ไม่ใช่แค่มายาคติแต่คือเรื่อง‘ชนชั้น’ รื้อประวัติศาสตร์‘ชาติพันธุ์’ จากชาวเขา สู่ชนเผ่าพื้นเมือง

ไม่ใช่แค่มายาคติแต่คือเรื่อง‘ชนชั้น’ รื้อประวัติศาสตร์‘ชาติพันธุ์’ จากชาวเขา สู่ชนเผ่าพื้นเมือง

ไม่ใช่แค่มายาคติแต่คือเรื่อง‘ชนชั้น’
รื้อประวัติศาสตร์‘ชาติพันธุ์’
จากชาวเขา สู่ชนเผ่าพื้นเมือง

9 สิงหาคม น้อยคนจะรู้ว่าคือ ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก’
“ความจริง ไทยเริ่มที่จะเฉลิมฉลองเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งปรากฏในสังคมไทยราว 10 ปี”

สุมิตรชัย หัตถสาร

ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เท้าความถึงที่มาของคำว่า ‘ชาติพันธุ์’ ก่อนที่ UN จะประกาศเป็นวันสำคัญเมื่อราว 100 ปีที่แล้ว

ทั้ง ‘ชาติพันธุ์’ ‘ชาวเขา’ คือหนึ่งในคำเรียกที่ถูกใช้ หลากหลายกันไปในสังคมไทย แต่แฝงไปด้วยนัยยะทางอำนาจผ่านถ้อยคำที่ถูกนำมาเรียกขาน คณะก่อการล้านนาใหม่และกลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก จึงนัดหมายคณาจารย์จากสถาบันการศึกษา ประชาชน มาล้อมวงเสวนา ‘รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ จากชาวเขาสู่ชนเผ่าพื้นเมือง’ เพื่อร่วมคลี่คลายจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ ต้านการถูกกดขี่ ภายใต้กรอบสถานการณ์การเมืองโลกใน ‘ยุคสงครามเย็น’ เส้นทางที่คล้ายกับโรยด้วยเปลือกทุเรียน นำมาซึ่งการขอโทษกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายแห่งทั่วโลก แต่สำหรับไทยยังคล้ายกับเดินถอยหลัง

ADVERTISMENT

“ไม่ว่าจะพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย ที่เป็นข่าวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การประกาศอุทยานฯแก่งกระจานเป็นมรดกโลก (2564) ต่างเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันมาโดยตลอด” สุมิตรชัยเกริ่นนำ

(จากซ้าย) ประสิทธิ์ ลีปรีชา, ขวัญชีวัน บัวแดง, วงเดือน ประกอบกิจ และนเรศ สงเคราะห์สุข ในเวทีเสวนา
“รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ จากชาวเขาสู่ชนเผ่าพื้นเมือง” ที่คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม

อินเดียนแดง
ตำนานชนเผ่าแรกที่ลุกขึ้นสู้

ADVERTISMENT

ถอยย้อนกลับไปถึง อินเดียนแดง ในอเมริกา ละติน คือจุดเริ่มต้นที่มาของการต่อสู้กับชาติตะวันตกที่เข้าไปยึดครองดินแดน ก่อนค่อยๆ นำมาสู่การประกาศตัวตนชนเผ่าพื้นเมืองในโลก
สุมิตรชัยชี้ว่าช่วงหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ราวปี ค.ศ.1920 มีการตั้งคณะกรรมการสันนิบาตชาติ ด้วยถูกชาติกระแสหลักครอบครอง เบียดขับ จนถูกยึดดินแดนไป ตั้งแต่นั้นกระบวนการเคลื่อนไหวผลักดันการแสดงตัวตนชนเผ่าพื้นเมืองก็เริ่มปะทุ ต่อสู้เพื่อประกาศตัวตนว่าเป็นกลุ่มที่มีสิทธิในการมีดินแดน วัฒนธรรม มีตัวตนของตัวเอง จึงเกิดการผลักดันเข้าไปพิจารณาในเวลานั้น แต่ก็ไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ได้ กระทั่งเด่นชัดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองขยายตัวไปทั่วโลก มากกว่าแค่ชนเผ่าอินเดียนแดง

