผือกเคยเป็นคูน้ำมาก่อนและถูกถมปรับเพื่อขยายพื้นที่ใช้งานภายในป้อมประตูด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ บ่งชี้ว่า น่าสนใจอย่างมากคือ บริเวณกลางช่องประตูซึ่งพบการนำเศษอิฐหักมาวางปูพื้นเป็นผืนใหญ่ โดยพบแนวอิฐในระดับที่ต่ำกว่าแนวฐานรากกำแพง

นักโบราณคดีมองว่า แนวอิฐนี้ ‘มีความแปลกประหลาดในเชิงที่ตั้ง’ คือ ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับชั้นที่เกิดขึ้นของกำแพงเมืองเชียงใหม่ และอยู่บริเวณหน้าช่องประตูเมือง จึงยังเป็นปริศนาและรอการขุดทางโบราณคดีเพิ่มเติมและรวบรวมหลักฐานเพื่อตีความ

ทั้งนี้ ยังมีหลักฐานที่น่าสนใจอีกคือ ที่ด้านทิศเหนือ พบโครงสร้างของป้อมประตูที่มีฐานรากลึกกว่าผิวดินปัจจุบันร่วม 2 เมตร โครงสร้างดังกล่าวมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าโครงสร้างอื่นๆ ที่พบในพื้นที่จากการก่อเรียงอิฐเห็นได้ว่ามีการใช้ศิลาแลงมาก่อเป็นฐานรากคั่นกับแนวอิฐอยู่บางช่วง และจากหน้าตัดชั้นดินเห็นได้ถึงชั้นพังทลายของโครงสร้างกำแพงเมืองที่ทลายลงมาด้านทิศตะวันออก ในส่วนของการขุดตรวจกำแพงเมืองโดยการขุดเป็นร่องผ่ากำแพงเมือง ปัจจุบันเราทราบว่ากำแพงเมืองเชียงใหม่ก่อเป็นแนวอิฐขนานกัน 2 แนว และถมอัดดินตรงกลาง โดยแนวอิฐผนังกำแพงด้านนอกเมืองมีความหนากว่าผนังกำแพงด้านในเมือง

สำหรับการดำเนินการถัดจากนี้ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ยังคงดำเนินการขุดในส่วนที่เหลือจนครบทั้งพื้นที่ข่วงลานประตูช้างเผือก เพื่อข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด

โดยจะมีการสังเคราะห์ข้อมูลร่วมกับทั้งการวิเคราะห์อายุทางวิทยาศาสตร์ และเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

***ภาพและข้อมูลทั้งหมดจาก สำนักศิลปากรที่ 7 เขียงใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image