โดยการรณรงค์ครั้งแรกประกาศเมื่อ พ.ศ.2536 ให้เป็น ‘วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก’ เพื่อตอกย้ำให้ทั่วโลกรับรู้ถึงตัวตน

“มีการนำผลการศึกษา เสนอต่อ UN ว่าพี่น้องชาติพันธุ์ทั่วโลกอยู่ภายใต้รัฐชาติสมัยใหม่ที่ครอบงำวัฒนธรรมต่างๆ ระบบการศึกษา กลืนชนเผ่าให้กลายเป็นชาติกระแสหลัก เป็นที่มาของการเรียกร้องต่อสู้ เพื่อให้ UN รับรองสถานะ ตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เราอยู่ในช่วงสงครามเย็น บริบทของไทยมีแนวคิดสังคมนิยม จึงระแวงกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย ทำให้รัฐไทยไม่ยอมรับ” สุมิตรชัยไล่เรียงพัฒนาการ

พี่น้องชนเผ่าทำโพล ที่หน้าห้องธนี พหลโยธิน คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่

‘ชาติพันธุ์’คือชุมชนจินตนาการ
รวมศูนย์อำนาจเป็น‘รัฐชาติ’คือต้นตอ

ในสายตาของ ขวัญชีวัน บัวแดง จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้คำนิยามคำว่า “ชาติพันธุ์” เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้ ต่อต้าน หวังแสดงตัวตนเพื่อสร้างชุมชนในจินตนาการขึ้นมา เหมือนอย่างกลุ่มกะเหรี่ยงในประเทศพม่า

“พอเกิดปัญหาก็แตกกันไปเยอะ เพราะพื้นฐานไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน และเป็นสิ่งที่เป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน หากจะประคองให้อยู่ด้วยกัน ในแง่ ‘การเมือง’ มีความเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ในประเทศเพื่อนบ้านก็เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในช่วงอาณานิคม”

ขวัญชีวันซูมภาพ พร้อมชี้ไปที่ต้นตอปัญหา ว่าเกิดจากการที่เราร่วมให้มี ‘รัฐชาติ’ มีคำว่า เชื้อชาติไทย คนไทย

“เกิดปัญหาขึ้นตั้งแต่ในสมัย ร.5 รวบรวมอำนาจเป็นรัฐชาติไทยสมัยใหม่ เริ่มมีรัฐที่รวมศูนย์ แม้แต่ล้านนาก็ต้องเป็นไทย ฉะนั้นหนังสือล้านนาที่ทำมา 800 ปีก็ผุพัง ไม่ได้ใช้ ไม่มีประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ ในเชิงการเมืองก็คือการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ชัดเจนว่าการเรียนหนังสือก็ต้องเรียนภาษาไทย”

ส่งผลต่อคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ไม่สิทธิเรียกร้อง ‘ปกครองตัวเอง’ หรือมีวัฒนธรรม มีภาษาเป็นของตัวเอง ทุกคนถูกรวบรวมความเป็นชาติ ในช่วงล่าอาณานิคม มีความพยายามเสริมอำนาจให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเพื่อที่จะมาต้านกลับกลุ่มใหญ่ หลังเป็นเอกราชก็จะค่อนข้างให้สิทธิกับชนพื้นเมืองมากขึ้น

กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอกชูป้ายเรียกร้องหน้าศูนย์การค้า เมญ่า จ.เชียงใหม่

ความเป็นไทยไม่มากพอ
‘อติชาติพันธุ์’ ต้องแก้ที่โครงสร้าง
ประสานการเคลื่อนไหว

“ในการเข้าสู่รัฐชาติก็จะมีเรื่องการศึกษา เรื่อง พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะเป็นแบบจารีตดั้งเดิม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในความเป็นชาติพันธุ์ คนดอย คนที่ราบ กลุ่มชาตินั้นชาตินี้ กับความเป็นไทย มันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำคือ ความเป็นไทยไม่มากพอ หากจะพัฒนาให้เป็นไทย กลุ่มชาติพันธุ์ต้องละทิ้งบางอย่างไป และต้องจงรักภักดีกับประเทศไทย” ขวัญชีวันชวนนึกตาม

โดยยืนยันว่าในไทยจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ครึ่งหนึ่ง เป็นไทยครึ่งหนึ่ง ซึ่งหากถามชาวกะเหรี่ยงก็จะไม่มีใครบอกว่าตัวเองเป็นกะเหรี่ยง 100% ในขณะเดียวกัน ความเป็นไทยนั้นก็จะไม่ได้รับการปฏิบัติแบบ ‘เสมอภาค’ เพราะที่ดินที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่ได้เป็นของเขาอีกแล้ว ภาพจึงออกมาเป็นในเรื่องของการเรียกร้อง การปรับปรุง

“หากเป็นกลุ่มกะเหรี่ยงพม่า เขาก็จะสู้ด้วยอาวุธเพื่อปกป้อง เพื่อสร้างรัฐของตัวเองขึ้นมา แต่เราอยู่ภายใต้รัฐบาลไทย จะทำอย่างไรให้ปฏิบัติอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ ในบางกลุ่มก็อาจจะมีอคติ ไม่สามารถเป็นชาติไทยได้ 100% ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากความเป็นรัฐชาติ และในประเด็นความทันสมัย เรื่องชนชั้น การยอมรับ อย่างเช่นคนจีนกับคนพม่า การยอมรับก็จะแตกต่างกัน เราจะยอมรับในความเป็นคนจีนมากกว่า ซึ่งมันมีรากเหง้าจากการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ที่เข้าสู่ระบบแบบทุนนิยมด้วย ทำให้กลุ่มที่เป็นชายขอบ ก็ยังเป็นชายขอบเหมือนเดิม”

นักสังคมศาสตร์ท่านนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์จะมีการยืนยันและพิสูจน์ตนเอง มีหลักฐานข้อมูลเชิงวิชาการออกมารองรับ แต่หน่วยงานรัฐ หรือระดับโครงสร้าง ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป หรือแม้จะเข้าใจแต่ก็ไม่สามารถอนุญาตได้ เพราะมีกฎหมายครอบไว้อยู่ และนี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองเชิงอัตลักษณ์”

ไอเดียแก้ไขอติชาติพันธุ์สำหรับขวัญชีวัน คือต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

“คงไม่ใช่เฉพาะสิทธิชาติพันธุ์อย่างเดียวแล้ว ถ้าพูดถึงสิทธิมนุษยชน ก็ต้องรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิในทุกๆ เรื่อง ในมิติของขบวนการเคลื่อนไหว ก็ต้องเชื่อมประสานกันในหลายๆ กลุ่ม เพราะปัญหาของทุกกลุ่มเป็นปัญหาร่วมกันในสังคม”

ชนเผ่า-ชนพื้นเมือง
ความหมายต่างแต่ถูกด้อยสิทธิไม่ต่างกัน

ประสิทธิ์ ลีปรีชา ภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ พาย้อนไปในช่วงที่มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสงเคราะห์ชาวเขา” (พ.ศ.2502) ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พบว่ามีปัญหาอยู่ 4 ด้านคือ

1.ด้านกระบวนการคอมมิวนิสต์ ชาวป่าชาวเขาที่ไปร่วมกระบวนการคอมมิวนิสต์ กลายเป็นฝ่ายพลังที่จะไปสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2.ด้านปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขาบนดอยกับพื้นที่ของตน 3.ปัญหาด้านการปลูกไร่เลื่อนลอย 4.ปัญหาด้านความยากจน

ประสิทธิ์ มองคำว่า “ชนเผ่า” เกิดขึ้นจากความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ในบางสังคมอยู่กันแบบเร่ร่อนป่าเถื่อน ใช้ชีวิตแบบล่าสัตว์ อยู่ในถ้ำ บางสังคมก็เริ่มมาอยู่รวมกัน นำวัตถุดิบในพื้นถิ่นมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม สร้างบ้านพักอาศัย จนรวมตัวกลายเป็นชุมชน นำสัตว์ป่ามาใช้งานทางการเกษตร และกลุ่มแถบยุโรปที่ไปปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นในโลก ซึ่งเป็นการคิดแบบอาณานิคม คือ การมองว่าตนเองสูงกว่า ชนเผ่าเป็นพวกล้าหลัง ซึ่งวิธีคิดนี้ก็จะตกผลึกมาถึงสังคมไทย ถึงชาวเขาในประเทศไทย ให้คำว่ากลุ่มชาติพันธุ์คือกลุ่มที่มีชื่อเรียกอย่างเช่น ปกากะญอ ม้ง ลีซู เป็นคนกลุ่มน้อย ไม่ใช่กลุ่มกระแสหลักในประเทศ

ส่วนคำว่า “ชนพื้นเมือง” ประสิทธิ์อธิบายว่า คือกลุ่มคนที่ตั้งพื้นฐานอยู่ในพื้นที่ดินแดนนั้นๆ มายาวนาน ก่อนเกิดการล่าอาณานิคม ซึ่งในขบวนการเรียกร้องเริ่มขึ้นจากการที่ชาวเขาถูกกระทำ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐในกระบวนการพัฒนาในพื้นที่อยู่อาศัย ถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้เขาทำอะไรไม่ได้ นั่นคือการสูญเสียสิทธิในการใช้ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น เป็นต้น หากเขาลุกขึ้นมานิยามตนเองว่าเป็น ชนพื้นเมือง ก็ควรที่จะได้รับการยอมรับจากรัฐ โดยองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ

“คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ กับคำว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ยังยืนยันใช้คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งตั้งเป็นเครือข่ายต่างๆ แต่ในกลุ่มศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จะใช้คำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนนักการเมืองเรียกรวมๆ กัน ซึ่งทั้ง 2 คำนี้ก็คือกลุ่มเดียวกัน นั่นคือกลุ่มผู้ถูกด้อยโอกาส กลุ่มถูกด้อยสิทธิ แต่จะใช้คำไหนเราต้องย้อนกลับไปถึงรากเหง้าที่มาที่ไปในเชิงวิชาการ

“ปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่น ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาของชาวเขา แต่มันเป็นปัญหาของรัฐที่ล่าอาณานิคมกับผลพวงรัฐไทย ที่ต้องทำให้เขาต้องเกี่ยวข้องกับการปลูกฝิ่นในยุคนั้น พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย พื้นที่รอยต่อ เป็นที่ปลูกได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น และดัดแปลงไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเอาเงินรายได้จากการค้าฝิ่นมาสนับสนุนการสู้รบ ในการค้าฝิ่นก็เป็นผลกระทบต่อประชากรในพื้นที่ เพราะก็มีการใช้เช่นเดียวกัน และมีการปราบปรามเกิดขึ้น” ประสิทธิ์เล่าอีกมุม

โดนหมายหัวจากทางรัฐไทย
ไม่ได้ฉายองค์ความรู้

“ชนชาติ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคน และไม่ต้องผ่านระบบการศึกษา อย่างหมอที่จบการศึกษามา ชนชาติที่เป็นหมอเก่งๆ หลายคนต้องเก็บงำความรู้ความสามารถ ไม่กล้าที่จะแสดงออก เพราะกลัวโดนหมายหัวจากทางรัฐไทย”

“เขาไม่กล้าที่จะรักษา ไม่กล้าที่จะเอาวิชาความรู้มาใช้ประโยชน์ เพราะรัฐไทยไม่ได้รับรองความสามารถนี้”

วงเดือน ประกอบกิจ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เล่าสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมยกประสบการณ์ใกล้ตัว คือเรื่องราวของหมอใหญ่อย่าง “หมอแดง” ที่หลุดรอดและใช้วิชาความรู้ได้ อยู่ที่ จ.เชียงราย เป็นหมอม้ง หมอทหาร ผ่าตัดได้ รักษาโรคได้ และยังมีโอกาสได้ไปเป็นครูอนุชน ซึ่งในโรงเรียนจะเรียกนักเรียนว่า ‘อนุชน’ สอนแค่ภาษาไทยกับคณิตศาสตร์

“นั่นคือชาวม้งดำ คนกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนอะไรมากมาย ขอแค่คุณคิดเป็น คำนวณเป็น คุณก็สามารถเอาชนะได้แล้ว” คืออีกหนึ่งแง่มุมที่เกิดขึ้น

‘ฝิ่น ยา ป่าไม้’
มายาเรื่องชนชั้น ที่ต้องช่วยกันล้าง

ด้าน นเรศ สงเคราะห์สุข ผู้ทรงคุณวุฒิทีมภาคเหนือตะวัน ระบุว่า ชาวเขาถูกเรียกโดยคนอื่น ปัญหาถูกสร้างขึ้นผ่านเรื่องยา เรื่องป่าไม้ และเรื่องความมั่นคงซึ่งเป็นมายาคติ ในปี พ.ศ.2529 หลังสงครามเย็น เป็นยุคที่คิดว่ารัฐไทยต้องการมีอำนาจไปถึงพี่น้องชาติพันธุ์ให้ครอบคลุมทั้งหมด โดยเรื่อง ‘ฝิ่น’ กลายเป็นเครื่องมือตัวหนึ่ง

“ฝิ่นมีลักษณะคล้ายกับผักกาดทำให้แยกยาก วิธีที่รัฐใช้จะมีแผนที่ชื่อว่า ‘แผนที่ที่มีศักยภาพในการปลูกฝิ่น’ เป็นแผนที่ที่มี 76 หมายเลขที่แสดงต่อกัน ตั้งแต่เหนือจนถึงตะวันตก ทำไว้สำหรับให้หน่วยงานระหว่างประเทศมาดู ก็จะมีการสำรวจการตัดฝิ่น วิธีการตัด/ไร่ มีค่าตอบแทน ในยุคหนึ่งที่ส่งเสริมมากขึ้น ก็มีการใช้สปริงเกลอร์รดน้ำ เขาปลูกกันทุกวัน”

“การปลูกฝิ่น มีกระบวนการที่ทำให้เห็นว่าพี่น้องชาวเขาเหล่านี้เป็นผู้สร้างปัญหา สมควรถูกกระทำ การถูกเจ้าหน้าที่ตัดฝิ่นและชาวบ้านนั่งร้องไห้ข้างไร่ฝิ่น เพราะมันเป็นพื้นที่รายได้ของชาวบ้าน มีวิธีการที่สร้างให้เห็นว่าชาวบ้านควรถูกจัดการ เป็นวิธีการที่ใช้คือการจับชาวเขาตรวจฉี่ หากฉี่ม่วงก็จะถูกรีดไถ ซึ่งแท้จริงแล้วต้องตรวจสอบทางการแพทย์ แต่ด้วยความกลัว ชาวบ้านไม่มีเครื่องมือต่อรองอำนาจรัฐ” นเรศเผย

โดยเมื่อครั้งที่ได้ทำงานเรื่องยาเสพติดใหม่ๆ ขึ้นไปบนดอย เห็น ป.ป.ส.อุ้มคนติดฝิ่นขึ้นไปบนป่า เกิดอะไรขึ้น ในฝั่งหนึ่งถูกกระทำ ฝั่งหนึ่งเป็นผู้กระทำแต่สร้างประวัติศาสตร์ให้มีความชอบธรรม

“เสพติดกับชาวเขา ยาไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เป็นยุคการเมืองที่มาพร้อมกับแรงกดดันจากนานาชาติ มาด้วยการเชื่อมโยงในเรื่องต่างๆ ท้ายที่สุดคือสถาบันอำนาจรัฐศูนย์กลาง เรื่องฝิ่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่พอสร้างมายาคติขึ้น ส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านในการปราบปรามด้วย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่แย่ ยามันอันตราย”

เมื่อมายาคติถูกสร้าง ใช้ยา = บ้า ซึ่งยาไม่ได้มีผลต่อการบ้า แต่การไม่ได้นอนทำให้บ้า พี่น้องชาวเกษตรกรก็ต้องโดนชะตากรรมแบบนี้

“เพราะการทำงานจนไม่ได้นอน เก็บเกี่ยวผลผลิตตั้ง 14 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถสร้างรายได้ ยาเลยเป็นสิ่งที่จำเป็น เราจะช่วยกันอย่างไร เราไม่ได้ส่งเสริมให้คนเข้าใจเลย เราจะทำการศึกษาอย่างไรให้คนตื่น ซึ่งมันวิกฤตจริงๆ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องมายาคติชาติพันธุ์ แต่มันเป็นเรื่องของชนชั้นด้วย เราต้องพยายามช่วยกันในการผลักดันเรื่องนี้” ผู้ทรงคุณวุฒิทีมภาคเหนือตะวันวอนเห็นความสำคัญ และช่วยกันออกแรง

ชญานินทร์ ภูษาทอง

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image